Skip to main content
sharethis

หมอปิยะสกล รับข้อเสนอ SAFE พร้อมเตียมตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ หลังปีใหม่ ยันไม่มียกเลิกโครงการหลักประกันสุขภาพ ย้ำปีหน้ายังเหมือนเดิม

29 ธ.ค. 2558 Hfocus รายงานว่า  ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กล่าวภายหลังรับฟังข้อเสนอการคลังสุขภาพเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกัน สุขภาพ จากคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกั สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานกรรมการ และเป็นผู้นำเสนอ ว่า สธ.จะรับข้อเสนอแนะทั้งหมด และตั้งคณะทำงานที่มีความหลากหลาย มีภาคประชาสังคม และอาจจะเชิญ อัมมาร สยามวาลา มาเป็นคณะทำงานด้วย เพื่อศึกษาดูความเป็นไปได้ สภาวะที่เป็นจริงในปัจจุบันและในอนาคต โดยยึดหลักว่าการแก้ปัญหาหนึ่งต้องไม่ทำให้เกิดอีกปัญหาหนึ่ง

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพที่ประเทศไทยทำอยู่นี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้ว ในระดับนานาชาติต่างให้ความเชื่อถือ ยืนยันได้ว่าเรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร แต่จะหาดูหนทางที่จะเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เพราะถ้าปล่อยไว้อย่างนี้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร ก็จะกระทบต่อความยั่งยืนแน่นอน ต่อไปนี้คือจะมาดูว่าจะพัฒนาอย่างไรต่อไป

วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ท่านนายกฯ ก็ฝากว่า เรื่อง 30 บาท ช่วยชี้แจงด้วยว่ารัฐบาลไม่ได้ยกเลิก จากที่มีอยู่เดิม จะทำให้ดียิ่งขึ้น โดยไม่สร้างให้เกิดปัญหาทางงบประมาณ และจะพยายามหารายได้เพิ่มขึ้นรวมถึงหางบประมาณเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่จะ เกิดขึ้นเมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

“ดังนั้น ผมจะรับข้อเสนอทั้งหมด และจะตั้งคณะทำงานในเร็วๆ  นี้ คาดว่าหลังปีใหม่ 2559 นี้ จะเห็นหน้าตาของคณะทำงานชุดนี้ ซึ่งได้เรียนแล้วว่ามีองค์ประกอบของหลายภาคส่วน ภาคประชาสังคม กรรมการบางท่านจากคณะกรรมการฯ ชุดนี้ นักเศรษฐศาสตร์ โดยยึดหลักการจากข้อเสนอนี้ และมองไปถึงทิศทางในอนาคต และในปี 59 นี้ ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” รมว.สาธารณสุข กล่าวและว่า ยืนยันว่าหลักประกันสุขภาพเป็นระบบถ้วนหน้าหรือ Universal สำหรับประชาชนทุกคน เป็น universal เพื่อสุขภาพของประชาชน ที่ดีแล้วก็จะทำให้ดียิ่งขึ้น เราจะเดินไปในหลักการ SAFE ซึ่งคิดว่าคงไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับหลักการนี้

“เราไม่มีวาระซ่อนเร้น ไม่มีอคติ เปิดเผยทุกอย่าง ผมพูดมาตลอดว่าเป็นระบบที่ดี ทุกประเทศบอกว่าระบบหลักประกันสุขภาพของไทยเป็นระบบที่ดี และขอย้ำว่า การจะพัฒนาใดๆ ต้องไม่ลดสิทธิเดิมที่ประชาชนเคยได้รับ ถ้าลดแปลว่าไม่พัฒนา ทำมาแล้ว 14-15 ปี ต้องให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ทั้งนี้หลักการ  SAFE หรือ Sustainability, Adequacy, Fairness และ Efficiency นั้นนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการจัดทำแนวทางระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ขยายความว่า

เป้าหมาย Sustainability หมายถึง แหล่งการคลัง ได้แก่ งบประมาณ เงินสมทบ และรายจ่ายสุขภาพของครัวเรือน อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลและครัวเรือน สามารถลงทุนด้านสุขภาพได้ในระยะยาว โดยดัชนีชี้วัดคือภายในปี 2565 รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่เกิน 5% ของจีดีพี และรายจ่ายรัฐบาลด้านสุขภาพไม่เกิน 20% ของรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมด

ส่วนเป้าหมาย Adequacy หมายถึง รายจ่ายสุขภาพเพียงพอสำหรับการจัดบริการสุขภาพเพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึง บริการ รวมทั้งยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จำเป็น และป้องกันไม่ให้ครัวเรือนประสบภาวะล้มละลายหรือกลายเป็นครัวเรือนยากจนจาก การจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยดูจากเป้าหมายปี 2565 รายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่น้อยกว่าที่เป็นอยู่ คือ 4.6% ของจีดีพี รายจ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพต้องไม่น้อยกว่าที่เป็นอยู่ คือ 17% ส่วนรายจ่ายนอกภาครัฐด้านสุขภาพไม่เกิน 20% ของรายจ่ายสุขภาพทั้งหมด และรายจ่ายของครัวเรือนต้องไม่เกินระดับที่เป็นอยู่ คือ 11.35%

นอกจากนี้ ภายในปี 2565 อุบัติการณ์ของครัวเรือนที่ต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนภายหลังจากการจ่ายค่า รักษาพยาบาล ต้องไม่เกินระดับที่เป็นอยู่คือ 0.47% ของครัวเรือนทั้งหมด

ขณะที่เป้าหมายเรื่อง Fairness นั้น มีหลักการที่สำคัญคือ การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม หรือการช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างผู้แข็งแรงและผู้เจ็บป่วย ระหว่างผู้มีความสามารถจ่ายมากกว่าและน้อยกว่า โดยมีรายละเอียดคือ 

1. ความเป็นธรรมในการจ่ายเงินสมทบก่อนใช้บริการ (Pre-payment) ภายในระบบประกันสุขภาพภาครัฐแต่ละระบบ ตัวชี้วัดและเป้าหมายคือ ภายใน ปี 2565 เพิ่มความเป็นธรรมของการจ่ายเงินสมทบระหว่างผู้มีสิทธิในระบบประกันสังคมให้ ใกล้เคียงกับตอนเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2534 โดยปรับเพิ่มเพดานเงินเดือนสำหรับการคำนวณเงินสมทบของผู้ประกันตน ให้เป็น 7 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำ (อ้างอิง เมื่อเริ่มมีระบบประกันสังคม ในปี 2534 กำหนดเพดานเงินเดือนที่ 6.2 เท่าของค่าแรงขั้นต่ำ)

2.ความเป็นธรรมในการจ่ายเงินสมทบก่อนใช้บริการ (Pre-payment) ระหว่างผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 ระบบหลัก และ การร่วมจ่าย ณ จุดใช้บริการ (Copayment) โดยมีตัวชี้วัดและเป้าหมาย คือภายในปี 2565 บรรลุความเป็นธรรมของการจ่ายเงินสมทบก่อนใช้บริการ (Pre-payment) ระหว่างระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐทั้ง 3 ระบบหลัก มีข้อเสนอทางเลือก 2 ทาง คือ คนไทยทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบ หรือ คนไทยทุกคนไม่ต้องมีส่วนร่วมในการจ่ายเงินสมทบ และหากมีการระดมทุนจากการร่วมจ่าย ณ จุดใช้บริการสุขภาพ หรือ Copayment at point of service ต้องเป็นไปตามหลักการที่เสนอข้างต้น

ขณะเดียวกัน ภายในปี 2565 ควรบรรลุความเป็นธรรมในการจ่ายเงินแก่สถานพยาบาลของแต่ละระบบหลักประกัน สุขภาพ โดยรายจ่ายต่อหัวที่ปรับด้วยโครงสร้างอายุ (Age adjusted expenditure per capita) ของแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ ต้องมีค่าไม่ต่างจากค่าเฉลี่ยของทั้ง 3 ระบบหลัก ±10% และกำหนดให้มีมาตรฐานการจ่ายเงินของแต่ละระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐให้แก่ สถานพยาบาลเป็นราคาเดียวกันในทุกประเภทและระดับการบริการ (อาทิเช่น ยา วัสดุการแพทย์ Relative Weight of Adjusted DRG เป็นต้น)

และสุดท้าย เป้าหมายเรื่อง Efficiency หมายถึง การใช้ทรัพยากรในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพ โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งในเชิงเทคนิค (Technical efficiency) และในการจัดสรร (Allocative efficiency) ซึ่งต้องคำนึงถึงความทันเวลา และความมีคุณภาพ โดยให้ระบบประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบใช้ระบบงบประมาณปลายปิด (Close ended budget) ให้มีมาตรการและกลไกการเฝ้าระวังราคาและการควบคุมราคาการเบิกจ่าย ของกองทุนและราคาค่าบริการ ยา และเทคโนโลยี ที่มีประสิทธิภาพ (Efficient reimbursement and price control system) มีการใช้อำนาจในการซื้อร่วมกัน (Collective purchasing power) และมีการใช้มาตรการของรัฐบาล (Government intervention) อย่างเหมาะสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net