Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

I

ควันธูปในงานรำลึก 9 ปีการจากไปของลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ได้ปลุกให้ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาฟังท่วงทำนองอันไพเราะของบทสวดกุศลาธรรมา อกุศลาธรรมา...เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ...หากท่านผู้อ่านประสงค์ ก็คงสามารถหาฟังบทสวดอันไพเราะนี้ได้จากกุฏิคณะพลเมืองโต้กลับ วัดประชาธิปไตยพลาราม (ซึ่งน่าจะยังหาฟังได้จากใน youtube)|

ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาโดยพบคำว่า ทหาร ทหาร ทหาร เต็มไปหมด เกิดอะไรขึ้น ทั้ง ๆ ที่วัดที่ข้าพเจ้าอาศัยนอนพักอยู่นี้เป็นวัดประชาธิปไตยโดยแท้ ทำไมจึงเต็มไปด้วยคำว่า ทหาร ทหาร ทหาร วุ่นวายอยู่ในกระแสสำนึกของข้าพเจ้า

นี่ก็เพิ่งฝันไปว่าปู่ครูของข้าพเจ้าให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า บ้านเมืองว่างเว้นจากนักการเมืองได้ แต่ขาดทหารไม่ได้ เสียดายอยู่ว่าข้าพเจ้าหมดวาสนาที่จะได้เรียนกับครูของข้าพเจ้าแล้ว มิฉะนั้นคงหาโอกาสถามในชั้นเรียนว่า ถ้าว่าบ้านเมืองขาดกองทัพไม่ได้แล้ว อะไรคือกองทัพที่ดี ? กองทัพที่ดีควรมีธรรมชาติหรือคุณลักษณะอย่างไร จึงสมกับคำว่ากองทัพ

เมื่อตื่นขึ้นมาด้วยความงุนงงสงสัย หากสิ้นไร้ไม้ตอก ไม่มีครูอาจารย์ให้พึ่งพาเช่นนี้ จำข้าพเจ้าจะต้องรวบรวมและแยกแยะเอาเองไว้คราวหนึ่งก่อนว่า พื้นความรู้ของกองทัพที่เป็นอยู่ในขณะนี้เป็นอย่างไร (ทหารจึงเป็นเช่นทุกวันนี้ ข้าพเจ้าสังหรณ์ใจว่าคำถามทำนองว่า ทหารมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ? อาจเป็นคำถามที่ไม่ตรงนัก เพราะด้วยพื้นภูมิความรู้ที่ทหารของเรามีอยู่เป็นอยู่ ทหารของเราเป็นเช่นนี้มานานแล้ว) และสักวันหนึ่งเมื่อมีโอกาสก็คงหาคำตอบได้ต่อไปว่า อะไรคือกองทัพที่ดี

มิตรสหายปิศาจตนอื่น ๆได้บอกข้าพเจ้าว่า ที่จริง "คุณภัควัน" ได้ตะเบ็งเสียงแสดงธรรมกถาว่าด้วยกองทัพที่ดีไว้อย่างไพเราะแล้ว หากแต่ลำโพงหันไปทางอื่น พวกเราจึงไม่ได้ยิน เป็นอันว่าข้าพเจ้าประสบชะตากรรมหมดวาสนาซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ข้าพเจ้าจะได้พยายามรวบรวมและแยกแยะเกี่ยวกับภพภูมิและความรู้ของกองทัพ เท่าที่สติสัมปชัญญะที่มีอยู่จะอำนวยให้ได้ และเท่าที่ควันธูปที่จุดกันอยู่จะให้เวลาแก่ข้าพเจ้าได้


II

ไม่ว่าเราจะอ่านวรรณคดีในฐานะเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างหลวงพี่โตก็ดี หรือจะอ่านงานประวัติศาสตร์ในฐานะงานวรรณคดีอย่างหลวงพี่ธงก็ตาม แต่ในเรื่องของทหาร ข้าพเจ้าเห็นในทำนองเดียวกับแนวคิดเรื่องมองสังคมจากวรรณคดี และมองวรรณคดีจากสังคม กล่าวคือมองทหารก็จะเห็นสังคมไทย มองสังคมไทยก็จะเห็นธรรมชาติหรือคุณลักษณะของทหารไทย คนไทยเป็นอย่างไร ทหารไทยก็เป็นอย่างนั้น

ในแง่นี้ การจะเข้าใจว่าทหารไทยมีธรรมชาติหรือคุณลักษณะอย่างไร ก็ต้องมองไปที่คนไทยว่ามีธรรมชาติมีคุณลักษณะอย่างไร และเพื่อความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ก็ต้องมองไปที่ภววิทยาและญาณวิทยาของคนไทยว่าเป็นอย่างไร แต่เนื่องจากข้าพเจ้าชกได้ก็แต่มวยวัด มิใช่แม้แต่นักวิชาการชั้นสอง ไม่มีความรู้ในวิชาทั้งสองนั้น จึงจะพยายามเข้าใจแต่เพียงในระดับภพภูมิและพื้นความรู้ของคนไทย ซึ่งก็น่าจะเพียงพอให้เข้าใจคนไทยและทหารไทยได้อย่างแจ่มแจ้ง


III

คำที่ใช้กันอยู่อย่างสำคัญในหมู่คนไทยคำหนึ่งคือคำว่า "แผ่นดิน" นอกจากเราจะกล่าวถึงพระเจ้าแผ่นดินว่าพระเจ้าแผ่นดินแล้ว เรายังกล่าวถึงการครองแผ่นดิน การผลัดแผ่นดิน ตลอดจนการเตือนให้ระวังว่าจะไม่มีแผ่นดินจะอาศัย และที่สำคัญ เพลงที่ปลุกเร้าให้คนไทยฮึกเหิมจนมีส่วนอย่างสำคัญที่พาคนไทยไปถึงจุดที่ฆ่าคนไทยหรือฆ่าคนด้วยกันเองได้ในสมัย "หกตุลา" ก็คือเพลงหนักแผ่นดิน แผ่นดินจึงเป็นอะไรที่สำคัญ ฟังขึ้น และกระทบกับความรู้สึกแบบไทย ๆ

สังคมการเมืองไทยให้ความสำคัญกับดินหรือแผ่นดิน จนอาจกล่าวได้ว่าคนไทยให้ความสำคัญกับดินเสียยิ่งกว่าน้ำ แม้ว่าน้ำจะเป็นตัวให้ชีวิตให้พลังแก่ดินก็ตาม สังคมการเมืองไทยมิใช่สังคมพลังน้ำ หากแต่เป็นสังคมพลังดิน

ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าแผ่นดินหรือดินที่เป็นแผ่นเป็นผืนนี้สัมพันธ์กับการทำนา การปราบที่ให้ราบเรียบเป็นแผ่นแบนราบในเขตที่ราบลุ่มอันมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ไม่ใช่เขตที่ดอนหรือที่สูง คำนี้จึงน่าจะพัฒนามากับชุมชนการเมืองในที่ราบลุ่มภาคกลาง เพราะแผ่นดินเป็นสิ่งสำคัญ การควบคุมจัดชั้นผู้คนจึงจัดด้วยระบบศักดินา ซึ่งนับหน่วยเป็นไร่ แม้จะเป็นระบบควบคุมคน แต่ที่คุมคนก็เพื่อการใช้ประโยชน์จากผืนนา ผืนแผ่นดิน

ภพภูมิของคนไทยจึงเป็นภพภูมิแบบแผ่นดิน มิใช่ภพภูมิแบบรัฐของฝรั่ง หน่วยปกครองหรือหน่วยการเมืองที่คนไทยรู้จักคือแผ่นดิน แม้แผ่นดินจะถูกจัดการถูกรังวัดทำแผนที่ตามแบบฝรั่ง แต่ความเป็นหน่วยปกครองทางการเมืองของแผ่นดินก็ยังคงอยู่ และครอบงำซ้อนทับอยู่เหนือ/ซ่อนตัวอยู่หลังการแสดงตนเป็นรัฐแบบฝรั่ง จะเรียกประเทศไทยว่าเป็นรัฐแบบแผ่นดินก็คงพอจะได้ แต่แผ่นดินก็คือแผ่นดิน มิใช่รัฐ เช่นเดียวกับที่เราจะเรียกพระโพธิสัตว์ด้วยคำแบบฝรั่งว่าวีรบุรุษก็คงพอจะกล้อมแกล้มเรียกได้ แต่พระโพธิสัตว์ก็ยังคงคือพระโพธิสัตว์ มิใช่วีรบุรุษ มิใช่ฮีโร่ อย่างแนวคิดของฝรั่ง


IV

เมื่อคนไทยอยู่ในภพภูมิแบบแผ่นดิน ผู้มีอำนาจเหนือพื้นที่เล็ก ๆ ผืนหนึ่ง ๆ ก็เรียกว่าพระภูมิเจ้าที่ ถ้าเป็นพื้นที่หน่วยใหญ่ ๆ ก็เรียกว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะแผ่นดินสำคัญมากนี้เอง แม้เมื่อเรารับเอาแนวคิดที่มาจาก "ทิศตะวันตก" อย่างพระราม พระนารายณ์ หรือพระศิวะเข้ามา สุดท้ายก็ถูก localised เป็นพระเจ้าแผ่นดินกันไปหมด

ความรู้ต่าง ๆ ที่คนไทยผลิตขึ้นก็ย่อมผลิตขึ้นโดยอิงกับความเป็นภพภูมิแบบแผ่นดิน มิใช่ความรู้ที่มีรากมาจากความเป็นรัฐแบบฝรั่ง ภพภูมิแบบแผ่นดินย่อมเต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับและความรู้ที่สืบเนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับ ดังข่าวเมื่อไม่นานมานี้ที่ท่านผู้นำได้อวดแสดงเครื่องรางที่ตนมีอยู่ให้ผู้สื่อข่าวชมเป็นขวัญตา หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้ ข่าวไฟไหม้บ้านของพ่อใหญ่จิ๋ว นายกรัฐมนตรีนอกทำเนียบ ก็ทำให้เราทราบว่าอดีตนายทหารสื่อสารคนสำคัญของไทยท่านนี้มีพระบูชาและพระพุทธรูปโบราณเป็นจำนวนมาก

เพราะการดำรงอยู่แต่ในภพภูมิแบบแผ่นดินหรือไม่ที่ทำให้คนไทนเป็นอันมาก โดยเฉพาะท่านผู้นำของเราไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจวิธีการดำรงอยู่ร่วมกับรัฐหรือ space แบบอื่น ๆ เอะอะก็จะปิดประเทศ เอะอะก็จะทำซิงเกิลเกตเวย์ ปิดช่องทางการสื่อสารโทรคมนาคมกับนอกประเทศให้เหลือช่องทางเดียว ราวกับประเทศเปิดปิดได้เหมือนกับการเปิดปิดประตูรั้ว ไม่เช่นนั้นก็คงเห็นว่าประเทศคงเหมือนตู้เย็นที่จะแช่แข็งหรือจะเปิดจะปิดก็ทำได้ง่าย ๆ

ภายใต้หรือภายในภพภูมิแบบแผ่นดิน ความมหัศจรรย์เกิดจากความลี้ลับศักดิ์สิทธิ์ ขอเพียงให้มีความรู้ว่าจะต้องอธิษฐานนบไหว้บูชาอย่างไร ปาฏิหาริย์ก็จะบังเกิด แต่ความเชื่อในความมหัศจรรย์เช่นนี้จะปรองดองอยู่ได้อย่างไรกับประชาชนผู้อยู่ใน cyber space ที่ความมหัศจรรย์เกิดจากเลขฐานสอง

เลขฐาน 2 คือหน่วยพื้นฐานของ cyber space, cyber culture แต่สิ่งพื้นฐานของภพภูมิแบบแผ่นดินกลับเป็นเรื่องของปริมาณ (ซึ่งคงเพราะเหตุนีักระมังที่พี่ไทยจึงหวงแหนแผ่นดินของตนทุกตารางนิ้ว) ผู้คนจึงย่อมชื่นชมในอะไรที่เยอะกว่า ใหญ่กว่า มากกว่า จนพยายามเหลือเกินที่จะผัดโน่น ทำนี่ ให้ได้ปริมาณหรือขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อเป็นเกียรติประวัติในกินเนสส์บุ๊ก ในขณะที่ cyber space ลดทอนสิ่งต่าง ๆ ลงให้อยู่ในรูปของเลขฐานสอง ในภพภูมิแบบแผ่นดิน เป้าหมายคือการไปให้ถึงความใหญ่ ความเยอะ สั่งสมบุญบารมีให้ได้มากที่สุด สร้างเนื้อสร้างตัวให้รวยที่สุด ซึ่งเพราะเหตุนี้หรือไม่ที่นายทหารไทยเมื่อมีอาชีพทหารทั้งทีก็ต้องไปกันให้ถึงชั้นยศสูงสุด การสั่งสมจำนวนนายพลและกำลังอาวุธดูจะเป็นความภาคภูมิใจของไทย แทนที่จะใส่ใจในการบ่มเพาะคุณธรรมความรู้ความสามารถของกำลังพล


V

ถึงแม้คนไทยจะอยู่ในภพภูมิแบบแผ่นดิน แต่กระนั้นคนไทยก็ยังคงจินตนาการถึงความทันสมัยทัดเทียมนานาอารยะประเทศ ซึ่งสำหรับคนไทยแล้วไม่ใช่สิ่งยากเย็นแต่อย่างใด ประเทศไทยสามารถดูทันสมัยกลายเป็น Modern State ขึ้นมาทันที โดยไม่ต้องห่วงการปฏิรูปที่เนื้อในความเป็นไทย เพียงแต่เติมคำว่าแลนด์เข้าไปในชื่อไทยให้กลายเป็นไทยแลนด์เท่านั้นเองเราก็ทันสมัยขึ้่นมาแล้ว ก็อย่างอังกฤษเขาทันสมัยใช่มั้ยล่ะ เขาอิงแลนด์ เราก็ไทยแลนด์บ้าง ก็แค่นั้นเอง เหมือนอย่างเมื่อก่อนนุ่งผ้าหรือแก้ผ้าแบบไทย ๆ ไม่ทันสมัย ก็นุ่งเลียนแบบฝรั่งมัน เท่านี้ก็ทันสมัยขึ้่นมาแล้ว

‪#‎กองทัพก็เช่นกัน‬ ความทันสมัย ความสมัยใหม่ของกองทัพไทย ไม่ใช่การปรับตัวปรับกองทัพให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปทุกวินาฑี หากแต่เพียงแค่มีเรือดำน้ำ มีเครื่องบินรบ มีรถถังรุ่นใหม่ เท่านี้ก็ทันสมัยแล้ว

ชาวโลกสนใจประวัติศาสตร์ คนไทยผู้อยู่ในภพภูมิแบบแผ่นดินก็จึงต้องสนใจประวัติศาสตร์เช่นกัน แต่ประวัติศาสตร์แบบบไทย ๆ เป็นประวัติศาสตร์แบบแบนราบ ไม่มีมิติของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ไม่มีพัฒนาการของกาลเวลา
เพราะด้วยเหตุนั้นเอง ความรู้ประวัติศาสตร์ของท่านผู้นำจึงกลายเป็นเรื่องของอดีตนมนานที่ผ่านมาแล้ว เป็นอดีตที่แช่แข็งอยู่ในกาลเวลา อะไรที่เคยสอนหรือเรียนมาอย่างไรมันก็จะต้องเป็นเช่นนั้นอยู่ตลอดไป ท่านผู้นำย่อมไม่มีวันเข้าใจได้ว่า ภายหลังการนำเสนอเรื่องอัลไตมีการถกเถียงหักล้างกันมาเยอะแยะ

ด้วยความที่ประวัติศาสตร์กลายเป็นประวัติศาสตร์ของความยาวไกลแบนราบ เราจึงคงสามารถอนุมานเอาได้ว่าทหารไทยไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์หรือพัฒนาการของนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ เกี่ยวกับความมั่นคง ที่เป็นประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเลย เพราะหากทหารไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับนโยบายสำคัญอย่างนโยบาย 66/2523 และ 65/2525 แม้พวกเขาจะยังคงเดินซ้ำย่ำอยู่บนหนทางแห่งการยึดอำนาจ แต่พวกเขาคงไม่ไล่ล่าหรือเห็นประชาชนเป็นศัตรูของชาติ ซ้ำรอยเดิมใน "ยุค 6 ตุลา" เกิดอะไรขึ้นกับการเรียนการสอนของกองทัพ เหตุใดนโยบาย 66/2523 และ 65/2525 จึงกลายเป็นเสียของเปล่าประโยชน์ไป


VI

จะเพราะเรียนรู้ประวัติศาสตร์กันอย่างแบนราบนี้หรือไม่ ที่เมื่อมาถึงการดำเนินการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ พระมหากษัตริย์ต่างยุคต่างสมัยต่างบุคลิกจึงเสด็จพระราชดำเนินมาประทับยืนแทบจะเป็นแบบหน้ากระดานแบนราบ ใครคือสถาปนิกผู้ออกแบบผังอุทยานนี้ เหตุใดจึงไม่ใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติสถาปนาอุทยานอันร่มรื่น แล้วอัญเชิญพระบรมรูปของบุรพมหากษัตริย์พระองค์ต่าง ๆ เสด็จพระราชดำเนินมาประทับยังมุมโน้นมุมนี้ของอุทยาน ทำอุทยานให้เป็นอุทยานแห่งการพักผ่อนและการเรียนรู้ จัดสรรอุทยานให้เป็น 7 โซน 7 theme ตามพระราชประวัติ/พระราชบุคลิกของแต่ละพระองค์ เช่น พระเจ้าตากทรงม้าอยู่ท่ามกลางสวนแบบจีน ส่วนเสด็จพ่อ ร.5 ก็ทรงพระเกษมสำราญอยู่ในบรรยากาศของการเสด็จประพาสต้น ฯลฯ เอื้อให้เยาวชนและนักท่องเที่ยวเกิดควาสนใจใคร่รู้ สืบค้นจากอุทยานหนึ่งไปสู่อุทยานหนึ่ง ผู้สนใจในงานภูมิสถาปัตย์คงอดถามไม่ได้ว่าคณะผู้ดำเนินการจัดสร้างอุทยานได้ปรึกษาฟังความจากภูมิสถาปนิกและนักจัดพิพิธภัณฑ์อย่างกว้างขวางรอบด้านหรือไม่ รีบร้อนกันเกินไปหรือเปล่า อุทยานจึงปรากฏออกมาเช่นนั้น นี่เป็นคำถามที่ถามโดยมิได้พาดพิงถึงคำว่าสุจริตหรือทุจริต หากแต่ถามถึงประสิทธิภาพของกระบวนการทำงาน

บุรพมหากษัตราธิราชย่อมทรงสามารถประทับอยู่ได้ในบรรยากาศอันรื่นรมย์เอื้อต่อการพักผ่อนเรียนรู้พร้อม ๆ ไปกับการทรงเป็นสัญญะสื่อถึงความมั่นคงความภักดีที่ทหารต้องการ ความจงรักภักดีย่อมแยกไม่ออกจากร่มบรมโพธิสมภารอันหมายถึงการปกแผ่ความร่มเย็นให้แก่ประชาชน


VII

คงเพราะอยู่กันแต่ในภพภูมิแบบแผ่นดิน (ซึ่งมีสูงมีต่ำ) เสียยิ่งกว่าในโลกสมัยใหม่นี่เองที่ทำให้เมื่อจินตนาการกันถึง "ผังล้มเจียม" ถึงแม้จะพยายามคิดถึงความสัมพันธ์แบบเครือข่าย แต่ความเป็นเครือข่ายที่จินตนาการ (มั่ว) กันขึ้นก็ไปไม่พ้นการคิดแบบลำดับขั้น ผังล้มเจียมเมื่อมองเป็นภาพสามมิติจึงเป็นภาพของปิรามิดที่มี "เจียม" อยู่บนยอดสุดของปิรามิด
space หรือภพภูมิแบบแผ่นดินทำให้ต้องคิดแบบบังคับบัญชาเป็นลำดับขั้น ซึ่งย่อมแตกต่างจากการคิดแบบ cyber culture ที่ทุกหน่วยสามารถโยงใยถึงกันได้อย่างอิสระ ที่แม้จะดูมั่วและวุ่นวายที่สุด แต่ก็แสดงถึงประสิทธิภาพสูงสุดเท่าที่แนวคิดเรื่องเครือข่ายจะเป็นไปได้

แม้แต่จะจินตนาการถึงเครือข่ายของประชาชก็ยังไม่สามารถจินตนาการโดยอิงอยู่กับความเป็นจริงของยุคสมัย ฉะนี้แล้วเราจะเดินไปทางไหนกัน ?


VIII

ไม่ว่าคนไทย/ทหารไทยจะเลือกดำรงอยู่ในภพภูมิแบบใด และพัฒนาภูมิปัญญาชนิดใดขึ้นมาจากการดำรงอยู่ของภพภูมิเหล่านั้น ปัญหาในท้ายที่สุดคงมิใช่ว่าภพภูมิและภูมิปัญญาเหล่านั้นถูกหรือผิดอย่างไร แต่คำถามคงอยู่ที่ว่าในท่ามกลางภพภูมิและภูมิปัญญาแบบที่ดำรงอยู่นี้ เหตุใดจึงเกิดสภาพ "เกรียน ๆ " ขึ้นในหมู่คนไทย/ทหารไทย ดังปรากฏในความก้าวร้าว/คุกคามที่มีต่อประชาชนด้วยกัน บรรดาท่านผู้นำต่างก็ฉุนเฉียวผิดปรกติ แต่ขณะเดียวกันก็ดูจะแก้ต่างให้แก่ตัวเองไปได้อย่างน้ำขุ่น ๆ บริจาคให้สาธารณะไปแล้วบ้าง ถูกซักเข้าหน่อยก็ย้อนถามว่าจะเอากันให้ตายเลยหรือไงบ้าง ราวกับว่าบุคคลในอุดมคติที่เป็นแบบอย่างของคนไทยผู้รักความเป็นไทยอย่างล้นเหลือในสมัยนี้ มิใช่พันท้ายนรสิงห์ผู้องอาจ หากแต่คือนักเลงหัวไม้ + ศรีธนญชัย วุฒิภาวะของทหารที่น่าจะแสดงออกอย่างสุขุมองอาจ ฉลาดงามสง่า แต่ก็แฝงไว้ด้วยความรักในพี่น้องประชาชนด้วยกันหายไปไหน ? ( อีกทั้งเหตุใดภายหลังจากยุคประชาธิปไตยครึ่งใบที่อาจพอจะเปรียบผู้นำในเวลานั้นได้กับเล่าปี่ เมื่อมาถึงยุคที่กล่าวอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย 99.99 % ท่านผู้นำซึ่งคณะผู้ศรัทธาทั้งหลายคงคาดหวังว่าจะเก่งอย่างโจโฉ จึงเป็นได้แค่ --ดังที่ผู้รู้เปรียบเทียบไว้--ตั๋งโต๊ะ) คำถามนี้ไม่ได้ถามเรื่องสุจริตหรือทุจริต หากแต่ถามถึงวุฒิภาวะ


IX

ควันธูปใกล้จะหมดแล้ว ข้าพเจ้าขอตัวพักผ่อนสักงีบหนึ่ง ขอให้ทุกท่านโชคดีปลอดพ้นจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตและการหักหัวคิว smile emoticon
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net