Skip to main content
sharethis

10 ธ.ค.  2558 มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล เรียกร้องให้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญยึดถือหลักการประชาธิปไตย หลักสันติธรรม หลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยเนื้อหาในรัฐธรรมนูญต้องมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ ต้องยึดโยงกับอำนาจของประชาชน คณะรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง และ อำนาจตุลาการต้องยึดโยงกับประชาชนมากกว่าที่ผ่านมา มีการบัญญัติหลักการสันติธรรม หลักการสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน

มูลนิธิวีรชนฯ ยังเรียกร้องให้ คสช. และ รัฐบาล เปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จึงจะทำให้เกิดการปฏิรูปและการปรองดองอย่างแท้จริง และเกิดความมั่นใจว่าประเทศของเราจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อย

รายละเอียดแถลงการณ์ :

แถลงการณ์

เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม 2558

สิทธิมนุษยชน: พื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตยและการปฏิรูปประเทศ

 

วันที่ 10 ธันวาคม นอกจากจะเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก[1]ของไทยแล้วสหประชาชาติยังกำหนดให้เป็นวันสิทธิมนุษยชนของโลกด้วย ในโอกาสครบรอบ 69 ปี ของวันสิทธิมนุษยชนโลก มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยในฐานะมูลนิธิฯที่ก่อเกิดจากการเสียสละชีวิตของวีรชนในเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 มีความเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปประเทศให้ประสบความสำเร็จไม่อาจเกิดขึ้นได้ภายใต้บรรยากาศที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพไม่มีการปกป้องสิทธิมนุษยชน  มีแต่การมีส่วนร่วมของคนจากทุกภาคส่วนเท่านั้นที่จะทำให้ความปรองดองและการปฏิรูปเดินหน้าไปได้เพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของปัจเจกชนทุกหนแห่งทั่วโลก ไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบไหนภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงซึ่งทำให้ผู้คนประจักษ์ถึงการเข่นฆ่ามนุษย์ลงเป็นจำนวนนับล้านๆคน โดยสิทธิมนุษยชนต้องครอบคลุมสิทธิพื้นฐาน 5ประเภทคือ สิทธิพลเมือง(Civil Right) สิทธิทางการเมือง(Political Right) สิทธิทางสังคม(Social Right) สิทธิทางเศรษฐกิจ(Economic Right) และสิทธิทางวัฒนธรรมและศาสนา(Cultural Right)

 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ในการวางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับแรกของโลก  กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับในปัจจุบันล้วนมีพื้นฐานและได้รับการพัฒนามาจากปฏิญญาสากลทั้งสิ้น  และกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนากฎหมายภายในประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศของตนอย่างมีอารยะ  ประชาคมโลกจึงตระหนักถึงความสำคัญของปฏิญญาสากลในฐานะแม่บทของสิทธิมนุษยชนจนได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ซึ่งมีข้อความสำคัญ ได้แก่มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในเกียรติศักดิ์และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรมและควรปฏิบัติต่อกันด้วยเจตนารมณ์แห่งภราดรภาพ  ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพบรรดาที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้โดยปราศจากความแตกต่างไม่ว่าชนิดใดๆ ดังเช่น เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือ เผ่าพันธุ์แห่งชาติ หรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือกระทั่งสถานะอื่นๆ

คนทุกคนล้วนมีสิทธิในการดำรงชีวิต เสรีภาพและความมั่นคงแห่งตัวตน  บุคคลใดๆจะถูกทรมานหรือได้รับผลปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้า ยผิดนุษยธรรมหรือต่ำช้าไม่ได้  ทุกคนย่อมเสมอกันตามกฎหมาย และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใดๆ  บุคคลใดจะถูกจับกุมกักขังหรือเนรเทศไปต่างถิ่นโดยพละการไม่ได้  ทุกคนมีสิทธิโดยเสมอภาคเต็มที่ในอันที่จะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและเที่ยงธรรม ในการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและการกระทำผิดอาชญาใดๆที่ตนถูกกล่าวหา

ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดทางอาชญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีผิดตามกฎหมายในการพิจารณาอย่างเปิดเผย ซึ่งตนได้รับหลักประกันบรรดาที่จำเป็นสำหรับการต่อสู้คดี  บุคคลใดๆจะถูกแทรกสอดโดยพลการในความเป็นอยู่ส่วนตัว ในครอบครัว ในเคหสถาน หรือในการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่ในเกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้  ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายต่อการแทรกสอดหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น  ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนไหวและสถานที่อยู่ภายในเขตของแต่ละรัฐ ทุกคนมีสิทธิที่จะออกจากประเทศใดๆไป  รวมทั้งประเทศของตนเองด้วย  และที่จะกลับยังประเทศตน

ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนในรัฐบาลของประเทศตน  จะเป็นโดยตรงหรือโดยการผ่านทางผู้แทนซึ่งได้เลือกตั้งโดยอิสระ เจตจำนงของประชาชนจะต้องเป็นมูลฐานแห่งอำนาจของรัฐบาล เจตจำนงนี้จะต้องแสดงออกทางการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาและอย่างแท้จริงซึ่งอาศัยการออกเสียงกันอย่างทั่วไปและเสมอภาคและการลงคะแนนลับหรือวิธีการลงคะแนนโดยอิสระอย่างอื่นทำนองเดียวกัน

ดังนั้น....ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน การเลือกตั้ง ความเป็นธรรม ภราดรภาพ สันติภาพ การปฏิรูปประเทศ การต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ความรุ่งเรืองก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของประชาชนปัจจัยทั้งหมดนี้จะส่งเสริมซึ่งกันและกัน และต้องพัฒนาร่วมกันไปโดยไม่อาจขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้

“ประชาธิปไตย” มีลักษณะเป็นองค์รวมไม่แยกส่วน ประชาธิปไตยสมบูรณ์จึงประกอบไปด้วยประชาธิปไตยทางการเมืองการปกครอง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม

การพัฒนาให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ต้องพัฒนาประชาธิปไตยแบบบูรณาการจะพัฒนาเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เช่นเดียวกับการจะปฏิรูปประเทศของเราจะมีสิทธิเสรีภาพ มีสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย อำนาจของประชาชนในการกำหนดรัฐบาลและการเลือกตั้งจะต้องกลับคืนมาโดยเร็วเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชนไทยทั้งมวล

ทางมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตยขอเรียกร้องให้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญยึดถือหลักการประชาธิปไตย หลักสันติธรรม หลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยเนื้อหาในรัฐธรรมนูญต้องมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจตุลาการ ต้องยึดโยงกับอำนาจของประชาชน คณะรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง และ อำนาจตุลาการต้องยึดโยงกับประชาชนมากกว่าที่ผ่านมา มีการบัญญัติหลักการสันติธรรม หลักการสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ คสช. และ รัฐบาล ต้องเปิดให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จึจะงทำให้เกิดการปฏิรูปและการปรองดองอย่างแท้จริง และเกิดความมั่นใจว่าประเทศของเราจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตยด้วยความเรียบร้อย

ด้วยความเชื่อมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักสันติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนสากล

 

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ

ประธานมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย




[1]รัฐธรรมนูญฉบับแรกภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายม พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎรเพียง 3 วันโดยมาตราแรกของรัฐธรรมนูญฉบับแรก ระบุว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net