ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบน-บ้านใจแผ่นดิน สุดทน แจ้ง กสม. ยันกลับถิ่นที่อยู่เดิม

8 ธ.ค.2558 จากกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้มีการอพยพ ขับไล่ เผาบ้าน เผายุ้งข้าว ของชาวบ้านกะเหรี่ง โดยตั้งแต่ปี 2539 ได้มีเจ้าหน้าทึ่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้นไปบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน บอกว่าต้องลงมาอยู่ข้างล่าง โดยอ้างว่าป่าไม้ ต้นน้ำจะถูกทำลาย และได้จัดสรรที่ดินทำกินไว้ให้ให้ชาวบ้านครอบครัวละ 3-7 ไร่ และจะช่วยเหลือเรื่องอาหารการกิน 3 ปี  เวลานั้นมีชาวบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินลงมาทั้งหมด 57  ครอบครัว แต่ก็ไม่สามารถจัดสรรที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านที่ถูกอพยพลงมาได้ทั้งหมด และที่ดินบางแห่งที่เจ้าหน้าที่จัดสรรให้ ก็ไม่สามารถทำกินได้ เนื่ิองจากพื้นที่เป็นเขา และพื้นดินมีแต่หิน ทำให้ชาวบ้านบางส่วนต้องกลับไปทำมาหากินยังบ้านบางกลอยบน ต่อมาปี 2540 การผลักดันของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่ชาติแก่งกระจานก็หนักขึ้นเรื่อยๆ โดยพยายามให้ชาวบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ลงมาอยู่ที่บ้านบางกลอยและบ้านโป่งลึก หากครอบครัวไหนไม่ลงมาก็ให้ไปอยู่ฝั่งประเทศพม่า จนกระทั่งปี 2553 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้มีโครงการอพยพ ชาวบ้านจากบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ ได้มีการไล่เผาบ้าน เผายุ้งข้าว ทำลายความเชื่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรม จนนำไปสู่การร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน

จนกระทั่งในวันนี้ ( 8 ธ.ค. 2558 ) ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน จำนวน 84 ราย นำโดยปู่คออิ มีมิ ซึ่งมีอายุ 104 ปี ได้ทำหนังสือร้องแจ้งต่อประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  เพื่อยืนยันที่จะกลับขึ้นไปอยู่อาศัยและทำกินยังบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เคยมีการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าว และทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2557 โดยมีความเห็นว่า การอยู่อาศัยของราษฏรชาวกะเหรี่ยงบริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน มีลักษณะเป็นสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เนื่องจากได้อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเขตอุทยานแแห่งชาติแก่งกระจาน มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นที่ตั้งบ้านเรือนและใช้เป็นที่ทำกินหรือพื้นที่ทางการเกษตร มีวิถีการดำรงชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมมาเป็นระยะเวลานาน มีลักษณะการตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งย่อมจะต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐและมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินพิพาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง

นอกจากนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้มีการกำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหาและป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ

1. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สมควรแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในประเด็นการเข้าผลักดัน รื้อถอน และการเผาทำลายทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน และสมควรยุติการดำเนินการจับกุม ข่มขู่คุกคาม ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 53  เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และผ่อนผันให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวกลับเข้าไปทำกินในที่ดินเดิมทันที จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ

2. ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินทำกินของกลุ่มชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันี่ 30 มิ.ย. 41 เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

3. ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเยียวยา ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแกชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับความเสียหายจากการเข้ารื้อถอน เผาทำลายทรัพย์สินของผู้ถูกร้อง ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

4. ให้กระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 53  เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและตัวแทนของชาวกะเหรี่ยง ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

5. ให้กรมการปกครองโดยอำเภอแก่งกระจานจจัดทำโครงการเคลื่อนที่เร่งรัดการสำรวจและให้สัญชาติไทยแก่กะเหรี่ยงกลุ่มนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน

แต่ผ่านมากว่าหนึ่งปี แล้ว ชาวบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ยังไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานของรัฐแต่อย่างใด จึงได้มีการทำหนังสือเพื่อยื่นต่อประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแแห่งชาติ อีกครั้ง เพื่อแจ้งการกลับขึ้นไปอยู่อาศัยและทำกิน ยังบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินดังเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท