เผยปี 58 แรงงานข้ามชาติ-ผู้ติดตาม 4 แสนคนไม่ได้ต่ออายุบัตร-เสี่ยงถูกจับส่งกลับ

นำเสนอสถานการณ์ปี 58 ในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล เผยแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามมากกว่า 4 แสนคนไม่ได้ต่ออายุบัตร ทำให้เสี่ยงถูกส่งกลับประเทศต้นทาง ส่วนชาวโรฮิงญายังคงอพยพหลายระลอก และการบังคับใช้กฎหมายไทยมีปัญหา-ล้มเหลวในการคัดแยกผู้เสียหาย-การเก็บหลักฐาน-ไม่มีการคุ้มครองพยาน-ขาดล่าม ทำให้ยังสาวไม่ถึงต้นตอผู้ค้ามนุษย์

แฟ้มภาพศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ที่ จ.สมุทรสาคร เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2557 ล่าสุดนักวิจัยด้านแรงงานข้ามชาติ เปิดเผยว่าในปี 2558 มีแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามมากกว่า 4 แสนคนไม่ได้ต่ออายุการจดทะเบียน ทำให้เสี่ยงถูกส่งกลับประเทศต้นทาง 

 

เครือข่ายองค์กรทีทำงานด้านประชากรข้ามชาติ จัดแถลงข่าวการนำเสนอสถานการณ์ และรายงานประจำปีเนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล พ.ศ. 2558 "Migrant Crisis Proction" ระบุรัฐสอบตกเรื่องการแก้ปัญหาแรมีแรงงานจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย พบยังถูกแสวงหาประโยชน์จากนายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมห่วงการใช้แรงงานทาสในธุรกิจประมง

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่ห้องประชุมใหญ่ บ้านเซเวียร์ ถนนราชวิถี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant working group) จัดงานแถลงข่าวการนำเสนอสถานการณ์ และรายงานประจำปีเนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล พ.ศ. 2558 "Migrant Crisis Proction"

 

ห่วงแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม 4 แสนคนไม่ได้ต่ออายุ-เสี่ยงถูกจับส่งกลับ

อดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติระหว่างให้สัมภาษณ์หลังแถลงข่าว (ที่มา: เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ)

โดยนายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ได้กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติและนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติในปี 2558 ว่ามีความน่าสนใจในหลายประเด็นอาทิเรื่องการจัดการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 30 มิถุนายน 2558 มียอดรวมจดทะเบียน ทั้งสิ้น 1,049,326 คน ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงแรงงานที่ผ่านมามีแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนที่ OSS (ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว) และผ่านการตรวจสัญชาติก่อนที่จะมีการต่ออายุทั้งหมด 133,917 คน โดยในจำนวนนี้จะมีแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามมากกว่า 4 แสนคนที่ไม่ได้ต่ออายุ ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการถูกจับกุมส่งกลับประเทศต้นทาง แสดงให้เห็นว่ามาตรการนี้เป็นการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติในระยะสั้นซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความชัดเจนในการตรวจสัญชาติแรงานข้ามชาติที่มีความสับสนในขั้นตอนการดำเนินการมีความล่าช้า ทำแรงงานไม่มีเอกสารในการแสดงตนเพื่อใช้สิทธิต่างๆได้

ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติกล่าวว่า ส่วนกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ การต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ ยังอยู่ภายใต้วังวนการเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากนายหน้าและเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน แม้รัฐบาลมาจะมีมาตรการที่เข้มงวดแต่ก็ยังมีช่องว่างใหนายหน้าเข้ามาแสวงหาประโยชน์ได้ และเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องคือเรื่องการค้ามนุษย์แรงงานในกิจการประมงทะเลซึ่งเป็นข้อท้าทายการในการแก้ไขปัญหามาก เพราไทยถูกจัดอันดับใน เทียร์ 3 และถูกเตือนจากอียูโดยการให้ใบเหลือง ซึ่งโดยภาพรวมในการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติถือว่ารัฐสอบตกไม่ผ่านมาตรฐาน ดังนั้นต้องเร่งปรับปรุงวิธีการในการแก้ไขปัญหาระยะยาว

 

โรฮิงญายังอพยพหลายระลอก แต่กระบวนการกฎหมายไทยยังสาวไม่ถึงผู้ค้ามนุษย์

ด้านนายนายศิววงศ์ สุขทวี ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวถึงสถานการณ์การค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาบังคลาเทศว่าในปีที่ผ่านมาว่า ยังคงมีชาวโรฮิงญาอพยพจำนวนมาก

โดยระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2558 มีชาวโรฮิงญา/บังคลาเทศเดินทางออกนอกประเทศประมาณ 25,000 คน และตั้งแต่ปี 2556 มีการอพยพมากกว่า 100,000 คน และในจำนวนนี้กว่า 1,100 คน ต้องเสียชีวิตกลางทะเล และการบังคับใช้กฎหมายของไทยที่ผ่านมายังเป็นปัญหา โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย ทั้งผู้ล้มเหลวในการคัดแยกผู้ที่หาย ไม่ได้ให้สัมภาษณ์หรือเก็บหลักฐานผู้เสียหายไม่เหมาะสม ทำให้เกิดผลกระทบต่อการพิจารณาดำเนินคดี อีกทั้งยังไม่สาวไปถึงขบวนการต้นตอได้ อีกทั้งไม่ให้ความสำคัญกับล่าม และไม่มีการคุ้มครองผู้ที่หาย ทำให้ไม่มีพยานในการดำเนินคดี สรุปแล้วจึงไม่สามารถฝากความหวังไว้ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ปัญหาได้

ส่วนการแก้ปัญหาการส่งผู้อพยพชาวอุยกูร์ ส่งประเทศต้นทาง เห็นได้ชัดว่า ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศชัดเจน เพราะผลักดันไปสู่ความไม่ปลอดภัย ไม่มีการคัดแยกผู้อพยพ ท้ายสุดผู้อพยพเหล่านี้ก็จะกลับเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์เหมือนเดิม ดังนั้นรัฐต้องแยกให้ชัดเจนว่า ผู้อพยพไม่ใช่อาชญากร ฉะนั้นจะปฏิบัติเหมือนอาชญากรไม่ได้

ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ยังได้กล่าวถึงกรณีการขอลี้ภัยของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาในพื้นที่ภาคใต้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับพล.ต.ต.ปวีณก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงแรงกดดันที่มีต่อชุดสืบสวนกว่า 6 เดือนผ่านมา ที่ไม่ได้มาจากขบวนการค้ามนุษย์เท่านั้น แม้ว่า พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์โรฮิงญาจะถูกจับกุมพร้อมกับพวกอีกเกือบร้อยคนแล้ว แต่สภาพแวดล้อมทางกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลไทยยังคงส่งเสริมให้ขบวนการค้ามนุษย์สามารถกลับเติบโตได้อีกครั้งในวันที่สังคมไทยไม่ได้สนใจ ติดตามตรวจสอบมากเพียงพอ

ส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในพื้นที่อันดาก็คือไม่เคยได้รับการตรวจสอบการทำงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4 ส่วนแยก 1 ที่เป็นหน่วยงานที่รับการดูแลป้องกันการลักลอบเข้ามาในประเทศทางทะเล การทำงานที่อยู่ภายใต้กองทัพ มีอำนาจเหนือพลเรือน และไม่ได้มีการตรวจสอบจากกระบวนยุติธรรมปกติทำให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสที่จะใช้อำนาจในการหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ผู้ต้องหาที่จับกุมได้อย่างน้อย 3 คน เป็นนายทหารของกองทัพบกที่สังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก1 ในจังหวัดระนอง ชุมพร และสตูล มีนายทหารเรือและนายตำรวจที่มาช่วยราชการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก 1 เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นปัญหาภายในของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนแยก 1 ที่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตสร้างเครือข่ายของตนผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเช่นนี้ และเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการปัญหาที่ถูกนำโดยทหารที่มีแนวคิดความมั่นคงแบบเก่าซึ่งล้มเหลวต่อการเผชิญกับปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นตลอดมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท