Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การจับกุม ‘หมอหยอง’ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา และพวก ตั้งแต่ 16 ต.ค. 2558 กลายเป็นข่าวที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง และปลุกความกระหายใคร่รู้ของประชาชน เริ่มจากการเสียชีวิตของ พ.ต.ต.ปรากรมและหมอหยองระหว่างถูกควบคุมตัวในเรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรี (เรือนจำชั่วคราว มทบ.11) เมื่อ 23 ต.ค. และ 7 พ.ย. ที่ผ่านมาตามลำดับ ตามมาด้วยกระแสข่าวการกวาดจับเครือข่าย ‘แอบอ้างเบื้องสูง’ ที่มีนายทหารตำรวจใหญ่หลายนายเกี่ยวข้อง นำมาซึ่งการเปิดเผยข้อมูลว่าเครือข่ายหมอหยองอาจมีส่วนเชื่อมโยง และส่อทุจริตในการสร้างอุทยานราชภักดิ์ อุทยานที่ประชาชนตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ และเดินทางไปไม่ถึง…

ภาพนายสุริยันต์ สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง ถูกนำตัวมาขออนุญาตศาลทหารฝาก เมื่อวันที่ 21 ต.ค.58

‘อุทยานราชภักดิ์’ ตามที่ปรากฏบนเว็บไซต์กองทัพบก เป็นอุทยานที่จัดสร้างขึ้นภายในพื้นที่ของกองทัพบก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเทิดทูนบรรพกษัตริย์แห่งสยาม ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญของกองทัพบก รับรองบุคคลสำคัญจากต่างประเทศ รวมถึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ แต่ดูเหมือนว่าอุทยานบนพื้นที่ของกองทัพบกแห่งนี้จะไม่ได้เปิดประตูต้อนรับทุกคน

เหตุการณ์ที่เป็นข่าวครึกโครมในช่วงปลายปีนี้ เห็นจะเป็นการตัดตู้รถไฟที่นักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชน โดยสารไปอุทยานราชภักดิ์ ในกิจกรรม ‘นั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง’ ที่กลุ่มประชาธิปไตยศึกษาจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในวันนั้น นักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชนถูกทหารควบคุมตัวรวม 36 คน จากสถานีรถไฟบ้านโป่งไปยังพุทธมณฑล ในจำนวนนี้มีทนายความและเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เดินทางไปสังเกตการณ์ 2 คน

ประชาชนหลายคนถูกบีบให้ยอมรับเงื่อนไขในการปล่อยตัว โดยต้องตกลงที่จะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และไม่เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. ซ้ำปลายทางอุทยานราชภักดิ์ยังปิดปรับปรุงโดยไม่แจ้งล่วงหน้าในวันเดียวกันนั้นด้วย

แม้จะได้รับการปล่อยตัวหลังถูกควบคุมตัวในพุทธมณฑลนานร่วม 3 ชั่วโมง แต่หลายคนที่เดินทางไปในกิจกรรมดังกล่าว ยังคงถูกคุกคามอย่างต่อเนื่อง

เริ่มจากวันที่ 8 ธ.ค. 2558 การแถลงข่าวต่อกรณีถูกตัดขบวนรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ของ ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ สมาชิกกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดขวางด้วยการพยายามควบคุมตัวเขาขณะเดินมายังสถานที่แถลงข่าว และห้ามแถลงข่าว แต่เมื่อเจรจากันแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยอมให้จ่านิวสัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนได้ราว 20 นาที ก่อนจะขอให้ทั้งจ่านิวและสื่อมวลชนหยุดการสัมภาษณ์

หลังจากนั้น ‘ปอ’ หนึ่งใน 36 คนที่ถูกควบคุมตัวจากกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ถูก ‘ผู้ใหญ่’ บีบให้ออกจากบ้านพักเรือนจำคลองเปรมที่ปออาศัยอยู่ญาติซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โดยอ้างว่าอาจจะกระทบไปถึงหน้าที่การงานของญาติที่ปออาศัยอยู่ด้วย รวมถึงมีทหารตามไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของปอภายหลังการปล่อยตัวที่พุทธมณฑล

จากนั้น วันที่ 13 ธ.ค. 2558 ‘ตูน’ ธเนตร อนันตวงษ์ อีกหนึ่งนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัว ถูกเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบจับกุมขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสิริธร เป็นเวลากว่า 6 วันที่เขาถูกอุ้มหาย ญาติหรือคนใกล้ชิดไม่ทราบว่าเขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน เป็นตายร้ายดีอย่างไร แม้จ่านิว จะอาศัยช่องทางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้ปล่อยตัวธเนตร ถึงสองครั้ง เนื่องจากถูกควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลอาญาสั่งยกคำร้องทั้งสองครั้ง

ครั้งแรก ศาลมีความเห็นว่าคดีไม่มีมูล ส่วนครั้งหลัง ศาลเห็นว่าการควบคุมตัว ธเนตรโดยอาศัยคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ไม่ใช่การควบคุมตัวที่มิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร ซึ่งการยกคำร้องทั้ง 2 ครั้ง ศาลอาญายกคำร้องโดยไม่ได้ไต่สวนผู้ร้อง ทั้งที่ตามมาตรา 90 กำหนดว่า

“เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้อง ถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกคุมขัง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย เมื่อได้รับคำร้องดังนั้น ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดง ให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที”

ตามกฎหมาย ศาลจึงต้องทำการไต่สวนก่อนมีคำสั่งในคำร้อง การนัดฟังคำสั่งอีกวันให้หลัง ไม่ไต่สวนโดยด่วน ทั้งยังยกคำร้องโดยไม่มีการไต่สวน จึงเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ธเนตรถูกควบคุมตัวจนถึงวันที่ 18 ธ.ค. 2558 เช้าวันนั้นเขาถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหา และสอบคำให้การที่กองบังคับการปราบปราม ก่อนนำตัวมาฝากขังยังศาลทหารกรุงเทพ ในข้อกล่าวหาว่า โพสต์เฟซบุ๊กที่ทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พ่วงด้วยมาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยในใบแจ้งข้อกล่าวหา และในคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นโพสต์ใด เนื้อหาใดที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 116 ทว่าศาลกลับอนุญาตฝากขัง แต่ยังให้ประกันตัวด้วยเงินสด 1 แสนบาท

ล่าสุด ผู้ถูกควบคุมตัวจากการเดินทางไปในกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง อย่างน้อย 11 คน ได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจรถไฟธนบุรี ในวันที่ 22 ธ.ค. 2558 โดยระบุข้อหามั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ สถานที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ตามประกาศหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งทั้ง 11 คนได้ทำเรื่องขอเลื่อนเข้ารายงานตัว เนื่องจากบางคนยังไม่ได้รับหมายเรียก หรือได้รับหมายเรียกกระชั้นชิด แต่พนักงานสอบสวนไม่อนุญาต และได้ออกหมายเรียกให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 29 ธ.ค. 2558 พร้อมแจ้งว่าหากไม่มาตามหมายเรียกครั้งที่สองนี้ จะออกหมายจับ

นักศึกษาและนักกิจกรรมที่ถูกออกหายเรียก 11 คน ได้แก่ ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, อานนท์ นำภา, ชลธิชา แจ้งเร็ว, ชนกนันท์ รวมทรัพย์, ธเนตร อนันตวงษ์, ‘แชมป์ 1984’ กิตติธัช สุมาลย์, วิศรุต อนุกุลการย์, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธุ์, กรกช แสงเย็นพันธ์, กรกนก คำตา และวิจิตร หันหาบุญ

นอกจากนี้ ก่อนจัดกิจกรรม ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2558 จ่านิวและครอบครัวถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ทหารผู้มีความพยายามติดตามหาตัวจ่านิว เพื่อห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น แต่จ่านิวปฏิเสธที่จะเข้าพบเจ้าหน้าที่ทหาร เพราะกังวลว่าอาจจะถูกควบคุมตัว และยังยืนยันที่จะจัดกิจกรรมต่อไป เจ้าหน้าที่ทหารจึงใช้วิธีการโทรศัพท์ในทำนองข่มขู่ และเชิญผู้เป็นแม่ของจ่านิวไปพบในช่วงบ่าย วันที่ 6 ธ.ค. 2558

ขบวนรถไฟที่ไปไม่ถึงอุทยานราชภักดิ์นี้ ไม่ใช่เหตุการณ์แรก เพราะณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ และจตุพร พรหมพันธุ์ สองแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ก็ไปไม่ถึงอุทยานราชภักดิ์มาแล้วในทำนองเดียวกัน

30 พ.ย. 2558 แกนนำ นปช. ได้ประกาศนัดหมายรวมตัวที่ตลาดมหาชัยเมืองใหม่ จ.สมุทรสาคร เพื่อเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ แต่เช้าวันนั้นกลับมีทหารตรึงกำลังบริเวณทางเข้าออกเข้าหมู่บ้านของทั้งคู่ รวมถึงที่ตลาดมหาชัยเมืองใหม่ ก่อนที่แกนนำทั้งสองคนจะถูกทหารควบคุมตัวท่ามกลางผู้สื่อข่าวที่ตลาดมหาชัย โดยณัฐวุฒิและจตุพรถูกนำตัวไปยังกองพลทหารราบที่ 9 จ.กาญจนบุรี และได้รับการปล่อยตัวในวันเดียวกัน แต่ต้องลงชื่อยอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัวที่มีเนื้อหาว่า จะละเว้นการเคลื่อนไหวหรือชุมนุมทางการเมือง ไม่แสดงความเห็นต่อต้านการปฏิบัติงานของรัฐบาลและ คสช. รวมถึงไม่ช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง หากฝ่าฝืนเงื่อนไขยินยอมที่จะถูกดำเนินคดีและระงับธุรกรรมทางการเงิน

นอกจากจะห้ามเดินทางไปยังอุทยานราชภักดิ์แล้ว คสช. ยังอ่อนไหวต่อการแสดงความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทุจริตในการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ถึงขั้นที่การพูดถึงการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ อาจทำให้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามมาตรา 116 และแถมท้ายด้วย พ.ร.บ.คอมฯ หากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์บนสื่อสังคมออนไลน์

กรณีแรกที่มีการดำเนินคดีในลักษณะนี้ คือ กรณีของนักธุรกิจหญิงรายหนึ่งที่โพสต์ข้อมูลการทุจริตเกี่ยวกับการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์บนเฟซบุ๊กของเธอเอง โดยวันที่ 27 พ.ย. 2558 เจ้าหน้าที่ทหาร และ เจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) บุกไปตามหาตัวเธอถึงบ้านและที่ทำงาน แต่ไม่พบ จึงได้ยึดคอมพิวเตอร์ที่ทำงานของเธอไป

เมื่อทราบเรื่อง นักธุรกิจหญิงรายดังกล่าวได้เดินทางไปยัง ปอท. แต่กลับถูกสอบสวนทันทีในคืนนั้น เธอถูกยึดโทรศัพท์สมาร์ทโฟน และขอรหัสผ่านบัญชีอีเมลล์และเฟซบุ๊ค ก่อนปล่อยตัวเธอในคืนเดียวกัน แต่แจ้งให้กลับมาในวันที่ 30 พ.ย. 2558 เพื่อรับโทรศัพท์คืน

แต่เมื่อไปตามนัด นอกจากจะไม่ได้รับโทรศัพท์คืนตามที่เจ้าหน้าที่ ปอท. แจ้ง นักธุรกิจหญิงรายนี้ยังถูกนำตัวไปแถลงข่าว และแจ้งข้อกล่าวหาว่าการโพสต์ข้อมูลเกี่ยวการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์บนเฟซบุ๊กของเธอ เป็นการกระทำผิดตามมาตรา 116 ประกอบกับ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 (1) (2) (3) ก่อนเจ้าหน้าที่จะนัดให้เธอมายัง สน.พระโขนง ในวันรุ่งขึ้นเพื่อนำตัวไปขอฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ

ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตฝากขังผู้โพสต์รายนี้ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน แม้ทนายความจะคัดค้านการฝากขัง ก่อนเธอจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยใช้เงินสด 1 แสนบาทเป็นหลักประกัน

กรณีต่อมา คือ กรณีของฐนกร ศิริไพบูลย์ พนักงานบริษัทเอกชนที่ถูกควบคุมตัวไปจากที่ทำงานใน จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2558 เขาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14 จากการคัดลอกรูปภาพ ‘เปิดปมทุจริตอุทยานราชภักดิ์’ ไปยังกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘สถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติ’ ก่อนถูกจับกุมเพียงหนึ่งวัน

นอกจากนี้ ฐนกรยังถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตาม ม.112 จากการกดไลค์ภาพของเฟซบุ๊กบุคคลอื่น ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้บุคคลอื่นที่ไม่ทราบความจริงเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์กระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงโพสต์รูปภาพ 3 รูปที่มีข้อความประชดเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยงของพระมหากษัตริย์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2558 อันเป็นการขยายการตีความมาตรา 112 ให้กว้างขวางออกไป แม้กฎหมายอาญาจะมีหลักให้ตีความโดยเคร่งครัดก็ตาม

ฐนกรถูกทหารควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 2558 ระหว่างนี้ไม่มีใครทราบว่าเขาถูกควบคุมตัวไว้ที่ไหน ทั้งทนายความที่ญาติติดต่อไว้ยังถูกกีดกันไม่ให้พบกับฐนกร แม้ทนายความจะติดต่อไปยังกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 (พัน.ร.มทบ.11) และกองบังคับการปราบปรามเพื่อแสดงตัวแล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ให้พบ รวมถึงไม่แจ้งทนายความในวันที่ทำการสอบสวนก่อนนำตัวฐนกรไปฝากขังยังศาลทหารกรุงเทพ วันที่ 14 ธ.ค. 2558 ด้วย

ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตฝากขังฐนกรที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 12 วัน ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ครบกำหนดวันที่ 25 ธ.ค. 2558 โดยปฏิเสธคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมหลักประกันเงินสด 3 แสนบาท โดยอ้างว่า เป็นคดีที่มีโทษสูง ประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้วน่าเชื่อว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี หรือไปก่อเหตุอันตรายอย่างอื่น อันเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน ศาลจึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว

ต่อมา ทนายความของฐนกรได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้งในวันครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 1 พร้อมเพิ่มหลักประกันเป็นเงินสด 9 แสนบาท แต่ศาลไม่อนุญาต โดยอ้างว่าพนักงานสอบสวนไม่อยู่ ไม่สามารถติดต่อได้ และพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวไว้เมื่อครั้งฝากขังวันที่ 14 ธ.ค. 2558 ทำให้ฐนกรยังคงอยู่ในความควบคุมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครต่ออีกอย่างน้อย 12 วัน

นอกจากห้ามเดินทางไปตรวจสอบ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ แม้แต่สื่อมวลชนซึ่งอยู่ในสถานะที่จะตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง ก็ถูกปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับอุทยานราชภักดิ์ โดยสำนักข่าวอิศราเปิดเผยว่าได้รับการปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่รายหนึ่งของกองทัพ หลังผู้สื่อข่าวทำหนังสือถึงกองทัพบก ขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 เพื่อขอให้เปิดเผยรายละเอียดการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยอ้างว่า ขอให้รอสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ธ.ค. นี้ หลังจากนั้นกองทัพบกจะเป็นผู้ส่งข้อมูลให้สื่อมวลชนอีกครั้งหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า คสช. พยายามใช้ทุกเครื่องมือที่มีอยู่เพื่อปิดกั้นการตรวจสอบจากประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังควบคุมตัวและบีบให้ยอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัว การดำเนินคดีด้วยข้อหาชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง และการใช้มาตรา 116 ซึ่งในหลายกรณีมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมตัวโดยไม่เปิดเผยสถานที่ ทำให้ผู้ถูกควบคุมอยู่ในสถานะของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ขาดหลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เช่น สิทธิเข้าถึงทนายความ สิทธิที่จะได้พบญาติ และสิทธิที่จะติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก เป็นต้น ทั้งยังเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกโดยสงบ และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอีกด้วย

ใกล้ช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปี หลายคนอาจกำลังวางแผนเดินทางไปเที่ยวอุทยานราชภักดิ์ ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งซึ่งพยายามติดตามเรื่องนี้อาจกำลังวุ่นวายกับหมายเรียกรายงานตัวที่รอท่าจะเปลี่ยนเป็นหมายจับ ยุ่งยากใจอยู่กับการถูกดำเนินคดีในข้อหาหนัก หรือแม้กระทั่งถูกคุมขังข้ามปีอยู่ในเรือนจำ เพียงเพราะพวกเขาคิดถึงอุทยานราชภักดิ์เกินไปกว่าวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้บนเว็บไซต์ของกองทัพบกเท่านั้นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net