Skip to main content
sharethis

การจัดการด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพ-เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแบบประเทศพัฒนาแล้ว แต่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ คือ เจตจำนงทางการเมืองที่จะกำหนดนโยบายที่แม้แต่ประเทศกำลังพัฒนาก็สามารถทำได้อย่างเช่น อุรุกวัย ที่ทั้งประเทศบริโภคพลังงานหมุนเวียน 65% พร้อมเทียบความสำเร็จของนโยบายพลังงานสหรัฐกับอุรุกวัย

โรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ Sierra de los Caracoles ประเทศอุรุกวัย ภาพถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Flickr.com/presidenciauy/CC BY-NC-ND 2.0)

 

ในซีรีส์รายงานของอัลจาซีราชื่อ ‘America left behind,’ ตอนที่ 7 เผยแพร่เมื่อ 21 ธ.ค. 2558 นำเสนอโดยนักข่าว เรเน ลูอิส ระบุถึงหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) คือเป้าหมายเรื่อง 'การรักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน' โดยการตั้งเป้าหมายดังกล่าวมีที่มาจากการประชุมระดับโลกในปี 2543 ซึ่งมีการกำหนดให้เป้าหมายสิ้นสุดภายในสิ้นปี 2558 นี้ โดยมีการเปรียบเทียบความสำเร็จด้านพลังงานระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศที่เล็กเป็นอันดับที่ 2 ของแอฟริกาใต้อย่างอุรุกวัย

ในรายงานดังกล่าวระบุว่าในขณะที่คนทั่วไปมองว่าความมั่งคั่งในประเทศเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ แต่สาเหตุที่อุรุกวัยประสบความสำเร็จด้านพลังงานนั้นปัจจัยสำคัญมาจากนโยบายการตัดสินใจที่ชัดเจน

อุรุกวัยสามารถใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์มากขึ้นโดยวัดจากการคำนวนการใช้พลังงานต่อหนึ่งหน่วยจีดีพี การคำนวนพลังงานดังกล่าวมาจากการหาค่าพลังงานความร้อนในระบบอังกฤษหรือ 'บีทียู' (BTUs) คือพลังงานที่จะสามารถเพิ่มอุณหภูมิของน้ำ 1 ปอนด์ (ราว 453 กรัม) ขึ้น 1 องศาฟาเรนไฮด์ และจากพลังงานดังกล่าวนี้สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นการผลิตมวลรวมภายในประเทศได้คุ้มค่าหรือไม่ ถ้าใช้พลังงานน้อยกว่า ประหยัดกว่าในการเปลี่ยนแปลงเป็นจีดีพีเท่ากันจะถือว่าคุ้มค่ามากกว่า

จากข้อมูลทางสถิติเผยให้เห็นว่าทั้งสหรัฐฯ และอุรุกวัยสามารถใช้พลังงานได้คุ้มค่ามากขึ้นทั้งคู่ แต่เมื่อพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น จำนวนประชากร ทรัพยากรธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงกิจกรรมเชิงอุตสาหกรรม และการมีฐานการผลิตนอกประเทศแล้ว พบว่าภาคอุตสาหกรรมอุรุกวัยโตขึ้น 3 เท่า ขณะที่อุตสาหกรรมหนักของสหรัฐฯ มีฐานการผลิตอยู่นอประเทศจำนวนมาก ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงเรื่องการพิจารณาประเภทของพลังงานว่าพวกเขาใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือพแหล่งพลังงานหมุนเวียนอย่างแสงอาทิตย์กับพลังงานลม

รายงานของอัลจาซีราระบุว่าอุรุกกวัยใช้พลังงานหมุนเวียนมากถึงร้อยละ 85 กับอุตสาหกรรมของพวกเขา และยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าในประเทศได้ร้อยละ 95 ด้วยพลังงานสะอาดที่มาจากพลังงานลม พลังงานชีวมวล พลังงานน้ำ และพลังงานแสงอาทิตย์

รามอน เมนเดซ อธิบดีกรมพลังงานของอุรุกวัยเปิดเผยว่าตั้งแต่เมื่อ 7 ปีที่แล้วพวกเขาออกนโยบายด้านพลังงานซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสังคมเป็นอย่างดี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุรุกวัยเร็วมาก เมนเดซเปิดเผยอีกว่าผลคือโดยรวมแล้วอุรุกวัยใช้พลังงานหมุนเวียนร้อยละ 65 จากการใช้ทั้งหมดในประเทศ ซึ่งมาจากแนวทางนโยบายการพยายามใช้พลังงานให้คุ้มค่าขึ้นพร้อมกับการตอบสนองภาคส่วนอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตขึ้นไปด้วย

ในรายงานของอัลจาซีรามีการเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ ซึ่งใช้เวลามากกว่า 35 ปี ในการประหยัดพลังงานซึ่งส่วนใหญ่มาจากการเปลี่ยนแปงกฎหมายสถานก่อสร้าง มาตรฐานน้ำมันยานยนต์ และการติดตราเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Star) แต่สาเหตุที่สหรัฐฯ สามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากการย้ายฐานการผลิตไปนอกประเทศ

เทียบกับอุรุกวัยแล้วพวกเขาใช้เงินลงทุนราว 7,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานอย่างเต็มที่ รวมถึงมีระบบติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพของพลังงานแลปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ ทั้งนี้ยังมีการรณรงค์สร้างความตระหนักในเรื่องการใช้พลังงานและเน้นย้ำเรื่องโลกร้อนต่อสาธารณะ

เมนเดซกล่าวว่าการที่อุรุกวัยมีระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม มีการลงทุนพลังงานหมุนเวียนจากภาครัฐ และกระตุ้นให้นักลงทุนสนับสนุนเงินทุนเพื่อการวิจัยและการพัฒนามากกว่าขึ้น ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนทำให้มีการพัฒนามาใช้พลังงานสะอาดได้รวดเร็วขึ้น

รายงานของอัลจาซีราหันกลับมาเปรียบเทียบกับนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งยังคงใช้พลังงานฟอสซิล ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า จะพยายามพูดส่งเสริมให้เกิดการเติบโตในภาคส่วนพลังงานสะอาด โดยจากรายงานขององค์กรออยเชนจ์อินเตอร์เนชันแนลซ่งต่อต้านการใช้พลังงานฟอสซิลระบุว่าสหรัฐฯ ต้องใช้เงินสนับสนุนพลังงานน้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติถึงปีละมากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้มีคนวิจารณ์ควรใช้ทรัพยากรส่วนนี้มาพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหรือมาสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า

แต่อุปสรรคคือรัฐสภาที่อยู่ใต้การควบคมของพรรคริพับริกันคอยขัดแข้งขัดขาการดำเนินนโยบายต้านโลกร้อนอยู่เสมอ และพรรคริพับริกันเองก็มีแผนการให้ทุนวิจัยด้านพลังงานหมุนเวียนน้อยกว่ารัฐบาลโอบามา

จากรายงานในเรื่องนี้กลุ่มสภาอเมริกันเพื่อเศรษฐศาสตร์พลังงานที่มีประสิทธิภาพ (American Council for an Energy Efficient Economy หรือ ACEEE) สรุปว่า การจะพัฒนาให้ประเทศหันมาใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ต้องอาศัยการสนับสนุนทางการเมืองมากกว่านี้

 

เรียบเรียงจาก

American Council for an Energy Efficient Economy, Renee Lewis, Aljazeera, 21-12-2015 

http://america.aljazeera.com/articles/2015/12/21/us-lacks-political-will-for-energy-efficiency.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net