Skip to main content
sharethis

เอ็นจีโอสำรวจห่วงโซ่อุปทานอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์แบรนด์ดังที่มหาวิทยาลัยในยุโรปเลือกใช้ พบมาจากฝีมือแรงงานจาก ‘นักเรียน-นักศึกษา ฝึกงาน’ ในจีน พบทำงานถึง 10-12 ชั่วโมงต่อวัน ฝึกงานไม่ตรงกับสายการเรียน

เครือข่าย GoodElectronics เผยแพร่รายงานที่สืบสวนโดย Danwatch ในการพยายามเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์แบรนด์ดังที่มหาวิทยาลัยในยุโรปกับการใช้แรงงาน ‘นักเรียน-นักศึกษา’ ฝึกงานในจีน (ที่มาภาพ: GoodElectronics)

เมื่อเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมาเครือข่าย GoodElectronics ได้เผยแพร่รายงานที่สืบสวนโดย Danwatch องค์กรสื่อของเดนมาร์ก อันเป็นรายงานสืบสวนเรื่องการใช้แรงงาน ‘นักเรียน-นักศึกษา ฝึกงาน’ ที่ประเทศจีน ในอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ไอที โดยพยายามทำแคมเปญเชื่อมโยงกับการใช้อุปกรณ์ไอทีของนักศึกษาในยุโรป ให้ตระหนักถึงการละเมิดสิทธิแรงงานวัยเยาว์ในประเทศจีน

รายงานชิ้นนี้ระบุว่าในปี 2558 สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในยุโรปมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์ไอทีทั้งฮาร์ดแวร์, ซอฟต์แวร์ และการบริการต่าง ๆ ถึง 4.27 พันล้านยูโร เงินมหาศาลเหล่านี้ถูกใช้ไปเพื่อประกันว่านักศึกษาหนุ่มสาวชาวยุโรปจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะ ‘ระบบเซิร์ฟเวอร์’ ที่เป็นส่วนสำคัญของระบบสื่อสารในมหาลัยที่ทันสมัย พบว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับระบบเซิร์ฟเวอร์ นี้อย่างเดียวมีสูงถึง 461.38 ล้านยูโรเลยทีเดียว

ห่วงโซ่อุปทานของอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ในมหาวิทยาลัยในยุโรปที่เชื่อมโยงกับการใช้แรงงาน ‘ฝึกงาน’ โดย ‘นักเรียน-นักศึกษา’ ในโรงงานที่ประเทศจีน (ที่มาภาพ: GoodElectronics)

จากรายงานการสืบสวนที่ได้ไล่ตามห่วงโซ่อุปทานและสายพานการผลิตอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ในมหาวิทยาลัยของยุโรป พบว่าส่วนใหญ่ผลิตในประเทศจีนและมีแรงงานฝึกงานที่เป็นนักเรียน-นักศึกษาจีนเป็นกลไกสำคัญในกระบวนการผลิตด้วย โดย Danwatch ระบุว่าในขณะที่นักศึกษาหนุ่มสาวในยุโรปได้หยุดพักผ่อนในช่วงปิดเทอมฤดู​​ร้อน แต่นักเรียน-นักศึกษาชาวจีนร่วมหมื่นคนต้องถูกสถาบันการศึกษาของพวกเขาส่งเข้าไปฝึกงานในโรงงาน ในการผลิตเซิร์ฟเวอร์และอุปกรณ์ไอทีอื่น ๆ ให้กับแบรนด์ชั้นนำของโลก โดยในการฝึกงาน พวกเขาต้องทำงานถึง 10-12 ชั่วโมงต่อวัน หกวันต่อสัปดาห์ เป็นเวลาถึง 3-5 เดือนเลยทีเดียว

ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (HP), เดลล์ (Dell) และเลอโนโว (Lenovo) เป็นแบรนด์ยอดนิยมของเซิร์ฟเวอร์ที่มหาวิยาลัยในยุโรปเลือกใช้ จากข้อมูลในตลาดอุปกรณ์ไอทีและจากการสืบสวนของ Danwatch พบว่าทั้งสามแบรนด์ได้ว่าจ้างโรงงานของบริษัท วิสตรอน (Wistron Corporation) ในจงซาน (Zhongshan) ประเทศจีนเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนให้

ทั้งนี้ บริษัท วิสตรอน หรือ วิสตรอน คอร์ป เป็นบริษัทสัญชาติไต้หวัน มีโรงงานอยู่ในจีน, เม็กซิโก และสาธารณะรัฐเชก มีพนักงานอยู่ทั่วโลกถึง 60,000 คน นอกจากที่วิสตรอนจะรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์ให้กับ ฮิวเลตต์-แพคการ์ด, เดลล์ และเลอโนโว แล้ว จากการสืบสวนยังระบุว่าวิสตรอนยังรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ในบริษัทกูเกิล (Google), เฟซบุ๊ก (Facebook) และอเมซอน (amazon.com) อีกด้วย

ป้ายนักศึกษาฝึกงาน (ที่มาภาพ: GoodElectronics)

นักเรียน-นักศึกษาฝึกงานเดินทางกลับหอพักหลังจากทำงาน 12 ชั่วโมง (ที่มาภาพ: GoodElectronics)

สภาพความเป็นอยู่ในหอพักในระหว่างการฝึกงาน (ที่มาภาพ: GoodElectronics)

จากการสืบสวนระบุว่าโรงงานของบริษัทวิสตรอนในจงซานนั้นมีพนักงานประมาณ 15,000 คน มีนักศึกษาฝึกงานประมาณ 2,000-3,000 คน (เป็นการประมาณการในช่วงที่ Danwatch ทำการสืบสวนระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2558 ) จากการสืบสวนพบประเด็นที่น่าสนใจคือสถานศึกษาบังคับให้นักเรียน-นักศึกษามาฝึกงานที่โรงงานของบริษัทวิสตรอน นักเรียน-นักศึกษาส่วนใหญ่ที่มาฝึกงานไม่ได้ฝึกงานตรงสายงานกับวิชาเอกที่เรียน ตัวอย่างเช่นนักศึกษาด้านการออกแบบโดยคอมพิวเตอร์คนหนึ่งที่คาดหวังว่าจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการออกแบบเว็บไซต์จากการฝึกงาน แต่เมื่อมาฝึกงานที่โรงงานแห่งนี้ปรากฏว่าเขากลับต้องทำงานในไลน์การประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แทน เป็นต้น

ทั้งนี้พวกเขาต้องทำงาน 10-12 ชั่วโมงต่อวัน หกวันต่อสัปดาห์ รวมทั้งการทำงานกะกลางคืน มีการบังคับให้ทำงานล่วงเวลาทุก 1-2 วัน ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาต่อเดือนเกินกว่ากฎหมายกำหนด พวกเขาต้องทนทุกข์จากการฝึกงานนี้เป็นเวลาถึง 3-5 เดือน ซึ่งการใช้แรงงานเยาวชนในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังคับขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รวมทั้งเป็นการละเมิดต่อมาตรฐานสำหรับการฝึกงานที่กำหนดโดยกระทรวงศึกษาธิการของจีน และละเมิดกฎหมายแรงงานจีนอีกด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net