Skip to main content
sharethis

กรธ. ยันไม่บัญญัติศาสนาประจำชาติ เกรงเป็นเรื่องอันตราย ส่วนหมวดพระมหากษัตริย์เป็นไปตามเดิม ด้านองคมนตรีปรับถ้อยคำให้ชัดเจน และยกมาตรา 7 ให้เป็นอำนาจของงศาล รธน. วินิจฉัย

11 ม.ค. 2559 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า  บรรยากาศล่าสุดของการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นอกสถานที่ ที่โรงแรมอิมพีเรียล เลควิว รีสอร์ท แอนด์ กอล์ฟคลับ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งขณะนี้ที่ประชุมเริ่มพิจารณารายมาตรา เพื่อปรับแก้ถ้อยคำ และเนื้อหาให้มีความสมบูรณ์ ตั้งแต่ในหมวด 1 บททั่วไป เริ่มที่มาตรา 1 ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงหลักการเดิมตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีการถกเถียงปรับแก้เนื้อหา ในส่วนของมาตรา 4 ที่ยังค้างการพิจารณามาก่อนหน้านี้ มีอยู่ 4 รูปแบบด้วยกัน โดยที่ประชุมได้มีการถกเถียง แสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยเห็นตรงกันให้ใช้รูปแบบที่ 4 คือ มาตรา 4 ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญของทุกประเทศจะให้ความสำคัญกับคนของชาติเป็นหลัก ส่วนรายละเอียดการคุ้มครองอื่นๆ จะพิจารณาอีกครั้งในมาตรา 26 -28

ส่วนเรื่องพระพุทธศาสนาที่มีผู้เสนอมาขอให้บัญญัติเป็นศาสนาประจำชาตินั้น ไม่สามารถบัญญัติได้ เพราะกรรมการมองว่าเป็นเรื่องที่อันตราย และในมาตรา 65 ได้บัญญัติสิ่งที่จะคุ้มครองทุกศาสนาไว้อยู่แล้ว

จากนั้นเป็นการพิจาณาหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งในหมวดนี้ไม่มีการแก้ไขมาตั้งแต่ปี 2551 กลไกต่างๆ เป็นไปตามเดิม ยกเว้นเรื่ององคมนตรี ที่มีการปรับถ้อยคำให้มีความชัดเจนมากขึ้น

ส่วนมาตรา 7 เดิมในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นปัญหาการตีความมายาวนาน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าจะนำถ้อยคำในมาตรา 7 ไปสอดแทรกในบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญแทนที่เป็นผู้วินิจฉัย และมีแนวทางปรับเปลี่ยนถ้อยคำใหม่ ไม่ใช้คำว่าประเพณีการปกครอง เนื่องจากเป็นถ้อยคำที่มีปัญหาในอดีต แต่ กรธ.จะพยายามบัญญัติช่องทางแก้ปัญหาต่างๆ ไว้รอบด้านเพื่อให้การตีความทุกเรื่องมีช่องทางที่ชัดเจน

ขณะที่มาตรา 24 และ 25 มีการเพิ่มเติมให้ครอบคลุมมากขึ้น ในเรื่องขององคมนตรี กรรมการได้มีการถกเถียงในมาตรา 12 องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ สมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงความฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด โดยกรรมการเห็นชอบให้ตัด ตุลาการศาลปกครองออกเนื่องจากปัจจุบันมีความชัดเจนแล้วว่าพนักงานในสังกัดศาลปกครองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้เพิ่มเติมในส่วนของมาตรา 24 วรรค 1 ในกรณีที่ต้องดำเนินการในรัฐสภาหรือโดยรัฐสภาตามมาตรา ถ้าสภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่รัฐสภา ซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้งเพื่อความชัดเจน

ในช่วงบ่าย ที่ประชุมยังคงพิจาณาในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย อาทิ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย, มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน

เริ่มที่มาตรา 28 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย มาตรา 28 การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ โดยมีการตัดข้อความที่ว่า แต่การลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม

ขณะที่ มาตรา 31 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการนับถือศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ไม่มีการแก้ไข มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว มีการเพิ่มเติม ระบุว่า การกล่าวหรือให้ข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งมาตราดังกล่าวก่อนหน้านี้ได้มีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net