Skip to main content
sharethis

วอลเดน เบลโล เรียกร้องถึงการประชุมเรื่องโลกร้อนที่กรุงปารีส (COP 21) ควรมีบทบังคับอย่างจริงจังในการลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศพัฒนาแล้ว และมีกระบวนการชดเชยต่อประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนที่ดีกว่านี้ ไม่เช่นนั้นก็ไม่ควรมีข้อตกลงเลย


บรรยากาศการประชุม COP 21
ภาพจาก
เพจเฟซบุ๊กการประชุม COP21

6 ธ.ค. 2558 ในขณะที่การประชุมเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติที่กรุงปารีสกำลังดำเนินอยู่จนถึงตอนนี้ (30 พ.ย.-11 ธ.ค.) วอลเดน เบลโล ประธานคณะกรรมการกิจการแรงงานข้ามชาติในสภาผู้แทนฯ ฟิลิปปินส์และคอลัมนิสต์ของเว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายต่างประเทศ (Foreign Policy In Focus หรือ FPIF) เขียนวิพากษ์วิจารณ์การกำหนดนโยบายเรื่องโลกร้อนของเหล่าผู้นำโลกตั้งแต่ก่อนหน้านี้ถึงปัจจุบันว่า ยังไม่สามารถส่งเสริมการแก้ปัญหาด้วยความรับผิดชอบจากประเทศมหาอำนาจที่เป็นตัวการให้เกิดภาวะโลกร้อน

เบลโลระบุว่าในการประชุมเรื่องโลกร้อนที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศสในชื่อเป็นทางการว่า "การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21" (21st Conference of Parties หรือ COP 21)" ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องไม่ทำให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม

ในแง่นี้เบลโลผู้เป็นหนึ่งในนักขับเคลื่อนประเด็นโลกร้อนเสนอว่า COP 21 ควรทำให้เกิดสนธิสัญญาใหม่แทนที่ 'พิธีสารเกียวโต' (Kyoto Protocol) ปี 2540 ที่เป็นการลงนามของหลายประเทศในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากเขามองว่าพิธีสารเกียวโตนี้ยังมีช่องโหว่อยู่มากและสหรัฐฯ ก็ลงนามแต่ไม่ได้ให้สัตยาบันไว้

บทความระบุว่า ขณะที่การประชุมเรื่องโลกร้อนในตอนนี้เป็นไปเพื่อสร้างข้อตกลงระดับนานาชาติให้ประเทศที่ร่ำรวยมอบทรัพยากรแก่ประเทศยากจนในการจัดการผลกระทบความเสียหายที่เกิดจากภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังมีหลักการแบบ "ความรับผิดชอบร่วมกันแต่แตกต่างกัน" (common but differentiated responsibility) ซึ่งระบุให้กลุ่มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าต้องเป็นผู้แบกรับความรับผิดชอบมากกว่าในการช่วยเหลือประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบ

แต่เบลโลมองว่าการประชุมโลกร้อนครั้งที่ผ่านๆ มาจนถึงตอนนี้ออกนอกลู่นอกทางจากเป้าหมายไปมาก และประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากเช่นสหรัฐฯ และแคนาดาก็เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี จากการที่สหรัฐฯ ไม่ยอมให้สัตยาบันในพิธีสารและแคนาดาก็ถอนตัวจากพิธีสารโตเกียวในเวลาต่อมา แต่ไม่เพียงแค่สองประเทศนี้เท่านั้นที่ไม่ได้ช่วยอะไร ประเทศที่กำลังกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างอินเดียและจีนก็สร้างมลภาวะมากขึ้นในขณะที่ปฏิเสธความรับผิดชอบต่อวิกฤตภาวะโลกร้อน

เบลโลยังได้วิจารณ์การทำตัวเป็นปฏิปักษ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายหาข้ออ้างในการไม่ร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถึงแม้ว่าฝ่ายจีนก็ยังดีกว่าในแง่ที่ผู้นำยอมรับว่ามีวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศโลกเกิดขึ้นจริง แต่ความบาดหมางของทั้งสองชาตินี้ก็ทำให้มีการงดเว้นจีนจากข้อตกลงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบไม่ผูกมัดในการประชุม COP 20 เมื่อปีที่แล้ว และทำให้สหรัฐฯ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่มากนัก นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังทำให้มีการนิยามเพิ่มเติมหลักการ "ความรับผิดชอบร่วมกันแต่แตกต่างกัน" โดยเพิ่มเรื่องการคำนึงถึง "ประสิทธิภาพและสภาพการณ์ของประเทศนั้นๆ" เข้าไปด้วย ยิ่งทำให้การยึดถือหลักการช่วยโลกของพวกเขาหย่อนยาน

เบลโลตั้งข้อสังเกตว่าการประชุมโลกร้อนของยูเอ็นก่อนหน้านี้มักจะหลีกเลี่ยงการเรียกร้องให้มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนหันมาเป็น 'เจตจำนงของประเทศในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา' (Intended Nationally Determined Contributions หรือ INCDs) แทน ซึ่ง INCDs ทำให้การแก้ปัญหากลายเป็นเรื่องตามความสมัครใจของรัฐบาลแต่ละประเทศแทนการเจรจาหาข้อยุติร่วมกันในระดับนานาชาติ รวมถึงยังไม่มีระบบการติดตามผลงานหรือมาตรการลงโทษรัฐบาลที่ทำตามกำหนดเป้าหมายไม่ได้แต่อย่างใด

นอกจากนี้ บทความของเบลโลยังชี้ถึงปัญหาเรื่องการรวบรวมเงินช่วยเหลือประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้ช้า โดยมีการรวบรวมเงินทุนได้เพียง 1 ใน 10 ของเป้าที่วางไว้ ในขณะที่ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างเช่นฟิลิปปินส์ที่เกิดภัยธรรมชาติต้องการเงินช่วยเหลือในส่วนนี้มาก ปัญหานี้เบลโลมองว่ามาจากการที่ไม่ได้กำหนดแนวทางชัดเจนว่าเงินทุนจะมาจากส่วนใด

เบลโลชี้ว่าถ้าหลังจากการประชุมที่ปารีสแล้วยังคงดำเนินตามข้อตกลง INCDs แบบเดิมแทนการวางเงื่อนไขลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังก็จะทำให้โลกร้อนขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอน และจะทำให้เกิดภัยพิบัติตามมา เช่นระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำท่วม พายุไต้ฝุ่น หรือภัยแล้ง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ประชาคมโลกก็ไม่สามารถป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียสได้

เบลโลจึงเรียกร้องให้มีบทบังคับให้ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง และมีการวางเงื่อนไขให้ประเทศเหล่านี้วางเงินชดเชยให้กับประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบด้านระบบนิเวศ โดยภาคประชาสังคมต้องช่วยกันกดดันให้ตัวแทนรัฐบาลของแต่ละประเทศที่ประชุมกันในปารีสเลิกเสียเวลากับแผนการอันเอื้อต่อกลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่อย่าง โครงการ 'การค้าคาร์บอน' หรือโครงการปลูกต้นไม้ ซึ่งเบลโลมองว่าเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบหลอกๆ และเป็นไปเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเท่านั้น

เบลโลระบุว่าถ้าหากผลการเจรจาที่กรุงปารีสไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องเหล่านี้ก็ควรถูกต่อต้านเพราะจะทำให้กลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับความไม่รับผิดชอบและนิ่งเฉยต่อปัญหาต่อไป เบลโลเรียกร้องอีกว่าทั้งหมดนี้ต้องไม่หยุดที่การหารือที่กรุงปารีสแต่ต้องตามมาด้วยการสร้างข้อตกลงว่าจะเลิกใช้ทรัพยากรพลังงานฟอสซิลด้วย

แต่ท้ายที่สุดแล้วเบลโลก็มองว่าการแก้ปัญหาที่แท้จริงคือการพัฒนาออกจากแนวทางแบบทุนนิยมที่สร้างความเจริญแบบไม่ยั่งยืนและส่งเสริมการบริโภคที่ล้นเกิน

"พวกเราต้องการโลกที่สามารถทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้ความละโมบของบรรษัทนำทางไปสู่หนทางแห่งการสูญสิ้น" เบลโลกล่าว

 

เรียบเรียงจาก

No Climate Deal Is Better Than a Bad One, Walden Bello, FPIF, 02-12-2015
http://fpif.org/no-climate-deal-better-bad-one/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net