รายงาน: คลอง เขื่อน คน และโครงการป้องกันน้ำท่วมของ คสช. (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กทม. ระบุว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีคูคลองถูกรุกล้ำทั้งหมดจำนวน 1,161 คลอง จำนวนครัวเรือนที่รุกล้ำ 23,500 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 94,000 คน ซึ่งจำนวนบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลองนี้ สำนักการระบายน้ำระบุว่าทำให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดน้อยลง และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้นจึงต้องรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลองเพื่อไม่ให้ขวางทางเดินของน้ำ โดยการสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำขึ้นมา

เขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ

โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 หลังจากนั้นในปีต่อมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 เห็นชอบการจัดการสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ โดยจะมีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตตลอดแนวคลองสายหลัก ความยาวรวมประมาณ 45 กิโลเมตร เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างคล่องตัว แต่รัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามายึดอำนาจ หลังจากนั้นในวันที่ 3 มีนาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับโครงการนี้ไปดำเนินการต่อ

โครงการดังกล่าวในช่วงแรก (พ.ศ.2558-2560) ประกอบด้วยการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.และประตูระบายน้ำในคลองลาดพร้าว (คลองบางบัว-คลองถนน-คลองสอง) คลองบางซื่อ และคลองเปรมประชากร จากอุโมงค์เขื่อนยักษ์พระราม 9 - รามคำแหงไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ เขตสายไหม เพื่อระบายน้ำลงสู่แนวคลองด้านตะวันออก และลงสู่ทะเลต่อไป

รูปแบบเป็นเขื่อนคอนกรีต ค.ส.ล.(สมอยึดด้านหลัง) ความยาว 40,000 เมตร และ 5,300 เมตร รั้วเหล็กกันตกความยาว 43,000 เมตร และประตูระบายน้ำ 1 แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน งบประมาณจำนวน 2,426 ล้านบาท หน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างเขื่อนคือ กองระบบคลอง สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้สำนักการระบายน้ำมีเป้าหมายที่จะก่อสร้างเขื่อนให้มีความกว้างของคลองขนาด 38 เมตรตลอดทั้งโครงการ และจะมีการขุดลอกคลองให้ลึกจากเดิมอีก 3 เมตรด้วย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการนี้มีผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมคลองต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกบ้านเรือนบนที่ดินของราชพัสดุ (กรมธนารักษ์ดูแล) และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยไม่ได้ทำสัญญาหรือจ่ายค่าเช่า และบางส่วนปลูกรุกล้ำลงไปในคลองมายาวนานหลายสิบปี แต่รัฐบาลหลายยุคที่ผ่านมา รวมทั้ง กทม. ไม่มีฝ่ายใดยื่นมือเข้ามาจัดระเบียบชุมชนริมคลองต่างๆ เหล่านี้ เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นปัญหาด้านมวลชนหรือกระทบต่อฐานคะแนนเสียงในกรุงเทพฯ แต่เมื่ออยู่ในยุคของ คสช.ที่ไม่ต้องกังวลต่อประเด็นปัญหาเหล่านี้ รัฐบาล คสช.จึงสั่งให้เดินหน้าโครงการนี้เต็มที่

โดยเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะขึ้นมา โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน มี รมว.มหาดไทย, รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ, ผู้ว่าฯ กทม.เป็นรองประธาน ฯลฯ มีผู้บัญชาการทั้ง 4 เหล่าทัพ รวมทั้งปลัดกระทรวงต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดกรอบแนวทาง มาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดและพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลอง เพื่อให้การพัฒนาชุมชนรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำดำเนินไปอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ

ขณะที่สำนักการระบายน้ำ กทม.ได้เปิดประมูลงานก่อสร้างเขื่อนในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา และต่อมาในเดือนตุลาคมจึงได้บริษัทที่รับเหมางานในวงเงินประมาณ 1,600 ล้านบาทเศษ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาจ้างกับทาง กทม. เนื่องจากต้องรอให้ทางกระทรวงมหาดไทยอนุมัติวงเงินในการก่อสร้าง รวมทั้งยังต้องรอให้ชาวบ้านที่ปลูกบ้านอยู่ในคลองหรือแนวเขื่อนรื้อย้ายออกมาก่อน เพื่อให้บริษัทรับเหมาเข้าไปก่อสร้างเขื่อนได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการลงนามในสัญญาจ้างจะเกิดขึ้นภายในเดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจึงจะเริ่มงานก่อสร้างได้

นอกจากสำนักการระบายน้ำจะเป็นเจ้าภาพหลักแล้ว ยังมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กรมธนารักษ์และสำนักงานทรัพย์สินฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย โดย พอช.มีประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งในเมืองและชนบทในรูปแบบ “บ้านมั่นคง” มาตั้งแต่ปี 2546 รวมทั้งได้แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในชุมชนริมคลองบางบัวมาก่อนหน้านี้แล้ว จึงได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดทำโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อนฯ ส่วนกรมธนารักษ์และสำนักงานทรัพย์สินฯ ในฐานะหน่วยงานเจ้าของที่ดินก็จะสนับสนุนแผนงานนี้โดยการให้ชาวบ้านเช่าที่ดินในระยะยาวและราคาถูก

การประชุมโครงการบ้านมั่นคง

ทั้งนี้ พอช.ได้จัดทำแผน 3 ปี (พ.ศ.2558-2560) มีเป้าหมาย 66 ชุมชนริมคลอง (คลองลาดพร้าว-บางซื่อ-เปรมประชากร) จำนวนบ้าน 11,004 หลังคาเรือน เพื่อรองรับชาวบ้านจำนวน 58,838 คน ซึ่งแผนงาน 3 ปีนี้จะต้องใช้งบประมาณทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคครัวเรือนละ 80,000 บาท ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเสียโอกาสครัวเรือนละ 80,000 บาท (ไม่ได้แจกเป็นรายครัวเรือน แต่จะนำไปชำระเป็นค่าที่ดินหรือที่อยู่อาศัยใหม่เพื่อลดยอดผ่อนชำระของชาวบ้าน) และสินเชื่อเพื่อสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 250,000 บาท

โดยมีรูปแบบการจัดที่อยู่อาศัยคือ 1.กรณีชาวบ้านรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองและอาศัยอยู่ในชุมชนเดิมได้ จะต้องมีการจัดผังชุมชนใหม่ เพื่อให้ทุกครัวเรือนสามารถสร้างบ้านใหม่ได้ 2.กรณีที่ดินเดิมไม่พอเพียง อาจจะต้องจัดหาที่ดินใหม่ในรัศมี 5-10 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม เพื่อสะดวกต่อการทำงาน สถานศึกษา โดยอาจขอซื้อที่ดินจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ กระทรวงการคลัง และ 3.จัดหาที่อยู่อาศัยของการเคหะ เช่น บ้านเอื้ออาทร ฯลฯ สยาม นนท์คำจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก พอช. กล่าวว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองนั้น เพื่อให้ชาวบ้านได้อยู่ในที่ชุมชนเดิม ดังนั้นในกรณีนี้ ชาวบ้านจะต้องแบ่งปันที่ดินกัน คนที่มีบ้านใหญ่หรือมีเนื้อที่มาก จะต้องเสียสละเพื่อให้คนที่ปลูกบ้านอยู่ในคลองได้มีที่อยู่อาศัย ส่วนรูปแบบก็จะต้องมีรื้อบ้านทั้งชุมชนเพื่อจัดทำผังชุมชนใหม่แล้วแบ่งแปลงที่ดินให้เท่าๆ กัน เช่น จัดทำเป็นบ้านแฝด 2 ชั้น สร้างสาธารณูปโภคมารองรับ เช่น มีบ่อบำบัดน้ำเสีย ทางเดินเลียบคลอง มีสวนหย่อม มีศูนย์เด็กเล็ก หรือแล้วแต่ความต้องการของชาวบ้าน ส่วนในกรณีที่ดินเดิมไม่พอก็อาจจะต้องจัดหาที่ดินของรัฐที่ใกล้เคียงชุมชนเดิม หรือจัดหาที่อยู่อาศัยของการเคหะฯ เพื่อรองรับชาวบ้านต่อไป โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะสนับสนุนชาวบ้านในเรื่องของสินเชื่อเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่และเงินอุดหนุนเพื่อสร้างสาธารณูปโภค

“โครงการบ้านมั่นคงจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้ชาวบ้านในชุมชนที่เป็นเจ้าของปัญหาเป็นตัวตั้ง และเป็นแกนหลักในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา หน่วยงานภายนอก เช่น พอช.มีบทบาทในการเป็นฝ่ายสนับสนุน รวมทั้งให้สินเชื่อเพื่อสร้างบ้านระยะยาวดอกเบี้ยต่ำ โดยชุมชนจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อมาบริหารงานกันเอง” สยามกล่าวถึงหลักการของบ้านมั่นคง

มองต่างมุม : เขื่อนและคน

โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หากอยู่ในช่วงของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อาจจะมีกระแสเสียงคัดค้านที่มาจากหลายฝ่าย ทั้งในแง่วิศวกรรมการก่อสร้าง ประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมทั้งยังเป็นนโยบายที่สั่งการลงมาจากข้างบน ขาดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือผู้ที่มีส่วนได้เสีย แต่เมื่ออยู่ในยุคของ คสช.โครงการนี้จึงมีเสียงคัดค้านที่ค่อนข้างแผ่วเบา แทบจะไม่ต่างไปจากปฏิบัติการรื้อร้านค้าในย่านสะพานเหล็ก ริมคลองโอ่งอ่างของ กทม. เนื่องเพราะการไล่รื้อร้านค้าสะพานเหล็กดูเหมือนว่าจะมีความชอบธรรม เพราะร้านค้าบุกรุกที่ริมคลองมานานหลายสิบปีแล้ว

อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.วิจิตร บุษบามารมย์ จากภาควิชาการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การจัดการกับบ้านเรือนที่ปลูกสร้างรุกล้ำในลำคลองว่า ยังไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ครบทุกมิติ เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 เกิดจากน้ำที่ไหลลงมาจากทางเหนือ บวกกับปัจจัยจากน้ำทะเลหนุน จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการระบายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยถูกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาน้ำท่วม

“ปัญหาการรุกล้ำลำคลองเป็นเพียงปัจจัยเสี้ยวเดียว เราต้องมองปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ให้ครบทุกมิติ น้ำที่กรุงเทพฯ เสี่ยงมีอยู่ 3 น้ำ คือ หนึ่ง เป็นน้ำที่ไหลมาจากทางเหนือ ซึ่งเป็นน้ำท่ากับน้ำทุ่ง สอง คือน้ำฝน ซึ่งในปี 2554 นั้น ฝนไม่ได้ตกในกรุงเทพฯ เลย และสาม คือน้ำทะเลหนุน เช่น หากมีน้ำทะเลหนุนในช่วงฝนตกหนักก็จะทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำลงทะเลลดลงไปครึ่งหนึ่ง” ผศ.ดร.วิจิตรให้ความเห็น

ขณะที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ที่เคยมีผลงานการวิจัยชุมชนแออัดในปี 2528 คือ “สลัม 1,020” ปัจจุบันเป็นนักธุรกิจด้านข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ และมักจะแสดงความคิดเห็นต่างออกไปจากกลุ่มที่สนับสนุนขบวนการพัฒนาภาคประชน ได้เคยแสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์แห่งหนึ่งกรณีการพัฒนาชุมชนริมคลองว่า ตนไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ และไม่เกิดความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ หากจะใช้พื้นที่ริมคลองให้เกิดประโยชน์ก็ควรจะนำมาจัดสร้างเป็นแฟลต เช่น หากมีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ สามารถสร้างเป็นแฟลตความสูง 5 ชั้น ขนาดห้อง 32 ตารางเมตร เท่ากับแฟลตเอื้ออาทรก็จะได้ถึง 1,600 หน่วย และให้ชาวบ้านเช่าเดือนละ 2,000 บาท จะทำให้รัฐมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 30 ล้านบาท

“บางท่านอาจมีความคิดว่า การที่ชาวบ้านบุกรุกกันอยู่อย่างผิดกฎหมายนั้นไม่ดี จึงพยายามทำให้ถูกกฎหมายด้วยการให้เช่า จะได้อยู่เย็นเป็นสุขเสียที แต่ในความเป็นจริง ชาวบ้านเหล่านี้อยู่ฟรีโดยไม่เสียเงินซื้อหรือไม่เสียค่าเช่ามานาน หากรายใดอยู่มานานถึง 50 ปี และมีต้นทุนการอยู่อาศัย 2,000 บาทต่อเดือนตามมาตรฐานห้องเช่าเล็กๆ ก็เท่ากับได้อยู่ฟรีมาเป็นเงินถึง 1.2 ล้านบาทแล้ว เรายังจะทุ่มเทงบประมาณลงไปอีกหรือ?” ดร.โสภณให้ความเห็นในมุมมองของนักธุรกิจแบบไม่อ้อมค้อม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท