Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


เรามักพูดกันเสมอว่า พุทธศาสนาปฏิเสธระบบชนชั้นแบบพราหมณ์ (วรรณะ 4) โดยอ้างข้อความใน “อัคคัญญสูตร” แต่ถ้าไปอ่านสูตรนี้ดีๆจะเห็นว่า พุทธศาสนาปฏิเสธเพียงว่า ระบบวรรณะ 4 ไม่ได้ถูกกำหนดหรือสร้างขึ้นโดยพระพรหมผู้สร้างโลก และความประเสริฐหรือไม่ประเสริฐของคนก็ไม่อยู่ที่ชาติกำเนิด แต่อยู่ที่ “ธรรม” หรือการกระทำ ความประพฤติ (กรรม)

ใจความสำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทร หากทำดีด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เมื่อตายไปก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ หากทำชั่วด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เมื่อตายไปก็ย่อมเข้าถึงทุคติวินิบาตนรก และหากปฏิบัติได้สมบูรณ์ในมัชฌิมาปฏิปทาหรือมรรคมีองค์ 8 ก็ย่อมพ้นทุกข์ได้เหมือนกัน

ข้อความท้ายอัคคัญญสูตรระบุว่า “ในหมู่ชนที่ถือโคตร กษัตริย์คือผู้ประเสริฐที่สุด” แปลว่าหากนิยามตามระบบวรรณะ “กษัตริย์เป็นวรรณะสูงสุด” ไม่ใช่พราหมณ์ ส่วน “ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นผู้ประเสริฐสุดในหมู่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” คือพุทธศาสนายืนยันว่า คนที่มีปัญญารู้แจ้งและมีความประพฤติดีคือผู้ประเสริฐที่สุด

ถามว่า อัคคัญสูตรปฏิเสธระบบชนชั้นแบบพราหมณ์จริงหรือ?

เราอาจต้องดูข้อความในสูตรอื่นๆประกอบ เช่น ใน “พาล-บัณฑิตสูตร” มีข้อความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนพาลนั้นนั่นแล ถ้าจะมาสู่ความเป็นมนุษย์ในบางครั้งบางคราว ไม่ว่ากาลไหนๆ โดยล่วงระยะกาลนาน ก็ย่อมเกิดในสกุลต่ำ คือ สกุลคนจัณฑาล หรือสกุลพรานล่าเนื้อ หรือสกุลคนจักสานหรือสกุลช่างรถ หรือสกุลคนเทขยะ เห็นปานนั้น ในบั้นปลาย อันเป็นสกุลคนจน...”

ขณะที่พูดถึงบัณฑิตว่าเมื่อตายไปก็จะไปเกิดในสกุลสูง เป็นคหบดีมหาศาล พราหมณ์มหาศาล กษัตริย์มหาศาล (รวย) ในสูตรอื่นๆยังระบุอีกว่า การเป็นคนไม่มักโกรธ ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ ตายไปแล้วจะเกิดเป็นคนมีรูปงาม ผิวพรรณงาม เกิดในตระกูลมั่งคั่ง สูงศักดิ์ ข้อความทำนองนี้มีมากมายในพระไตรปิฎกและอรรถกถา

ฉะนั้น การปฏิเสธระบบวรรณะจึงเป็นการปฏิเสธเพียงว่า ระบบวรรณะไม่ได้ถูกกำหนดโดยพระพรหมผู้สร้างโลก แต่การที่คนเราเกิดมาในชนชั้นหรือวรรณะต่างกันเกิดจากการกำหนดของกฎแห่งกรรม

จริงอยู่แม้พุทธศาสนาจะถือว่า ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทรก็สามารถเลือกทำกรรมดี หรือชั่วได้ และเลือกปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 เพื่อความหลุดพ้นได้ แต่การยืนยันว่า “คนเราเกิดมาสูงต่ำทางชนชั้นต่างกัน เพราะทำกรรมมาต่างกัน” เป็นเพียงการเปลี่ยนจากความเชื่อที่ว่า พระพรหมกำหนดชนชั้นตามชาติกำเนิด มาเป็นกรรมกำหนดชนชั้นตามชาติกำเนิดเท่านั้น

การยืนยันว่า “แต่ละคนเลือกทำกรรมดีหรือชั่วได้” ก็เป็นการยืนยันการเปลี่ยนแปลงในระดับ “บุคคล” ไม่ใช่ยืนยันการเปลี่ยนแปลง “ระบบสังคม” และการเลือกทำกรรมได้ของบุคคล ก็มีความหมายสำคัญว่า หากใครอยากเกิดมารวย สูงศักดิ์ ตระกูลสูง เป็นคณบดีมหาศาล พราหมณ์มหาศาล กษัตริย์มหาศาลก็ต้องเลือกทำกรรมดีเผื่อชาติหน้าจะได้เกิดมาดีเช่นนั้น ส่วนการปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นก็ชัดเจนว่ามุ่งเปลี่ยนแปลงด้านในของบุคคล ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมให้มีความเสมอภาค

การปฏิเสธ “ที่มา” ของระบบวรรณะแบบพราหมณ์จึงเป็นการปฏิเสธ “อภิปรัชญาทางศีลธรรม (Moral metaphysics)” แบบพราหมณ์ที่ถือว่า “พระพรหมกำหนดชนชั้นตามชาติกำเนิดของคน” บนพื้นฐานของการยืนยัน “อภิปรัชญาทางศีลธรรมแบบพุทธ” ที่ถือว่า “กรรมกำหนดให้คนเกิดมามีชนชั้นที่ต่างกัน” เนื่องจากคนเกิดมาในชนชั้นต่างกันเพราะทำกรรมมาต่างกัน

พูดในบริบทชนชั้นแบบอินเดียคือ “คนเกิดมาเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร หรือจัณฑาล เพราะทำกรรมมาต่างกัน” พูดในบริบทชนชั้นแบบไทยคือ “คนเกิดมาเป็นเจ้าขุนมูลนาย เป็นไพร่ ทาส เพราะทำกรรมมาต่างกัน”

ฉะนั้น หลักกรรมซึ่งเป็น “อภิปรัชญาทางศีลธรรมแบบพุทธ” (หมายถึง “หลักความเป็นจริงที่รองรับการให้ผลของการกระทำดีหรือชั่วทางศีลธรรม”) จึงไม่ได้ปฏิเสธระบบชนชั้น หากแต่เป็นหลักที่มีนัยยะสำคัญในการให้ “ความชอบธรรม” แก่ระบบชนชั้นทุกระบบในโลก เพราะไม่ว่าคนเราจะเกิดมาภายใต้ระบบชนชั้นแบบไหน (กระทั่งเกิดมารวย จน สวย หล่อฯลฯ) ล้วนแต่อธิบายได้ว่าเป็นผลของการทำกรรมมาต่างกันทั้งสิ้น

พูดอีกอย่างคือ พุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธระบบวรรณะแบบอินเดียบนฐานของไอเดีย “ความเสมอภาค(Equality)” ในความหมายแบบสมัยใหม่อย่างที่เราเข้าใจกัน แต่ปฏิเสธบนไอเดีย “กฎแห่งกรรม” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนคำอธิบายความแตกต่างทางชนชั้นจากการอ้างความเชื่อเรื่องพระพรหมสร้างโลก มาอ้างความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมเท่านั้น ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเกือบ 3,000 ปี จึงไม่เคยปรากฏการอ้างไอเดียความเสมอภาคแบบพุทธเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบสังคมให้มีความเท่าเทียม

ที่สำคัญอีกเรื่องคือ ขณะที่ความคิดสมัยใหม่เช่นความคิดของเอบราฮัม ลิงคอล์นมองว่า “การมีทาสผิดศีลธรรม” รัฐต้องยอมรับว่ามันผิดและปฏิบัติต่อสิ่งที่ผิดนี้ด้วยการจำกัดการแพร่ขยาย แล้วเลิกทาสไปในที่สุด แต่ดูเหมือนพุทธศาสนานอกจากจะไม่เคยมองว่าการมีทาสผิดศีลธรรม ยังมีวรรณกรรมสำคัญ (เช่นเวสสันดรชาดก) ที่แสดงให้เห็นว่า คนบำเพ็ญบารมีขั้นสูงที่สามารถส่งผลให้บรรลุพระโพธิญาณได้ต้องกล้าบริจาคลูกให้เป็นทาสได้ ในสังคมไทยที่ถือกันว่าเป็น “เมืองพุทธ” มายาวนาน การเลิกทาสก็ไม่ได้เลิกเพราะอ้างอิงหลักการพุทธศาสนา แต่เลิกเพราะอิทธิพลความคิดตะวันตกที่แพร่เข้ามาในสยาม ซึ่งมองว่าการมีทาสเป็นความป่าเถื่อน

ถ้าพุทธศาสนาปฏิเสธระบบวรรณะด้วยจิตสำนึกเรื่องความเสมอภาคจริง คำถามก็คือทำไมคนไทยนับถือพุทธศาสนามาเกือบพันปี จึงไม่เคยมีการอ้างจิตสำนึกเรื่องความเสมอภาคแบบพุทธเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเสมอภาค?

ตรงข้ามพุทธศาสนากลับเป็นแหล่งผลิตภูมิปัญญาและความเชื่อทางศีลธรรมที่รองรับระบบสังคมสงบสุข สามัคคี การมีความสุขอย่างพอเพียงตามสถานะสูงต่ำทางชนชั้นในสังคมสยามไทยมาอย่างยาวนาน แม้ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนเป็นระบบประชาธิปไตยมากว่า 80 ปี พุทธศาสนาทั้งในแง่การเสนอคำสอน การอ้างศีลธรรมทางการเมือง โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐ ก็ไม่ได้สนับสนุนหรือสอดคล้องกับความเสมอภาคและหลักการประชาธิปไตยแต่อย่างใด

บทบาททางการเมืองของพระสงฆ์ทั้งระดับบุคคล ระบบองค์กรสงฆ์ การผลิตความคิดเกี่ยวกับ “ศีลธรรมทางการเมือง” และความคิดรองรับความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนากับรัฐ ล้วนมีนัยยะสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย

พูดให้ตรงคือ นอกจากพุทธศาสนาไม่มีไอเดียที่ชัดเจนในหลักคำสอนที่สนับสนุนความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนแล้ว พุทธศาสนาแบบไทย(ที่นิยมอ้างพระไตรปิฎกและอรรถกถามากที่สุดในโลก?) ยังเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยทั้งในเชิงความคิดและโครงสร้าง บทบาททางการเมืองในนามพุทธศาสนาทั้งของพระและชาวพุทธ จึงมักอยู่ฝั่งตรงข้ามกับนักศึกษาประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยเสมอมา ไม่ว่าเผด็จการยุคไหนๆจะยึดอำนาจรัฐ พุทธศาสนาก็อยู่ร่วมกับเผด็จการ ปกป้องเผด็จการในลักษณะต่างๆได้อย่างสนิทเป็นเนื้อเดียว

ถ้ามีพระหรือชาวพุทธบางส่วน (จำนวนน้อย แทบไม่ปรากฏ) อ้างพุทธศาสนาสนับสนุนความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ก็มักจะเป็นพระหรือชาวพุทธนอกกระแสหลัก ที่คณะสงฆ์และชาวพุทธส่วนใหญ่ไม่เคยให้ความสำคัญแต่อย่างใด

เราจึงหวังได้ยากว่าพุทธศาสนาจะสนับสนุนความเสมอภาค เสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน

สิ่งที่ควรช่วยกันคิดคือ ทำอย่างไรจะช่วยกันถอดรื้อพุทธศาสนาในมิติที่สนับสนุนเผด็จการ และจะเปลี่ยนโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา (พุทธศาสนาและทุกศาสนาในไทย) ให้สอดคล้องกับระบบประชาธิปไตยได้อย่างไร หรือจะทำให้รัฐไทยเป็น Secular state ในระบบเสรีนิยมประชาธิปไตยได้อย่างไร

 


  
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net