Skip to main content
sharethis

ชุมนุมประท้วง 3 เมืองใหญ่ของพม่า ย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์-มะละแหม่ง หลังศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต 2 จำเลยชาวพม่าคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวอังกฤษที่เกาะเต่า นอกจากนี้ยังมีการนัดชุมนุมที่เชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ที่ท่าขี้เหล็กเสาร์นี้ด้วย ด้าน รมต.สารสนเทศพม่าระบุว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการอุทธรณ์

26 ธ.ค. 2558 สำนักข่าวอิระวดี รายงานว่า มีประชาชนหลายร้อยคนชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำนครย่างกุ้ง เมื่อวันศุกร์ (25 ธ.ค.) เพื่อประท้วงต่อคำตัดสินของศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษประหารชีวิตจำเลยชาวพม่า 2 คน ในคดีฆาตกรรมบุคคลสัญชาติอังกฤษ 2 ราย ที่เกาะเต่าเหตุเกิดเมื่อปีก่อน

ทั้งนี้ตำรวจพม่าได้วางแผงกั้น และรั้วลวดหนามอยู่ด้านหน้าสถานทูต ถนนหน้าสถานทูตถูกปิด ขณะที่มีผู้ชุมนุมถือป้ายและตะโกนเรียกร้องความยุติธรรม มีชาวพม่าคนหนึ่งตะโกนว่า "ขอให้เราได้เข้าไปหน้าสถานทูต เราจะไม่ทำอะไรเสียหายเลย เราเพียงต้องการคุกเข่าลงและขอกราบบังคมทูลต่อในหลวงเพื่อขอให้มีการปล่อยตัวคนพม่า"

เมื่อตำรวจตั้งแถว ชายผู้นั้นก็ถามว่า "พวกคุณปิดกั้นพวกเราทำไม พวกคุณไม่สนใจพลเมืองของเราหรือ"

ผู้ประท้วงหน้าสถานทูตไทยประจำนครย่างกุ้ง (ที่มา: Irrawaddy)

 

 

 

สำนักข่าวอิระวดี สัมภาษณ์นายตันไถ่ คนขับแท็กซี่ที่สนับสนุนการประท้วงด้วยการเวียนรับ-ส่งผู้ประท้วงในราคาพิเศษมายังหน้าสถานทูตไทย บอกว่า "ประเทศไทยทำอะไรแย่ๆ กับคนของเรามานานแล้ว" นอกจากนั้นเขากล่าวว่า "พลเมืองของประเทศเรา หลีกเลี่ยงที่จะมีปัญหากับคนไทย แต่ตอนนี้ประเทศเรามีสถานการณ์ทางการเมืองที่ดีกว่าเมืองไทยแล้ว และตอนนี้เราก็สามารถที่จะต่อสู้เพื่อสิทธิของเรา ประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องนี้ด้วย"

ทั้งนี้ 2 จำเลยในคดีเกาะเต่าเป็นชาวยะไข่ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หลักของรัฐยะไข่ ทำให้การประท้วงที่หน้าสถานทูตย่างกุ้ง มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มจากรัฐยะไข่เข้าร่วม อย่างไรก็ตามชายหนุ่มที่ร่วมการประท้วงก็แสดงความรู้สึกว่าเขามาชุมนุมเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม และเกรงว่าการประท้วงจะกลายเป็นประเด็นชาตินิยม

มีรายงานด้วยว่า ในการชุมนุมของชาวพม่ากลุ่มย่อยเมื่อบ่ายวันพฤหัสบดี (24 ธ.ค.) เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยได้เชิญแกนนำผู้ประท้วงเข้าพบ โดยหนึ่งในนั้นเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียง "รักขะ หวุ่นต๊ะ" เพื่อยื่นจดหมายประท้วงด้วย

ด้านนักสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานชาวอังกฤษ อานดี้ ฮอลล์ ซึ่งทำงานร่วมกับทีมทนายฝ่ายจำเลยได้เขียนถึงผู้ใช้โซเชียลมีเดียในพม่าด้วย โดยระบุว่า "ผมเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับความสนใจของพวกเราและพลังงานที่พวกเรามีก็คือ ไม่ใช่การประท้วงต่อต้านประเทศไทย/ต่อต้านคนไทย/หรือแสดงความโกรธต่อคำตัดสิน" เขาระบุด้วยว่า "พลังงานที่เราควรใช้ตอนนี้ น่าจะเป็นการสนับสนุนคณะทำงานด้านกฎหมายฝ่ายจำเลยเพื่อที่จะได้ออกคำอุทธรณ์ที่มีความน่าเชื่อถือและมีประสิทธิผลต่อศาลอุทธรณ์ และอาจจะถึงการอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาสำหรับคดีนี้"

ด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลพม่า ก็แสดงความเห็นหลังมีคำตัดสินของศาล อย่างเช่น ผู้อำนวยการสำนักงานประธานาธิบดีพม่า ซอเท ได้เขียนในเฟซบุ๊คของเขาว่า "มีงานอีกหลายอย่างที่ต้องทำ สิ่งนี้ยังไม่จบ เราจะยังคงสนับสนุนสถานทูตพม่าและร่วมมือกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนของพม่าและองค์กรทางกฎหมาย"

ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศ และเป็นโฆษกประจำตัวประธานาธิบดีพม่า เยตุด ก็ระบุเช่นกันว่ารัฐบาลจะสนับสนุนขั้นตอนอุทธรณ์ "เราหวังว่าพวกเราจะได้ทบทวนหลักฐานและพิสูจน์ได้ว่า 2 จำเลยไม่ได้กระทำความผิด" เขาเขียนผ่านเฟซบุ๊คของเขา

จุดเทียนชุมนุมที่เมืองมัณฑะเลย์ เมื่อคืนวันที่ 25 ธ.ค. (ที่มาของภาพ: Thein Kyaw)

ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว 2 จำเลยคดีเกาะเต่า รวมตัวกันที่วัดไจก์โต้ก์ เมืองมะละแหม่ง เมืองหลวงของรัฐมอญ เมื่อคืนวันที่ 25 ธ.ค. (ที่มาของภาพ: Eleven Media)

นอกจากนี้ยังมีรายงานการประท้วงในเมืองใหญ่ของพม่าด้วย โดยที่เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของพม่า มีการจุดเทียนประท้วงในช่วงกลางคืน เช่นเดียวกับที่เมืองมะละแหม่ง เมืองหลวงของรัฐมอญ ก็มีผู้ประท้วงเช่นกัน โดยมีการเดินขบวนเพื่อไปรวมตัวกันที่วัดไจก์โต้ก์ (Kyaik Thoke) ในเมืองมะละแหม่ง

ในวันเดียวกันยังมีการชุมนุมที่สะพานมิตรภาพไทย-พม่า ที่เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตากด้วย นอกจากนี้สำนักข่าวท่าขี้เหล็ก รายงานว่าที่เมืองท่าขี้เหล็ก ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีชาวพม่ากลุ่มหนึ่งชูป้ายแสดงข้อความเรียกร้องให้ปล่อยตัว 2 จำเลยคดีฆาตกรรมเกาะเต่า และป้าย "เราถามหาความยุติธรรม" เป็นภาษาอังกฤษ ที่บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ฝั่งเมืองท่าขี้เหล็ก ในวันที่ 25 ธ.ค. นอกจากนี้มีข่าวว่าที่เมืองท่าขี้เหล็กจะมีการนัดหมายประท้วงอีกครั้งที่เชิงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ในวันที่ 26 ธ.ค.

อนึ่ง ในวันเดียวกันนี้ยังมีการประท้วงที่หน้าสถานทูตไทย ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นด้วย

 

สมาคมสื่อมวลชนพม่าเรียกร้องสมาคมสื่อไทยทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันเพื่อทำให้ความยุติธรรมปรากฏ

ขณะเดียวกันสมาคมสื่อมวลชนแห่งพม่า (Myanmar Journalists Association - MJA) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2558 โดยเนื้อหาในจดหมายได้เรียกร้องให้มี "ความร่วมมือกันอย่างกันชิด" กับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในการแสวงหาข้อเท็จจริงเบื้องหลังระบบราชการและคำพิพากษาคดีใหญ่นี้

"ในฐานะของสื่อมวลชน ความรับผิดชอบของเราคือการแสวงหาข้อเท็จจริงและความยุติธรรม" จดหมายเปิดผนึกของสมาคมสื่อพม่าระบุ

ในจดหมายเปิดผนึกกล่าวถึงความร่วมมืออันดีระหว่างสองสมาคมสื่อไทย-พม่า ในช่วงที่พม่าเกิดน้ำท่วมเมื่อกลางปีนี้ "เราจะทำงานร่วมกันด้วยจิตวิญญาณเดิมเช่นนั้น" จดหมายเปิดผนึกระบุ และยังระบุด้วยว่า "ในเวลานี้ เป็นเวลาของการเรียกร้องความร่วมมือลักษณะเดียวกันนี้ระหว่างพวกเรา"

"มาทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประชาชนของเรา และเพื่อประเทศอันเป็นที่รักของเรา เพื่อให้ความยุติธรรมปรากฏ แสดงให้โลกเห็นว่าสื่อมวลชนพม่าและไทยต่อสู้ร่วมกันเพื่อความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และค่านิยมประชาธิปไตย" ตอนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึกของสมาคมสื่อมวลชนแห่งพม่าระบุ

ล่าสุดในวันที่ 26 ธ.ค. มีการชุมนุมประท้วงคำตัดสินคดีฆาตกรรมเกาะเต่าต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยมีการชุมนุมที่ด่านท่าขี้เหล็ก โดยยื่นแถลงการณ์ถึง นอภ.แม่สายและยุติชุมนุม ด่านเปิดปกติ ส่วนการชุมนุมที่ด่านเจดีย์สามองค์ ฉก.กองกำลังสุรสีห์ เรียกคนไทยกลับเข้าเขตไทยและผลักดันคนพม่ากลับฝั่งพม่า ด้าน พล.ต.ธรรมนูญ วิถี ผบ.พล.ร.9 เกาะติดด้วยตัวเอง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net