Skip to main content
sharethis

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียระบุถึงสถานการณ์ในปี 2558 ของศรีลังกาว่ามีพัฒนาการด้านประชาธิปไตยและเริ่มออกห่างจากแนวทางแบบเผด็จการ บวกกับการบริหารที่ดีก็อาจจะทำให้กลายเป็น 'เสือเบงกอล' ด้านเศรษฐกิจที่สู้กับเขี้ยวเล็บของประเทศเอเชียตะวันออกได้

22 ธ.ค. 2558 บทความโดยเดวิด บริวสเตอร์ นักวิชาการแลกเปลี่ยนที่ศูนย์เพื่อการศึกษาด้านยุทธศาสตร์และกลาโหมของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์อีสต์เอเชียฟอรัมในซีรีส์การทบทวนสถานการณ์ปี 2558 และวิเคราะห์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในปีหน้า บทความระบุว่าปี 2558 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศศรีลังกาหลังจากที่มีการเลือกตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนศรีลังกาเลือกผู้นำคนใหม่ที่มีธรรมาภิบาล มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับชุมชนและฟื้นฟูความสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศ บริวสเตอร์มองว่าเรื่องเหล่านี้ทำให้ศรีลังกาเป็น "เรื่องราวความสำเร็จของประเทศเอเชียใต้"

ก่อนหน้านี้ ศรีลังกาอยู่ภายใต้รัฐบาลของมหินทรา ราชปักษา ที่บริวสเตอร์มองว่าเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมที่มีการทุจริตคอร์รัปชัน โดยราชปักษาเป็นผู้ที่ครองอำนาจในศรีลังกามานับ 10 ปี ก่อนหน้านี้ในปี 2552 ราชปักษาสามารถโค่นล้มกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมลงได้ด้วยการใช้กำลังรุนแรง แต่เขาก็อาศัยชัยชนะครั้งนี้และการโฆษณาชวนเชื่อสร้างความหวาดกลัวภัยจากกลุ่มติดอาวุธชาวทมิฬกลุ่มใหม่เพื่อให้ความชอบธรรมในการครอบงำการเมืองศรีลังกา

บทความระบุว่านับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา ตระกูลราชปักษาก็ขยายอำนาจไปทั่วทั้งในสถาบันทางการเมืองและสถาบันของพลเมืองซึ่งถือเป็นการทำลายระบบการบริหารของประเทศ และหลังจากนั้นก็มีการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกือบอยู่ในระดับนักฉวยโอกาส

ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบทความของบริวสเตอร์ระบุว่า ก่อนหน้านี้ ศรีลังกาเป็นประเทศที่แสดงออกไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ก็สนับสนุนชาติตะวันตกและเป็นมิตรกับอินเดีย แต่เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลราชปักษาก็ทำให้ศรีลังกาหันไปใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นและเริ่มมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับสหรัฐฯ และอินเดีย จากการที่ราชปักษาไม่ยอมเจรจาไกล่เกลี่ยสร้างความปรองดองกับชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬ รวมถึงไม่ยอมไต่สวนข้อกล่าวหาเรื่องอาชญากรรมสงคราม ในขณะที่จีนก็อาศัยความสัมพันธ์กับศรีลังกาหาผลประโยชน์จากโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งยังได้รับผลประโยชน์เชิงความมั่นคงจากการครอบครองท่าเรือในศรีลังกา อีกทั้งการนำเรือดำน้ำของจีนเทียบท่าในเมืองหลวงโคลัมโบของศรีลังกาเมื่อปี 2557 ก็เป็นสัญญาณว่าศรีลังกาอาจจะกลายเป็นพันธมิตรทางการทหารกับจีนในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย

แต่เมื่อปลายปี 2557 ราชปักษาก็ประกาศให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างกระทันหัน แต่ผลการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2558 ที่ผ่านมาก็ออกมาว่าราชปักษาแพ้ให้กับคู่แข่งอย่างไมตรีพละ ศิริเสนา และในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ราชปักษาก็พยายามลงสมัครเลือกตั้งเลือกตั้ง ส.ส. อีกครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้ราชปักษาไม่สามารถดำรงอำนาจต่อไปได้

บริวสเตอร์ ระบุว่าสาเหตุที่ราชปักษาแพ้เนื่องมาจากหลายปัจจัย ทั้งจากการที่ประชาชนไม่ยอมรับเรื่องที่ราชปักษาเน้นย้ำเรื่องชัยชนะของตนต่อกลุ่มกบฏ การที่ราชปักษาไม่ยอมไกล่เกลี่ยกับชุมชนชาวทมิฬ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันของราชปักษาและครอบครัว รวมถึงความกังวลเรื่องอิทธิพลจากจีนที่มีต่อศรีลังกา บริวสเตอร์ระบุอีกว่าความพ่ายแพ้ซ้ำๆ ของราชปักษาในช่วงปีนี้แสดงให้เห็นว่า "สัญชาตญาณประชาธิปไตยฝังรากลึกอยู่ในสังคมศรีลังกา"

บทความของบริวสเตอร์ยังชื่นชมการบริหารของศิริเสนา คู่แข่งของราชปักษาที่ทำให้การรวมศูนย์อำนาจที่เกิดขึ้นในช่วงสมัยราชปักษาหมดลง ศิริเสนาให้คำมั่นว่าจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแค่สมัยเดียวแล้วก็มีการถ่ายโอนอำนาจไปให้กับนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งคณะกรรมการอิสระผู้ตรวจสอบศาล ตำรวจ และการเลือกตั้ง มีการจับกุมครอบครัวราชปักษาในคดีทุจริตคอร์รัปชัน นอกจากนี้ ยังมีการไกล่เกลี่ยเพื่อความปรองดองกับชุมชนชาวทมิฬและทำให้ชาวทมิฬมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น อีกทั้งยังมีแผนการจัดตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อสืบคดีอาชญากรรมสงครามและให้การชดเชยต่อเหยื่อด้วย

รัฐบาลของศิริเสนายังพยายามปรับท่าทีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยคืนความสัมพันธ์กับอินเดียและให้คำมั่นต่ออินเดียว่าจะไม่ให้จีนเข้ามามีอิทธิพล นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกโครงการลงทุนของจีนที่มีข้อถกเถียงหลายโครงการ เช่นโครงการท่าเรือโคลัมโบที่มีการให้บริษัทจีนเป็นเจ้าของ

บริวสเตอร์ระบุต่อไปว่าจากการที่ศรีลังกาเริ่มออกห่างจากแนวทางอำนาจนิยม ต่อต้านการฉกฉวยผลประโยชน์ของชนชั้นนำ และมีการแก้ปัญหาความแตกแยก ทำให้เศรษฐกิจของศรีลังกามีโอกาสดีขึ้นในปีหน้าด้วย ถ้าหากศรีลังกายังคงมีเสถียรภาพทางการเมืองและการบริหารที่ดี โดยถึงแม้ว่าในปีนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจของศรีลังกายังเติบโตอย่างช้าๆ ร้อยละ 6.3 แต่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ประเมินว่าในปี 2559 เศรษฐกิจศรีลังกาจะกลับมาเติบโตขึ้นร้อยละ 7

"ศรีลังกาดูเป็นประเทศที่อยู่ในตำแหน่งได้เปรียบจากการเติบโตของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างเอเชียตะวันออกกับเอเชียใต้ ทั้งในแง่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แรงงานที่มีฝีมือ และเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเปิด ทำให้ดึงดูดการลงทุนจากอุตสาหกรรมการผลิตแบบราคาต่ำ ซึ่งกำลังย้ายฐานจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจากจีน" บริวสเตอร์ระบุในบทความ

"ในอีกไม่กี่ปีหลังจากนี้ ศรีลังกามีศักยภาพในการกลายเป็น 'เสือเบงกอล' ที่สามารถต่อกรกับ 'เสือ' ทางเศรษฐกิจในประเทศแถบเอเชียตะวันออกได้" บริวสเตอร์ระบุในบทความ
 

เรียบเรียงจาก

Sri Lanka’s year of democracy, reconciliation and rebalancing, David Brewster, East Asia Forum, 19-12-2015
http://www.eastasiaforum.org/2015/12/19/sri-lankas-year-of-democracy-reconciliation-and-rebalancing/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net