บวร: บ้าน, วัด, โรงเรียน สังคมแห่งการเกื้อกูล?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“วัดจะดีมีหลักฐานเพราะบ้านช่วย บ้านจะสวยเพราะมีวัดดัดนิสัย บ้านกับวัดผลัดกันช่วยก็อวยชัย ถ้าขัดกันก็บรรลัยทั้งสองทาง” สุภาษิตนี้ เรามักจะเห็นกันเมื่อไปวัดวาอารามต่างๆ เพื่อบ่งบอกให้รู้ว่าบ้านและวัดขาดกันไม่ได้เลย นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนที่เข้ามามีบทบาทในสองหน่วยหลักทางสังคมเพิ่มอีกหนึ่ง คำว่า “บวร” จึงไม่ได้มีความหมายตามพจนานุกรมไทยที่แปลว่า ประเสริฐ, ล้ำเลิศ เท่านั้น แต่มันมีที่มาจาก

บ คือ บ้าน บ้านที่มีชาวบ้าน มีคนอาศัยอยู่ผู้ที่จะสืบสานวัฒนธรรม ศาสนา และซึมซับคำสอนจากพระสงฆ์ เป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุนให้พระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนยาวนานอย่างถึงแก่นแท้

ว คือ วัด วัดที่มีพระสงฆ์ ผู้ที่อาสาจะละกิเลสทางโลกมาศึกษาพระธรรม เพื่อเผยแผ่หลักพุทธศาสนาให้ชาวบ้านได้เข้าใจถึงการดำรงชีวิตอย่างสงบ เป็นสุข

ร คือ โรงเรียน เดิมทีแหล่งที่ประสิทธิประสาทวิชาความรู้นั้นคือวัด ต่อมาได้แยกออกมาเป็นโรงเรียนที่เป็นสถานให้การศึกษาโดยตรงต่อทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งปัจจุบันยังมีโรงเรียนอีกหลายแห่งที่ยังมีชื่อวัดเป็นชื่อโรงเรียนอยู่

ฉะนั้นคำว่า “บวร” จึงไม่ใช่เพียงคำประกอบที่ใช้เรียกสถานที่ต่างๆ เท่านั้นมันมีที่มาถึงสังคมที่เกื้อกูล ส่งเสริม ช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันในวงเวียนสังคมนั้นๆ ความเจริญที่แท้จริงของสังคมที่จะมีความสุขจึงจะสมบูรณ์แบบ

หากแต่ย้อนมามองสังคมปัจจุบันคำว่า “บวร” กลับกลายเป็นคำยกยอสรรเสริญสถานที่แห่งเดียวนั้นคือ วัด และความเป็นวัดเองก็เป็นพุทธพาณิชย์ เน้นทางธุรกิจจะเห็นได้จากที่ว่างต่างๆ ในที่ดินวัดหลายแห่งถูกนำมาจัดสรรเป็นลานจอดรถบ้าง ตลาดนัดบ้าง หรือแม้แต่บางแห่งอาจจะเป็นโครงการที่อยู่อาศัยกันเลยทีเดียว

เมื่อปี 2550 หากยังพอจะจำกันได้ “ชุมชนหวั่งหลี” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ดินของวัดยานนาวา อยู่คู่กันมาอย่างยาวนานถูกทางวัดฟ้องขับไล่ไม่เหลือสักหลัง เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้อาคารโบราณทรงเรือสำเภาได้ถูกทุบทิ้งทำลายไปจากเหตุผลที่อ้างว่าต้องการใช้พื้นที่เพื่อการทางพุทธศาสนา แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นตึกโรงแรมหรู 32 ชั้น กับสัญญาเช่าที่ดินกับทางวัดระยะยาว 30 ปี ส่วนชุมชนเก่าแก่ ผู้อาศัยต้องกระจัดกระจายกันไปหาที่อยู่อาศัยตามมีตามเกิด นั่นไม่ใช่เพียงแต่วัดที่ไล่ชาวบ้านอย่างไม่แยแสความเป็นอยู่ชาวบ้านกลุ่มนั้น แต่เป็นการทำลายอาคารโบราณทรงเรือสำเภาที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยราชกาลที่ 3 ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภาและประวัติการเจริญสัมพันธไมตรีของการค้าขายระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ

ช่วงปี 2550 ปีเดียวกันนั้นก็มีชาวบ้านแขวงขุมทองและแขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ประมาณ 500 กว่าคน ซึ่งอยู่อาศัยในที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดอนงคารามวรวิหาร เนื้อที่ประมาณ 600 ไร่ ซึ่งได้อยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าวมาประมาณ 40 ปีมาแล้ว ต่อมาทางวัดได้มอบอำนาจให้ ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป และยังให้ชดใช้ค่าเสียหายอีก 3,000 บาท บางหลังก็ 5,000 บาท โดยอ้างว่าพวกชาวบ้านที่มาอยู่อาศัยในที่ดินของวัดสร้างความเสียหายให้กับที่ดินของวัดแล้วยังเรียกค่าโนติสอีกฉบับละ 1,000 บาท นอกจากนี้ หากใครจะอยู่ต่อต้องลงทะเบียนเป็นผู้เช่าตามแบบฟอร์มที่ทางวัดกำหนด ถ้าใครจะลงทะเบียนต้องเสียค่ากระดาษ 1,000 บาท และต้องเสียค่าเช่าเพิ่มจากเดิมตารางวาละ 6 บาทต่อเดือน ซึ่งปกติชาวบ้านจะเสียค่าเช่าให้กับทางวัดปีละ 570 บาทต่อหลังต่อปี แต่เงื่อนไขใหม่ที่ทางวัดเสนอมา จะต้องเสียค่าเช่าปีละ 28,800 บาท ซึ่งชาวบ้านไม่มีปัญญาชำระเนื่องจากเป็นคนยากจน เท่ากับเป็นการบีบบังคับให้ออกไปทางอ้อม

ช่วงปลายปี 2557 กลุ่มชาวชุมชนวัดไผ่ล้อมที่อาศัยอยู่หน้าวัดไผ่ล้อมกว่า 76 หลังคาเรือน ต.พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม ทางวัดต้องการเวนคืนที่ดินที่ชาวบ้านเช่าอยู่ในปัจจุบันคืน ชาวชุมชนทราบมาว่าจะสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ และให้ชาวบ้านซื้อสิทธิเข้าอยู่ใหม่ในราคาคูหาละประมาณ 3.5 ล้านบาท ขณะที่ค่าเวนคืนก็ให้แค่หลังละ 20,000 บาท หากชาวบ้านต้องการอาศัยอยู่ต่อจะต้องใช้เงินจำนวนมากซื้อสิทธิเข้าอยู่ใหม่ ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวมีบ้านปูนชั้นเดียวเลขที่ 999 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้แก่คนพิการรายหนึ่งไว้เป็นที่พักอยู่ด้วย

ต้นปี 2558 ชาวบ้านชุมชนชัยพฤกษมาลากว่า 200 คน รวมตัวประท้วงขับไล่เจ้าอาวาสวัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร ย่านตลิ่งชัน เหตุปิดประตูเข้าออกด้านหลังวัดจนชาวบ้านฝั่งตลิ่งชันและบางกรวยไม่สามารถข้ามมาได้ เกิดเหตุการณ์ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพระปริยัติวโรปการ เจ้าอาวาสวัดชัยพฤกษมาลาราชวรวิหาร กับชาวบ้านในชุมชน และบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากชาวบ้านไม่พอใจที่พระปริยัติวโรปการ สั่งปิดประตูเข้าออกบริเวณด้านหลังวัด ทำให้ชาวบ้านในชุมชนและบริเวณใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะชาวบ้านฝั่งตลิ่งชันและบางกรวย ที่ไม่สามารถข้ามมาอีกฝั่งได้ แต่หากชาวบ้านต้องการข้ามฝั่งก็ต้องเสียค่าที่และค่ากุญแจกับทางวัดเป็นจำนวนเงิน 400 บาทต่อเดือน และเจ้าอาวาสเริ่มไม่ต่อสัญญากับชาวชุมชนเพื่อเตรียมจะขับไล่ต่อไป
 


ชาวชุมชนวัดชัยพฤกษมาลาขับไล่เจ้าอาวาส

เมื่อไม่นานมานี้เอง วันที่ 9 กันยายน 2558 ชุมชนวัดกัลยาณ์ ถูกวัดกัลยาณมิตรวรวิหาร นำเจ้าหน้าที่บังคับคดีหลังจากที่ฟ้องขับไล่ชาวชุมชนจำนวน 54 หลังคาเรือน จากจำนวนชุมชนทั้งหมด 230 หลังคาเรือน เหตุผลอ้างเช่นเคยว่าจะทำเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้พุทธประวัติศาสตร์ความเป็นมาของวัดเก่าแก่แห่งนี้ แต่การกระทำของเจ้าอาวาสแห่งนี้กลับทำตรงข้ามคือ ได้มีการทุบทำลายโบราณสถานหลายอย่างไปทั้งที่สิ่งเหล่านั้นได้ขึ้นทะเบียนกับทางกรมศิลปากรไว้แล้ว ยังไม่รวมถึงการส่งคนมาพูดจาข่มขู่ คุกคาม กันถึงหน้าบ้าน หากไม่ย้ายออกไปอาจจะได้รับอันตรายกับชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งก็เป็นจริง ประธานชุมชนถูกคนมาถีบมอเตอร์ไซค์ล้มที่หน้าชุมชน และมีการทุบทำลายท่อประปา ตัดสายไฟฟ้า พังทางเท้า บีบคั้นทางอ้อมไม่ให้ชาวชุมชนส่วนที่เหลือไม่สามารถอยู่ได้อย่างสงบสุข


สภาพชุมชนวัดกัลยาณ์ถูกขับไล่ไปบางส่วน

และอีกกรณีชุมชนวัดใต้ ตั้งอยู่ย่านเศรษฐกิจอ่อนนุช กว่า 60 หลังคาเรือน กำลังถูกเจ้าอาวาสวัดใต้ฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่ โดยเหตุผลที่คล้ายคลึงกันคือจะนำพื้นที่ก่อสร้างให้เป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนา ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยที่ศาล
เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นมาหากทางวัดเองมีจิตใจเมตตา กรุณา คำนึงถึงการอยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนานของชุมชนกับวัด ปรากฏการณ์เหล่านี้มีความคล้าย ความเหมือนกันแม้จะต่างวัดสถานที่กันก็ตามคือ

  1. ชุมชนที่ถูกขับไล่เป็นชุมชนที่เช่าที่ดินวัดอย่างถูกต้อง และอยู่อาศัยมาอย่างยาวนานคู่กับวัด
  2. การเข้าพบที่จะขอพูดคุยกับทางเจ้าอาวาสแต่ละวัดนั้นไม่สามารถที่จะทำได้ จะได้เพียงแต่เจรจาผ่านทนายเท่านั้น เว้นแต่ทางวัดใต้ ที่มีเจ้าอาวาสมาเจรจาด้วย กับท่าทางหันข้างในการพูดคุยกับชาวบ้าน
  3. เหตุผลที่อ้างในการขับไล่มักจะอ้างเรื่องการใช้ที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์ทางพุทธศาสนา แต่สุดท้ายหลายกรณีมักเป็นการใช้ที่ดินในเชิงพาณิชย์แทน
  4. การขับไล่ชุมชนไม่เพียงแต่ทำให้ชุมชนเก่าแก่ต้องหายไป แต่จะมีสิ่งโบราณสถานที่สำคัญๆ ได้เสียหายไปพร้อมด้วย

หากการบริหารที่ดินที่ได้จากการบริจาคด้วยความศรัทธาทางศาสนาแล้วต้องมากระทบกับชาวชุมชนที่อาศัยอยู่ เราคงต้องกลับมาหันมองดูว่าที่ดินเหล่านี้สมควรจะบริหารโดยเจ้าอาวาสเพียงผู้เดียวหรือไม่ การปฏิรูปที่ดินวัดจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ในประเทศที่มีประชากรนับถือพุทธศาสนากันเป็นส่วนใหญ่ ยังคงเป็นคำถามที่ต้องการคำตอบ...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท