Skip to main content
sharethis

8 ธ.ค.2558 พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ออกแถลงการณ์ 3 ข้อกรณีนายอับดุลลายิ ดอเลาะ ผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา สรุปได้ดังนี้

1.แม่ทัพภาคที่ 4 สั่ง กอ.รมน.จ.ปัตตานี ตั้งคณะกรรมการอิสระที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ประกอบด้วย ผู้แทนจากองค์กรภาครัฐ องค์กรทางศาสนา องค์กรภาคประชาสังคมและผู้แทนของญาติผู้เสียชีวิต เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อกรณีดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน โดยให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการตรวจสอบ

2.แม่ทัพภาคที่ 4 กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการตั้งแต่ขั้นชันสูตรที่เกิดเหตุ โดยเชิญประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ผู้นำศาสนา ภาคประชาสังคม ภรรยาและญาติผู้เสียชีวิต ร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

“ผลการตรวจพิสูจน์ในเบื้องต้นไม่พบร่องรอยการต่อสู้หรือถูกทำร้าย และไม่พบความผิดปกติทางร่างกายแต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจพิสูจน์ในเบื้องต้น โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ตรวจพิสูจน์ศพแล้วในวันเดียวกัน ผลการตรวจพิสูจน์จะใช้เวลาประมาณ 7 วัน จะชี้แจงให้ทราบในโอกาสต่อไป”

3.กอ.รมน.ภาค 4 สน.ระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อแขนงต่างๆ ที่เป็นไปในลักษณะการชี้นำทางความคิด บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและสับสน ทั้งนี้จะรอนำรายละเอียดผลการตรวจพิสูจน์จากทีมแพทย์ผู้เชียวชาญและผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงมาชี้แจงให้สังคมได้รับทราบโดยด่วนต่อไป

ประชาสังคมเพื่อสันติภาพจี้ตั้งกรรมการอิสระหาความจริง

ก่อนหน้านี้วันที่ 7 ธ.ค. 2558 เครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) ออกแถลงการณ์ในกรณีเดียวกันนี้ว่า เพื่อไม่ให้เหตุการณ์นี้กระทบต่อบรรยากาศการสร้างสันติภาพในพื้นที่ คปส.มีความเห็นสรุปได้ดังนี้

1.รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางการคลี่คลายข้อกังขาของสังคมจากญาติและองค์กรประชาสังคมที่ญาติไว้ใจ 2.หากรัฐเห็นจะตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อแสวงหาความจริงก็ต้องมีรูปแบบจากผลการรับฟังความเห็นตามข้อแรก 3.ก่อนจะมีข้อสรุปใดๆออกมา รัฐต้องดำเนินการตามข้อแรกให้ลุล่วงเสียก่อน

แถลงการณ์ระบุโดยสรุปอีกว่า คปส.ได้ถอดบทเรียนจากคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายกรณีที่ผ่านมา พบว่าชาวบ้านและสังคมไม่ไว้ใจ ทำให้ไม่ยอมรับผลที่ออกมา สาเหตุหลักเพราะที่มาของคณะกรรมการไม่ยึดโยงกับชาวบ้านและสังคมตั้งแต่แรก เมื่อสังคมไม่ยอมรับก็ส่งผลให้เกิดกระแสไม่ไว้ใจรัฐ เมื่อสังคมไม่ไว้ใจรัฐก็ส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพหรือสันติสนทนาโดยปริยาย

ศอ.บต.รุดเก็บข้อมูลจะเยียวยา

ก่อนหน้านี้ วันที่ 6 ธ.ค. 2558 มีเจ้าหน้าที่เยียวยาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เดินทางไปที่บ้านของนายอับดุลลายิ ดอเลาะ ที่ ต.คอลอตันหยง อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เชิญนางกูรอสเมาะ ตูแวบือซา ภรรยานายอับดุลลายิ ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อขอใบรับรองสถานภาพการเป็นผู้ถูกควบคุมตัวจากเจ้าหน้าที่คุมตัว และเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาการช่วยเหลือเยียวยา รวมทั้งนำทรัพย์สินของสามีกลับมาด้วย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังพาไปดูห้องควบคุมตัวที่พบศพนายอับดุลลายิ และพูดคุยกับผู้ถูกควบคุมตัวที่อยู่ให้ห้องข้างๆด้วย

นางกูรอสเมาะ กล่าวว่า วันที่สามีถูกควบคุมตัวคือวันที่ 11 พ.ย. 2558 นั้นเจ้าหน้าที่ได้ยึดโทรศัพท์มือถือไปด้วย แต่เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวที่ค่ายอิงยุทธบริหารบอกว่าไม่มี จึงไม่ได้คืนกลับมา และรู้สึกแปลกใจที่ ศอ.บต.เข้ามาดำเนินการทันที ทั้งที่โดยปกติผู้ได้รับผลกระทบต้องไปร้องเรียนที่ศอ.บต.ก่อน

กูรอสเมาะ ตูแวบือซา ภรรยานายอับดุลลายิ

ภรรยาเผยความผิดปกติก่อนสามีตาย

นางกูรอสเมาะ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสามีว่า ทหารมาควบคุมตัวสามีวันที่ 11 พ.ย. 2558 ต่อมาเสียชีวิตในวันที่ 4 ธ.ค. 2558 รวม 24 วัน และได้ไปดูศพเวลาประมาณ 10 โมงเช้า โดยเจ้าหน้าที่บอกว่ายังไม่ได้เคลื่อนย้ายศพแต่อย่างใด

“ดิฉันรู้สึกว่าการเสียชีวิตของสามีผิดปกติ เนื่องจากสภาพศพที่ดิฉันไปดูนั้น ร่างของสามีนอนหงายบนพรมรองละหมาดในลักษณะเฉียงๆ แต่พรมยังอยู่ในสภาพดี ไม่ยับยู่ยี่ ศพยังอยู่ในชุดละหมาด มีคัมภีร์อัลกุรอานเล่มหนึ่งตกอยู่ข้างๆศพ และมีหมอน 2 ใบอยู่ข้างๆศพ ส่วนศพนั้นแข็งตัวแล้วน่าจะเสียชีวิตประมาณ 12 ชั่วโมง แต่เจ้าหน้าบอกว่าเสียชีวิตหลังจากละหมาดตอนเช้าเวลาประมาณ 05.00 น.”

นางกูรอสเมาะ เล่าต่อไปว่า ที่มือขวาของศพมีสีคล้ำซึ่งต่างจากส่วนอื่นที่มีสีซีด และมีรอยจุดเลือดบริเวณสีข้างด้านขวา ซึ่งแพทย์โรงพยาบาลหนองจิกถามว่า สามีเคยผ่าตัดหรือไม่ ซึ่งตนตอบว่า ตลอดระยะเวลาที่อยู่กับสามี 16 ปี สามีไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเลย เป็นคนแข็งแรง ถ้าไปโรงพยาบาลเพียงแค่ทานยาเท่านั้น

“ก่อนสามีเสียชีวิตเพียง 2 วัน คือวันที่ 2 พฤศจิกายน ดิฉันไปเยี่ยมสามีที่ค่ายอิงคยุทธฯ สามีบอกว่ารู้สึกเหนื่อยและรู้สึกกลัว แต่เขาบอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงหรอกดูแลตัวเองได้ ดิฉันก็ถามต่อไปว่า ปกติเจ้าหน้าที่จะสอบสวนช่วงไหน สามีตอบว่าส่วนใหญ่ตี 1 ตี 2”

เคยถูกค้นบ้านมาแล้ว 3 ครั้ง และติดใจการตาย

เธอเล่าว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทหารมาตรวจค้นบ้านถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ควบคุมตัวใคร ครั้งสุดท้ายที่สามีถูกควบคุมตัวไปนั้น เจ้าหน้าที่บอกว่าสามีถูกซักทอดจากการซักถามผู้ต้องสงสัยคนหนึ่ง ซึ่งหลังถูกควบคุมตัว เธอก็ได้ไปร้องเรียนที่ศูนย์ทนายความมุสลิมจังหวัดปัตตานีแล้ว เมื่อสามีเสียชีวิตในค่ายทหาร ทางศูนย์ทนายความมุสลิมก็รับทราบเรื่องนี้แล้ว เนื่องจากวันที่ไปดูศพก็มีเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความมุสลิมเข้าไปดูด้วย

สามีมีอาชีพรับจ้างทั่วไป รวมทั้งกรีดยางและทำนาด้วย โดยมีรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง 1 คัน ดิฉันมั่นใจว่า สามีไม่มีส่วนเกี่ยวกับใดๆกับการก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่แน่นอน

ปกติสามีชอบอ่านคัมภีร์อัลกุรอานทุกวัน เช้า เที่ยง เย็น ทุกวันอาทิตย์ถึงวันพฤหัสบดีก็ไปเรียนอัลกุรอานที่บ้านโต๊ะครูในหมู่บ้านด้วย

ดิฉันกับสามีมีลูก 4 คน และรับเลี้ยงเด็กกำพร้าอีก 1 คน เมื่อสามีเสียชีวิตลูกทุกคนก็กลายเป็นเด็กกำพร้า หลังจากเสียพ่อไปแล้ว ดิฉันก็บอกว่ากับลูกๆว่า ต้องเป็นเด็กดี หากเป็นคนไม่ดีจะทำให้แม่ยิ่งลำบากมากขึ้น ลูกทุกคนก็สัญญาว่าจะเป็นคนดี

มีคืนหนึ่งขณะทำบุญเลี้ยงชาวบ้าน (อารวะฮุ) ดิฉันไม่เห็นลูกชายคนเล็ก จึงมองไปรอบๆบ้านแล้วได้ยินเขานั่งร้องไห้เรียกอาเยาะ(พ่อ)อยู่ เขาคิดถึงพ่อมากเพราะติดพ่อ และพ่อมักพาไปไหนด้วยกัน โดยเฉพาะเวลาไปละหมาดที่มัสยิด

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรก็เห็นการณ์ที่เกิดขึ้น เธอเงียบ ก่อนจะบอกสั้นๆว่า ก็ต้องสู้คดี เพราะเชื่อว่าเป็นการตายที่ผิดปกติ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net