สังคมปลอดเงินสด: คำตอบของระบบการชำระเงินรูปแบบใหม่ในไทย?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

"เงิน" คำสั้นๆ ที่เราคุ้นเคยกันอย่างดี เราใช้มันก่อนที่จะรู้จักหน้าที่ของมันเสียอีก หน้าที่ของมันก็มีทั้งเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เอาไว้ซื้อสินค้าและจ่ายค่าบริการ เป็นเครื่องรักษามูลค่า รวมถึงเป็นมาตรฐานในการชำระหนี้ ตั้งแต่อดีต พัฒนาการของเงินมีตั้งแต่เงินเฟ เงินขนนก เงินเข็มขัด รวมถึงเงินหอยเบี้ยและเงินอีกหลายๆ ประเภทที่แต่ละสังคม/ประเทศคิดค้นขึ้นมาเพื่อความสะดวกในการแลกเปลี่ยน แต่วันนี้ รูปแบบของการชำระเงินกำลังเปลี่ยนไป

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสมัยใหม่กำลังพลิกหน้าประวัติศาสตร์การชำระเงินของโลกอย่างก้าวกระโดด จากเมื่อก่อนที่เราจะต้องพกเงินไปไหนมาไหน แม้จะไม่ได้ซื้ออะไรแต่ก็ต้องมีติดตัว ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน ใครจะคาดคิดว่าขณะนี้ ไทยกำลังมีแนวคิดที่จะใช้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic payment) โดยล่าสุด มีการเปิดเผย1จากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ "แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้การใช้เงินสดในประเทศลดน้อยลงและมุ่งพัฒนาระบบ E-payment ให้ครอบคลุมการดำเนินชีวิตอย่างครบวงจร โดยกำหนดช่วงเวลาดำเนินการคือตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 มีผู้รับผิดชอบโครงการเบื้องต้น (โครงการ Any ID) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการผูกโยงระบบการชำระเงินเข้ากับเลขบัตรประชาชนของทุกคน โดยมีการระบุ2ว่าโครงการจะช่วยสนับสนุนการจัดทำฐานข้อมูลของผู้มีรายได้น้อย ภาครัฐสามารถรู้กลุ่มเป้าหมาย (Eligible group) ที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ ลดปัญหาทุจริต และเป็นประโยชน์ทางด้านการจัดเก็บภาษี ขณะที่ภาคประชาชนจะได้รับสวัสดิการและการช่วยเหลือที่รวดเร็วและถูกต้องตรงกลุ่มมากขึ้น โดยสรุป นโยบายตอนนี้ที่เห็นชัดก็คือการพยายามลดการใช้เงินสด หันมาใช้บัตรในการซื้อสินค้าและบริการแทน  (มีการคาดการณ์ตัวเลขเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 3,000 ล้านบาท)

เมื่อออกไปส่องระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ใช้ระบบ E-Payment กันบ้าง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นประเทศสวีเดน ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ได้รับการขนานนามว่า "The most cash-free society on the planet"3 ว่ากันว่า แม้กระทั่งคนขายหนังสือพิมพ์/นิตยสารริมฟุตบาทยังถามหาบัตรแทนที่จะเป็นเศษสตางค์จากลูกค้า และแม้จะมีประเด็นอยู่บ้างในแง่ที่ว่าของการไว้เนื้อเชื่อใจที่จะให้ข้อมูลแก่คนขายนิตยสารที่อาจเป็นคนไร้บ้าน (Homeless people) แต่ชาวสวีเดนเชื่อมั่นในกันและกัน และการเป็นสังคมไร้เงินสดขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ย้อนกลับมาดูที่การเคลื่อนไหวของการเปลี่ยนแปลงระบบการชำระเงินนี้ มาจากการที่ลูกชายของ Bjorn Ulvaeus (นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ และสมาชิกวง ABBA ของสวีเดน) ถูกโจรปล้นเมื่อหลายปีก่อน และทำให้ Ulvaeus กลายมาเป็นผู้สนับสนุนของการใช้ระบบ E-Payment ในสวีเดน โดยกล่าวว่าเงินสดคือสาเหตุหลักของอาชญากรรมและการซื้อขายในตลาดมืดมักมีการใช้เงินสดด้วยกันทั้งสิ้น หากมีการเลิกใช้เงินสดก็จะช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้ ในฝากนักวิชาการ รองศาสตราจารย์ Niklas Arvidsson ประจำภาควิชา Industrial Dynamics แห่ง Sweden's Royal Institute of Technology ระบุว่ากว่า 4 ใน 5 ของการจับจ่ายใช้สอยในสวีเดนเป็นการชำระเงินผ่านบัตรและกำลังจะกลายเป็น 100% ในอนาคต และได้เพิ่มเติมข้อมูลว่าธนาคารและห้างร้านต่างๆ ได้ลงทุนอย่างหนักในระบบการชำระเงินผ่านบัตรตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งทำให้ประชาชนค่อนข้างคุ้นเคยกับระบบดังกล่าวเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าระบบดังกล่าวจะไม่มีปัญหาเลยในสวีเดน แน่นอนว่ากลุ่มคนที่ถูกมุ่งเป้าว่าจะปฏิบัติตามนโยบายนี้ได้ยากที่สุดคือกลุ่มคนผู้สูงอายุหรือวัยเกษียณ จากการเปิดเผยโดย Johanna Hallen แห่ง Swedish National Pensioners' Organization พบว่ามีสมาชิกของผู้เกษียณเพียง 50% ที่ใช้บัตรเงินสด ขณะที่มีกว่า 7% (ประมาณ 400,000 คน) ที่ไม่เคยใช้บัตรดังกล่าวเลย ซึ่งได้มากเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนระบบการชำระเงินนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนั้น ยังมีการสำรวจจาก Riksbank ในธุรกรรมที่มีมูลค่าต่ำกว่า 100 Krona (ประมาณ 430 บาท) พบว่ากว่า 41% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังคงชอบที่จะใช้เงินสดในการชำระมากกว่า สำหรับปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ปัญหาการหลอกหลวง (เครื่องรับบัตร) การจัดทำบัญชีส่วนบุคคล และการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เป็นต้น5 ทั้งนี้ นอกจากสวีเดนแล้ว ก็ยังมีเดนมาร์กและนอร์เวย์ที่มีเป้าหมายในการเป็น Cash-free society ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าสังคมปลอดเงินสดคือ Scandinavian Model ในยุค Post 2015!

ทั้งนี้ การเป็นสังคมไร้เงินสดถูกสนับสนุนโดยหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาติที่มีชื่อว่า UN Better Than Cash Alliance4 ซึ่งริเริ่มโครงการในปี 2012 และจะสิ้นสุดในปี 2017 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนรัฐบาล หน่วยงาน และภาคเอกชนในการใช้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบัน รัฐบาลของอัฟกานิสถาน โคลัมเบีย เคนย่า มาลาวี เปรู และฟิลิปปินส์ได้เป็นสมาชิกของโครงการนี้อยู่ และโครงการยังได้จับมือกับ Bill & Melinda Gates Foundation, Citi, Ford Foundation, MasterCard, Omidyar Network, USAID, UNCDF รวมถึง Visa INC. ในการช่วยพัฒนาโครงการให้ขยายไปยังอีกหลายประเทศ

ผู้เขียนมีความคิดเห็นดังนี้

1. เห็นด้วย

- รัฐสามารถจัดทำระบบฐานข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ดียิ่งขึ้น (Information system) ซึ่งทำให้สามารถวิเคราะห์และจัดการกับเรื่องของภาษีได้ดียิ่งขึ้น การหลบเลี่ยงหลีกหนีภาษีจะทำได้ยากขึ้น

- อัตราการปล้น อาชญากรรมจะลดน้อยลง ภาระของตำรวจน้อยลง ไม่ต้องเสียต้นทุนในการบริหารจัดการ

- การจับจ่ายใช้สอยเป็นไปด้วยความคล่องตัว ประหยัดเวลา ผู้บริโภคสามารถตรวจเช็คการใช้จ่ายของตนเองได้อย่างแม่นยำ ขณะที่ผู้ขายสามารถลงรายการรายรับ-กำไรได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้การทำธุรกิจมีความสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

- เมื่อรัฐทราบข้อมูลด้านรายรับ-ค่าใช้จ่ายของประชาชน การให้ความช่วยเหลือสามารถทำได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น งบประมาณถูกใช้ประโยชน์ในทางที่เหมาะสมขึ้น

- เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการถือเงินและเคลื่อนย้ายเงิน (ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับการดูแลรักษาโดยธนาคาร) การเลิกใช้เงินสดจะทำให้ภาระของธนาคารลดลง

2. ไม่เห็นด้วย

- เป็นเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค การใช้จ่ายผ่านบัตรเงินสดทำให้ธุรกรรมทำได้ง่ายดายขึ้น การไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนอาจน้อยกว่าการใช้เงินสด เพราะไม่มีการนับ ไม่มีวินาทีเฉลียวใจ (บางครั้ง เราเกิดความรู้สึกลังเลเวลานับเงินมากๆ ตอนชำระสินค้า/บริการบางอย่าง) ความง่ายตรงนี้ อาจทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเงินสดทำลายพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ดี มีปัญหาเรื่องการออม สอดคล้องกับสถิติที่เผยโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่าหนี้เสียบัตรเครดิตพุ่ง 22%6 ในปี 2558 ซึ่งทำให้เกิดเป็นข้อวิตกว่าเมื่อมีการสนับสนุนให้ใช้บัตรเงินสดในกลุ่มคนทุกประเภทแล้วนั้น พฤติกรรมใช้จ่ายจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

- มีต้นทุนในการเริ่มต้นที่ค่อนข้างสูง (มีการประเมินว่า 3,000 ล้านบาท) ซึ่ง 3,000 ล้านบาทนี้เป็นการนับรวมแค่การทำบัตรในครั้งแรก อย่าลืมว่าเมื่อใช้เป็นบัตรแล้ว ย่อมต้องมีบัตรหาย การทำซ้ำต้องใช้บัตรใหม่ ภาครัฐต้องมีการสำรองบัตรเพื่อความสะดวก รวมถึงต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการจ้างพนักงาน รวมถึงเทรนนิ่งพนักงานในการทำบัตร และสิ่งที่น่ากังวลกว่าการทำบัตร คือเครื่องรับบัตร แน่นอนว่าเครื่องรับบัตร (คล้ายๆ เครื่องรับบัตรเครดิต) ย่อมมีราคาที่แพงและจำเป็นที่จะต้องเหมือนกันหรือเป็นยี่ห้อเดียวกันทั่วประเทศในทุกร้านค้า รวมไปถึงค่าซ่อมเครื่องดังกล่าว ซึ่งไม่แน่ใจว่า 3,000 ล้านบาทที่มีการประเมินนั้นได้รวมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แล้วหรือยัง

- ความเสี่ยงจากการสูญหายของบัตร เนื่องจากบัตรเงินสดมีข้อมูลส่วนตัวทุกอย่างเสมือนบัตรประชาชนอีกใบ (หรือในอนาคตจะเป็นบัตรใบเดียวกัน) บัตรจะต้องมีความปลอดภัยในระดับสูง ป้องกันการใช้บัตรจากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของบัตร หากบัตรมีความปลอดภัยต่ำ ข้อมูลส่วนตัวในบัตรอาจรั่วไหลและถูกใช้ในทางที่ไม่สมควร

3. ประเด็นอื่นๆ

- สังคมไทยยังมีประเด็นของความเหลื่อมล้ำทางรายได้อยู่มาก กลุ่มคนที่จนที่สุดหรือชนชั้นรากหญ้า หรือแม้กระทั่งเกษตรกร ชาวไร่ชาวสวน พ่อค้าแม่ค้า หรือพนักงานก่อสร้าง-รับจ้างทั่วไป ยังคงมีอยู่อย่างเด่นชัดในสังคมไทย ซึ่งแตกต่างจากสวีเดนที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นประเทศรายได้สูง รายได้ต่อหัวสูงกว่าไทยประมาณ 10 เท่า7 ประกอบกับการที่ภาคธนาคารมีการลงทุนในประเด็นดังกล่าวตั้งแต่ปี 1990  และประเทศมีความพร้อมในเรื่องของอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีในระดับต้นๆ ของโลก8 ซึ่งทำให้ E-payment เป็นเรื่องง่าย

- การใช้บัตรเงินสดหรือชำระผ่านอิเล็กทรอนิกส์จึงเหมาะกับคนในเมืองมากกว่าสังคมชนบท ที่มีเครื่องมือไม่พร้อม ทรัพยากรหรือคนที่ใช้ไม่พร้อม

- ควรกำหนดพื้นที่นำร่องในการใช้ โดยเลือกเป็นระดับอำเภอหรือจังหวัดที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี ประชาชนสามารถเข้าถึงธนาคารได้อย่างหลากหลาย รวมถึงระดับรายได้ของคนในท้องถิ่นค่อนข้างสูง เพื่อศึกษาข้อดี ข้อเสีย จากการใช้งานจริง ก่อนที่จะบังคับปรับใช้กันทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น

- มีข้อกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน การถือเงินบางครั้งเป็นสิทธิของผู้บริโภค ดังนั้น ไม่ควรมีการบังคับให้เลิกใช้เงินสด

- ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ปีๆ หนึ่งรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 30 ล้านคน มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ซึ่งเป็นเรื่องชวนคิดว่า ภาครัฐจะมีวิธีการรับมือกับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังไทยอย่างไร เมื่อเรากลายเป็นสังคมปลอดเงิน (บาท) แล้ว นักท่องเที่ยวจำเป็นที่จะต้องทำบัตรใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้สอยภายในประเทศหรือไม่

- ราคาสินค้าและบริการบางประเภทอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น การเก็บข้อมูลการใช้จ่ายของประชาชนทั้งประเทศทำให้เห็นภาพรวมว่าสินค้า/บริการหนึ่งๆ มีราคาแตกต่างกันอย่างไร กระทรวงพาณิชย์สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวในการควบคุมราคาสินค้า/บริการในบางพื้นที่ที่สูง/ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นได้ ผู้บริโภคจะได้รับการปกป้องมากยิ่งขึ้น

ในภาพรวมแล้ว การเป็นสังคมปลอดเงินสดหรือ Cash-free economy ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยลดต้นทุนในการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงเป็นประโยชน์ในแง่ของข้อมูล การจัดเก็บภาษี และการให้สวัสดิการโดยรัฐ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเราไม่สามารถใช้ Swedish Model มาแบบเต็มรูปแบบ เนื่องจากประชากรสวีเดนมีเพียง 10 ล้านคน มีขนาดพื้นที่น้อยกว่าไทย โครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาภาคบริการเป็นส่วนใหญ่ซึ่งมีโครงสร้างแตกต่างจากไทยอย่างชัดเจน ความพร้อมในแง่เทคโนโลยีของสวีเดนอยู่ใน Top 5 ของโลก ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 67 ทำให้เห็นว่าความพร้อมของสวีเดนมีมากกว่า และลักษณะสังคมมีความเป็น Cash-free society โดยธรรมชาติ กล่าวคือ ประชาชนไม่นิยมใช้จ่ายด้วยเงินสดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีการสนับสนุนจากภาครัฐ พฤติกรรมของประชาชนในแง่ผู้ผลิตและผู้บริโภคจึงไม่ได้ฝืนความเป็นจริงมากนัก ขณะที่เมื่อมองมาดูสังคมไทย จะเห็นภาพที่ขัดแย้งกัน เราพยายามตีกรอบใหม่ที่เราไม่คุ้นเคยและหาทางเดินเข้าไป โดยที่ยังไม่รู้เลยว่าจะเจออุปสรรคอะไรบ้าง...แต่ ครม. เห็นชอบเรียบร้อยแล้ว

 

ที่มา

(1) รัฐดันคนไทยเลิกใช้เงินสด ที่มา: เดลินิวส์ วันที่ 22 ธันวาคม 2558 

(2) แบงก์ชาติรุกพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการเงินรองรับ "Any ID" ตอบโจทย์แข่งได้ เข้าถึง เชื่อมโยง ยั่งยืน ที่มา: Thai Publica วันที่ 23 ธันวาคม 2558

(3) Helen Russell. (2014). Welcome to Sweden - the most cash-free society on the planet. Retrieved December 24, 2015

(4) UN Better Than Cash Alliance 

(5) ,Wang, A. X. (2015). Sweden is on its way to becoming the first cashless society on Earth. Retrieved December 24, 2015

(6) หนี้เสียบัตรเครดิต เพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 22%

(7) World Bank. (2015). GDP Per capita. Retrieved December 24, 2015

(8) ดัชนี Networked Readiness Index โดย World Economic Forum ปี 2015

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ เป็น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท