จ้างงาน 5 อุตสาหกรรมหลัก ต.ค. 58 'อิเล็ก-ยานยนต์' เลิกจ้างสูงสุดตั้งแต่ ต.ค. 57

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงานเผยสถิติจ้างงาน 5 อุตสาหกรรมหลักเดือนตุลาคม 2558 พบอิเล็กทรอนิกส์เลิกจ้าง 2,664 คน ยานยนต์เลิกจ้าง 443 คน สูงสุดตั้งแต่ ต.ค. 2557

ศูนย์ข้อมูลเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานวิเคราะห์ข้อมูลการจ้างงาน [1] การเลิกจ้าง [2] และการว่างงาน [3] ของแรงงานในระบบประกันสังคม จำแนก 5 รายอุตสาหกรรม ณ เดือนกันยายน 2558 ซึ่งเป็นประเภทกิจการที่มีความสำคัญต่อการส่งออก หรือมีการจ้างงานในสัดส่วนที่สูง มีสถานะดังนี้

1. สิ่งทอ การจ้างงานชะลอตัวร้อยละ -3.29 , การว่างงานชะลอตัวร้อยละ -11.15, การเลิกจ้างชะลอตัวร้อยละ -33.02

2. เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 2.06 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 48.97 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 164.55

3. เครื่องใช้ไฟฟ้า การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 5.55 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 12.11 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 67.65

4. ยานยนต์ การจ้างงานชะลอตัวร้อยละ -2.90 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 20.68 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 143.41

5. เครื่องประดับ การจ้างงานขยายตัวร้อยละ 2.06 , การว่างงานขยายตัวร้อยละ 18.75 , การเลิกจ้างขยายตัวร้อยละ 42.67

อุตสาหกรรมสิ่งทอ มีการจ้างงาน จำนวน 157,414 คน ผู้ว่างงานจำนวน 2,025 คน ผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 712 คน จากข้อมูล ณ ตุลาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (กันยายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมสิ่งทอมีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -0.52 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการชะลอตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ -3.29 กลุ่มสิ่งทอที่ผลิตสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศจะกระเตื้องขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คาดว่า จะหดตัวจากผลิตภัณฑ์ผ้าผืนเนื่องจากมีการพัฒนาการผลิตกลุ่มต้นน้ำและกลางน้ำในเวียดนาม ทำให้ความต้องการผ้าผืนจากไทยลดลง

โดยผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 27.37 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) มีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ -33.02 ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และ ผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ 2.84 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) มีอัตราการชะลอตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ -11.15

การเลิกจ้างในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สูงสุดในรอบปี ตั้งแต่เดือน ต.ค. 57

อุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ มีการจ้างงานจำนวน 415,028 คน ผู้ว่างงานจำนวน 6,486 คน ผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 2,664 คน จากข้อมูล ณ ตุลาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (กันยายน 2558) พบว่าการจ้างงานในอุตสาหกรรมเครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -1.04 แต่เมื่อเทียบข้อมูลเดือนเดียวกันกับปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 2.06 เนื่องจากทุกตลาดส่งออกที่สำคัญของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีการฟื้นตัว ยกเว้น ตลาดอาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่ยังคงปรับตัวลดลง โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นในสินค้าเครื่องส่ง-เครื่องรับวิทยุโทรเลข วิทยุโทรศัพท์ วงจรพิมพ์ และไดโอด ทรานซิสเตอร์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ

ทั้งนี้ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 9.63 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 164.55 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 1.39 และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ตุลาคม 2558) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 48.97

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีการจ้างงานจำนวน 118,022 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 1,259 คน ผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 228 คน จากข้อมูล ณ ตุลาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (กันยายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 1.35 และเมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 5.55 เนื่องจากมีการผลิตสินค้าไฟฟ้า ประเภทเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต, กระติกน้ำร้อน และสายไฟฟ้า ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -40.00 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 67.65 ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ -19.60 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 12.11 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9

การเลิกจ้างในอุตสาหกรรมยานยนต์สูงสุดในรอบปี ตั้งแต่เดือน ต.ค. 57

อุตสาหกรรมยานยนต์ มีการจ้างงานจำนวน 236,527 คน ผู้ว่างงานจำนวน 2,953 คน ผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 443 คน จากข้อมูล ณ ตุลาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (กันยายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมยานยนต์มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -0.19 และเมื่อเทียบข้อมูลเดียวกันกับปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการชะลอตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ -2.90 เป็นการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 เนื่องจากการจ้างงานอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยังคงชะลอตัว ต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการภายในประเทศยังคงชะลอตัว และมีแนวโน้มที่ทรงตัว ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ปรับลดจำนวนการผลิตลง รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนสายการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกัน แต่ไม่มีการหยุดสายการผลิตและลดกะการทำงานของพนักงาน สำหรับปริมาณการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนขยายตัว จากการส่งออกไปยัง ออสเตรเลีย สหรัฐ และยุโรป

ทั้งนี้ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ 51.71 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 143.41 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2558 มีอัตราการขยายตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ 1.58 และเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 20.68

อุตสาหกรรมเครื่องประดับ มีการจ้างงานจำนวน 72,003 คน มีผู้ว่างงานจำนวน 1,349 คน มีผู้ที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 535 คน จากข้อมูล ณ ตุลาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว (กันยายน 2558) พบว่า การจ้างงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับมีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ -0.66 แต่เมื่อเทียบกับ เดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) พบว่า การจ้างงานมีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 2.06 เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ ส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดีไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น อาเซียน ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก และจีน ผู้มีกำลังซื้อในกลุ่มประเทศดังกล่าวยังคงมีความต้องการบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในบางกลุ่มประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ยังคงเปราะบางอยู่ก็ตาม

ทั้งนี้ผู้ว่างงานกรณีถูกเลิกจ้าง เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็นร้อยละ (-12.87) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) มีอัตราการขยายตัวเช่นเดียวกัน (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 42.67 และผู้ว่างงานทั้งหมด เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2558 มีอัตราการชะลอตัว (%MoM) คิดเป็น ร้อยละ (-7.86) และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว (ตุลาคม 2557) มีอัตราการขยายตัว (%YoY) คิดเป็นร้อยละ 18.75

 

_______

[1] การจ้างงาน = ผู้ประกันตน มาตรา 33 ในระบบประกันสังคม

[2] การเลิกจ้าง = ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ประเภทเลิกจ้าง (R3) ในระบบประกันสังคม

[3] การว่างงาน = ผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานทั้งหมด (R1-R3) ในระบบประกันสังคมประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ ลาออก (R1) สิ้นสุดสัญญาจ้าง (R2) และเลิกจ้าง (R3)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท