บันทึกประวัติศาสตร์จากญาติคนตายปี 53 ถึง ป.ป.ช. “ทำไมจึงควรเรียกว่ามติอำมหิตอัปยศ”


ภาพจาก People Imformation Center 2010

6 ม.ค.2559 เพจพลเมืองโต้กลับ เผยแพร่การประมวลข้อเท็จจริงคัดค้านคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. กรณียกคำร้องขอให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์และพวก โดยกลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 

รายละเอียดมีดังนี้
 

กรณี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติต่อคำร้องขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือนเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากว่ารับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผล และมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปนั้น

กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ ขอแสดงความไม่เห็นด้วยต่อมติของ ป.ป.ช. ดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ ไม่เห็นด้วยต่อกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง
เอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อ้างคำพูดของนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ระบุข้อความขึ้นต้นว่า
"โดยเรื่องนี้จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า..."
และลงท้ายเนื้อความว่า "…ดังนั้น ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก..."
 

กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ ขอตั้งข้อสังเกตที่ ป.ป.ช. ต้องตอบต่อสาธารณชน คือ
1.1 กระบวนการไต่สวนคืออะไร มีกระบวนการอย่างไร 
1.2 การได้มาซึ่งข้อเท็จจริงมีกระบวนการแบบไหน และได้มีการเรียกพยานหลักฐานไปให้ข้อเท็จจริงอย่างไร 
1.3 มีการเรียกพยานบุคคลจากฝ่ายต่างๆอย่างรอบด้านหรือไม่ และมีการเรียกพยานจากทางผู้เสียหายหรือไม่ ฯลฯ

กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ จึงไม่เห็นด้วยกับกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช.

2. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมาจากนโยบายรัฐบาลโดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลไม่ใช่ “ความรับผิดเฉพาะตัว”

เนื่องจาก 
รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ (ขณะนั้น) ได้มีมาตรการเชิงนโยบายออกมาเป็นลำดับต่อการจัดการการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนนำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในหลายท้องที่ และมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 1/2553 ลงวันที่ 7 เมษายน 2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. และยังมีคำสั่งอีกหลายฉบับทั้งจากนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี(ขณะนั้น)ในฐานะ ผู้อำนวยการ ศอฉ. นำไปสู่การใช้คำสั่งให้กองทหารติดอาวุธเข้าสลายการชุมนุม และมีการสังหารหมู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง จากวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 รวม 40 วัน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

โดยได้มีคำสั่งและกลายเป็นแนวปฏิบัติ ในช่วงวันที่ 10 เมษายน ดังต่อไปนี้

2.1 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นำไปสู่การใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อสลายการชุมนุม
2.2 การใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุม 
2.3 การเข้าสลายการชุมนุมในยามวิกาล

และ
ก่อนหน้าที่จะมีมาตรการกระชับวงล้อมในวันที่ 13-19 พฤษภาคม นั้น ศอฉ.ได้ปฏิบัติงานด้านจิตวิทยาและการข่าวเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้ากวาดล้างประชาชนที่เห็นต่าง สร้างความชอบธรรมและกระตุ้นให้กองกำลังทหารติดอาวุธตัดสินใจใช้กระสุนจริงได้ง่ายขึ้นโดยไม่รู้สึกผิดต่อมโนธรรมสำนึก ตามกระบวนการดังต่อไปนี้

2.4 การป้ายสีผู้ชุมนุมว่าเป็นพวกล้มเจ้าและสมควรตาย ส่งผลให้ทหารในสังกัดและประชาชนที่สนับสนุนเห็นชอบต่อการสลายการชุมนุมด้วยกำลังอาวุธ ด้วยการแสดงผังล้มเจ้าและนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งภายหลัง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ได้ยอมรับในเวลาต่อมาว่าเป็นความเท็จ
2.5 การให้ข้อมูลเท็จว่ากลุ่มผู้ชุมนุม มีกองกำลังติดอาวุธในนามชายชุดดำ และทหารที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน เกิดจากน้ำมือของชายชุดดำ

ขณะที่ข้อเท็จจริงคือมีชายชุดดำติดอาวุธ จำนวน 6 คน ปรากฏตัวขึ้นในพื้นที่สี่แยกคอกวัว (มีคลิปจำนวนมากปรากฏโดยทั่วไป) มีภาพการใช้อาวุธยิงผู้ชุมนุม หลังจากที่มีการประทะระหว่างทหารและผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่เวลาประมาณ 18.00 น. ทำให้มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจำนวน 10 ราย

แต่ด้านถนนดินสอบริเวณด้านข้างโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งห่างไปประมาณ 400 เมตร มีผู้เสียชีวิตจำนวน 13 ราย ในจำนวนนี้เป็นช่างภาพชาวญี่ปุ่น 1 ราย ทหาร 5 ราย แต่ไม่ปรากฏภาพถ่าย หรือภาพเคลื่อนไหวว่ามีชายชุดดำอยู่ในบริเวณนั้นแต่อย่างใด

ดังนั้น การกล่าวอ้างว่ากลุ่มชายชุดดำทำให้ทหารเสียชีวิตจึงไม่เป็นความจริง เพราะชายชุดดำปรากฏตัวขึ้นคนละพื้นที่ คนละช่วงเวลากับการสูญเสียทางทหาร อย่างไรก็ตาม การสืบค้นหาหลักฐานและจับกุมตัวชายชุดดำมาลงโทษเป็นหน้าที่ของรัฐ และไม่ใช่ข้ออ้างที่จะใช้กำลังอาวุธมาปราบปรามประชาชนผู้บริสุทธิ์ ซึ่งไม่เคยปรากฏหลักฐานใดๆเลยว่าในหมู่ผู้ชุมนุมมีอาวุธ หรือมีการใช้อาวุธทำร้ายเจ้าหน้าที่

2.6 การจัดวางพลซุ่มยิงตามพื้นที่ด่านเข้มแข็ง โดยมีข้อมูลเบื้องต้นต่อระดับปฏิบัติการว่ามีกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ชุมนุม และสามารถใช้กระสุนจริงได้ ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก กระจายกันในหลายพื้นที่ (หากเป็นพื้นที่เดียว สามารถตั้งสมมติฐานได้ว่าผู้บังคับบัญชาในพื้นที่อาจสั่งให้ใช้กระสุนจริงโดยพลการ) ต่อเนื่องระหว่างวันที่ 13 – 19 พฤษภาคม และผู้เสียชีวิตล้วนแต่ถูกยิงที่จุดสำคัญ บางรายถูกยิงเสียชีวิตในห้องพักของตัวเองบนอาคารชุดชั้นที่ 27 เพียงแค่ออกมาสูบบุหรี่ที่ระเบียงห้อง

ดังกรณีตัวอย่าง ที่มีคำสั่งการไต่สวนการตายของศาลอาญาที่เสร็จสิ้นแล้วจำนวน 13 ราย ที่มีคำสั่งศาลอาญาระบุว่าสาเหตุการตายเกิดจากกระสุนทางฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 12 ราย ขณะที่มีเพียงรายเดียวคือนายบุญมี เริ่มสุขที่ไม่ทราบว่ากระสุนมาจากฝั่งไหน
 

หมายเหตุ 
ผู้เสียชีวิต 17 ราย ที่ศาลอาญามีคำสั่งว่าเกิดจากกระสุนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้ารัฐนั้น ได้แก่ 
(เรียงลำดับตามคำสั่งศาล)
1. นายพัน คำกอง 2. นายชาญณรงค์ พลศรีลา 3. นายชาติชาย ชาเหลา 
4. ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ 5. พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ 6. นายมงคล เข็มทอง 
7. นายสุวัน ศรีรักษา 8. น.ส.กมนเกด อัดฮาด 9. นายอัครเดช ขันแก้ว 
10. นายอัฐชัย ชุมจันทร์ 11. นายรพ สุขสถิตย์ 12. นายถวิล คำมูล 
13. นายจรูญ ฉายแม้น 14. นายสยาม วัฒนนุกูล 15. นายถวิล คำมูล 
16. นายนรินทร์ ศรีชมภู 17. นายเกรียงไกร คำน้อย
(ลำดับที่ 6-11 ทราบกันโดยทั่วไปในนาม 6 ศพวัดปทุมฯ)

และยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ จำนวน 13 ราย ได้แก่
1. นายบุญมี เริ่มสุข 2. นายมานะ อาจราญ 3. จ่าอากาศเอก พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์
4. ฟาบิโอ โปเลนกี 5. นายปิยะพงษ์ กิติวงศ์ 6. นายประจวบ ศิลาพันธ์
7. นายสมศักดิ์ ศิลารัตน์ 8. นายสมชาย พระสุพรรณ 9. นายมานะ แสนประเสริฐศรี
10. นายพรสวรรค์ นาคะไชย 11. ชายไม่ทราบชื่อ ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณแยกสารสิน ถนนราชดำริ 
12. นายเกียรติคุณ ฉัตร์วีระสกุล และ 13. นายประจวบ ประจวบสุข

