Skip to main content
sharethis

 

เมดิยา เบนยามิน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มสันติวิธี CODEPINK และองค์กรสิทธิมนุษยชนโกลบอลเอ็กซ์เชนจ์ (Global Exchange) เขียนบทความเกี่ยวกับประเด็นการเลือกตั้งท้องถิ่นในซาอุดิอาระเบียครั้งล่าสุดที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่ทางการซาอุฯ อนุญาตให้ผู้หญิงมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ แต่เรื่องนี้จะเป็นแค่การสร้างภาพบังหน้าของทางการซาอุฯ ซึ่งเป็นประเทศอนุรักษ์นิยมจัดหรือถือเป็นความก้าวหน้าอย่างแท้จริงกันแน่

เบนยามินวิเคราะห์ในวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy In Focus - FPIF) ว่าต้องมีการพิจารณาระบบการเลือกตั้งของซาอุฯ ผ่านบริบทที่ประเทศซาอุฯ อยู่ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีการสืบทอดอำนาจผ่านทางเพศชายและมีอำนาจในตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลตั้งแต่ตำแหน่งรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการท้องถิ่น ไปจนถึงตำแหน่งสภาที่ปรึกษา 150 คนที่เรียกว่าสภาชูรา

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งสภาเทศบาลซึ่งสำหรับในซาอุฯ แล้วไม่มีอำนาจในส่วนนิติบัญญัติเป็นเพียงแค่ผู้ให้คำปรึกษากับรัฐบาลเกี่ยวกับระบบบริการสาธารณะอย่างสวนสาธารณะ การปรับปรุงถนน และการเก็บขยะ อีกทั้งสภาดังกล่าวนี้ 1 ใน 3 ยังมาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วย

บทความของเบนยามินระบุอีกว่าถึงแม้จะเป็นการเลือกตั้งที่อนุญาตให้ผู้หญิงลงคะแนนได้เป็นครั้งแรกแต่จำนวนผู้ไปใช้สิทธิโดยรวมก็น้อยกว่าร้อยละ 10 และจำนวนของผู้หญิงที่ไปใช้สิทธิก็น้อยกว่าร้อยละ 1 ในจำนวนผู้ชนะที่นั่งในการเลือกตั้งทั้งหมด 2,106 ที่นั่งก็มีผู้หญิอยู่น้อยว่าร้อยละ 1 เช่นกัน ในบทความจึงให้ความสนใจในเรื่องที่ว่าทำไมผู้หญิงถึงร้อยละ 99 ไม่ไปใช้สิทธิในครั้งนี้

เบนยามินระบุถึงหลายเหตุผลที่ผู้หญิงชาวซาอุฯ ไปใช้สิทธิกันน้อย สาเหตุแรกเนื่องจากพวกเธอบอกว่ากระบวนการยุ่งยากเกินไป ส่วนหนึ่งบอกว่าไม่สามารถไปที่หน่วยเลือกตั้งได้เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ขับรถ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งมองว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลอะไรมากเพราะสภาเทศบาลซาอุฯ มีอำนาจน้อยมาก อีกทั้งยังมีผู้หญิงบางส่วนที่บอยคอตต์การเลือกตั้งในครั้งนี้

อซิซา อัลยุเซฟ นักวิชาการมหาวิทยาลัยในซาอุฯ กล่าวว่ามีข้อจำกัดหลายอย่างที่ฉุดรั้งไม่ให้ผู้หญิงในซาอุฯ ซึ่งเป็นประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ อัลยุเซฟมองว่าควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบทั้งระบบ บทความของเบนยามินระบุว่าในขณะที่ประเทศซาอุฯ มีการปราบปรามต่อต้านรัฐบาลอย่างรุนแรงแค่แสดงความคิดเห็นต่อต้านก็อาจจะทำให้ถูกจับเข้าคุกได้แต่อัลยุเซฟก็เป็นผู้หญิงไม่กี่คนที่กล้าหาญในการออกมาเป็นตัวแทนสะท้อนความคิดของผู้หญิงจำนวนมากในซาอุฯ

เบนยามินมองว่าผู้หญิงชาวซาอุฯ ยังคงถูกบีบอยู่ใต้ระบบความคุ้มครองของ "ผู้ปกครอง" เพศชายที่ปฏิบัติต่อเพศหญิงในฐานะ "ผู้น้อย" พวกเธอมีสิทธิเลือกแต่งงานและสิทธิในการหย่าร้างน้อยกว่า อีกทั้งยังถูกกีดกันในเรื่องสิทธิในการดูแลเด็ก นอกจากนี้ยังถูกจำกัดการเดินทางหรือการถือหนังสือเดินทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ชายที่เป็น "ผู้ปกครอง" เธออยู่ แม้แต่การเรียนหนังสือก็ต้องขออนุญาตจากผู้ปกครอง เวลาที่ผู้หญิงจะถูกปล่อยตัวจากคุกหรือสถานบำบัดก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองของพวกเธอ ถ้าผู้ปกครองไม่รับพวกเธอไปอยู่ด้วย พวกเธอก็จะถูกกักขังอยู่ต่อไป

นอกจากนี้ยังมีประเด็นกฎหมายการแต่งงานที่ฝ่ายศาสนาในซาอุดิอาระเบียยังอนญาตให้มีการแต่งงานกับเด็กหญิงโดยไม่จำกัดอายุไม่เว้นแม้แต่เด็กแรกเกิดโดยไม่สนใจที่นักสิทธิมนุษยชนพยายามผลักดันห้ามการแต่งงานกับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และถึงแม้ว่าผู้หญิงชาวซาอุฯ จะมีการศึกษาที่ดี มีผู้หญิงร้อยละ 60 ได้รับการศึกษาในระดับวิทยาลัย แต่ก็มีการจ้างงานผู้หญิงน้อยกว่าร้อยละ 20 เพราะแม้แต่กรณีที่ผู้จ้างงานต้องการจะจ้างผู้หญิงพวกเขาก็ต้องขออนุญาตจากผู้ปกครองของหญิงคนนั้นๆ ด้วย อีกทั้งยังมีการกีดกันให้ผู้หญิงทำงานอยู่แต่เฉพาะในสายงานที่ถูกมองว่า "เหมาะสม" กับพวกเธอเท่านั้น

บทความของเบนยามินชี้ว่า ซาอุฯ เป็นประเทศเดียวในโลกที่ห้ามผู้หญิงขับรถ ซึ่งแม้แต่กลุ่มก่อการร้ายที่ตีความคำสอนอิสลามแบบสุดโต่งมากอย่างกลุ่มไอซิสก็ยังไม่ห้ามผู้หญิงขับรถ และผู้หญิงที่ท้าทายกฎหมายห้ามขับรถจะถูกลงโทษตั้งแต่โทษสถานเบาอย่างการปรับหรือการพักงาน ไปจนถึงโทษหนักอย่างการจำคุก การห้ามเดินทาง แม้กระทั่งถูกขู่ว่าจะตั้งข้อหาก่อการร้ายเพราะทำการ "ยุยงปลุกปั่น"

การที่ซาอุฯ ยังคงมีระบอบชายเป็นใหญ่ฝังรากลึกอยู่ในระดับนี้ทำให้การเลือกตั้งสภาเทศบาลโดยให้สิทธิผู้หญิงลงคะแนนเป็นครั้งแรกอาจจะถูกมองว่าเป็นความก้าวหน้าหรือเป็นแค่การสร้างภาพบังหน้าก็ได้ ถึงอย่างนั้นนักวิชาการชื่อ ฮาลา อัลโดสซารี ก็มองในแง่ดีว่ารัฐบาลซาอุฯ พยายามเอาเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้หญิงมาใช้เป็นผลประโยชน์ของตัวเองก็จริง แต่ฝ่ายผู้หญิงในซาอุฯ ก็ควรฉวยโอกาสไว้เช่นกัน ถืงแม้ว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้จะไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่อย่างน้อยก็อาจจะทำให้เป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้หญิงในการผลักดันเพื่อสิทธิของตัวเองมากขึ้น

เบนยามินระบุว่ายังมีสิ่งดีๆ สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งนี้คือการที่ทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจการปกครองอย่างบีบเค้นภายใต้ระบอบราชาธิปไตยของซาอุฯ มากขึ้น เบนยามินยังได้กล่าวถึงการประชุมใหญ่ของกลุ่มนักกิจกรรมในประเด็นเกี่ยวกับซาอุฯ ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน มี.ค. 2559 ในสหรัฐฯ โดยเป็นการประชุมเพื่อรณรงค์สนับสนุนกลุ่มนักกิจกรรมเพื่อสิทธิมนุษยชน

"ผู้หญิงชาวซาอุฯ ต่อสู้เรียกร้องสิทธิมาเป็นเวลานานแล้ว และกลุ่มผู้ร่วมอุดมการณ์ของพวกเธอในประเทศอื่นๆ ก็ควรให้ความช่วยเหลือพวกเธอมากกว่านี้ และทำให้สหรัฐฯ กับซาอุฯ เลิกทำตัวเป็นมิตรต่อกัน" เบนยามินกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

Saudi Women Voted for the First Time. Is It Real Progress or Window Dressing?, Medea Benjamin, FPIF, 21-12-2015

http://fpif.org/saudi-women-voted-first-time-real-progress-window-dressing/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net