Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในการเสวนาสาธารณะ “โครงการวิจัยพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางความคิดว่าด้วยความ (ไม่) เป็นสมัยใหม่ในสังคมไทย” (ครั้งที่ 2) วันที่ 17-18 ธันวาคม 2558 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันแรกของการเสวนาอยู่ๆ อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ หัวหน้าโครงการก็ได้รับแจ้งทางโทรศัพท์ว่ามีทหารไปที่บ้าน โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจารย์ธเนศเองก็นึกไม่ออกว่าได้เคยแสดงความเห็นอะไรที่ผิดกฎหมาย ทำให้ทีมเราตัดสินใจระงับการเผยแพร่คลิปเสวนา เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้

แต่มีบางประเด็นที่ผมอยากนำมาขยายความต่อตามความเข้าใจของตนเอง คือหลายบทความวิจัยสะท้อนปัญหาตรงกันว่า การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ของสังคมไทยดำเนินไปภายใต้การเลือกรับ ปรับเปลี่ยนโดยอำนาจของชนชั้นนำ (ชนชั้นปกครองและชนชั้นกลางที่แชร์อำนาจและผลประโยชน์ร่วมกัน) โดยชนชั้นนำผูกขาดอำนาจในการกำหนดว่าจะรับอะไรจากตะวันตกบ้าง จะรักษาอะไรของไทยไว้บ้าง ยอมต่ออำนาจของประเทศเจ้าอาณานิคมในเรื่องอะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งในที่สุดแล้วจะต้องตอบโจทย์สำคัญว่าจะสามารถรักษาสถานะ อำนาจ และผลประโยชน์ของชนชั้นนำไว้ได้อย่างไร

สิ่งที่บทความหลายชิ้นชี้ให้เห็นคือ ชนชั้นนำเป็นฝ่ายผูกขาดอำนาจกำหนดนิยามความดี (สถาปนาความดีแบบพุทธศาสนาเถรวาทไทยเป็นคุณค่าหลักของชาติ) ความงาม (ศิลปะ เช่นจิตรกรรม สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ที่ชนชั้นนำมีอำนาควบคุมความหมายและรูปแบบ ฯลฯ) การกำหนดนิยามเสรีภาพ ประชาธิปไตยบนฐานของสิทธิอำนาจของชนชั้นปกครอง ไม่ใช่บนฐานของการยอมรับสิทธิอำนาจของประชาชนในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีสิทธิอำนาจกำหนดตัวเองทั้งในทางศีลธรรม เป้าหมายชีวิตตามความพึงพอใจของตนเอง การมีส่วนรวมทางการเมืองในฐานะเจ้าของประเทศที่เท่าเทียมกัน

การผูกขาดอำนาจกำหนดนิยามความดี ความงาม เสรีภาพ ประชาธิปไตยของชนชั้นนำอยู่บนฐานของการอ้างอิงอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นอุดมการณ์หลักที่ใช้กรอบอ้างอิง “ความเป็นไทย” หรือความเป็นคนไทย ทุกสิ่งที่รับเข้ามาจากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา ประชาธิปไตย และ/หรืออะไรก็ตามต้องถูกปรับให้สอดคล้องกับความเป็นไทย จะขัดแย้งกับความเป็นไทยไม่ได้ อะไรที่ขัดแย้งกับความเป็นไทยจะต้องถูกกีดกัน ขจัด หรือทำลายไป

ฉะนั้น ความเป็นไทยภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์จึงมีลักษณะเป็น “ศาสนา” ที่ศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้คล้ายกับศาสนาแบบยุคกลาง “ศาสนาความเป็นไทย” ถูกผลิตซ้ำและมีอิทธิพลควบคุมจิตสำนึกของคนในชาติทั้งในแง่สร้างความศรัทธาเลื่อมใส ถึงขนาดพลีชีวิตเพื่อปกป้องได้ และในด้านกลับก็สร้างความหวาดกลัว เป็นฐานอ้างอิงในการปราบปรามคนที่กระด้างกระเดื่องต่ออุดมการณ์ดังกล่าว ซึ่งถูกสังคมมองว่าเป็น “คนบาป” ที่สมควรถูกขจัดออกไปจากสังคม

จะว่าไปแล้วศาสนาที่แท้จริงของคนไทยก็คือ “ศาสนาความเป็นไทย” คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธก็จริง แต่เป็นศาสนาพุทธแบบไทย หรือศาสนาพุทธที่อยู่ใต้ความเป็นไทย เรามีเสรีภาพและประชาธิปไตยก็จริง แต่เป็นเสรีภาพและประชาธิปไตยแบบไทยเท่านั้น และอะไรก็ตามที่เป็นแบบไทยก็คือสิ่งที่อยู่ในอำนาจการกำหนดนิยามและควบคุมโดยชนชั้นนำ

ภายใต้ศาสนาความเป็นไทย ไม่เพียงแต่ชนชั้นนำจะผูกขาดอำนาจในการกำหนดนิยามความดี ความงาม เสรีภาพ ประชาธิปไตยเท่านั้น แม้ความจริงก็อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของชนชั้นนำด้วย จึงมีความจริงที่พูดได้อย่างเป็นสาธารณะกับความจริงที่พูดได้ในระดับของการกระซิบหรือนินทา

คือจริงๆ แล้วชนชั้นนำห้ามการนินทาด้วยการกระซิบข้างหู หรือในเฟซบุ๊กเป็นต้นไม่ได้หรอก (ปรับทัศนคติก็ไม่สามารถ “เปลี่ยนทัศนคติ” ได้จริง ซึ่งพวกเขาก็รู้และยอมรับ) แต่พวกเขามีอำนาจกำหนดว่าความจริงอะไรยอมให้นำมาเป็นประเด็นสาธารณะได้ และอะไรที่ยอมไม่ได้ ที่เป็นแบบนี้ก็เนื่องจากชนชั้นนำสามารถกำหนดหรือควบคุมความหมายของเสรีภาพและประชาธิปไตยได้ ด้วยการใช้อำนาจครอบงำคืออำนาจปืน และอำนาจนำที่อ้างอิงศีลธรรมทางศาสนา และอิงความรู้จากภูมิปัญญาของนิติศาสตร์บริกร รัฐศาสตร์บริกร และบริกรอื่นๆ ที่ระบบอำนาจจารีตเลือกใช้ได้อย่างสะดวกเสมอมา

มันประหลาดตรงที่ว่า เมื่อเรามองดูการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ของปัจเจกบุคคล วิถีชีวิตทางสังคม เศรษฐกิจ และอื่นๆ มันมีความเป็นสมัยใหม่ทั้งตัวโครงสร้าง อาคารสถานที่ วิถีชีวิตทางการศึกษา การทำงาน การเสพสิ่งบันเทิง การพักผ่อน ท่องเที่ยว และลักษณะเชิงนามธรรม เช่นรสนิยม ค่านิยม และอื่นๆ ล้วนแต่มีลักษณะเป็นสมัยใหม่ แต่ความเป็นสมัยใหม่เหล่านั้นกลับถูกครอบหรือถูกกำกับควบคุมด้วยความเป็นสมัยเก่า หรืออำนาจนำทางการเมืองและวัฒนธรรมแบบก่อนสมัยใหม่ภายใต้ศาสนาความเป็นไทย

ต่างจากโลกตะวันตก ที่การเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่คือการทำให้อำนาจนำทางการเมืองและวัฒนธรรมแบบสมัยเก่าอยู่ใต้อำนาจนำทางการเมืองและวัฒนธรรมแบบสมัยใหม่ ฉะนั้นในเชิงโครงสร้างสถาบันกษัตริย์และศาสนจักรจึงอยู่ภายใต้ระบบประชาธิปไตย เปลี่ยนศีลธรรมแบบศาสนาที่เคยเป็นศีลธรรมทางสังคมให้เป็นศีลธรรมของปัจเจกบุคคล และสร้างศีลธรรมทางสังคมขึ้นใหม่ที่มีลักษณะเป็น Secular morality ที่ยืนยันสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด หรือไม่นับถือศาสนาก็ตาม อำนาจนำทางการเมืองและวัฒนธรรมแบบสมัยใหม่จึงเป็นอำนาจที่กำหนดนิยามขึ้นบนฐานของการยอมรับสิทธิอำนาจของประชาชน อำนาจเช่นนี้เองคืออำนาจที่กำกับตรวจสอบอำนาจแบบสมัยเก่า

ตรงกันข้ามกับสังคมไทยที่อำนาจแบบสมัยเก่าอยู่เหนืออำนาจแบบสมัยใหม่ โดยอำนาจสมัยเก่าอ้างอิงศาสนาความเป็นไทยเป็นฐานกำหนดว่าจะยอมให้คนไทยมีเสรีภาพ ประชาธิปไตย เข้าใจความดี ความงาม พูดความจริง ฯลฯ ได้ในขอบเขตแค่ไหน อย่างไร โดยที่สุดแล้วอะไรต่างๆที่จะมีได้ เป็นได้ เกิดขึ้นได้ ต้องไม่ขัดแย้งกับศาสนาความเป็นไทย

แต่ปัญหาคือ เนื่องจากศาสนาความเป็นไทยเป็นศาสนาที่ชนชั้นนำสถาปนาขึ้น ไม่ใช่เกิดจากการที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมในการสร้างขึ้น ฉะนั้น มันจึงเป็นสิ่งที่แปลกแยกกับวิถีชีวิตจริงของคนส่วนใหญ่ตั้งแต่แรก และนับวันจะแปลกแยกมากขึ้นในโลกที่เปิดกว้าง การปะทะขัดแย้งระหว่างความคิดสมัยใหม่กับความคิดสมัยเก่าตามกรอบศาสนาความเป็นไทยจึงเป็นปรากฏการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้เราจะสามารถคาดเดาได้ว่า ในที่สุดแล้วความคิดสมัยใหม่จะเป็นฝ่ายชนะ แต่ยากจะคาดเดาได้ว่าต้องใช้เวลายาวนานเท่าใด และสังคมเราต้องเผชิญกับความขัดแย้งและการสูญเสียชีวิตผู้คนอีกมากเท่าใด

 

 

  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net