Skip to main content
sharethis

เรียนรู้ “ปฏิบัติการข่าวสาร ตั้งแต่ไอโอ โปรปากันด้า ไปจนถึงการสร้างวาทกรรม การปลดปล่อยความคิด พร้อมทำความเข้าใจสื่อสงครามและสื่อสันติภาพ (War Journalism-Peace Journalism) จากผู้สื่อข่าวประสบการณ์สูง “สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี” ในโครงการหนุนเสริมศักยภาพสื่อภาคพลเมืองเพื่อสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิชาการและผู้สื่อข่าวเนชั่น

 

สื่อคือพื้นที่ความเข้าใจ

วันที่ 25 ธันวาคม 2558 นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิชาการและผู้สื่อข่าวเนชั่นซึ่งมีประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชนสูงได้บรรยายเกี่ยวกับบทบาทสื่อในสถานการณ์ความขัดแย้งในชายแดนใต้/ปาตานีและความขัดแย้งทางการเมืองไทยในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “วิเคราะห์และพัฒนาประเด็นข่าวเพื่อสร้างผลกระทบต่อสาธารณะ” โครงการหนุนเสริมศักยภาพสื่อภาคพลเมืองเพื่อสันติภาพปาตานี/ชายแดนใต้ จัดปาตานีฟอรั่มโดยมีประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องการสื่อสารและการสร้างสันติภาพ โดยสรุปดังนี้

นายสุภลักษณ์ กล่าวว่า สื่อคือพื้นที่ ซึ่งในอดีตพื้นที่นี้มีตัวชี้วัดง่ายคือการปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ในปริมาณเท่าไหร่ มากน้อยแค่ไหน แต่ปัจจุบันวัดยากเนื่องจากคนเข้าถึงพื้นที่สื่อได้มากขึ้นและง่ายขึ้น การวัดในเชิงปริมาณอาจไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นในมุมมองของผม พื้นที่ในที่นี้หมายถึง Perception หรือความเข้าใจ ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลข่าวสารหรือปฏิบัติการข่าวสาร

ไอโอ-โปรปากันด้า-วาทกรรม

นายสุภลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนคำว่า ไอโอ หรือปฏิบัติการข่าวสาร มาจากคำภาษาอังกฤษว่า Information Operation : IO เป็นปฏิบัติการที่ถูกใช้ในสงคราม ซึ่งในที่นี้หมายถึงการทำสงครามข่าวสาร ซึ่งการทำสงครามประกอบด้วย 3 ส่วน คือการเอาชนะใจประชาชน การใช้อาวุธเพื่อยึดพื้นที่ และการทำสงครามข่าวสาร หรือไอโอซึ่งขณะนี้ในประเทศไทยมีการใช้ไอโอมากโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครที่มีความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง

ไอโอ คือการใช้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกตัดตอน ล่อลวง หรือการปล่อยข่าวลวงเพื่อเบี่ยงเบนประเด็นหรือความสนใจของสังคม ทำให้ไขว้เขว มีมูลความจริงเพียงบางส่วน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องโกหกเสมอไป จุดประสงค์เพื่อสร้างความชอบธรรมหรือสนับสนุนข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

แนวทางแก้หรือตอบโต้การใช้ไอโอมี 3 วิธีการ คือ 1.ทำให้สิ่งที่ไอโอกล่าวถึงเป็นเรื่องที่เหลวไหลหรือดูตลกไร้สาระ เช่น การเขียนการ์ตูนล้อเลียน 2.การค้นหาความจริงมาชี้แจง เช่น โดยสื่อแต่ต้องมีความเป็นกลาง นำเสนอความจริงมากที่สุด เขียนรายงานอย่างที่มันเป็นไม่ใช่อย่างที่อยากให้เป็น เช่นกรณีที่มีการพาดพิงไปถึงใคร สื่อก็ต้องตามไปสัมภาษณ์คนนั้น และ 3.กรณีที่ถูกโจมตีส่วนตัว ผู้ถูกโจมตีก็ต้องตอบโต้ เช่น โดยการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น

กรณีการใช้ไอโอที่สุดยอดในสายตาของเขาก็คือ กรณีที่หน่วยสืบราชการลับ(ซีไอเอ)ของสหรัฐอเมริกากล่าวหาว่าอิรักมีอาวุธเคมีร้ายแรง มีทั้งข้อมูลงานวิจัยจนกระทั่งสหประชาชาติเองก็หลงเชื่อ จนมีปฏิบัติการตรวจสอบมากมายจนกระทั่งทำสงครามสุดท้ายก็พิสูจน์แล้วว่าไม่มี แต่สงครามเกิดขึ้นแล้ว และหัวหน้าซีไอเอก็ถูกสอบสวนแล้วเช่นกัน

สำหรับปฏิบัติการข่าวสารอีกระดับหนึ่งคือ โปรปากันด้า (Propaganda) หรือแปลเป็นไทยคือการโฆษนาชวนเชื่อ ซึ่งในภาษาไทยเป็นคำในแง่ลบและในต่างประเทศเป็นคำในแง่บวก จุดประสงค์ก็ตรงตามชื่อคือ ต้องการให้เชื่อ เป็นการโฆษณา หรือย้ำหลายครั้ง มีข้อมูลหรือเป็นการสร้างความเข้าใจ หรือสร้างภาพ ซึ่งไม่ค่อยต่างจากไอโอมากนัก

ปฏิบัติการข่าวสารอีกขั้นหนึ่งที่สูงขึ้นก็คือ การสร้างวาทกรรม (discourse) สิ่งสำคัญของการสร้างวาทกรรมคือ ต้องมีปฏิบัติการวาทกรรม ไม่ใช่แค่คำพูดอย่างเดียว เช่นคำว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ปฏิบัติการคือพระเป็นคนพูดเองการสร้างวาทกรรมต้องมีทั้งความรู้ อุดมการณ์ วัฒนธรรม และอื่นๆ

วาทกรรมแย้ง-การปลดปล่อยความคิด

นายสุภลักษณ์ กล่าวด้วยว่า การตอบโต้วาทกรรมเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะต้องสร้างวาทกรรมใหม่หรือวาทกรรมแย้งขึ้น หรือสร้างอุดมการณ์ใหม่ขึ้นมาสู้หมายถึงถ้าจะตอบโต้ก็คือต้องสร้างด้วยเช่นกันหรือต้องปลดปล่อยความคิดที่ติดอยู่ในหัวออกมาให้ได้ เช่น กรณีการเลิกทาส นอกจากออกกฎหมายเลิกทาสแล้วยังต้องปลดปล่อยความคิดเรื่องทาสออกมาด้วย การเลิกทาสจึงจะประสบความสำเร็จ การตอบโต้อีกรูปแบบหนึ่งก็คือ อารยะขัดขืน คือไม่ทำตามหรือไม่เชื่อวาทกรรมนั้น

ปฏิบัติการข่าวสารตั้งแต่ไอโอ โปรปากันด้าไปจนถึงการสร้างวาทกรรมนั้น มีประโยชน์สำหรับรัฐในการจัดการทางสังคมมีประโยชน์ในการสร้างชาติ โดยใช้การโปรปากันด้าสร้างภาพลักษณ์ให้ชาติ และใช้ไอโอในการสนับสนุนข้อมูล ซึ่งตนเองก็ไม่เชื่อว่ารัฐที่สร้างอำนาจบวกกับวาทกรรมจะจีรังยั่งยืนได้

สื่อสงครามกับสื่อสันติภาพ

ส่วนความแตกต่างระหว่างสื่อสงคราม (War Journalism) กับสื่อสันติภาพ (Peace Journalism) นั้นมีหลายอย่าง โดยสื่อสันติภาพนั้น จัดอยู่ในกลุ่มสื่อ Advocasyหรือสื่อที่มีเข็มมุ่ง เช่น สื่อที่ปกป้องสิทธิมนุษยชน สื่อที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยนำเสนอว่าอะไรคือทางออกของปัญหา

สื่อสันติภาพ คือสื่อที่มุ่งรายงานข่าวที่นำเสนอสาเหตุของความขัดแย้งหรือนำไปสู่การแก้ปัญหาที่รากเหง้าของความขัดแย้ง เช่น นำเสนอว่าผู้ก่อเหตุร้ายมีเหตุคับข้องใจอะไรถึงได้ก่อเหตุ รวมทั้งนำเสนอเรื่องผลกระทบจากความรุนแรง การเยียวยาและอื่นๆ เป็นต้นเพราะกระบวนการสันติภาพไม่ใช่แค่การหยุดยิงแต่มีอีกหลายเรื่อง เป็นขั้นตอนที่ยาวนาน ยากและซักซ้อน

สื่อสันติภาพไม่ใช่สื่อที่รายงานแต่เรื่องการพูดคุยสันติภาพอย่างเดียว แต่ต้องนำเสนอเรื่องอื่นๆด้วย แม้แต่เหตุรุนแรงเองก็ต้องรายงาน ต้องรายงานความจริงรอบด้านเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหารากเหง้าไม่ใช่แค่หยุดยิงอย่างเดียวแต่ปัญหายังอยู่ เพราะพื้นฐานของสันติภาพนั้นมี 2 อย่างคือความจริงและความเป็นธรรม

สื่อสันติภาพกับสื่อสงครามจะอยู่คู่กันเสมือนเหรียญสองด้าน แต่สื่อสงครามจะนำเสนอแต่เพียงเหตุการณ์ ใครทำสงครามกับใคร ใครมีอาวุธอะไร ใครแพ้ใครชนะ มีผู้เสียชีวิตเท่าไหร่ ซึ่งสื่อสงครามในโลกนี้มีจำนวนมาก แต่สื่อสันติภาพมีน้อย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net