Skip to main content
sharethis
กยศ.วางแผนปล่อยกู้ 2.7 หมื่น ล. ช่วยเด็กเรียน 670,000 ราย ตั้งเป้าทวงเงินคืน 1.9 หมื่น ล.
 
น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่าในปี 2559 กยศ.ได้กำหนดแผนการติดตามคืนชำระเงินกู้ ให้ขั้นต่ำไว้ที่ 19,000 ล้านบาท เนื่องจากพบสัญญาณการชำระหนี้คืน ดีขึ้น ผ่านการออกมาตรการส่งเสริมการชำระคืน ทั้งการแจ้งหนี้ให้เด็กที่ต้องชำระคืน, เพิ่มจุดชำระคืนในร้านสะดวกซื้อทำให้มีช่องทางการชำระสะดวกได้มากขึ้น รวมถึงการประสานกับภาคเอกชนที่เป็นนายจ้างลูกหนี้กยศ. ให้หักบัญชีลูกหนี้ให้กับกองทุนทำการชำระคืนเงินกู้ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
ขณะเดียวกันยังให้แรงจูงใจลูกหนี้ของกองทุนชำระหนี้สม่ำเสมอและเร็วขึ้น เช่น หากชำระทุกเดือนสม่ำเสมอแทนการชำระปีละครั้งเดียวก็จะคืนเงินให้ 1% กรณีที่ค้างชำระมานานหากชำระคืนและปิดบัญชีทั้งหมดจะเว้นค่าปรับให้ทั้งหมดหรือหากชำระคืนไม่ได้ทั้งหมดและปรับโครงสร้างหนี้ก็จะเว้นค่าปรับให้ 50% ส่งผลให้การชำระเงินปรับตัวดีขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2556 มีการชำระคืน 11,000 ล้านบาท, ปี 2557 ชำระคืน 13,000 ล้านบาท และปี 2558 ชำระคืน 17,000 ล้านบาท
 
สำหรับปี 2559 ตั้งเป้าปล่อยกู้ให้เด็กกว่า 670,000 ราย คิดเป็นวงเงิน 27,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปล่อยกู้ในส่วนของเงินกู้สำหรับเด็กที่เรียนต่อปริญญาตรี โดยจะปรับเกณฑ์ปล่อยกู้ต้องมีผลการเรียนขั้นต่ำ 2.00 และทำการบำเพ็ญประโยชน์ 36 ชั่วโมงสำหรับผู้ที่เรียนต่ออาชีวะไม่มีเงื่อนไขกู้เพิ่มเติม เพราะรัฐบาลส่งเสริมให้เด็กเรียนอาชีวะมากขึ้น
 
นอกจากนี้กองทุนจะประสานกับหน่วยราชการต่างๆ ที่มีลูกหนี้ของกยศ. และค้างหนี้ทำงานอยู่กว่า 60,000 ราย ให้ทุกแห่งหักบัญชีลูกหนี้ให้กับกยศ.จะเริ่มทำ ทั้งหมดในปี 2560 โดยปีนี้มีการนำร่องหน่วยราชการ 4 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถานศึกษารวมทั้งยังอยู่ระหว่างเสนอรัฐบาลแก้กฎหมายของกองทุน ให้หน่วยงานทุกแห่ง ราชการและเอกชน หักเงินบัญชีที่เป็นลูกหนี้ของกยศ. ให้กับกรมสรรพากรเพื่อส่งต่อให้กองทุน ทำให้การติดตามชำระหนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
ขณะที่การดำเนินงานของกองทุนปล่อยกู้ไปแล้ว 4.5 ล้านราย เป็นเงินปล่อยกู้ 400,000 ล้านบาท มีค้างชำระ 2 ล้านราย เป็นเงิน 56,000 ล้านบาท เป็นการค้างทั่วไปมีการชำระบ้างไม่ชำระบ้าง 1.2 ล้านราย วงเงิน 13,000 ล้านบาท เป็นค้างชำระที่อยู่ระหว่างไกล่เกลี่ย 100,000 ราย วงเงิน 7,000 ล้านบาท และเป็นการค้างที่อยู่ ระหว่างการฟ้องร้อง 700,000 ราย วงเงิน 35,000 ล้านบาท
 
