Skip to main content
sharethis

สมาพันธ์สหภาพแรงงานสากลเผยผลการสำรวจ 2015 ITUC Global Rights Index ระบุ 10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานได้แก่ จีน, เบลารุส, โคลัมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, ปากีสถาน, กาตาร์, ซาอุดิอาระเบีย, สวาซิแลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่วนไทยติดอันดับกลุ่มประเทศที่มี “การละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ”

10 ประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงานได้แก่ จีน, เบลารุส, โคลัมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, ปากีสถาน, กาตาร์, ซาอุดิอาระเบีย, สวาซิแลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ที่มาภาพ: ITUC)

9 ม.ค. 2559 จากรายงานการสำรวจ 2015 ITUC Global Rights Index ของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation – ITUC) เมื่อปี 2558 โดยเป็นการสำรวจใน 141 ประเทศ ITUC ได้ระบุว่าประเทศจีนเป็นประเทศยอดแย่สำหรับคนทำงาน ตามมาด้วย เบลารุส, โคลัมเบีย, อียิปต์, กัวเตมาลา, ปากีสถาน, กาตาร์, ซาอุดิอาระเบีย, สวาซิแลนด์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

โดยในรายงานของ ITUC ระบุว่า ประเทศจีน ล้มเหลวเหลวในการปกป้องสิทธิแรงงาน โดยแรงงานต้องเผชิญภัยคุกคามทั้งจากรัฐบาลและนายจ้าง ทั้งนี้รัฐบาลจีนมักจะไม่ยอมรับสิทธิการหยุดงานเพื่อเจรจาต่อรองของฝ่ายแรงงานเนื่องจากต้องการรักษาเสถียรภาพด้านอุตสาหกรรมในประเทศ และมักจะมีการจับกุมคุมขังนักสหภาพแรงงานอยู่บ่อยครั้ง ตัวอย่างกรณีฉาวโฉ่เมื่อปี 2557 คนงานโรงพยาบาลในกว่างโจว (Guangzhou) ถูกจับกุมและคุมขังกว่า 8 เดือน จากการที่พวกเขาออกมาประท้วงเรียกร้องหลังจากที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่มีค่าชดเชย

ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ติด 10 อันดับ ได้แก่ เบลารุส ประเทศในยุโรปตะวันออกแห่งนี้ ITUC ระบุว่ามีการเลือกปฏิบัติต่อแรงงาน ใช้แรงงานบังคับ มีการใช้สัญญาระยะสั้นในการจ้างงาน นอกจากนี้ยังยังมีการปราบปรามการประท้วงและการเรียกร้องสิทธิของแรงงานของแรงงาน ตัวอย่างเช่น แรงงานในอุตสาหกรรมเหล็กที่ออกมาอดอาหารประท้วง ก็ถูกรัฐบาลจับกุมคุมขังไว้ โคลัมเบีย ประเทศในละตินอเมริกา ที่ว่ากันว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เป็นอันตรายต่อสหภาพแรงงานมากที่สุด เพราะมักจะมีข่าวคราวการสังหารนักสหภาพแรงงานอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีการเลือกปฏิบัติต่อแรงงาน และการเจรจาต่อรองของแรงงานมักจะถูกทำลายอย่างสม่ำเสมอในประเทศแห่งนี้

อียิปต์ หลังจากความล้มเหลวของขบวนการประชาธิปไตย ‘อาหรับสปริง’ ที่สามารถล้มล้างการปกครองของมูบารักได้เมื่อปี 2554 สถานการณ์ด้านสิทธิแรงงานในอียิปต์ก็เริมถดถอยตาม นักกิจกรรมและนักสหภาพแรงงานถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถูกลักพาตัว รวมทั้งมีการทำร้ายร่างกายไปจนถึงการลอบสังหารอีกด้วย กัวเตมาลา ประเทศในอเมริกากลางซึ่งมีอุตสาหกรรมการปลูกกล้วยเป็นเสาหลักของประเทศ และนักสหภาพมักจะถูกโจมตีด้วยกองกำลังติดอาวุธรวมถึงการฆาตกรรม นอกจากนี้ยังมีข่าวคราวการละเมิดสิทธิและเลือกปฏิบัติต่อสหภาพแรงงานของบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่าง โคคา โคลา (Coca Cola) อีกด้วย

ปากีสถาน นอกจากแรงงานในปากีสถานจะถูกจับกุม (เมื่อออกมาเรียกร้องสิทธิ) และความรุนแรงแล้ว กฎหมายแรงงานภายในประเทศก็ไม่ได้ปกป้องสิทธิแรงงานเท่าที่ควรนัก สวาซิแลนด์ ประเทศในเขตแอฟริกาตอนใต้ สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มสหภาพแรงงานนั้น รัฐบาลสวาซิแลนด์กลับมองเป็นภัยความมั่นคงถึงขั้นต้องใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายจับกุมตัวนักสหภาพเลยทีเดียว

ส่วนอีก 3 ประเทศ มาจากประเทศในตะวันออกกลาง ได้แก่ กาตาร์ ประเทศที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2565 มีข่าวคราวเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติที่เข้าไปก่อสร้างสนามแข่งขันรวมทั้งสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ไว้สำหรับรองรับการแข่งขันฟุตบอลโลก ส่วน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ซาอุดิอาระเบีย ประเทศซึงมีกำลังแรงงานจากแรงงานข้ามชาติเป็นหลัก พบว่ากฎหมายแรงงานกลับมีลักษณะการใช้แรงงานบังคับ แรงงานข้ามชาติถูกแสวงหาประโยชน์มากเกินควร นายจ้างมักจะค้างชำระค่าแรง แรงงานข้ามชาติมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และแรงงานข้ามชาติไม่ได้มีสิทธิที่จะเข้าร่วมสหภาพแรงงานรวมถึงการหยุดงานประท้วงได้

ความรุนแรงของการละเมิดสิทธิแรงงานจากระดับ +5 ถึง 1 (ที่มาภาพ: ITUC)

นอกจาก 10 ประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานสูงสุดแล้ว ITUC ยังจัดอันดับความรุนแรงของการละเมิดสิทธิแรงงานจากมากไปหาน้อยอีก 6 ระดับไล่ตั้งแต่รุนแรงมากไปหาน้อย คือตั้งแต่ +5 ถึง 1 สำหรับประเทศไทย ITUC จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเป็นระบบ (ระดับความรุนแรงที่ 4) มีทั้งหมดรวม 27 ประเทศ ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกา, พม่า และอินโดนีเซีย ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย

นอกจากนี้รายงานของ ITUC ยังระบุอีกว่าจากการสำรวจทั้งหมด 141 ประเทศนั้น มีจำนวนประเทศที่แรงงานเผชิญกับการจับกุมและควบคุมตัวเพิ่มขึ้นถึง 35-44 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศสเปนและบราซิล ร้อยละ 60 ของทั้ง 141 ประเทศนั้นแรงงานไม่ได้รับสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 70 แรงงานไม่มีสิทธิในการหยุดงานประท้วง และสองในสามของทั้ง 141 ประเทศนั้นแรงงานถูกปฏิเสธสิทธิเสรีภาพในการต่อรอง และใน 11 ประเทศมีการฆาตกรรมนักสหภาพแรงงานเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งกว่า 22 รายเป็นนักสหภาพแรงงานในประเทศโคลัมเบียเพียงประเทศเดียว

อนึ่ง 2015 ITUC Global Rights Index เปิดเผยต่อสาธารณะชนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 มาแล้ว

 

ที่มาเรียบเรียงจาก:

http://workinglife.org.au/2015/06/17/the-10-worst-places-in-the-world-to-be-a-worker/

http://www.ituc-csi.org/ituc-global-rights-index-names

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net