Skip to main content
sharethis
รายงานพิเศษจาก 'ฟาตอนีออนไลน์' กับคำถามถึงความเหมาะสมในการเดินหน้าก่อสร้าง 'โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา' ในภาวะที่ประชาชนต่างรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม รู้สึกว่าถูกกดขี่ ถูกทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างซึ่ง ๆ หน้า
 
 
ท่ามกลางความคาดหวังของผู้คนในพื้นที่จังหวดชายแดนภาคใต้ต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขที่ทางภาครัฐซึ่งนำโดยกองทัพไทยภายใต้การกำกับทิศทางของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้ดำเนินการอย่างเป็นทางการเป็นครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกในช่วงสมัยของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งนำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใต้การกำกับทิศทางของพรรคเพื่อไทยและพี่ชาย นั่นคือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ อยู่ๆสังคมในพื้นที่ก็ต้องทำใจบีบบังคับลดความรู้สึกมีความหวัง กับกระแสกระบวนการพูดคุยสันติสุข ให้ยอมรับกับสภาพความเป็นจริงอันย้อนแย้งกับคำพูดของผู้นำที่คอยปลอบโยนให้กำลังใจว่าอย่าสิ้นหวัง
 
ขณะทีกงล้อสันติภาพกำลังหมุนไปข้างหน้าอย่างมีพลวัตและเพลิดเพลินกับคำประเมินที่จำเป็นต้องมองโลกให้สวยเข้าไว้ ฝ่ายความมั่นคงของไทย ก็กำลังจะอนุญาตให้มีภัยแทรกซ้อนที่อาจทำให้เกิดภาวะเรื้อรังยืดเยื้อจนเกินความสามารถที่จะรักษาก็เป็นได้ ภัยแทรกซ้อนดังกล่าวกำลังจะเข้ามาในรูปแบบของการอ้างเหตุผลเพื่อเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เป้าหมายคือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดความยากจนของประชาชน แต่เนื่องจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ดังกล่าวกำลังจะสร้างขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากๆต่อความมั่นคงแห่งชาติและประชาชน
 
ทั้งนี้อย่าลืมว่าพื้นที่ชายแดนใต้กำลังอยู่ในภาวะของสงครามอสมมาตรระหว่างชุดอุดมการณ์ทางการเมืองชาตินิยมไทยกับชุดอุดมการณ์ทางการเมืองชาตินิยมปาตานี ซึ่งความขัดแย้งปัจจุบันถูกพัฒนาเป็นการสู้รบด้วยอาวุธ หากรัฐจัดการไม่ดี โอกาสที่จะเกิดเป็นสงครามประชาชนก็มีสูง และเงื่อนไขอมตะที่กลายเป็นชนวนเหตุรากเหง้าของความ ขัดแย้งครั้งนี้ก็คือ ประวัติศาสตร์ปาตานีและการกดขี่ทางวัฒนธรรม ก็จะถูกผนวกเข้าในความรู้สึกของคนมลายูสงขลาภายใต้วาทกรรม “สิทธิความเป็นเจ้าของ” โดยปริยาย
 
เงื่อนไขเก่ายังคุกรุ่นชุกโชนไม่มีทีท่าว่าจะมอดดับลงได้ง่ายๆ แม้นว่าจะมีการสาดน้ำด้วยกระแสการพูดคุยสันติสุขเข้าไปบ้างก็ไม่สะเทือน เงื่อนไขใหม่ก็ทำท่าจะเพิ่มอุณหภูมิความร้อนเข้ามาอีก โดยเฉพาะโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังจะดำเนินการสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ขึ้นในเร็วๆนี้ด้วยการยินยอมของชาวบ้านโดยสมัครใจหรือไม่สมัครใจก็ตาม
 
สมมุติว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาถูกสร้างขึ้นมาได้จริงๆและข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือได้นั้นเป็นความจริงว่า ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้และสร้างความเสียหายมหาศาลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แน่นอนว่าผลกระทบดังกล่าวไม่ใช่แค่กินพื้นที่ในอำเภอเทพาเท่านั้น หากแต่ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาจจะเลยเข้าไปข้ามพรมแดนของประเทศมาเลเซียก็เป็นได้
 
เรื่องนี้ถูกย้ำความชัดเจนเมื่อไม่นานมานี้จากวงเสวนาวิชาการในวันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องสมุดจอห์นเอฟเคเนดี้ มอ.ปัตตานี หัวข้อ “ปริศนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กับ กระบวนการสันติภาพปาตานี” จัดโดยชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการเสวนาวิชาการที่ตั้งคำถามต่อปริศนาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหลายประเด็นด้วยกันซึ่งทุกประเด็นล้วนแล้วชวนให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมฝ่ายความมั่นคงจึงไม่สั่งระงับการพยายามดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าจะกระทบต่อบรรยากาศการพูดคุยสันติสุขที่จำเป็นต้องอาศัยภาวะของความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้คนทุกระดับชั้นในสังคม ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีเท่านั้น
 
อ.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอ.ปัตตานี หนึ่งในวิทยากรวงเสวนาครั้งนี้ได้นำเสนอข้อมูลว่า โครงการโรงไฟฟ้าและท่าเรือขนส่งถ่านหินเทพา นั้นถือเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่กินเนื้อที่เกือบ 3,000 กว่าไร่ และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 2,200 เมกาวัตต์
 
“ถ้ามองในแง่รัศมีของผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านที่จะเกิดนี้ ผลกระทบจากมลพิษมันกินวงกว้างถึงหลายร้อยกิโลเมตร เพราะการเผ่าถ่านหินของโรงไฟฟ้าจะเผ่ามากถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัม ตลอด 24 ชม. และมีปล่องปล่อยควันที่มีขนาดสูงเท่ากับตึก 66 ชั้น และมลพิษที่ถูกปล่อยขึ้นไปนั้นจะสามารถอยู่ในชั้นเมฆได้นานถึง 10วัน แต่ที่น่าสังเกตก็คือทำไมปัตตานีที่มีพื้นที่ติดกับตัวโรงไฟฟ้าและห่างจากตัวโรงไฟฟ้าเพียง 2-3 กิโลเมตร ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในรายงานการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยเฉพาะ บางระพา ท่ากำชำ หนองจิก และอำเภอเมือง ที่ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จากโรงไฟฟ้า นี่คือข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่เป็นปริศนา จากการดำเนินโครงการขนาดมหึมานี้”
 
“นอกจากนี้ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้ระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็น ที่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการศึกษาผลกระทบ แต่กลับใช้ระยะเวลาในการศึกษาเพียง 9 เดือน ทั้งๆที่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่มีขนาดเล็กกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาถึง 3 เท่า กลับใช้ระยะเวลาในการศึกษาผลกระทบถึง 3 ปี และการศึกษาผลกระทบนี้รัฐวางกรอบศึกษาผลกระทบแค่รัศมี 5 กิโลเมตร จากตัวโรงไฟฟ้า ทั้งๆที่ผลกระทบกินวงกว้างมากกว่า 5 กิโลเมตร และแน่นอนปัตตานีก็ไม่ได้อยู่ในกรอบการศึกษาผลกระทบ”
 
โดยสรุปแล้ว อ.เกื้อ ฤทธิบูรณ์ ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ 3 ปริศนาด้วยกัน ปริศนาที่1 คือ เราไม่มีพลังงานทางเลือกอย่างอื่นเลยหรือ ปริศนาที่ 2 ใครเป็นคนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้ ปริศนาที่ 3 ทำไมปาตานีไม่ได้อยู่ในการพิจารณาศึกษาถึงผลกระทบ
 
ขณะที่ อ.ดิเรก เหมนคร นักวิชาการในพื้นที่จากมหาวิทยาลัยฟาฎอนี จ.ปัตตานี มองว่าการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ไม่มีความชอบธรรมและประชาชนคนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง
 
“อย่างในกรณีเวทีรับฟังความคิดเห็นหรือ “ค.1-ค.3″(“ค” คือ เวทีรับฟังผลกระทบ) ค.1 รัฐให้กลุ่มผู้เห็นต่างรายงานผลกระทบคนละ 5 นาที ค.2 เวทีรับฟังความคิดเห็นจ้างคนนอกพื้นที่เข้ามาฟังแล้วมีการแจกข้าวสารผลไม้ให้กับผู้เข้าร่วม ส่วน ค.3 มีการกั้นรั้วหนามและนำกำลังตำรวจมามากกว่าหลายพันนายจากหลายพื้นที่เข้ามาตรึงกำลัง ก่อนจะมีการประกาศจากผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ว่าห้ามชุมนุมเกิน 5 คนติดอยู่หน้างาน และที่สำคัญคือห้ามคนที่เห็นต่างเข้าไปในบริเวณงาน”
 
“ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่ารัฐพยายามให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวแก่ประชาชนหรือไม่ และพยายามสร้างความขัดแย้งให้กับคนในพื้นที่โดยใช้เม็ดเงินเข้าไปเป็นส่วนสำคัญหรือไม่ ซึ่งจากกรณีนี้มันอาจจะเป็นตัวซ้ำเติมโหมแรงไฟให้กับความไม่สงบในปาตานีหรือจังหวัดชายแดนภาคใต้” อ.ดิเรก ชี้แนะ
 
ดูเหมือนว่าการมาของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานี้ มีลับลมคมในต่อสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่อย่างแน่นอน เห็นได้จากความพยายามรวบรัดให้ผ่านขั้นตอนค.1-ค.3 ซึ่งที่จริงแล้วฝ่ายความมั่นคงต้องเข้ามาจัดการให้ประชาชนได้มีเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณาและต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของสิทธิชุมชนและการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เพราะอำเภอเทพาเป็นพื้นที่ที่ยังบังคับใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.บ.ความมั่นคง แม้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะยกเลิกแล้วก็ตาม แต่รัฐก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำเภอเทพาก็ยังเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อความมั่นคงสูง
 
ฝ่ายความมั่นคงในฐานะเจ้าภาพผู้ดูแลพื้นที่เหล่านี้จะต้องมีมาตรการป้องกันภัยแทรกซ้อนที่อาจจะเป็นการเพิ่มเงื่อนไขใหม่หล่อเลียงความรุนแรงอย่างชอบธรรม แต่เป็นที่ชัดเจนว่าในกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาครั้งนี้ ทางฝ่ายความมั่นคงมีท่าทีที่ประชาชนในพื้นที่ต่างก็รู้สึกว่าทำตัวลอยตัวจากปัญหาหรือไม่
 
ทั้งนี้จากข้อมูลทางวิชาการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีผลกระทบร้ายแรงและน่ากลัวมากกว่าเหตุการณ์ความรุนแรงรายวันในปาตานีด้วยซ้ำเพราะความสูญเสียที่มาจากปืนหรือระเบิดนั้นมีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ไม่ได้กินวงกว้างเหมือนมหันตภัยที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน อีกอย่างชาวปาตานีก็ต้องกิน ต้องหายใจซึ่งแน่นอนขนาดวิกฤตควันอินโดที่ผ่านมาเรายังอยู่กันแทบไม่ได้และนับประสาอะไรกับมลพิษที่มาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ห่างจากปาตานีไม่กี่กิโลเมตร ผลกระทบจากมลพิษกระจายตัวไปในวงกว้างครอบคลุมทุกพื้นที่ ยังไม่นับผลกระทบที่เกิดจากความขัดแย้งกันเองเรื่องผลประโยชน์ในชุมชน เพียงเท่านี้ก็ประเมินได้ว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าแน่นอน ต่างจากเหตุการณ์ความรุนแรงรายวันนั้นมันจำกัดวงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อเหตุแต่ละครั้ง
 
ผลกระทบยิ่งเห็นเด่นชัดเมื่อไม่กี่สัปดาห์หลังจากวงเสวนา ทางแกนนำของชาวบ้านที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ก็ถูกกลุ่มผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ข่มขู่จะลอบทำร้ายถึงแก่ชีวิต กลายเป็นความขัดแย้งในชุมชน แต่ท่าทีของฝ่ายความมั่นคงก็ยังคงเงียบอยู่ จนกระทั่งเมื่อวันที่29ธันวาคม2558 ที่ผ่านมา เรื่องบานปลายจนประชาชนหลายหมู่บ้านจำนวน 300 กว่าคนที่รับทราบข่าวว่าจะมีการเสวนาและตื่นตัวจาก มหันตภัยโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ก็ได้รวมตัวกันรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการยับยั้งการดำเนินการโครงการดังกล่าว ในเวทีการเสวนาชุมชนสาธารณะ “เรื่องปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ข้อท้าทายบนเส้นทางกระบวนการสร้างสันติสุขชายแดนใต้” จัดโดยสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (LEMPAR) สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) สหพันธ์นักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี (PerMAS) ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอ.ปัตตานี และเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จนในตอนท้ายของงานในวันนั้นได้มีการตั้งเครือข่ายร่วมเพื่อการปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีชื่อว่า “เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ” หรือชื่อย่อที่ว่า “PERMATAMAS”  ซึ่งแปลว่า พลอยทองคำ (Persekutuan rakyat mempertahankan hak masyarakat dan sumber daya alam untuk kedamaian) โดยมีการอธิบายว่า หลายครั้งการใช้ฐานทรัพยากรธรรมชาติของภาครัฐมักสวนทางกับสิ่งที่ชาวบ้านเลือก เพราะต่างฝ่ายต่างนิยามความหมายที่แตกต่างกัน
 
“ชาวบ้านมองว่าฐานทรัพยากรเปรียบเสมือนกับตู้กับข้าวของชุมชนซึ่งเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องให้กับคนในพื้นที่ ส่วนภาครัฐจะมองว่าฐานทรัพยากร คือ ปัจจัยการผลิตต้นทุนการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ โดยไม่สนว่าจะเกิดหายนะต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในพื้นที่อย่างไร”
 
สิ่งที่รัฐบาลควรตระหนักคือหากเป็นพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 จังหวัด นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และอีก4อำเภอของสงขลาคือ สะบ้าย้อย เทพา จะนะ นาทวี ความเสียหายที่มาจากผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็คือวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนและสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย แต่ทว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเองก็ยอมรับว่าเป็นพื้นที่ที่กำลังมีสงครามอสมมาตรระหว่างรัฐไทย กับ BRN (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี) ซึ่งหากรัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคง ปล่อยให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาสามารถดำเนินการได้ แน่นอนว่าผลกระทบของมันไม่ใช่แค่วิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนถูกทำลายอย่างเดียว กระบวนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ที่ฝ่ายความมันคงมุ่งมั่นจริงจังทุ่มเท จะให้เกิดขึ้น เป็นจริงนั้นก็ย่อมถูกทำลายไปด้วย
 
ภาวะที่ประชาชนต่างรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม รู้สึกว่าถูกกดขี่ ถูกทำลายสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างซึ่งๆหน้านั้น คงเป็นไปไมได้ที่ประชาชนเชื่อว่าสถานการณ์ชายแดนใต้กำลังจะดีขึ้น และคงไม่ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกจะสนับสนุนกระบวนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้อย่างแน่นอน
 
มาถึงตรงนี้แล้วจึงอยากให้เจ้าภาพดับไฟใต้อย่างฝ่ายความมั่นคง ชั่งใจอีกนิดว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา มาเพื่อพัฒนา หรือ “ยิ่งโหม” ไฟใต้ กันแน่ 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net