Skip to main content
sharethis

เช้าวันพุธนี้ จีนและสหรัฐอเมริกาสามารถตรวจจับแรงสั่นสะเทือนขนาด 4.9 ถึง 5.1 ได้ทางตอนเหนือของคาบสมุทรเกาหลี โดยเกาหลีเหนืออ้างว่าทดสอบ "ระเบิดไฮโดรเจน" สำเร็จ ถือเป็นการป้องกันตัวเองจากจากภัยคุกคามสหรัฐฯ ด้านเกาหลีใต้-ญี่ปุ่นออกโรงประณาม-เรียกร้องนานาชาติคว่ำบาตร จีนแถลงคัดค้านเกาหลีเหนือ ส่วนสหรัฐอเมริการอคอนเฟิร์มข้อมูล แต่ยืนยันว่าจะตอบโต้การยั่วยุของเกาหลีเหนืออย่างเหมาะสม ด้านองค์กรห้ามทดลองนิวเคลียร์ยังไม่ยืนยันว่าเป็นระเบิดไฮโดรเจนหรือไม่ โดยขอเวลาตรวจสอบไอโซโทปรังสีที่เกิดขึ้นหลังการทดสอบดังกล่าว

แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ใกล้กับหมู่บ้านพุงแก-รี อำเภอคิวจู จังหวัดฮัมมยองเหนือ ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรเกาหลี (ที่มา: Googlemaps)

6 ม.ค. 2559 สถานีโทรทัศน์ KCTV ของทางการเกาหลีเหนือแถลงว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเวลา 08.30 น. ตามเวลาประเทศไทย เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนใต้ดิน โดยระบุว่าเป็นระเบิดไฮโดรเจนขนาดเล็กและการทดลองเป็นไปอย่างปลอดภัยไม่กระสบสิ่งแวดล้อม

สำหรับสถานที่ทดสอบอยู่ใกล้กับหมู่บ้านพุงแก-รี (Punggye-ri) อำเภอคิวจู จังหวัดฮัมมยองเหนือ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรเกาหลี

โดย สถานีวิทยุสากลแห่งประเทศจีน (CRI) ภาคภาษาไทย ระบุว่า สำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาจีนตรวจพบแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวขนาด 4.9 ความลึก 10 กิโลเมตร ที่เกาหลีเหนือ แรงสั่นสะเทือนดังกล่าวมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 41.3 องศาเหนือและ ลองติจูด 129.1 องศาตะวันออก

ขณะที่ องค์การสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา (USGS) ซึ่งตรวจจับแรงสั่นสะเทือนได้เช่นกัน ระบุว่าพบแรงสั่นสะเทือนขนาด 5.1 ศูนย์กลางอยู่ที่ 41.305 องศาเหนือ 129.039 องศาตะวันออก

ทั้งนี้การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือก่อนหน้านี้นั้น ในปี 2556 เกิดแรงสั่นสะเทือนขนาด 4.7 และ 5.2 ส่วนการทดสอบในปี 2552 เกิดแรงสั่นสะเทือนขนาด 4.5 และในปี 2549 เกิดแรงสั่นสะเทือนขนาด 3.9

คลิปการแถลงของเกาหลีเหนืออ้างว่าทดสอบระเบิดไฮโดรเจนสำเร็จ

การแถลงของทางการเกาหลีเหนือ มีการถ่ายทอดผ่านจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ในกรุงเปียงยาง (ที่มา: KCTV)

ทั้งนี้ในคำแถลงผ่านผู้ประกาศทางสถานีโทรทัศน์ (ชมคลิป) เกาหลีเหนืออ้างว่าการทดลองระเบิดไฮโดรเจนดังกล่าว "เป็นมาตรการป้องกันตัวเองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี" เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ และปกป้องชาติจากภัยคุกคามนิวเคลียร์และการขู่กรรโชกของสหรัฐอเมริกา และเพื่อรักษาสันติภาพของคาบสมุทรเกาหลี และความมั่นคงของภูมิภาค

ในคำแถลงตอนหนึ่ง เกาหลีเหนือยังอ้างว่าเป็นรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์อย่างรับผิดชอบ จะไม่ใช่ฝ่ายแรกที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน และไม่ถ่ายโอนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตราบเท่าที่กองทัพปรปักษ์ไม่ได้รุกล้ำอธิปไตย เกาหลีเหนือเองก็จะไม่เลื่อนการพัฒนานิวเคลียร์หรือถอนการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์จนกว่าสหรัฐอเมริกาจะเลิกนโยบายปรปักษ์ กองทัพและประชาชนของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเองจะยกระดับไปสู่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ในเชิงการป้องปรามเพื่อความยุติธรรม เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิวัติตามแนวทางจูเช่ให้อยู่ตลอดไปทุกสมัย

เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ประณามเกาหลีเหนือ - จีนคัดค้านการทดสอบนิวเคลียร์
สหรัฐอเมริการอยืนยันข้อมูล แต่ให้คำมั่นจะตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อการยั่วยุของเกาหลีเหนือ

สำหรับปฏิกิริยาจากนานาชาติ ภายหลังการประกาศอ้างการทดสอบระเบิดไฮโดรเจนของเกาหลีเหนือนั้น เดอะการ์เดียน รายงานว่า ประธานาธิบดี ปัก กึนเฮ แห่งเกาหลีใต้ กล่าวในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติว่าการทดลองของเกาหลีเหนือดังกล่าวเป็น "การยั่วยุอย่างรุนแรง"

"การทดลองนี้ไม่เพียงแต่เป็นการยั่วยุอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงของชาติเรา แต่ยังเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของเราด้วย และเป็นการท้าทายอย่างหนักต่อสันติภาพและเสถียรภาพของนานาชาติ" ปัก กึนเฮ กล่าว พร้อมเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ

ในแถลงการณ์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ก่อนหน้านี้ระบุว่า จะออกมาตรการที่จำเป็น รวมไปถึงเสนอให้มีการคว่ำบาตรโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย เพื่อทำให้เกาหลีเหนือต้องชดใช้จากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์นี้"

ด้านโฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีน ฮวา ชุนอิ๋ง ได้กล่าวแถลงคัดค้านอย่างแข็งขันต่อการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ล่าสุดของเกาหลีเหนือ

"จีนมีจุดยืนอย่างแน่วแน่ที่ว่าคาบสมุทรเกาหลีควรต้องปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ และการเพิ่มขยายจำนวนอาวุธนิวเคลียร์จะต้องถูกห้าม เพื่อดำรงสันติภาพและเสถียรภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ"

"เราขอเรียกร้องให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลีเคารพในพันธะสัญญาของตนที่จะดำเนินกระบวนการปลอดอาวุธนิวเคลียร์ และยุติการกระทำใดก็ตามที่จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าว

ส่วนความเห็นของสหรัฐอเมริกานั้น ทางทำเนียบขาวระบุว่ายังไม่สามารถยืนยันการทดสอบนี้ แต่ให้คำมั่นว่า "จะตอบสนองอย่างเหมาะสมต่อการยั่วยุของเกาหลีเหนือทุกกรณี" และจะไม่ยอมรับว่าเกาหลีเหนือเป็นรัฐที่มีนิวเคลียร์

ขณะที่ญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ กล่าวว่า การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์โดยเกาหลีเหนือ เป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อความปลอดภัยของประเทศเรา และเราไม่สามารถอดทนต่อสิ่งนี้ได้

"สิ่งนี้ชัดเจนว่าเป็นการละเมิดมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชน และท้าทายความพยายามของนานาชาติที่จะยุติการเพิ่มจำนวนอาวุธนิวเคลียร์" อาเบะกล่าวด้วยว่าญี่ปุ่นจะหาทางร่วมมือกับสมาชิกในสหประชาชาติเพื่อออกมาตรการต่อเกาหลีเหนือ

 

องค์กรห้ามทดลองนิวเคลียร์ยังไม่ยืนยันระเบิดไฮโดรเจนหรือไม่-ขอเวลาตรวจสอบ

ในรายงานของเดอะการ์เดียน องค์การว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBTO) ซึ่งมีสถานีตรวจจับการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ 30 แห่งทั่วโลกยังไม่ยืนยันว่าเกาหลีเหนือทดลองอาวุธนิวเคลียร์ โดยลาสซินา เซอร์โบ (Lassina Zerbo) เลขาธิการกลางของคณะกรรมการองค์การ CTBTO กล่าวว่านักวิเคราะห์ขององค์กรกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อหาข้อมูลสำหรับการประเมินที่ดีที่สุด เพื่อหารายละเอียดที่เกี่ยวกับการทดลองอาวุธดังกล่าว

"เพื่อหาสิ่งยืนยัน เราต้องการควันปืน นั่นก็คือค่าไอโซโทปรังสี (radio isotopes) ที่ปลดปล่อยออกมาจากการระเบิด" เซอร์โบกล่าว ทั้งนี้องค์การ CTBTO มีเครือข่ายของสถานีในญี่ปุ่น รัสเซีย และบริเวณใกล้เคียงที่จะตรวจจับค่าไอโซโทปรังสีดังกล่าว ในช่วงเวลา 48 หรือ 72 ชั่วโมงข้างหน้า

สำหรับการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือในปี 2556 ใช้เวลา 50 วัน ถึงจะตรวจจับอนุภาคหลังการทดลองระเบิดได้ แต่ครั้งนี้ CTBTO คาดว่าจะทราบผลเนิ่นกว่านั้น เนื่องจากองค์การสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา (USGS) คาดว่าการทดสอบนี้อยู่ใกล้ผิวโลก

ทั้งนี้นับตั้งแต่สหประชาชาติออกสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT) ตั้งแต่ปี 2539 นั้น เลขาธิการกลาง CTBTO ระบุว่ามี 8 รัฐสำคัญที่จำเป็นต้องลงนามเพื่อทำให้สนธิสัญญามีผลผูกมัด โดยปัจจุบันมี 5 รัฐที่ลงนามแล้วได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิหร่าน อิสราเอล อียิปต์ และจีน แต่ยังไม่ให้สัตยาบัน ในขณะที่เกาหลีเหนือ อินเดีย และปากีสถาน ยังไม่ลงนามในสนธิสัญญานี้

"ทั้ง 8 ประเทศควรแสดงความเป็นผู้นำ ด้วยการให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เกิดขึ้นอีก" เซอร์โบกล่าว "เราต้องการคนที่จะริเริ่มในเรื่องนี้ เราไม่ต้องการเห็นการทดสอบเกิดขึ้นอีก ก่อนที่ผู้คนจะคิดว่าสนธิสัญญานี้มีความสำคัญหรือไม่ หนทางเดียวที่จะหยุดการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ก็คือทำให้สิ่งนี้มีผลผูกมัดทางกฎหมาย ข้าพเจ้าหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นการปลุกประชาคมนานาชาติให้มีมาตรการต่อสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT) นี้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net