Skip to main content
sharethis

หารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐครั้งที่ 5 ทั้ง 2 ฝ่ายย้ำจุดยืนรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ และเสรีภาพในการสัญจรผ่านทะเลจีนใต้ สนับสนุนอาเซียน-จีน หาข้อสรุปสำหรับแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ ย้ำความร่วมมือทางทหารไทย-สหรัฐ หารือเรื่องการกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ให้ความสำคัญสิทธิมนุษยชน

อภิชาติ ชินวรรโณ (ซ้าย) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และ แดเนียล รัสเซล (ขวา) ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ด้านกิจการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แถลงข่าวหลังหารือยุทธศาสตร์ไทย-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 5 ที่กระทรวงการต่างประเทศ (ที่มา: เพจ U.S. Embassy Bangkok)

 

17 ธ.ค. 2558 - ตามที่ แดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก สหรัฐอเมริกา เดินทางเยือนประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 14-17 ธันวาคม 2558 และเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีการหารือยุทธศาสตร์ไทย – สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 5 (Strategic Dialogue)  ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยฝ่ายไทยมีนายอภิชาติ ชินวรรโณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และฝ่ายสหรัฐอเมริกา มีนายแดเนียล รัสเซล เป็นประธานการหารือร่วมกัน และมีนายดับเบิลยู แพทริค เมอร์ฟี อัครราชทูตที่ปรึกษาในประเทศไทย และนายกลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมด้วย

ทั้ง 2 ฝ่ายได้ออกถ้อยแถลงร่วมหลังการหารือมีรายละเอียดตามที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ดังนี้

000

ถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการหารือยุทธศาสตร์ ไทย-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 5

คณะผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของไทยและสหรัฐฯ ได้พบหารือกันเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ณ กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพฯ ภายใต้กรอบการหารือยุทธศาสตร์ ไทย-สหรัฐฯ ครั้งที่ 5 โดยมีนายอภิชาติ ชินวรรโณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย และนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาด้านกิจการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ ในฐานะพันธมิตรคู่สนธิสัญญาอันยาวนาน สหรัฐฯ และไทยได้เน้นย้ำพันธกิจร่วมในการเสริมสร้างความสงบสุข ความมั่นคง และความมั่งคั่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและของโลก

โดยตระหนักถึงบทบาทนำของไทยในภูมิภาค และการให้การสนับสนุนอันสำคัญยิ่งของสหรัฐฯ ต่อสันติภาพและเสถียรภาพ การหารือของสองฝ่ายครอบคลุมประเด็นที่หลากหลายทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชีย-แปซิฟิก และในกรอบอื่นๆ

สหรัฐฯ ยืนยันที่จะสนับสนุนความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงแนวทางการเพิ่มพูนความร่วมมือในกรอบภูมิภาคต่างๆ ซึ่งรวมถึงกรอบข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (LMI) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) และหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียน-สหรัฐฯ เพื่อรับมือกับสิ่งท้าทายต่าง ๆ และส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญของภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงบทบาทอันแข็งขันของไทยในกรอบข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และมุ่งมั่นกระชับความร่วมมือภายใต้กรอบนี้ในด้านการศึกษา พลังงาน สาธารณสุข วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม และการส่งเสริมบทบาทของสตรี คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำความสำคัญของการประสานงานด้านการให้ความช่วยเหลือในภูมิภาค และการสนับสนุน สปป.ลาว เป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ. 2559  คณะผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ แจ้งว่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา มีความยินดีที่จะให้การต้อนรับผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งสิบประเทศ รวมถึงประเทศไทย ณ การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษในช่วงต้นปี พ.ศ. 2559

ทั้งสองฝ่ายย้ำจุดยืนในการให้ความสำคัญต่อการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางทะเล และเสรีภาพในการเดินทางสัญจรซึ่งรวมถึงการบินผ่านทะเลจีนใต้ คณะผู้แทนทั้งสองฝ่ายรับทราบถึงความจำเป็นในการหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทางทหารในบริเวณพื้นที่ที่เป็นข้อพิพาท ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำที่จะสนับสนุนความพยายามอย่างต่อเนื่องของอาเซียนและจีนในการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้อย่างเต็มที่ และความพยายามที่จะหาข้อสรุปโดยเร็วสำหรับแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้

สำหรับประเด็นทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายยืนยันการเป็นพันธมิตรคู่สนธิสัญญาอันยาวนานและความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางการเพิ่มพูนและการขยายสาขาความร่วมมือด้านต่างๆ ซึ่งรวมถึงด้านการพัฒนากำลังคนในด้านสาธารณสุข การวิจัยทางการแพทย์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และแรงงานบังคับ ความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายและการฝึกอบรมโดยสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย (ILEA) และการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน

ทั้งสองฝ่ายยืนยันให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านการทหารระหว่างไทย-สหรัฐฯ และมุ่งหวังที่จะปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ ค.ศ. 2012 โดยการกระชับความร่วมมือด้านการให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การรักษาสันติภาพทั่วโลก การวิจัยด้านการแพทย์ทหาร และการมีปฏิสัมพันธ์ด้านการทหารอื่น ๆ ในการประชุมสุดยอดผู้นำด้านการรักษาสันติภาพซึ่งประธานาธิบดีโอบามาเป็นประธานการประชุมนั้น สหรัฐฯ ยินดีที่ไทยแสดงความจำนงที่จะสนับสนุนปฏิบัติการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในอนาคตโดยจะสนับสนุนด้านการพัฒนากิจการพลเรือนด้านวิศวกรรม และการส่งทีมแพทย์เข้าร่วมปฏิบัติการ ทั้งนี้ สหรัฐฯ มุ่งหวังที่จะดำเนินงานร่วมกับไทยอย่างต่อเนื่องเท่าที่จะเป็นไปได้ผ่านศูนย์ปฏิบัติการเพื่อสันติภาพของไทย ในการเสริมสร้างขีดความสามารถและการฝึกอบรมกองกำลังรักษาสันติภาพจากประเทศในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายมุ่งที่จะให้มีการหารือด้านยุทธศาสตร์กลาโหม (Defense Strategic Talk) ครั้งต่อไปในโอกาสแรก

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการขยายความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่ครอบคลุมรอบด้าน เพื่อสร้างเสริมประโยชน์ให้แก่ทั้งสองประเทศและแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดจนภูมิภาคอื่นๆ ในการนี้ ไทยและสหรัฐฯ เห็นชอบร่วมกันที่จะจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมภายใต้ความตกลงทวิภาคี ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขึ้นเป็นครั้งแรกในครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2559 ทั้งสองฝ่ายยังมุ่งหมายที่จะขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน และเห็นพ้องที่จะมีการหารือภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าและการลงทุน (TIFA) ในวงรอบต่อไปในโอกาสแรกของปี พ.ศ. 2559 สหรัฐฯ ยังตระหนักถึงบทบาทนำของไทยด้านสาธารณสุข โดยทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะร่วมกันตรวจตรา ป้องกัน และรับมือกับโรคติดต่อและสิ่งท้าทายด้านสาธารณสุขโดยผ่านกลไกทวิภาคีและพหุภาคี ทั้งสองฝ่ายรับทราบถึงการจัดทำแผนดำเนินการภายใต้ระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ของวาระความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่าย ยังเห็นพ้องที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกลไกการประสานงานทวิภาคีด้านสาธารณสุขระหว่างกัน

รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาและความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน-สู่-ประชาชน ทั้งนี้ สืบเนื่องจากแนวทางของประธานาธิบดีโอบามาที่ให้ความสำคัญต่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (สะเต็มศึกษา - STEM) นั้น ทั้งสองฝ่ายจึงได้หารือถึงความร่วมมือทวิภาคีเกี่ยวกับ เรื่องนี้ในอนาคตและการร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคด้านสะเต็มศึกษาในปี พ.ศ. 2559 รวมทั้งรัฐบาลของทั้งสองประเทศได้ให้คำมั่นต่อพันธสัญญาที่มีต่อกันภายใต้ข้อตกลงหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์ ไทย-สหรัฐฯ (Thai – US Creative Partnership) ในการกำหนดสาขาและกิจกรรมความร่วมมือใหม่ๆ ในกรอบนี้ ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือดังกล่าวได้ริเริ่มใน ค.ศ. 2010

โดยตระหนักถึงความพยายามและบทบาทของไทยในการจัดการสิ่งท้าทายต่าง ๆ ระดับโลก ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ การโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติและการค้ามนุษย์ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ การรักษาสันติภาพ และการต่อต้านการก่อการร้าย ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะมีการจัดประชุมสุดยอดว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ในปี 2559

ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองในประเทศไทยในปัจจุบันและความมุ่งมั่นของไทยในการปฏิรูปประเทศที่ครอบคลุมทุกด้าน รวมทั้งแนวทางการกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน ทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญของการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลและความร่วมมือด้านมนุษยธรรม

ทั้งสองฝ่ายมองไปในอนาคต และยินดีที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา รวมถึงแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันต่อไปในอนาคต ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าการหารือยุทธศาสตร์ ไทย-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 6 จะมีขึ้นที่สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net