Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สามสิบบาทรักษาทุกโรค เป็นโครงการที่ “ไม่สามารถเจ๊งได้”ในทางเทคนิค-ในบทความนี้จะแสดงให้เห็นถึงข้อมูลทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมวิทยาเพื่อให้เห็นถึงการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนของ รมว.สาธารณสุข และนำสู่ความเข้าใจผิดของประชาชนส่วนใหญ่


มุมมองด้านเศรษฐกิจการเมืองและงบประมาณ....ความเข้าใจผิดด้านการจัดการงบประมาณ

1.งบรายหัวไม่ใช่เรื่องใหม่ การจัดทำงบประมาณด้านสาธารณสุขถูกกางผ่านงบประมาณรายหัวมานานแล้ว เพียงแต่ก่อนหน้านี้การได้รับการรักษา เป็นไปผ่านระบบพิสูจน์สิทธิ์ผู้มีรายได้น้อย ทำให้ประชาชนส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการได้ รัฐบาลทักษิณ ประยุกต์แนวคิดของ นพ.สงวน ด้วยการปรับงบประมาณรายหัวสู่การเป็น “กองทุน” หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และขยายสิทธิ์สู่ประชาชนทุกคน เป็นเมกะโปรเจ็คที่ประสบความสำเร็จ ด้วยการบริหารจัดการ ผ่านกลไกการควบคุมอุปสงค์....กล่าวคือการทำให้คนไข้กล้ามาหาหมอ อุปสงค์ของโครงการก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่อง สำหรับนโยบายภาครัฐ “การเจ๊ง” หรือไม่ ตัวชี้วัดคือการที่มีคนมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถทำให้แผนนโยบายและงบประมาณเกิดผลสัมฤทธิ์ โครงการบ้านเอื้ออาทรแม้จะเป็นสวัสดิการพื้นฐานเช่นเดียวกันก็ประสบความล้มเหลวเพราะไม่สามารถสร้าง “อุปสงค์” ได้ตามแนวทาง Keyesian ที่ทักษิณ ยึดถือในช่วงแรก

2.ดังนั้นหากจะบอกว่า โครงการนี้ทำให้รัฐบาล “ขาดทุน” หรือ ล้มละลายในตัวเองย่อมเป็นเรื่องตลก เพราะงบประมาณข้างต้นคืองบประมาณด้านสาธารณสุขอยู่แล้ว หรือหากจะบอกว่ามีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ก็คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว แม้ประเทศไทยจะมีประชากรเพิ่มขึ้น ปีละประมาณ  2 แสนคน (อัตรานี้มีแนวโน้มลดลง) แต่ แนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของรัฐก็เพิ่มขึ้นปีละ ประมาณ 10,000 ล้านบาท อันหมายความว่า ประชาชน 1 คนจะได้งบประมาณจากรัฐปีละ 50,000 บาท ซึ่งคือที่มาของตัวเลข 4% กว่าๆที่ประกันสุขภาพได้รับจาก GDP ของประเทศ หรือในเงิน 100 บาท รัฐแบ่งปัน 4 บาท เพื่อดูแลสุขภาพแก่ประชาชน (ในขณะเดียวกัน งบประมาณ 2% ของประเทศถูกกันไว้สำหรับ กระทรวงกลาโหม และกองทัพ!)

3.หากคำถามว่า 4% นี้เยอะหรือไม่รายงานจาก WHO แสดงให้เห็นว่า ค่ากลางของงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศทั่วโลกคือ 6% (หากมีประเทศ 200 ประเทศ....ประเทศลำดับที่ 100 จะให้งบด้านนี้ 6%) หรือหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มประเทศ ยากจน-ปานกลาง ค่ากลางอยู่ที่ 4.5% ประเทศไทยไม่ได้อุดหนุนงบด้านนี้มากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับนานาประเทศ หรือกระทั่งกลุ่มประเทศรายได้ใกล้เคียงกัน ระบบของไทยเป็นที่พูดถึงและตบหน้า ประเทศ OECD และประเทศกลุ่มรายได้ระดับเดียวกันว่า การดูแลสุขภาพของประชาชน ไม่จำเป็นต้องให้ประเทศคุณร่ำรวยก่อน แต่สามารถทำได้เลย

4.งบประมาณ จึงไม่ใช่ปัญหาและไม่เคยเป็นปัญหา แม้จะมีปัญหาด้านการบริหารจัดการแต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่จะเข้าไปกระทบเนื้อแท้ของตัวระบบสวัสดิการ ซึ่งมิใช่ว่าไม่ต้องแก้ไข เช่นการรวมศูนย์นโยบาย การขาดแคลนของงบประมาณส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ใช่ข้ออ้างในการยกเลิกแต่อย่างใด


มุมมองด้านสังคมวิทยา....จริงหรือที่คนจนเป็นภาระของประเทศ?

ไม่มีสังคมใดในโลกที่ทุกคนเท่ากันโดยสมบูรณ์ไม่ว่าจะทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ คุณสามารถเห็นคนจน คนจรจัดในประเทศที่มีความเสมอภาคสูงในยุโรปตะวันตกเช่นเดียวกัน แต่ความแตกต่างกันคือ ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงในสังคมไทยสร้างมายาภาพที่แยกขาด เสมือนหนึ่งว่าไม่มีชนชั้นล่างในสังคมปกตินี้ ชนชั้นล่างเป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นภัยคุกคาม เหมาะอยู่ในที่ทางที่สังคมจัดไว้ให้ เช่น ชนบท โฮมสเตย์ เพลงลูกทุ่ง เวทีประกวด แต่ถ้าพวกเขาเหล่านั้นก้าวออกจากพื้นที่ที่ถูกจัดวางไว้ ก็จะกลายเป็นตัวอันตราย น่ารังเกียจ ป่าเถื่อน ไร้การศึกษา เป็นภาระ และต้องถูกกำจัดหรือจัดวางให้เข้าที่ เมื่อสามสิบบาทถูกเชื่อมเข้ากับคนจนชนชั้นล่าง (โดยเฉพาะเมื่อเป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทย) ก็ถูกรังเกียจโดยชนชั้นกลาง สนับสนุนให้เกิดการยกเลิก อันนับเป็นความเข้าใจผิดในประเด็นสังคมวิทยาอย่างรุนแรงดังนี้

1.ชนชั้นกลาง ปลอดภัยอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องมีประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยรัฐ ...นับเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง ชนชั้นกลางนอกระบบราชการหลังปี 2540 มีการคุ้มครองที่เป็นรูปธรรมคือ กองทุนประกันสังคม ซึ่งคุ้มครองด้วยการส่งเบี้ยประกันปีละ ขั้นต่ำประมาณ 7000 บาทต่อปี รัฐและนายจ้างอุดหนุนเท่ากัน (ส่วนของรัฐคือค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการ) ประกันสังคมนี้นับเป็นกองทุนที่มีการคุ้มครองสูงแต่ก็กำหนด เพดานการคุ้มครองสำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง สำหรับผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปี สามารถเลือกรับสิทธิ์บำนาญได้โดยต้องเสียสิทธิ์ ประกันสุขภาพ...และทำให้ต้องเข้ามาใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า...ถ้าสามสิบบาทถูกยกเลิก ชีวิตพนักงานปกคอขาวจะเปราะบาง เพราะพวกเขาจะไม่สามารถใช้สิทธิ์บำนาญ และการประกันสุขภาพกับบริษัทประกันเอกชน ไม่สอดรับกับการคุ้มครองระยะยาว....เงินเก็บทั้งชีวิตจะหมดไปกับการรักษาพยาบาลที่ต่อเนื่อง เพียงปีเดียว หากไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า....คนได้ประโยชน์เรื่องนี้ไม่ใช่แค่คนจน ชนชั้นล่างแต่อย่างใด

2.คนใช้สามสิบบาทกันอย่างฟุ่มเฟือยไม่ดูแลสุขภาพ? ข้อเท็จจริงคือไม่มีใครอยากป่วย และไม่มีใครอยากมาโรงพยาบาล มันเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยโรคภัยและความทุกข์ อาจพูดกันอย่างสนุกปากว่าคนพวกนี้กินเหล้า สูบบุหรี่ไม่ดูแลสุขภาพ แต่เมื่อเปิดสถิติปี 2556 ผู้ป่วยใน คนไข้ในที่เป็นโรคตับ จากแอลกอฮอล์ มี 40000 กว่ารายเท่านั้น หรือรวมโรคที่เกี่ยวข้องกับปอด อีก 2 แสนราย (ไม่สามารถเหมารวมว่าเป็นบุหรี่ได้ด้วย.้ำ) ทั้งหมด ยังไม่ถึงครึ่ง ของผู้ป่วยในที่เป็นโรคเบาหวาน กว่า 5 แสนคน โรคติดเชื้อต่างๆจากโภชนาการ อีกนับ 6 แสนคน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตที่เกิดจากการทำงานหนักและได้รับอาหารและการพักผ่อน ไม่เพียงพอ และข้อมูลยิ่งชัดเจนว่า ข้อมูลผู้ป่วยนอกปี 2555 มีเคสผู้ป่วยนอก โรคระบบกล้ามเนื้อ รวมโครงร่าง และเนื้อยึดเสริม ถึง 20 ล้านเคส (คนหนึ่งอาจใช้บริการหลายครั้ง) ซึ่งเป็นภาพสะท้อนโรคที่เป็นผลโดยตรงจากการใช้ชีวิตที่ไม่ถูกสุขอนามัยจากการ ทำงานหนักเช่นเดียวกัน....จะเห็นได้ว่าต้นเหตุของโรค ส่วนมากไม่ได้เกิดจากความ “โง่” ของประชาชน เเต่เกิดจากการแสวงหากำไรและการขาดการดูแลที่ทั่วถึงของรัฐต่อชีวิตประจำวันของพวกเขา

3.การไม่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้ความมั่นคงในชีวิตของคนน้อยลง ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างก้าวกระโดดในช่วงสิบกว่าปีก่อนมาจาก การที่ประชาชนระดับล่างมีความมั่นคงที่จะลงทุนในวิสาหกิจขนาดย่อม มีความมั่นคงพอที่จะจับจ่ายใช้สอย มันทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากประเทศยากจนได้ในช่วงเวลานั้น


ถ้ายกเลิกแล้วไม่เป็นผลดีต่อใคร แล้วจริงๆใครอยากที่จะยกเลิก

รัฐบาลอำนาจนิยมที่รับใช้ระบบเสรีนิยมใหม่ต้องพยายามจำกัดสวัสดิการของประชาชนอยู่แล้ว ประเทศไทยไม่ได้ยืนเดียวดาย ฝ่ายขวาทั่วโลกก็มีความพยายามแบบนี้เช่นกัน(อังกฤษ....เยอรมัน....ญี่ปุ่น) เพราะเพียงพวกเขากลัวว่า ภาระจะต้องมาตกที่คนรวยหยิบมือเดียวของประเทศ ซึ่งจะถูกบังคับให้จ่ายภาษีอัตราก้าวหน้าเลี้ยงคนจน มันคือทางออกพื้นฐานถ้าจะให้คนส่วนมากในประเทศอยู่ได้ก็ต้องเก็บจากคนถือครองทรัพยากรส่วนมากซึ่งเป็นอภิสิทธิ์ชนจำนวนน้อย (ซึ่งความมั่งคั่งของพวกเขาก็ได้จากความยากจนของคนในประเทศ) เป็นการเดิมพันของกลุ่มทุน และรัฐที่รับใช้กลุ่มทุนอย่างใกล้ชิด พวกเขาเลือกที่จะวางระบบให้ผู้คนดิ้นรนเพื่อที่จะได้ทำงานหนักและไม่มีเวลามาตั้งคำถามกับ ระบบเศรษฐกิจการเมืองใด

บทสรุปที่สำคัญ...ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะปลอดภัยภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย

 

เอกสารเพิ่มเติม

รายงาน จาก WHO 
http://www.who.int/countryfocus/cooperation_strategy/ccsbrief_tha_en.pdf
http://www.who.int/bulletin/volumes/88/2/10-010210/en/

สถิติผู้ป่วยจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ 
http://service.nso.go.th/nso/web/statseries/statseries09.html

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net