แผลใหม่ปาตานีในค่ายทหาร (1) : เหตุเกิดในอิงคยุทธบริหาร ‘อับดุลลายิ’ ตายปริศนา

ห้วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2558 ณ กรุงเทพมหานคร ใจกลางของราชอาณาจักรไทย ผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการถูกควบคุมตัวสอบสวนเสียชีวิตถึง 2 ราย

23 ตุลาคม 2558 ‘สารวัตรเอี๊ยด’ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา อดีตสารวัตรกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สว.กก.1 บก.ปอท.) ผู้ต้องขังระหว่างสอบสวนในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ผูกคอฆ่าตัวตายด้วยการใช้ผ้าจากเสื้อผู้ต้องขังที่ทางเรือนจำจ่ายให้ตามระเบียบผูกคอตัวเองกับลูกกรงห้องขังภายในเรือนจำชั่วคราว มณฑลทหารบกที่ 11 (กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 24 ตุลาคม 2558, 15:40,ราชทัณฑ์แจง'พ.ต.ต.ปรากรม' ผูกคอตายในห้องขัง)

7 พฤศจิกายน 2558 ‘หมอหยอง’ นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ นักโหราศาสตร์ชื่อดังอีกหนึ่งผู้ต้องขังระหว่างสอบสวนในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือด

โดยก่อนหน้านี้วันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ‘หมอหยอง’ มีอาการป่วยกำเริบ เจ้าหน้าที่เรือนจำชั่วคราว มณฑลทหารบกที่ 11 จึงจ่ายยาบรรเทาอาการให้จนกระทั่งก่อนสิ้นใจไม่กี่นาที เจ้าหน้าที่เวรยามไปพบว่า ผู้ต้องขังมีอาการหายใจเฮือก ชีพจรอ่อนลงเรื่อยๆ จนไม่รู้สึกตัว จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อยื้อชีวิต แต่ที่สุดก็ไร้ผล (ศจี วงศ์อำไพ ,รายการสนามข่าว 7 สี, สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7,10 พฤศจิกายน2558,06:52 ,รายงานพิเศษ : 18 วัน ปิดฉากชีวิตหมอหยอง)

จากกรุงเทพฯ สู่ปาตานี:ปริศนาการตายระหว่างถูกควบคุมตัว

08.00 น. ของวันที่ 4 ธันวาคม 2558 ทหารจากค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ได้โทรศัพท์แจ้งญาติของนายอับดุลลายิ ดอเลาะ ชาวบ้านบ้านใหม่ ตำบลคอลอตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายอิงคยุทธบริหาร ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2558ว่าให้ญาติมารับตัว ‘อับดุลลายิ’ กลับบ้าน

เวลาต่อมาผู้ใหญ่บ้านบ้านใหม่ ได้โทรศัพท์ประสานแจ้งญาติของนายอับดุลลายิดอเลาะ ว่า ‘อับดุลลายิ’ ได้เสียชีวิตแล้ว ระหว่างถูกควบคุมตัว (สำนักสื่อ WARTANI, 4 ธันวาคม 2558 ,10:05,ด่วน! ผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต ขณะถูกควบคุมตัวในค่ายทหารบ่อทอง ปัตตานี)

ชาวบ้านคอลอตันหยงกังขาสาเหตุการตายรวมตัวหน้าค่าย

ประมาณ 10.00 น. ชาวบ้านจากตำบลคอลอตันหยงประมาณ 50 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ได้รวมตัวกันที่ศาลาริมทางหน้าค่ายอิงคยุทธบริหาร ใบหน้าของแต่ละคนเต็มไปด้วยความเศร้าโศก โกรธแค้น และกังขาถึงสาเหตุการตายของนายอับดุลลายิดอเลาะ

หญิงชาวบ้านวัยประมาณ 50 ปี เล่าว่าภรรยาของนายอับดุลลายิมาเยี่ยมอับดุลลายิทุกวัน ภรรยาอับดุลลายิบอกว่าอับดุลลายิมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ ทว่าเมื่อวานภรรยาของอับดุลลายิก็มาเยี่ยม และสังเกตเห็นอาการอ่อนเพลียของนายอับดุลลายิ ขณะเดียวกันนายอับดุลลายิเองพยายามสื่อสารเป็นนัยยะกับภรรยาของเขาว่าเขาโดนเจ้าหน้าที่ทหารลูบหลัง จนนำไปสู่การสงสัยของภรรยาว่าต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับนายอับดุลลายิแน่ และตั้งข้อสงสัยว่าอาจโดนวางยา

“ที่หมู่บ้านถูกปิดล้อมตรวจค้นบ่อยมาก โดนตรวจค้นเฉลี่ยเดือนละ 3 ครั้ง แต่การไปตรวจค้นทุกครั้งก็ไม่เจออะไร เมื่อปีที่แล้วลูกของพี่เองก็เคยโดนทหารปิดล้อมตรวจค้น แต่สุดท้ายก็ไม่พบอะไรที่เอาผิดได้ แต่ก็โดนเจ้าหน้าที่บีบที่บริเวณต้นคอและท้ายทอยจนต่อมามีอาการนอนไม่หลับ มึนงง ปวดหัว และต้องนำตัวไปรักษาที่คลินิคเกี่ยวกับโรคประสาท ต้องรักษาเป็นปีกว่าจะหายเป็นปกติ ดังนั้นการลูบหลัง การบีบต้นคอ บีบท้ายทอยนั้นอาจไปโดนเส้นประสาทที่อ่อนไหวหรือเปล่าก็ไม่รู้” หญิงชาวบ้านจากคอลอตันหยงตั้งข้อสังเกต

โฆษก กอ.รมน. ภาค 4 พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เวลา 11.00 น. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า) จัดแถลงข่าวหน้าอาคารที่นายอับดุลลายิดอเลาะ เสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัวภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร

พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่า กรณีนายอับดุลลายิดอเลาะที่เสียชีวิต ไม่พบร่องรอยการต่อสู้และทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด จึงส่งตรวจชันสูตรศพ ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ และพ.อ.ปราโมทย์ยังรับรองว่าทางกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายหาดใหญ่ (สำนักสื่อ WARTANI, 4 ธันวาคม 2558 ,16:09,โฆษก กอ.รมน. ภาคที่ 4 พร้อมให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย)

‘สื่อ-NGO-น.ศ.’มึนทหารต้มหลอกพาเวียนค่าย

สื่อ- NGO-น.ศ. กำลังพูดคุยกับทหารระหว่างโดนพาเวียนค่าย

จากนั้นเวลา11.40 น. นักพัฒนาภาคเอกชน (NGOs) จากเครือข่ายประชาสังคมเพื่อสันติภาพนักศึกษาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) และคณะสื่อมวลชน รวมประมาณ 15 คนตามมาสังเกตการณ์ทำข่าวพูดคุยกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อขออนุญาตเข้าไปในค่ายโดยนำรถยนต์เข้าไป 1คัน คือ รถของผู้สื่อข่าว และ NGO ส่วนอีกคันหนึ่งเป็นรถของทหารที่นำนักศึกษาเข้าไปข้างในรถยนต์ของผู้สื่อข่าวและ NGO เข้าไปในหน่วยซักถามขกท. สน.จชต.ส่วนรถยนต์อีกคันของทหารที่บรรทุกนักศึกษาเดินทางเลยลึกเข้าไปอีกอาคารหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวและ NGO ได้รับการชี้แจงจากทหารในหน่วยซักถามฯ ว่า จะมีการนำศพนายอับดุลลายิดอเลาะ ไปชันสูตรที่มอ.ปัตตานีเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเอาไปชันสูตรที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) ทำไม เพราะมอ.ปัตตานียังไม่มีคณะแพทยศาสตร์ ทหารในหน่วยซักถามจึงบอกว่าจะไปชันสูตรที่โรงพยาบาลมอ.ปัตตานี ผู้สื่อข่าวก็แย้งอีกว่า โรงพยาบาลมอ.ปัตตานีไม่มี แล้วตกลงจะเอาไปชันสูตรที่ไหน แต่ทหารในหน่วยซักถามฯ บอกว่าให้รอก่อนเดี๋ยวจะมีการแถลงข่าว และแจ้งข้อมูลให้ทราบอีกที

คณะผู้สื่อข่าวและ NGO จึงตัดสินใจออกจากหน่วยซักถามขกท. สน.จชต. ตามรถยนต์ของทหารที่นำศึกษาเข้าไปอีกสถานที่หนึ่งปรากฎว่ามีการพูดคุยต่อรองขอเข้าไปแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้า ทหารนายหนึ่งจึงประสานงานทางวิทยุสื่อสารแล้วตัดสินให้คณะผู้สื่อข่าว NGO และนักศึกษาไปรอที่โรงพยาบาลค่ายองคยุทธบริหารโดยทหารนายนั้นบอกว่าจะนำศพนายอับดุลลายิไปชันสูตรที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (โรงพยาบาลมอ.หาดใหญ่) แต่ก่อนจะไปโรงพยาบาลมอ.หาดใหญ่จะพาศพไปที่โรงพยาบาลค่ายองคยุทธบริหารก่อน

ทว่าเมื่อครึ่งชั่วโมงผ่านไป คณะผู้สื่อข่าว NGO และนักศึกษาที่ไปรออยู่ที่โรงพยาบาลค่ายองคยุทธบริหาร เริ่มเอะใจและโทรศัพท์ตรวจสอบกับคนอื่น ปรากฏว่าศพของนายอับดุลลายิ ถูกนำไปโรงพยาบาลมอ.หาดใหญ่แล้วคณะผู้สื่อข่าว NGO และนักศึกษาจึงตัดสินใจเดินทางไปยังศาลาริมทางหน้าค่ายอิงคยุทธบริหารที่มีชาวบ้านรวมตัวกันประมาณ 50 คน

ท่ามกลางความสับสนของข้อมูลว่า ณ ตอนนั้นศพนายอับดุลลายิยังอยู่ในค่ายอิงยุทธบริหาร หรืออยู่ในระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาลมอ.หาดใหญ่ ทำให้ทั้งชาวบ้าน คณะผู้สื่อข่าว NGO และนักศึกษา มึนงงกับสถานการณ์พอสมควร

กระทั่งเวลา 12.35 น. นายทหารหน่วยซักถามขกท. สน.จชต.ออกมาอธิบายว่า ศพนายอับดุลลายิยังอยู่ในค่ายอิงยุทธบริหาร ทว่าต่อมาเมื่อตรวจสอบข้อมูลจึงรู้ว่าศพนายอับดุลลายิอยู่ในระหว่างเดินทางไปโรงพยาบาลมอ.หาดใหญ่

พ.อ.ธิรา แดหวา รองผู้บัญชาการค่ายอิงคยุทธบริหาร (ชุดทหารกำลังเอามือประสานกัน) และพ.อ.ทะเบียน เมืองพระฝางรองผบ.ฉก.ปัตตานี (ชุดทหารกำลังโทรศัพท์มือถือ) มาอธิบายแก่ชาวบ้าน NGO นักศึกษา และผู้สื่อข่าว

ต่อมาเวลา 12.52 น. พ.อ.ธิรา แดหวา รองผู้บัญชาการค่ายอิงคยุทธบริหารและพ.อ.ทะเบียน เมืองพระฝาง รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี (รองผบ.ฉก.ปัตตานี) ออกมาอธิบายแก่ชาวบ้าน NGO นักศึกษา และผู้สื่อข่าว

เบื้องต้นพ.อ.ธิรา แดหวา รองผบ.ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานี แจ้งว่าสภาพภายนอกของร่างกายนั้นไม่มีสภาพการทำร้ายร่างกาย แต่สภาพภายในนั้นต้องรอการชันสูตรของหน่วยงานทางแพทย์ของโรงพยาบาลมอ.หาดใหญ่ (สำนักสื่อ WARTANI, 4 ธันวาคม 2558 ,14:01,รายงานเพิ่มเติม เหตุผู้ต้องสงสัยเสียชีวิต ขณะถูกควบคุมตัวในค่ายทหารบ่อทอง ปัตตานี)

กอ.รมน. แจงเหตุหวั่นฝ่ายไม่หวังดีบิดเบือนข้อเท็จจริง

กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ทำหนังสือชี้แจงถึงกรณีที่นายอับดุลลายิ เสียชีวิตในขณะถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหาร ว่านายอับดุลลายิ ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมจังหวัดปัตตานี และหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 เข้าติดตามจับกุม บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ ตำบลคอลอตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

หนังสือชี้แจงของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าระบุว่า นายอับดุลลายิ หรือเปาะซู เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับหัวหน้า kompi และผลการซักถามขั้นต้น นายอับดุลลายิบได้ให้การยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงเคยผ่านการซูมเปาะ ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำไปลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองจิก และทำการส่งตัวนายอับดุลลายิบดำเนินกรรมวิธีซักถาม ณ หน่วยข่าวกรองทางทหาร ส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกระทั่งเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัว

“การเสียชีวิตของนายอับดุลลายิ เจ้าหน้าที่ได้เชิญกำลัง 3 ฝ่าย ญาติผู้เสียชีวิต และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีเข้าทำการตรวจสอบ และแพทย์ในพื้นที่ไม่สามารถระบุสาเหตุของการเสียชีวิตได้ ในเมื่อไม่ทราบสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อความสบายใจของญาติและประชาชนทั่วไป ที่สำคัญเพื่อเป็นข้อกังขาให้กลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีนำประเด็นการเสียชีวิตของนายอับดุลลายิ ไปหาผลประโยชน์ทำการขยายผลและบิดเบือนข้อเท็จจริง หรืออาจจะมีการกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงได้ขออนุญาตจากภรรยา นายอับดุลลายินำศพไปทำการผ่าพิสูจน์ที่โรงพยาบาลมอ.หาดใหญ่ โดยทางญาติได้ให้คำยินยอมเพื่อทำความจริงให้ปรากฏ

“กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงเรียนมายังพ่อแม่พี่น้องประชาชน ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มเครือญาติผู้เสียชีวิต อย่าหลงตกเป็นเครื่องมือเชื่อข่าวลือใดๆ ของกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีอันที่จะนำมาซึ่งสร้างแตกแยก ความเสื่อมเสีย และสร้างความเสียหายต่อหน่วยงานภาครัฐ ก่อนที่ความจริงจะปรากฏ รอผลจากการผ่าพิสูจน์ศพจากทางคณะแพทย์ที่จะมีการแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป”

หนังสือชี้แจงของกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าระบุ (Manager ออนไลน์, 4 ธันวาคม 2558,15:38, กอ.รมน.แจงเหตุผู้ต้องสงสัยดับปริศนาในค่ายทหาร หวั่นฝ่ายไม่หวังดีบิดเบือนข้อเท็จจริง)

นักศึกษาลงคอลอตันหยงร่วมรับ-ละหมาด-ฝังศพ ‘อับดุลลายิ’

เวลา 14:50 น. นักศึกษาจากสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเยาวชนนักเรียนปาตานี (PerMAS) ทั้งจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ประมาณ 50 คน ลงพื้นที่บ้านนะบารู ตำบลคอลอตันหยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นบ้านของผู้เสียชีวิต เพื่อพบญาติๆ พูดคุยและร่วมรับศพนายอับดุลลายิที่ส่งกลับมายังบ้านทางเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์จากโรงพยาบาลมอ.หาดใหญ่หลักจากชันสูตรเสร็จมาถึงในเวลาประมาณ 17.30 น. อาบน้ำศพ ละหมาดให้ศพ ทำพิธีฝังศพตามหลักศาสนาอิสลาม ในเวลาระหว่าง 20.00-21.30 น.

ย้อนดูแผลเก่าปาตานีในค่ายทหาร‘อีหม่ามยะผา กาเซ็ง-สุไลมาน แนซา’

19 มีนาคม 2551เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้เข้าตรวจค้นพื้นที่ ตำบลรือเสาะ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในการก่อความไม่สงบใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคน หนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวนั้นคือ‘อิหม่ามยะผา’ นายยะผา กาเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิดรอฮีมะห์ บ้านกอตอ หมู่ที่ 5 ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส

21 มีนาคม 2551 ‘อิหม่ามยะผา’นายยะผา กาเซ็งเสียชีวิต

25 ธันวาคม 2551 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งในคดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพนายยะผา กาเซ็ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 สรุปว่านายยะผาเสียชีวิตที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ 2 ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2551 เนื่องจากผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ (นักข่าวพลเมืองThaiPBS, 24 กันยายน 2558, 14:36 , ร้องอำนวยความยุติธรรม 7 ปี ป.ป.ช.ชี้มูลเจ้าหน้าที่เพียง 1 ราย กรณีอิหม่ามยะผาเสียชีวิต)

ศาลแพ่งไกล่เกลี่ย‘กระทรวงกลาโหม-กองทัพบก-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ยอมรับทำผิดจริง และอิหม่ามยะผาไม่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุการณ์ไม่สงบ ยอมชดเชย 5.2 ล้าน (สำนักข่าวประชาไท,20 กรกฎาคม 2554,17:11,ศาลแพ่งสั่งกลาโหม-ทัพบกชดเชยครอบครัวอิหม่ามยะผา กาเซ็ง 5.2 ล้าน เหตุตายระหว่างคุมตัว)

2 ปีต่อมา นายสุไลมาน แนซา ถูกเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังเข้าควบคุมตัวขณะอยู่ที่บ้านในวันที่ 22 พฤษภาคม 2553 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และถูกควบคุมต่อภายใต้อำนาจพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร

30 พฤษภาคม 2553นายสุไลมานแนซา ได้เสียชีวิตโดยสภาพศพอยู่ในลักษณะแขวนคอกับเหล็กดัดภายในห้องควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ได้แจ้งว่านายสุไลมานทำอัตตวินิบาตกรรมโดยการผูกคอตาย แต่ญาติของนายสุไลมานไม่เชื่อว่านายสุไลมานจะเสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย และร้องคดีไต่สวนการตายของ นายสุไลมาน แนซา(มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, 27 เมษายน 2554,18:01,ศาลนัดไต่สวนคดีสุไลมาน แนซา)

สุดท้ายศาลจังหวัดปัตตานีพิพากษาว่าเป็นการฆ่าตัวตายไม่ใช่เป็นการฆาตกรรมบิดาของนายสุไลมาน แนซา จึงถอนฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากรัฐ เหตุได้เงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท (ฮัสซันโตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) , 20 กันยายน 2555,22:59, ศาลสรุป ‘สุไลมาน แนซา’ ผูกคอตาย ญาติถอนฟ้องแพ่ง เหตุได้ชดเชย 7.5 ล.แล้ว)

 

รายชื่อผู้ที่เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ 2550-2558 ฐานข้อมูลจากสื่อมวลชนและการบันทึกของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม

1.นายอัสฮารี สะมะแอ เสียชีวิต 22 กรกฎาคม 2550 เสียชีวิต

2.นายสุไลมาน แนซา เสียชีวิตในที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศสฉ.) ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2553

3.นายยะพา กาเซ็ง เสียชีวิต 21 มีนาคม 2551 ที่ค่ายเฉพาะกิจ 30 วัดสวนธรรม จังหวัดนราธิวาส

4.นายอุทัย คงหา เสียชีวิต 19 พฤษภาคม 2553 ผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลางจังหวัด มหาสารคาม

5.พลทหารวิเชียร เผือกสม เสียชีวิต 5 มิถุนายน 2554 เสียชีวิตที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ถูกส่งตัวมารักษาจากค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส

6.นายกรองกมล ขังศิริ อายุ 28 ปี เสียชีวิต วันที่ 1 กันยายน ที่เรือนจำจังหวัดสระแก้ว กรณีมีการรุมทำร้าย

7.นายอับดุลอาซิส สาและ เสียชีวิต 15 ตุลาคม 2556 ภายหลังการถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง กรณีบ้านน้ำดำ จ.ปัตตานี

8.พลทหารสมชาย ศรีเอื้องดอย เสียชีวิต 29 มกราคม 2557 ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ หลังถูกส่งตัวมารักษาจากค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่

9.นายกฤษณะ จึงเจริญ อายุ 27 ปี เสียชีวิตเมื่อเดือนมีนาคม 2557 ที่ทัณฑสถานกักขังกลาง จ. ปทุมธานี

10.นายไพสิฐ จันทร์ศิริ อายุ 27 ปี เสียชีวิตที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเรือนจำกลางคลองไผ่ จ. นครราชสีมา

11.นายสุรกริช ชัยมงคล เสียชีวิต 28 สิงหาคม 2557 เสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ผู้ต้องหาคดียิงนายสุทิน ธราทิน

12.ร้อยตรีสนาน ทองดีนอก เสียชีวิต 7 มิถุนายน 2558 เสียชีวิตระหว่างการฝึก

13.นายปรากรม วาวุณประภา เสียชีวิต 24 ตุลาคม 2558 เสียชีวิตที่ค่ายมทบ. 11 เรือนจำพิเศษนครชัยศรี

14.สุริยัน สุจริตพลวงศ์ เสียชีวิต 7 พฤศจิกายน 2558 เสียชีวิตที่ค่ายมทบ. 11 เรือนจำพิเศษนครชัยศรี

15.นายอับดุลลายิดอเลาะ เสียชีวิต 4 ธันวาคม 2558 ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศสฉ.) ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

 

ที่มา: (voicefromthais.wordpress.com,4 ธันวาคม 2558,รายชื่อผู้ที่เสียชีวิตในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ 2550-2558)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท