Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เปิดรายงานสรุปสถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกตลอดปี 2558 เผยภายใต้รัฐบาลคสช.สถานการณ์เสรีภาพการแสดงออกยังอยู่ในภาวะวิกฤติ ระบบยุติธรรมถูกอ้างอิงนำมาใช้เพื่อปราบปรามความเห็นต่างทางการเมือง ช่วงกลางปีบรรยากาศการปิดกั้นดูเหมือนจะผ่อนคลายลงกว่าปีที่แล้ว แต่กลับมาร้อนแรงอีกครั้งในช่วงปลายปี การ "ปรับทัศนคติ" ยังมีต่อเนื่องโดยรูปแบบเปลี่ยนจากการเรียกรายงานตัวเป็นการไปหาที่บ้านและคนใกล้ชิดแทน ประชาชนที่แสดงความคิดเห็นโดยสงบถูกตั้งข้อหาทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรา 112, มาตรา 116, ชุมนุมเกินห้าคน ขณะที่การจัดกิจกรรมต่างๆ ทำได้ยากเพราะถูกขัดขวางทั้งทางกายภาพและด้วยการอ้าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะที่ออกใหม่

คดี 112 จับเพิ่ม 37 คน จากการแสดงออก, ข่าวใหญ่ปีนี้ “หมอหยอง” ตายในคุก

ตลอดทั้งปี 2558 มีผู้ถูกจับกุมและตั้งข้อหาด้วยมาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็น เท่าที่ยืนยันได้ คือ 37 คน เมื่อนับรวมตั้งแต่รัฐประหารถึงสิ้นปีนี้ มีบุคคลที่ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 61 คน โดยเฉพาะช่วงปลายปีมีผู้ถูกตั้งข้อหา 112 จากการกดไลค์และการพาดพิงสุนัขทรงเลี้ยง

สำหรับคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ในทุกชั้นศาลรวมอย่างน้อย 17 คดี ตัวอย่างเช่น คดีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 5 ปี ลดเหลือ2 ปี 6 เดือน หรือคดีที่ศาลลงโทษหนัก เพราะถูกฟ้องหลายกรรมและกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เช่น พงษ์ศักดิ์ ศาลทหารพิพากษาว่ามีความผิด 6 กรรม จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 6 ข้อความ ถูกลงโทษจำคุก 60 ปี ลดเหลือ 30 ปี คดีที่ขึ้นศาลในปีนี้ส่วนใหญ่จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงมีคำพิพากษาได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้มีการนำมาตรา 112 มาดำเนินคดีกับบุคคลที่แอบอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ทั้งที่การกระทำเข้าข่ายการฉ้อโกงมากกว่า เท่าที่ยืนยันได้มีผู้ถูกจับกุมและตั้งข้อหา อย่างน้อย 18 คน โดยมีคดีที่โด่งดังคือคดี “หมอหยอง” ซึ่งในคดีนี้มีผู้ต้องหา 2 คน เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราว ซึ่งตั้งในพื้นที่ค่าย มทบ.11 โดยไม่มีรายงานการไต่สวนการตายโดยศาล

เรียกคุยอย่างน้อย 234 คน ผุดวิธีใหม่! เยี่ยมบ้านแทนประกาศเรียก นักวิชาการ – สื่อมวลชน โดนถ้วนหน้า

จากการเก็บข้อมูลพบว่าปี 2558 เจ้าหน้าที่มียุทธวิธีหลากหลายในการเรียกบุคคลไปรายงานตัวและปรับทัศนคติ โดยมีบุคคลถูกเรียกรายงานตัว ปรับทัศนคติ และเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมถึงบ้าน อย่างน้อย 234 คน เป้าหมายส่วนใหญ่คือ นักการเมืองพรรคเพื่อไทย แกนนำเสื้อแดงที่แสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง หรือกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม นักวิชาการ สื่อมวลชน ที่ทำกิจกรรมแสดงออกทางการเมือง หรือกลุ่มที่เคลื่อนไหวประเด็นอื่นๆ 

เจ้าหน้าที่พยายามเปลี่ยนวิธีเป็นการไปหาที่บ้าน ชวนไปดื่มกาแฟ ชวนไปกินข้าว ส่วนการเรียกตัวไปพูดคุยปรับทัศนคติที่ค่ายทหารยังคงมีอยู่บ้าง ตัวอย่างของวิธีการเหล่านี้ เช่น  พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีทหารมารับจากบ้านหลังออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องราคาน้ำมัน, ประวิตร โรจนพฤกษ์ อดีตผู้สื่อข่าวอาวุโสของหนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ถูกนำไปกักตัวในค่ายทหารหลายคืน ขณะที่เจ้าหน้าที่ไปหานักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่บ้านโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทหารหลายพื้นที่เข้าพูดคุยกับครอบครัวเพื่อเกลี้ยกล่อม ไปจนถึงข่มขู่คุกคาม ให้ผู้ปกครองพาลูกหลานมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่