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่าการปรับหลักเกณฑ์ปล่อยกู้ต้องมีผลการเรียนขั้นต่ำ 2.00 ถือเป็นไปตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ต้องการให้ปล่อยกู้ให้ยาก จ่ายคืนให้ง่าย เพื่อคัดกรองเด็กที่มีคุณภาพ ไม่ให้เกิด ปัญหาในอนาคต โดยเชื่อว่ายังมีเด็กยากจน แต่เรียนดีอีกมาก และเกรดเฉลี่ยที่กำหนดก็ไม่ถือว่ามากเกินไป กรณีที่เด็กเกรดเฉลี่ย ไม่ถึง 2.00 ก็สามารถเปลี่ยนไปเรียน สายอาชีพได้อีกช่องทางหนึ่งซึ่งเป็นไปตาม นโยบายของรัฐบาลที่มีความต้องการในสัดส่วน สายสามัญต่อสายอาชีพที่ 50 ต่อ 50
 
 
จับกุมแก๊งค์ลวงแรงงานไปนิวซีแลนด์
 
หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน (กกจ.) นายสุพจน์ เอี่ยมมงคลสกุล บอก ว่า กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กกจ.ได้รับการร้องทุกข์จากแรงงานในหลายจัง หวัดว่าถูกนางสาวทิพากร นวพรเพิ่มหลอกลวงโดยอ้างว่าจัดส่งไปทำงานในตำแหน่งพนักงานนวดสปาในประเทศนิวซีแลนด์ได้โดยจะได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่า70,000 บาท มีค่าดำเนินการคนละ 23,500-100,000 บาทโดยแรงงานหลงเชื่อและจ่ายเงิน แต่เมื่อถึงกำหนดนัดหมายก็ไม่ได้เดินทางไปทำงานนั้นกกจ.จึงประสานกับกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์โดยจับกุมตัวนางสาวทิพากรได้ที่ห้างสรรพสินค้าย่านรามคำแหง ซึ่งปัจจุบันผู้ต้องหารายนี้ถูกออกหมายจับในพื้นที่สน.บางนาและพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้ ผู้ต้องหามีความผิดตามพรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มีโทษจำคุก 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงขอเตือนผู้ที่จะไปทำงานต่างประเทศให้สอบถามข้อมูล ร้องทุกข์ได้ที่กองตรวจและคุ้มครองคนหางานโทร.022456763 หรือสายด่วน กกจ.โทร.1694
 
 
ติว 500 สถานประกอบการ เสริมทักษะหนุนรับเออีซี
 
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. นายวิชัย คงรัตนชาติ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ออกมาเปิดเผยว่า ตามเข้าสู่ประชาคมเศรษกิจอาเซียน พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน กังวลเรื่องทักษะการใช้ภาษาในระดับหัวหน้าในสถานประกอบการจึงมีการจัดให้สถานประกอบการ 500 แห่งทั่วประเทศ เข้ารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับเศรษฐกิจระดับอาเซียนและมีการอบรมหลักสูตรภาษา ในวันที่ 21 ม.ค. นี้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการอบรม สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ นายวิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการฝึกอบรมแรงงาน 1.2 ล้านคน เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานและการเกษตรนั้นมีเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ปีนี้จะเน้นด้านภาษา การให้บริการท่องเที่ยง และอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ยืนยันว่าฝีมือแรงงานเราไม่เสียเปรียบ หรือเป็นรองประเทศใดในอาเซียน อย่างไรก็ตามยืนยันว่าแม้จะเข้าสู่เวทีอาเซียนแล้ว แต่แรงงานแต่ละประเทศยังไม่ได้มีอิสระที่จะเดินทางเข้าออกประเทศใดประเทศหนึ่งได้ง่ายๆ เนื่องจากแต่ละประเทศมีมาตรฐานแรงงานที่ต้องกำหนดกัน
 
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าววว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เตรียมความพร้อมนักเรียน นักศึกษา ครู และสถานศึกษา ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนมากว่า 4 ปีแล้ว เริ่มตั้งแต่การปรับปรุงหลักสูตร เน้นทักษะมาตรฐานอาเซียน เน้นภาษาอังกฤษ และเน้นนิสัยอุตสาหกรรมที่ทำงานกับคนที่ต่างวัฒนธรรมได้ มีความร่วมมือกับอาชีวศึกษาประเทศอื่นๆ และติมอร์เลสเต ในการผลิตกำลังคน เพื่อตอบสนองทั้งความต้องการของประเทศ และอาเซียน โดยวิเคราะห์ความต้องการว่าประเทศไหนต้องการสาขาใด ระดับฝีมือขนาดไหน และจะเน้นผลิตสาขาเร่งด่วน 5-6 สาขาก่อน เช่น โลจิสติกส์ ขนส่ง พาณิชย์นาวี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนครูและเด็กกันอย่างต่อเนื่อง เลขาธิการ กอศ. กล่าวอีกว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้ย้ำว่าอาชีวศึกษาไทย ต้องกำหนดเป้าหมาย ให้ไทยเป็นฮับหรือศูนย์กลางของอาชีวะอาเซียน เพราะไทยมีความพร้อมทั้งเรื่องที่ตั้งประเทศ ที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน อีกทั้งศักยภาพของอาชีวศึกษาไทยแทบจะเรียกได้ว่าเป็นที่ 1 ในอาเซียน หรือเป็นรองสิงคโปร์ในบางสาขา นอกจากนี้ที่ประชุมอธิบดีอาชีวศึกษาอาเซียน ยังได้ตกลงกันจัดตั้งสมาพันธ์อาชีวศึกษาอาเซียนขึ้น โดยจะมีการตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษากลางขึ้นมา และให้เรียนแบบออนไลน์ โดยให้เด็กในทุกประเทศสามารถลงทะเบียนเรียนผ่านเว็บไซด์ได้ ซึ่งเด็กที่จบไปสามารถทำงานได้ทุกประเทศในอาเซียน ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2559 สอศ.จะขยายการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร “อิงริส โปรแกรม” (English Program) ซึ่งสอนวิชาชีพเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อผลิตเด็กทำงานได้ทั้งในอาเซียนและทั่วโลก โดยปัจจุบันเปิดสอนอยู่แล้วใน 147 วิทยาลัย เด็กประมาณ 6,500 คน และจะขยายเพิ่มเป็น 200 วิทยาลัย
 
 
เตือนช่างไฟฟ้าภายในอาคารต้องมีใบอนุญาต
 
นายกรีฑา สพโชค อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 ซึ่งแก้ไขใหม่มีเหตุผลเพื่อป้องกันความเสียหายจากการที่ผู้ประกอบอาชีพไม่มีความชำนาญในการทำงานอย่างแท้จริง ซึ่งส่งผลกระทบ ต่อชีวิต ทรัพย์สิน ผู้ประกอบอาชีพ ผู้ประกอบกิจการ ชุมชน สังคม และศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก รัฐจึงจำเป็นต้องลดความสูญเสียด้วยการเข้าควบคุมประกอบอาชีพในสาขาอาชีพ ที่อาจเป็นอันตรายต่อสาธารณะ หรือต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ผ่านการประเมินและออกหนังสือรับรองความรู้ความสามารถให้กับผู้ประกอบอาชีพในสาขาที่ประกาศควบคุม
 
โดยกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เป็นอาชีพที่อาจเป็นอันตรายซึ่งต้องดำเนินการโดย ผู้ได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 มีผลให้ ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2559 ผู้ที่ทำงานช่างไฟฟ้าภายในอาคารต้องมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ
 
โดยขั้นตอนที่จะได้หนังสือรับรองความรู้ความสามารถ นั้น ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร จะต้องผ่านการประเมิน 3 ส่วนคือ 1.ความรู้ความสามารถต้อง ผ่านมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 2.ประสบการณ์การทำงาน ดูจากประวัติ การทำงาน 3.คุณลักษณะเฉพาะ ทัศนคติในการทำงาน ที่ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถกลาง(หน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน) ค่าธรรมเนียม ครั้งละ 1,000 บาท และ ศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถตามมาตรา 26/4 (2)ที่เป็นองค์กรอาชีพเรียกเก็บค่าบริการครั้งละไม่เกิน 2,000 บาท หากฝ่าฝืนทำงานโดยไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ปรับไม่เกิน 5,000 บาท และหากฝ่าฝืนจ้างผู้ไม่มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถเข้าทำงาน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท
 
"เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมอยากเชิญชวนให้ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ระดับ 1 เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการประเมิน โดย สามารถติดต่อขอรับการทดสอบมาตรฐาน ฝีมือแรงงานแห่งชาติ ได้ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด/สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคทั่วประเทศ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ที่ได้รับการอนุมัติจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานแล้ว และติดต่อขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ ซึ่งจะมีอายุ 3 ปี แนะนำให้มาขอหนังสือรับรองฯ ช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อไม่ให้เสียสิทธิในเรื่องระยะเวลา หรือ ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 0-2245-1701 ต่อ 601 หรือ 602"
 
 
"สมาร์ทจ็อบ" สร้างงานหมื่นล้านแก้ปัญหาหลอกคนหางาน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 10 ม.ค. นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) ตั้งขึ้นเพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และแก้ปัญหาการหลอกลวงคนหางาน ภายใต้แนวคิด “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ” สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ ให้แรงงานไทยมีโอกาสเข้าถึงตำแหน่งงานดีมีคุณภาพ มีรายได้มั่นคง มีสวัสดิการและหลักประกันชีวิตในการทำงาน ผ่านบริการส่งเสริมการมีงานทำแบบครบวงจร โดยศูนย์ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการจ้างงานระหว่างนายจ้างกับคนที่ต้องการหางานทำ ให้ได้มาพบกันได้สะดวก รวดเร็ว ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยช่วยลดขั้นตอน มีบริการจัดหางานในประเทศ ขึ้นทะเบียนหางาน รับแจ้งตำแหน่งงานว่างจากสถานประกอบการ ให้บริการผู้ประกันตนกรณีว่างงาน รับขึ้นทะเบียน รับรายงานตัว บรรจุงาน ให้บริการจัดหางานต่างประเทศ ให้คำปรึกษาและรับลงทะเบียนผู้ประสงค์เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ให้คำปรึกษาและแนะแนวอาชีพแก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป บริการจัดหางาน ผ่านเว็บไซต์ และบริการจัดหางานแก่คนพิการ
 
“ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการถึงปัจจุบัน มีคนเข้ามาใช้บริการ 421,577 คน แบ่งเป็นขึ้นทะเบียนหางาน 32,310 คน รับแจ้งตำแหน่งงานว่างจากสถานประกอบการ 6,017 แห่ง แบ่งเป็น 14,244 ตำแหน่ง 162,010 อัตรา บรรจุงานได้ 18,783 คน ให้บริการผู้ประกันตนขอรับประโยชน์กรณีว่างงาน ขึ้นทะเบียน 141,801 คน รับรายงานตัวแต่ละเดือน 204,834 คน บรรจุงานให้ผู้มาขึ้นทะเบียน 133,110 คน ให้คำปรึกษาและลงทะเบียนคนต้องการไปทำงานต่างประเทศ 28,529 คน ด้านการจัดหางานให้คนพิการ มีขึ้นทะเบียน 2,250 คน ได้บรรจุงาน 2,092 คน ส่วนการให้บริการทางเว็บไซต์ มีได้บรรจุงาน 21,285 คน การดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่าคุ้มค่า สามารถสร้างรายได้ให้แรงงานไทยเป็นจำนวนเงินกว่า 14,217 ล้านบาท และสร้างรายได้ให้คนพิการมีอาชีพเลี้ยงตนเองกว่า 195 ล้านบาท” นายอารักษ์กล่าว
 
นายอารักษ์กล่าวอีกว่า ในปี 2558 ได้จัดตั้งสมาร์ทจ็อบเซ็นเตอร์ในส่วนกลาง ที่กระทรวงแรงงาน และส่วนภูมิภาครวม 12 ศูนย์ และมีแผนจะขยายให้ครอบคลุมทั่วทุกจังหวัดทั่วประเทศในปี 2560 สำหรับในปี 2559 จะเปิดเพิ่มอีก 32 แห่ง โดยจะพัฒนาจากสมา์ทจ็อบเซ็นเตอร์ (Smart job Center) ไปเป็นสมาร์ทจ็อบสมาร์ทเวิร์กเกอร์ (Smart job Smart Worker) ภายใต้สโลแกน “คิดถึงงาน คิดถึงเรา” เพื่อก้าวสู่งานที่ดี คนมีคุณภาพ เน้นให้คนหางานที่มีความรู้ ความสามารถในระดับสูงมาใช้บริการมากขึ้น เจ้าหน้าที่จะทำหน้าที่เป็น Recruiter คัดกรองคนหางานก่อนส่งตัวให้นายจ้าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเป็นพันธมิตรต่อยอดเพิ่มจำนวนตลาดแรงงานสร้างตำแหน่งงานที่ดี ด้วยการดึงคนมีความรู้ความสามารถให้มาเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศร่วมกัน ซึ่ง ประชาชนคนหางาน นักเรียน นักศึกษา สามารถใช้บริการจัดหางานที่ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย สมัครได้สะดวก รวดเร็ว เพียงใช้บัตรประชาชนใบเดียวเท่านั้น
 
 
ศาลปกครอง ตัดสินให้มหาวิทยาลัยคืนเงินพนักงานเฉพาะคนฟ้อง กรณีที่หักเงินโดยไม่เป็นไปตามมติ ครม.
 
ตามที่พนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ กรณีมหาวิทยาลัยหักเงินเดือนไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ศาลปกครองเชียงใหม่ได้ตัดสินให้มหาวิทยาลัยจ่ายเงินที่หักคืนให้แก่โจทก์ รวมทั้งสิ้น145,170บาท ทั้งนี้คำสั่งนี้เฉพาะผู้ฟ้องกรณีนี้เท่านั้น ซึ่งเรืองนี้ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือ CHESกล่าวว่าเป็นเรื่องเป็นปัญหายืดเยื้อมานานกว่า16ปี จึงเป็นที่น่ายินดี ที่ศาลตัดสินให้เห็นแนวทางที่ชัดเจน เพราะพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบอุดมศึกษา ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1.4แสนคน ถูกหักเงินเดือนและได้รับเงินเดือนไม่ตรงฐานเงินเดือนที่ ครม.มีมติ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่พี่น้องพนักงานมหาวิทยาลัยทั่ว ประเทศจะได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมได้ โดยสามารถติดต่อรับสำนวนการฟ้อง ได้ที่เวปเพจของ CHES ที่ https://www.facebook.com/groups /Coordinating.Center.Public.Higher.Ed.Staff/
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาการได้รับเงินเดือนไม่ตรงฐานเงินเดือนที่ ครม.มี มติปรับเงินเดือนให้ในแต่ละปีนี้ เป็นปัญหาเรื้อรังมานานตั้งแต่ ครม.ได้มีมติ ให้จัดจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยเพื่อ รองรับการปรับเปลี่ยนสภาพมหาวิทยาลัยไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐหรือ มหาวิทยาลัยออกนอกระบบเมื่อปี 2542 โดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าข้าราชการเพื่อชดเชยสิทธิ์ที่ต้องเสียไป คือ เพิ่มขึ้น 1.7เท่าสำหรับสายอาจารย์ และ 1.5เท่า สำหรับสายสนับสนุนตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.)แต่ปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยจ่ายจริงเพียง1.1-1.5ของเงินเดือน และไม่ยอมปรับฐานเงินเดือนให้ตามที่ครม.มีมติปรับฐานเงินเดือนให้ข้าราชการ 3 ครั้งที่ผ่านมา จนทำให้เกิดการฟ้องดังกล่าว“
 
 
ครม.ผ่านกฎกระทรวงห้ามจ้างงานเด็กต่ำกว่า 18 ปี
 
(12 ม.ค.59) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดสถานที่ที่ห้ามมิให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า18ปีทำงาน พ.ศ.....ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 พ.ย.58 เรื่องการเสนอเรื่องเร่งด่วนต่อคณะรัฐมนตรี
 
ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าว คือ กำหนดสถานที่ที่ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า18ปีทำงาน ได้แก่ โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น และสถานประกอบกิจการการแปรรูปสัตว์น้ำ อันได้แก่ การล้าง ชำแหละ แกะ ต้ม นึ่ง ทอด หรือบดสัตว์น้ำ และการกระทำใดๆ ที่เป็นการเปลี่ยนสภาพสัตว์น้ำสำหรับใช้เพื่อการอุปโภคหรือบริโภค แต่ไม่รวมถึงการบรรจุหีบห่อสัตว์น้ำโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพของสัตว์น้ำหรือเปลี่ยนแปลงสภาพสัตว์น้ำเพื่อบริการให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง
 
 
เตือน!! คนหางาน... ระวังถูกหลอกเก็บค่าบริการไปทำงานประเทศอิสราเอล ... แนะตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อน
 
14 ม.ค. 2559 กรมการจัดหางาน เตือนคนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลอย่าหลงเชื่อ ผู้แอบอ้างเรียกเก็บค่าบริการเพื่อดำเนินการเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล แนะไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเดินทางและตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อน
 
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า จากกรณีคนหางานไทยถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพว่าสามารถหางานให้ทำและส่งไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้ โดยเรียกเก็บค่าบริการในจำนวนเงินกว่า ๓๕๐,๐๐๐ บาท แต่ไม่สามารถส่งไปทำงานได้ตามที่กล่าวอ้างนั้น เพื่อป้องกันมิให้คนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ กรมการจัดหางานจึงขอเตือนคนหางานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานประเทศอิสราเอลว่าอย่าหลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างหรือมาชักชวนว่าสามารถจัดส่งไปทำงานได้โดยเรียกเก็บค่าบริการสูงเกินจริง ทั้งนี้ การไปทำงานประเทศอิสราเอล รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานและรัฐบาลอิสราเอลโดยสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยได้ลงนามความตกลงด้านแรงงานเพื่อจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตร ณ ประเทศอิสราเอลด้วยวิธีดำเนินการที่ยุติธรรม และโปร่งใส โดยกรมการจัดหางาน มีหน้าที่ในการรับสมัครเพื่อสุ่มคัดเลือกและจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคเกษตรที่อิสราเอล โดยจะเสียค่าใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นจำนวนคนละประมาณ ๗๙,๐๐๐ บาท หากคนหางานใดถูกหลอกลวงจากการหางานทำขอให้รีบแจ้งที่กรมการจัดหางาน หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจะได้ดำเนินคดีกับผู้หลอกลวงต่อไป อย่างไรก็ตามขอให้คนหางานระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่จะมาหลอกลวงโดยเบื้องต้นขอให้ตรวจสอบและไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ
 
นายอารักษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การไปทำงานต่างประเทศโดยถูกต้องตามกฎหมายมี ๕ วิธี คือ ๑.บริษัทจัดหางานจัดส่ง ๒.กรมการจัดหางานจัดส่ง ๓.เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง ๔.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน ๕.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน ทั้งนี้ การไปทำงานต่างประเทศ โดยกรมการจัดหางานจัดส่ง มีอยู่หลายประเทศ เช่น โครงการจ้างตรง: ไต้หวัน โครงการIM: ประเทศญี่ปุ่น โครงการ EPS: สาธารณรัฐเกาหลี โครงการTIC: ประเทศอิสราเอล เป็นต้น ซึ่งคนหางานที่สนใจสามารถสอบถามได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ ๑-๑๐ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน อาคารสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ ๓ ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๕ ๖๗๐๘ - ๙ หรือ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร ๑๖๙๔
 
(กรมการจัดหางาน, 14/1/2559)
 
กรมการจัดหางานเผย !! งานเก็บองุ่นงานเกษตรกรรมในประเทศออสเตรเลีย งานนวดสปาในเกาหลีใต้พบถูกหลอกไปทำงานมากที่สุด
 
14 ม.ค. 2559 กรมการจัดหางาน เผยตำแหน่งงานและประเทศที่กลุ่มมิจฉาชีพ มักชักชวนคนหางานไปทำงานมากที่สุด เช่น งานเก็บองุ่น หรืองานเกษตรกรรมในออสเตรเลีย งานนวดสปาหรือนวดแผนไทยในประเทศเกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงค์โปร์ บาห์เรน รัสเซีย มัลดีฟส์ดูไบ โอมาน และจีน เป็นต้น โดยอ้างว่าจะได้รับค่าจ้างสูงถึงเดือนละ 40,000 – 200,000 บาท คนหางานหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อยอมเสี่ยงโอนเงินให้ไปทั้งที่ไม่เคยพบเห็นตัวตนที่แท้จริงของผู้ชักชวน และไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินใดๆ เพราะหวังรายได้สูง ย้ำควรตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการจัดหางานก่อน และควรเดินทางไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางานเปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับการร้องทุกข์และรับแจ้งเบาะแสจากคนหางานที่ถูกหลอกลวงไปทำงานในต่างประเทศของกลุ่มมิจฉาชีพซึ่งชักชวนคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ โดยอ้างว่าสามารถส่งไปทำงานรายได้ดีในประเทศต่างๆ ได้ซึ่งตำแหน่งงานและประเทศที่มักจะชักชวนคนหางานไปทำงานมากที่สุด คืองานเก็บองุ่นหรืองานเกษตรกรรมในประเทศออสเตรเลีย รองลงมาคืองานนวดสปาหรือนวดแผนไทยในประเทศเกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ บาห์เรน รัสเซีย มัลดีฟส์ดูไบ โอมาน และจีน งานโรงงานและงานภาคเกษตรในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ งานบริการในร้านอาหารห้างสรรพสินค้า โรงแรมระดับ 5 ดาว ในประเทศอังกฤษ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และงานกุ๊กในประเทศอิสราเอลและญี่ปุ่น ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างว่าได้รับค่าจ้างสูงถึงเดือนละ 40,000 – 200,000 บาท เพื่อจูงใจให้คนหางานหลงเชื่อยอมจ่ายเงินค่าบริการจัดหางานให้ เมื่อคนหางานหลงเชื่อยอมจ่ายเงินก็จะปิดการติดต่อสื่อสารทุกชนิดแล้วหลบหนีไปโดยพฤติกรรมของคนหางานที่สุ่มเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพเช่น ยอมโอนเงินให้ไปทั้งที่ไม่เคยพบเห็นตัวตนที่แท้จริงของผู้ชักชวนไปทำงาน ไม่ขอหลักฐานแสดงตัวตนหรือหลักฐานการจ่ายเงินใดๆจากกลุ่มมิจฉาชีพ แม้รู้ว่าจะต้องลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมายก็ยอมเสี่ยงจ่ายเงินให้ไป เพราะหวังในรายได้ตามที่อ้าง
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า คนหางานควรตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการจัดหางานก่อนสมัครงานหรือจ่ายเงินค่าบริการทุกครั้ง แต่วิธีที่ดีที่สุดคือควรเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือที่สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ และหากต้องการแจ้งเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสผู้มีพฤติกรรมหลอกลวงคนหางาน ติดต่อได้ที่ กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 6763 หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694
 
(กรมการจัดหางาน, 14/1/2559)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net