ส่วนกรณีอื่น 1 ราย คือ 
นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง ถูกทหารยิงบาดเจ็บสาหัสนานหลายเดือนและเสียชีวิตในเวลาต่อมา 
แต่ศาลวินิจฉัยว่าตายเพราะกรณีอื่น

2.7 การปฏิเสธที่จะเจรจา/ต่อรองโดยสิ้นเชิง

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์(ขณะนั้น) ได้เสนอแผนโรดแมปเพื่อความปรองดอง และพร้อมจะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2553 แต่ยืนยันอย่างแข็งกร้าวว่าการประกาศแผนปรองดองนั้นไม่มีการเจรจาต่อรองใดๆ “หากไม่ยุติการชุมนุมถือว่าไม่ตอบรับ” และประกาศยุทธการกระชับวงล้อม ทำให้ 2-3 วันแรกของยุทธการดังกล่าว มีพลเรือนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเป็นจำนวนมากแต่นายอภิสิทธิ์กลับประกาศให้ ศอฉ. เดินหน้าต่อไป โดยกล่าวว่า

“สิ่งที่ตนอยากยืนยันกับพี่น้องประชาชนคือรัฐบาลจำเป็นต้องใช้อาวุธ เพราะรัฐจะไม่ปล่อยให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพที่คนไม่อยู่ในกฎหมาย มาจับกรุงเทพฯเป็นตัวประกัน ไม่ปล่อยให้มีกองกำลังที่ไม่พอใจรัฐบาลจัดตั้งกำลังขึ้นมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ ประชาชน และองค์กรต่างๆ เราจึงจำเป็นต้องเดินหน้าและไม่อาจถอยได้ เพื่อทำให้บ้านเมืองมีความเป็นนิติรัฐ ดังนั้น เมื่อมีการสูญเสียจึงต้องยอมรับ ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางเดียวที่จะนำไปสู่ความถูกต้อง”นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ, 15 พฤษภาคม 2553 เวลา 20.15 น.

ทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉพาะ 1 สัปดาห์ของยุทธการ “กระชับวงล้อม” จำนวน 60 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 9 ราย บาดเจ็บอีกไม่น้อยกว่า 500 ราย แบ่งเป็นพลเรือนผู้บริสุทธิ์จำนวน 51 ราย (ร้อยละ 85), พยาบาลอาสาสมัคร หรืออาสากู้ชีพ 6 ราย (ร้อยละ 10) เจ้าหน้าที่รัฐ 2 ราย (ร้อยละ 2) และสื่อมวลชนต่างประเทศ 1 ราย (ร้อยละ 2)

ทั้งนี้ ปฏิบัติการทางทหารเพื่อสลายการชุมนุม มีการเบิกใช้กระสุนปืนตั้งแต่ 11 มีนาคม – 19 พฤษภาคม 2553 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 597,500 นัด และนำกลับคืน 479,577 นัด เท่ากับว่ามีการใช้กระสุนไปถึง 117,923 นัด ในจำนวนนี้เป็นกระสุนจริง 111,303 นัด และเป็นกระสุนซุ่มยิงถึง 2,120 นัด

กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ จึงเห็นว่าการใช้กองกำลังทหารติดอาวุธในการสลายการชุมนุมมาจากมาตรการเชิงนโยบาย โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผล อันนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก กระจายกันในหลายพื้นที่ อย่างต่อเนื่อง 40 วัน หาใช่ “ความรับผิดเฉพาะตัว” ตามคำวินิจฉัยอันผิดพลาดของ ป.ป.ช.ไม่

3. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าการที่ ป.ป.ช.อ้างอยู่หลายครั้งว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากลนั้นเป็นข้อวินิจฉัยที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง

เนื่องจาก
รัฐบาลนายอภิสิทธ์และ ศอฉ. ได้อ้างตลอดเวลาว่าขั้นตอนการสลายการชุมนุมเป็นไปโดยชอบธรรมตามกฎการใช้กำลังของกองทัพและกฎหมายสิทธิมนุษยชน (หรือเรียกรวมกันโดยทั่วไปว่าหลักสากล) แต่ปฏิบัติการดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักสากลที่กล่าวอ้าง เป็นการใช้อำนาจและกำลังเกินกว่าเหตุ ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่รัฐไทยเป็นภาคี

ดังมีข้อเท็จจริงของการสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้น ต่อไปนี้
3.1 ไม่มีการแจ้งให้ผู้ชุมนุมและผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม
3.2 มีการใช้กระบอง แก๊สน้ำตา และกระสุนยางอย่างไม่ได้สัดส่วน และไม่แยกแยะ
3.3 มีการสลายการชุมนุมยามวิกาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
3.4 มีการอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงและอาวุธสงครามในการสลายการชุมนุมทั้งสองครั้ง (10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม)
3.5 มีการวางพลซุ่มยิง (Sniper) บนพื้นที่สูง โดยมีเป้าหมายที่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ และเป็นการเล็งไปยังจุดสำคัญของร่างกาย เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตด้วยการซุ่มยิงจำนวนมาก
3.6 มีการประกาศ “เขตการใช้กระสุนจริง” ในหลายพื้นที่ เสมือนเป็นใบอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้กระสุนจริงโดยขาดวิจารญาณ ต่อเมื่อถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโจมตีอย่างหนัก จึงมีการปลดป้ายออกจากพื้นที่
3.7 มีการขัดขวางการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ประชาชนจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตเพราะหน่วยแพทย์อาสาไม่สามารถเข้าทำการช่วยเหลือได้ทันท่วงที เพราะทหารไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ รวมทั้งการยิงสกัด อีกทั้งหน่วยแพทย์อาสาหน่วยต่างๆเองก็ถูกข่มขู่คุกคาม ทำร้ายจนเสียชีวิตจำนวน 6 ราย แม้จะมีการแต่งกายและใส่เครื่องหมายที่ชัดเจนก็ตาม

กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ จึงเห็นว่าคำกล่าวอ้างของ ป.ป.ช.ที่ว่า การสลายการชุมนุมของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์(ขณะนั้น) เป็นการสลายการชุมนุมตามหลักสากล เป็นคำวินจฉัยที่ผืดพลาดร้ายแรง

4. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ ไม่เห็นด้วยกับข้อกล่าวอ้างของ ป.ป.ช. ว่าการที่ ศอฉ.ปรับเปลี่ยนรูปแบบปฏิบัติการทำให้สามารถลดความสูญเสียได้เป็นจำนวนมาก

เพราะข้อเท็จจริงคือ
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 ศอฉ.ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการด้วยการมีคำสั่งจัดตั้งด่านแข็งแรงรอบพื้นที่การชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ จำนวน 6 จุด คือ แยกพงษ์พิราม, แยกพญาไท, แยกอโศกมนตรี, แยกศาลาแดง, แยกอังรีดูนังต์ และแยกนราธิวาส-สีลม ต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้ออกประกาศ ศอฉ. เรื่องห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ เข้าหรือออกเส้นทางที่กำหนดเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

มาตรการดังกล่าว นำไปสู่
4.1 มีการวางพลซุ่มยิง (Sniper) บนพื้นที่สูง 
4.2 มีการประกาศ “เขตการใช้กระสุนจริง” ในหลายพื้นที่ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันแนวร่วมเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม
4.3 มีการขัดขวางการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ 
4.4 มีการสลายการชุมนุมยามวิกาล ด้วยอาวุธสงครามและกระสุนจริง

ทั้งหมดนี้ 
ทำให้มีผู้เสียชีวิตช่วงระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม รวม 58 ราย 
แบ่งเป็น สวนลุมพินี– สีลม – สารสิน 12 ราย, บ่อนไก่ – พระรามสี่ 16 ราย, ดินแดง – รางน้ำ 22 ราย, พหลโยธิน 1 ราย และวัดปทุมวนาราม 6 ราย 
ขณะที่ผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน มี 27 ราย (1 ราย ที่สวนสัตว์ดุสิต) 
และระหว่างวันที่ 22 เมษายน – 8 พฤษภาคม จำนวน 4 ราย 
ผู้เสียชีวิตในต่างจังหวัด 4 ราย รวมทั้งหมด 94 ราย

กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ จึงเห็นว่าคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ที่อ้างว่าการปรับเปลี่ยนคำสั่งนโยบายและปฏิบัติการ ทำให้สามารถลดความสูญเสียของประชาชนได้เป็นจำนวนมากเป็นความเท็จและเข้าข่ายการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

6. กลุ่มญาติผู้เสียหายฯ เห็นว่าข้อวินิจฉัยของ ป.ป.ช. นอกจากจะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงแล้ว ยังปราศจากบรรทัดฐานของความยุติธรรม หากเปรียบเทียบกับข้อวินิจเดิมที่เคยมีมาก่อน

หากเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. เองต่อกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ด้วยเช่นกัน โดยมีมติชี้ว่าสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมไปถึง พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลขณะนั้นด้วย ว่ามีความผิด

โดยระบุว่า 
"...นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งมีอำนาจยับยั้งการปฏิบัติราชการใด ๆ ของข้าราชการได้ เมื่อปรากฏว่า มีผู้บาดเจ็บสาหัสในการเข้าดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเปิดทางเข้ารัฐสภาในวันที่ 7 ต.ค.2551 จนกระทั่ง พล.อ.ชวลิต ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แทนที่จะมีคำสั่งห้าม หรือหยุดยั้งการสลายการชุมนุม แต่นายสมชายไม่ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการกระทำ กลับปล่อยให้มีการกระทำที่รุนแรงขึ้นตามลำดับตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต"

และมีคำวินิจฉัยว่า
“นายสมชายฯ พล.อ.ชวลิตฯพล.ต.อ.พัชรวาทฯและพล.ต.ท. สุชาติ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157”

แต่ในกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น

ป.ป.ช. มีความเห็นว่า
“..กรณีละเว้นไม่สั่งระงับยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารนั้น จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บแล้วศอฉ.ได้ทบทวนปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าผลักดันผู้ชุมนุมอีกต่อไป แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัดปิดล้อมวงนอกไว้โดยรอบ เพื่อให้ ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเอง โดยการปฏิบัติในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 เป็นการตั้งด่านอยู่กับที่ทุกแห่ง แต่ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปควบคุมพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี โดยไม่ได้มีการผลักดันต่อผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์โดยตรง แต่เป็นการกดดันต่อกองกำลังติดอาวุธที่ยึดสวนลุมพินีอยู่ ซึ่งการปฏิบัติในการกระชับพื้นที่สวนลุมพินี ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยประกาศให้ผู้ชุมนุมออกไปจากพื้นที่ก่อน หลังจากประกาศแล้ว เจ้าหน้าที่จึงเข้าไป”

และมีคำวินิจฉัยว่า
"..สำหรับประเด็นการกล่าวหานายอภิสิทธิ์, นายสุเทพ และ พล.อ. อนุพงษ์ กับพวก กรณีละเว้นไม่สั่งระงับยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารนั้น ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการ ในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปเช่นกัน..."

จากการพิจารณาอย่างเปรียบเทียบทั้งสองกรณีดังกล่าว กลุ่มญาติผู้เสียหายฯจึงเห็นว่าข้อวินิจฉัยของ ป.ป.ช. นอกจากจะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงแล้ว ยังปราศจากบรรทัดฐานของความยุติธรรม และเข้าข่ายการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วยเช่นกัน.

บทสรุป
จากประมวลข้อเท็จจริง(บางส่วน) ที่กลุ่มญาติผู้เสียหายฯได้รวบรวมมา จะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ให้คำร้องต่อการถอดถอนไม่ได้ยืนอยู่บนหลักฐานข้อเท็จจริงตามที่ ป.ป.ช.ได้แถลงไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ซึ่งนอกจากจะไม่โปร่งใสและไม่สามารถตรวจสอบได้แล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือให้อาชญากรในการสั่งการสังหารหมู่ประชาชนให้พ้นผิด บิดเบือนกระบวนการยุติธรรม เข้าข่ายการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วยเช่นกัน

สิ่งที่น่าเสียใจคือ กรณีดังกล่าวเป็นทั้งความอัปยศขององค์กรอิสระที่มีรากมาจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเป็นทั้งความอำมหิตของการใช้อำนาจรัฐในการช่วยเหลือเกื้อกูลให้พ้นผิด เห็นดีเห็นงามกับการสังหารประชาชนและทิ้งเรื่องราวและลืมความขัดแย้งไว้เบื้องหลัง โดยมิพักจะทำความเข้าใจและหาสาเหตุไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีกในอนาคต.

 

กลุ่มญาติผู้เสียหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองปี 2553
วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2559

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท