Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์ขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวและน่าเศร้าจากทัณฑสถานแห่งหนึ่งในนิวยอร์กที่ขึ้นชื่อเรื่องการใช้กำลังข่มเหงผู้ต้องขังจนมีกรณีผู้ต้องขังเสียชีวิตหลังทะเลาะกับผู้คุม แต่ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งยังค้นพบว่ามีการพยายามร่วมกันปกปิดความผิดหลังจากที่นิวยอร์กไทมส์และองค์กรตรวจสอบทัณฑสถานพลิกแฟ้มสืบสวนคดีนี้อีกครั้ง

14 ธ.ค. 2558 สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์เลวร้ายในทัณฑสถานคลินตันในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาที่เจ้าหน้าที่เรือนจำใช้อำนาจตามอำเภอใจในการทุบตี ล้อเลียนเหยียดหยามนักโทษ และบางครั้งก็จับไปขังเดี่ยวเพื่อปกปิดร่องรอยการถูกทำร้ายรอจนแผลหายแล้วค่อยนำกลับไปขังรวมเช่นเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้คนอื่นสงสัย นอกจากนี้ยังมีบางกรณีที่ผู้ต้องขังเสียชีวิตอย่างปริศนา

นิวยอร์กไทมส์นำเสนอเรื่องราวความป่าเถื่อนและความอยุติธรรมในเรือนจำแห่งนี้ เช่นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปี 2553 กรณีของ เลโอนาร์ด สตริคแลนด์ ผู้ต้องขังที่มีอาการจิตเภทเคยโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่เรือนจำแล้วต่อมาก็พบว่าเขาเสียชีวิต โดยที่นิวยอร์กไทมส์ได้รับหลักฐานเป็นวิดีโอจากกล้องวงจรปิดแสดงให้เห็นว่าสตริคแลนด์ถูกเจ้าหน้าที่จับใส่กุญแจมือแล้วลากไปตามพื้นในสภาพแทบไม่ได้สติ พยาบาลที่อยู่ใกล้ๆ ได้แต่ยืนมองโดยไม่ได้ทำอะไร และแม้จะอยู่ในสภาพปางตายแต่เจ้าหน้าที่ก็ยังตะโกนสั่งให้เขา "เลิกขัดขืน"

รายงานของนิวยอร์กไทมส์อ้างอิงรายงานทางการแพทย์กรณีของสตริคแลนด์ว่าหลังจากที่รถพยาบาลไปถึงที่เกิดเหตุ สตริคแลนด์ก็เต็มไปด้วยบาดแผลและรอยฟกช้ำ ตัวเขาเย็นและมีเลือดไหลออกจากหู

กรณีของสตริคแลนด์เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของการใช้ความรุนแรงโหดร้ายของเจ้าหน้าที่เรือนจำแห่งรัฐนิวยอร์กซึ่งไม่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีและมีการนำเสนอเรื่องนี้ผ่านสื่อน้อยมาก เช่นกรณีของสตริคแลนด์ที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเพียงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

ฝ่ายกิจการภายในของกรมราชทัณฑ์นิวยอร์กยอมรับว่าหน่วยงานของพวกเขามีปัญหาความเสื่อมเสียในการปฏิบัติหน้าที่มานานแล้ว อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติงานของหน่วยงานนี้ก็กำลังจะถูกไต่สวนในข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคน นอกจากนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมายังมีกรณีที่ผู้ต้องขังฟ้องร้องกรณีถูกกระทำอย่างรุนแรงป่าเถื่อนจำนวนมาก แต่ก็ไม่มีกรณีใดเลยที่มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และในกรณีของสตริคแลนด์ตำรวจและพนักงานอัยการก็สรุปว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้กระทำความผิด

แต่องค์กรตรวจสอบทัณฑสถานในสหรัฐฯ หลายองค์กรรวมถึงสื่อนิวยอร์กไทมส์ก็พยายามสืบสวนสอบสวนคดีนี้ว่าเจ้าหน้าที่ในคดีของสตริคแลนด์ให้การเท็จและให้การแบบชวนไขว้เขวเป็นจำนวนมาก โดยทีมสื่อและองค์กรตรวจสอบอาศัยหลักฐานจากการสืบพยานผู้เกี่ยวข้องและหลักฐานจากวิดีโอที่ถ่ายช่วงเกิดเหตุไว้ นิวยอร์กไทมส์ระบุว่าความน่าเชื่อถือของคดีเช่นนี้มีความลึกลับซับซ้อนเพราะเจ้าหน้าที่มักจะโกหกเพื่อปกป้องตัวเองหรือปกป้องพวกเดียวกันเอง รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงพยายามปกป้องลูกน้องของตัวเองและทำเป็นไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

นอกจากประเด็นความรุนแรงทางกายภาพแล้วนิวยอร์กไทมส์ระบุอีกว่าทัณฑสถานคลินตันยังมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านสีผิว ในขณะที่เจ้าหน้าที่ 950 คนในทัณฑสถานแห่งนี้เป็นคนผิวขาวแทบทั้งสิ้น ผู้ต้องขังส่วนใหญ่กลับเป็นคนผิวดำที่เผชิญกับการถูกเหยียดสีผิวทางวาจาอยู่เป็นประจำ นอกจากกรณีของสตริคแลนด์แล้วนิวยอร์กไทมส์ยังยกตัวอย่างกรณีในปี 2551 ที่ผู้ต้องขังชื่อ แบรดลีย์ ซีซาร์ คนผิวดำผู้พิการด้านพัฒนาการ เผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่เรือนจำแล้วหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงก็พบว่าเขาเสียชีวิต

จากประวัติของผู้ต้องขังสองคนนี้ต่างก็ไม่เคยมีประวัติใช้ความรุนแรงมาก่อนและพวกเขาก็ไม่ได้ต้องโทษในคดีอุฉกรรจ์แต่ถูกลงโทษข้อหามีอาวุธในครอบครอง และจากปากคำของเจ้าหน้าที่เองก็ระบุว่าซีซาร์มีความประพฤติดีมาโดยตลอดในขณะที่อยู่ในทัณฑสถาน

ทางด้านสตริคแลนด์ถึงแม้ว่าจะมีพฤติกรรมแปลกๆ คาดเดาไม่ได้แต่ก็เพราะเป็นผลพวงจากโรคจิตเภท ในวันที่เกิดเหตุเขาทะเลาะกับผู้คุมหลังจากที่ถูกยึดกระจกพลาสติกขนาดพกพาไป แต่เรื่องราวหลังจากนี้มีการเล่าออกมาต่างกันมากระหว่างฝั่งผู้คุมและฝั่งพยานผู้ต้องขัง ฝั่งผู้คุมเล่าว่าสตริคแลนด์ทะเลาะกับเจ้าหน้าที่ชื่อเคซีย์ สตรอง ก่อนจะถูกจับไปขังที่ห้องขังด้านล่าง ซึ่งเจ้าหน้าที่สตรองมีประวัติการใช้กำลังรุนแรงกับผู้ต้องขังมาหลายครั้งแล้ว เจ้าหน้าที่สตรองให้การว่าสตริคแลนด์ชกเขาที่ไหล่ก่อนทำให้เขาป้องกันตัวเองด้วยการชกที่หน้าของสตริคแลนด์สองครั้งและที่หน้าอกอีกหนึ่งครั้ง จากนั้นก็โอบรัดตัวผู้ต้องขังก่อนจะเสียหลักตกบันไดไปด้วยกัน สตรองอ้างว่าเขาหยุดตัวเองได้ทันที่กลางบันไดในขณะที่สตริคแลนด์กลงไปจนถึงขั้นล่างสุด

ฝ่ายเจ้าหน้าที่เล่าต่อว่าหลังจากตกบันไดแล้วสตริคแลนด์ก็ลุกขึ้นสู้กับผู้คุมอีกคนหนึ่งชื่อคอรี ลิเบอตี ทำให้ลิเบอตีชกสตริคแลนด์ไปอีกหลายครั้งในขณะที่สตรองใช้กระบองตีนักโทษที่ขาและหลังไปอีกหลายครั้งก่อนที่จะมีการเรียกผู้คุมคนอื่นมาช่วยกระทำในสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าเป็น "การต่อสู้ดิ้นรนอย่างรุนแรง" จนกระทั่งผู้คุมจับเขากดลงกับพื้นไว้ได้ พวกเขาอ้างว่าในเวลานั้นสตริคแลนด์ไม่มีอาการบาดเจ็บใดๆ ให้เห็นและไม่ได้ร้องแสดงออกว่าเจ็บเลย

แต่ทางนิวยอร์กไทมส์ก็สัมภาษณ์ผู้ต้องขังคนอื่นๆ ได้ความว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้โกหก ผู้ต้องขังที่เห็นเหตุการณ์ 3 คนบอกว่าสตริคแลนด์ถูกผลักตกบันได ไม่ได้พลัดตกไปเอง พวกเขาเห็นว่าเจ้าหน้าที่หลายคนทุบตีสตริคแลนด์ ลากเขาออกไปขณะที่เขากรีดร้องและในเวลาต่อมาก็พบว่าเขานอนบาดเจ็บสาหัสอยู่ที่พื้น ถึงแม้ว่าผู้ต้องขังรายอื่นๆ จะเล่ารายละเอียดต่างกันเล็กน้อยแต่จุดที่พยานรายอื่นๆ เล่าเหมือนกันหมดคือนักโทษสตริคแลนด์ถูกผลักตกบันไดแล้วถูกทุบตีจนปางตาย นอกจากนี้หลักฐานทางวิดีโอยังแสดงให้เห็นเหตุการณ์ไม่ตรงกับคำให้การของเจ้าหน้าที่เพราะสตริคแลนด์ไม่ได้มีท่าทีขัดขืนเจ้าหน้าที่เลย อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงรอยช้ำบนตัวเขาด้วย

นอกจากนี้นิวยอร์กไทมส์ยังนำเสนอหลักฐานอื่นๆ ในคดีสตริคแลนด์เช่นหลักฐานทางการแพทย์ หรือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่พยาบาลในเรือนจำไม่ได้ช่วยผู้ต้องขังเลย ขณะที่รายงานจากรถพยาบาลฉุกเฉินระบุถึงอาการบาดเจ็บในหลายแห่งรวมถึงมีรอยที่บ่งบอกว่ามีอะไรบางอย่างรัดคอเขาก่อนหน้านี้ ส่วนผลการชันสูตรออกมาว่าเขาเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจหยุดทำงานเพราะขาดออกซิเจน

แต่ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมในคดีสตริคแลนด์ยังคงลอยนวลไม่ได้รับผิดเรื่องนี้ก็ทำให้คณะกรรมการตัวแทนผู้ต้องขังนำเรื่องความรุนแรงโหดร้ายของผู้คุมและกรณีของสตริคแลนด์มาเป็นประเด็นหลักในการประชุมกับทีมงานจัดการเรือนจำ โดยเรียกร้องให้มีการสืบสวนในเรื่องนี้ และให้นำผลชันสูตรเผยแพร่แก่คณะกรรมการตัวแทนผู้ต้องขัง แม้ว่าจะมีการรับปากจากเจ้าหน้าที่แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆ และความรุนแรงในทัณฑสถานยังคงดำเนินต่อไปหลักจากนั้น

นิวยอร์กไทมส์ระบุว่าหลังกรณีของสตริคแลนด์เจ้าหน้าที่ซึ่งเคยก่อคดีนี้ก็ถูกฟ้องร้องจากผู้ต้องขังรายอื่นๆ ในเรื่องการใช้ความรุนแรง แต่ก็ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะไม่ได้ทำให้คดีคืบหน้าต่อมากกว่านั้น ทางด้านมารดาของสตริคแลนด์ อายุ 70 ปี ผู้เคยเดินทางด้วยรถประจำทาง 6 ชั่วโมงไปเยี่ยมลูกตัวเองทุกเดือนก็พยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ทางการถึงรายละเอียดการตายของลูกชายเขาแต่ก็ไม่ได้ข้อมูลใดๆ มีแต่ข้ออ้างที่ว่า "เรื่องนี้กำลังอยู่ในระหว่างสืบสวน"


เรียบเรียงจาก

An Inmate Dies, and No One Is Punished,  MICHAEL WINERIP and MICHAEL SCHWIRTZ, New York Times, 13-12-2015
http://www.nytimes.com/2015/12/14/nyregion/clinton-correctional-facility-inmate-brutality.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net