เริ่มผ่อนให้ชุมนุมบ้างหลังกระแส “ประชาธิปไตยใหม่”

22 พฤษภาคม 2558 วันครบรอบหนึ่งปีการรัฐประหาร นักกิจกรรมหลายกลุ่มออกมาจัดกิจกรรมและถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าจับกุม เช่น การจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันนั้นมีคนถูกจับกุมจากการแสดงออกอย่างสงบรวมอย่างน้อย 43 คน ต่อมามีการตั้งข้อหาย้อนหลังกับนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ 14 คน ทั้งหมดถูกจับและถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที หลายฝ่ายออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวจนเกิดเป็นกระแส มีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยให้กิจกรรมต่างๆ ดำเนินไปโดยไม่ขัดขวาง จนต่อมาศาลทหารสั่งปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเงื่อนไข

แม้ในช่วงครึ่งปีหลัง คสช.จะผ่อนคลายให้ประชาชนรวมตัวและแสดงออกได้มากขึ้น แต่กิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ของกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ซึ่งจัดในช่วงเดือนธันวาคมก็ถูกขัดขวาง และควบคุมตัวผู้จัดกิจกรรมและผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 35 คน ทำให้เห็นว่าบางประเด็นยังอ่อนไหวในระดับที่รัฐบาลนี้ไม่ยินยอมให้แสดงออกได้

สำหรับการจัดงานเสวนาสาธารณะ ยังคงมีการปิดกั้นอย่างหนัก แม้ในประเด็นที่ไม่ใช่การต่อต้าน คสช. เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ฯลฯ โดยเหตุผลที่เจ้าหน้าที่อ้าง ยังเป็นเรื่องการไม่ขออนุญาตก่อน เกรงว่าการจัดกิจกรรมอาจเป็นแบบอย่างให้กลุ่มอื่น หรืออาจจะขยายไปสู่การเคลื่อนไหวประเด็นอื่น เท่าที่บันทึกข้อมูลได้ในปี 2558 มีกิจกรรมที่ถูกปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 63 ครั้ง

สถิติการตั้งข้อหากับการแสดงความคิดเห็นพุ่งต่อ: มาตรา 116 มาแรง, ข้อหาชุมนุม 5 คน-พ.ร.บ.คอมฯ ยังทำงาน  

ในปี 2558 มีผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีตามมาตรา 116 อย่างน้อย 28 คน สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน กรณีที่น่ากังวลสำหรับระบบยุติธรรม คือ กรณีที่ถูกตั้งข้อหาหลังการเข้าปรับทัศนคติในค่ายทหาร และออกมาพร้อมกับคำให้การระหว่างถูกควบคุมตัว เช่น กรณีฐนกรแชร์แผนผังการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ และกรณีธเนตร โพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์รัฐบาล สำหรับปัจจัยที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กลายเป็นเครื่องมือที่ถูกหยิบยกมาใช้มากขึ้น อาจเป็นเพราะเป็นกฎหมายที่มีโทษหนัก การประกันตัวต้องใช้หลักทรัพย์สูง ประมาณ 70,000-150,000 บาท และข้อหานี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร 

ขณะที่มีคนถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองอย่างน้อย 37 คน เช่น กลุ่มพลเมืองโต้กลับ 4 คน จากการจัดกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก”, นักศึกษากลุ่มดาวดิน 7 คน ที่ชูป้ายต่อต้านการรัฐประหาร, กลุ่มนักศึกษาหน้าหอศิลป์ 9 คนที่ทำกิจกรรมวันครบรอบ 1 ปี การรัฐประหาร และ กลุ่มอาจารย์ 8 คนที่แถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร

นอกจากนี้ยังมีการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงออกในประเด็นต่างๆ แม้ไม่ใช่การต่อต้านคสช. เช่น กรณีไมตรี ชาวลาหู่โพสต์วิดีโอชายแต่งกายคล้ายทหารตบหน้าชาวบ้าน หรือ สุรพันธ์ ชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองทองคำที่ จ.เลย ถูกบริษัทเหมืองฟ้องต่อศาลจังหวัดแม่สอด

อ่านรายงานฉบับเต็ม ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/report/2015report

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net