Skip to main content
sharethis
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวปาฐกถาในงานเสวนาสาธารณะเรื่อง "การสื่อสารกับสันติภาพชายแดนใต้ โอกาส พื้นที่ใหม่และสิ่งท้าทาย" หัวข้อ "รู้คุณ(ค่า)สันติสนทนา…วิทยาการสื่อสารเงินตรา(มนตรา)" 
 
 
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวปาฐกถาในงานเสวนาสาธารณะเรื่อง “การสื่อสารกับสันติภาพชายแดนใต้ โอกาส พื้นที่ใหม่และสิ่งท้าทาย” ในหัวข้อ “รู้คุณ(ค่า)สันติสนทนา…วิทยาการสื่อสารเงินตรา(มนตรา)”  จัดโดย วิทยาลัยประชาชน ศูนย์ศึกษาและพัฒนาการสื่อสารสันติภาพ คณะวิทยาการสื่อสาร ม.อ.ปัตตานี สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ณ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 โดยได้ระบุถึงสี่คำหลักในการปาฐกถาครั้งนี้ คือ ความฝัน สันติสนทนา เงินตรา และมนตรา โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
จากความความฝันสู่ความจริง
 
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เริ่มต้นปาฐกถาด้วยการเล่าถึงความฝันของศาสดาอิชิญาอ์ที่ตามที่ปรากฎในคัมภีร์ไบเบิลว่า “สุนัขป่าจะอยู่กับลูกแกะ และเสือดาวจะนอนอยู่กับลูกแพะ ลูกโคกับสิงห์หนุ่มจะหากินอยู่ด้วยกัน...” โดยอธิบายต่อว่าความฝันของอิชิญาอ์เรื่องสันติภาพดูเหมือนจะปรากฏรูปร่างเป็นจริงขึ้นผ่านความคิดของนักปรัชญาคนสำคัญ คือ อิมมานูเอล ค้านท์ ซึ่งเห็นว่าสันติภาพถาวรจะเป็นไปได้ในสภาพที่มีรัฐปกครองด้วย ระบอบสาธารณรัฐ และสาธารณรัฐเหล่านี้มารวมตัวกันในรูปสมาพันธ์ที่กำกับด้วยกฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นสากล
 
แนวคิดนี้ให้กำเนิดนวัตกรรมสันติภาพที่สำคัญยิ่งต่อโลกในศตวรรษที่ยี่สิบ เช่น ข้อเสนอ 14 ข้อของประธานาธิบดี Woodrow Wilson (1918) ซึ่งต่อมากลายเป็นพื้นฐานของการเจรจาสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (1914-1918) และส่งผลต่อกำเนิด องค์การสันนิบาตชาติ ( League of Nations) เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง เกิดองค์การสหประชาชาติ United Nations ขึ้นหลัง สงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดจนปฏิญญาสิทธิมนุษยชนสากลในปี 1948 ด้วย
 
ในห้วงเวลาสามทศวรรษจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 2 จนเกิดองค์การโลกทั้งสอง และปฏิญญาสิทธิมนุษยชนสากลนั้น ได้เกิด “สันติสนทนา” ขึ้น เกิด “สันติภาพ” ขึ้นในโลก เกิดสันติสนทนาในระดับต่างๆ นับครั้งแทบไม่ถ้วน สันติสนทนาให้กำเนิดทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ระเบียบปฏิบัติระหว่างประเทศ ตลอดจนปทัสถานสากล จนทำให้จำนวนสงครามระหว่างประเทศลดลงอย่างน่าประหลาด
 
สิ่งที่เรียกวา “สันติสนทนา” ให้กำเนิดคุณค่าสากล ที่กลายเป็นสถาบันและปฏิบัติการนานาชาติมากหลาย แต่สันติสนทนาสร้างปาฏิหาริย์เช่นนี้ได้อย่างไร? การพยายามตอบคำถามนี้คงทำได้หลายวิธี วิธีหนึ่งคือเปลี่ยนคำถามเป็นว่าจะเข้าใจ “การสนทนา” กลายเป็น “สันติสนทนา” ได้อย่างไร?
 
จาก “การสนทนา” สู่ “สันติสนทนา (peace talk)”
 
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวถึงกรณีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับชาวมุสลิมในมินดาเนา มีนักวิจัยศึกษาโดยเปรียบเทียบช่วงเวลา 4 รัฐบาลคือ รัฐบาลของนางอาควิโน พลเอกรามอส นายเอสตราดา และนางอะโรโย โดยอาศัยปัจจัยภายในคือเจตน์จำนงทางการเมือง นโยบายรัฐ สันติสนทนา การดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐและการเจรจาสันติภาพ ผนวกกับปัจจัยภายนอก คือ ความช่วยเหลือจากต่างประเทศและการที่ต่างประเทศเป็นตัวกลางในกระบวนการสันติภาพ พบว่าในกรณีที่กระบวนการสันติภาพประสบความสำเร็จนั้น ปัจจัยภายในที่สำคัญยิ่งคือความเข้มแข็งของสันติสนทนา
 
ในกรณีจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ก็เห็นว่าในที่สุดการพูดคุยจะไม่สามารถแก้ความขัดแย้งได้ในระยะยาว เพราะการพูดคุยไม่มีระยะเวลาแน่ชัด และเป้าหมายของการพูดคุยคือ การสร้างความมั่นใจและความไว้วางใจอันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการแก้ปัญหาความขัดแย้งชนิดนี้
 
เมื่อคณะทำงานสร้างพื้นที่สันติภาพจากคนใน นำเสนอเอกสารเชิงนโยบายเพื่อผลักดันกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ภาคใต้ ที่ได้กล่าวถึงความสำเร็จหรือคุณประโยชน์ 7 ประการตลอดจนข้อบกพร่อง 9 ประเด็นของกระบวนการสันติภาพที่ผ่านมา อุปสรรค 7 ประการของกระบวนการสันติภาพ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แต่ก็มิได้ให้ความสำคัญเท่าใดนักกับ “สันติสนทนา” แม้จะให้ความสำคัญกับการขยาย “พื้นที่ของบทสนทนา” และ “อนาคตของการพูดคุยสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์”
 
ที่น่าสนใจคือคำว่าสันติสนทนาไม่ปรากฏอยู่ในตำราด้านกระบวนการสันติภาพเล่มสำคัญ เป็นไปได้ว่า “สันติสนทนา” ถูกแนวคิดระดับที่กว้างกว่าอย่าง “กระบวนการสันติภาพ” (peace process) ครอบอยู่หรือไม่ก็ถูกแนวคิดที่ซับซ้อนกว่าอย่าง “สานเสวนา” (dialogue) บังเอาไว้
 
เมื่อพิจารณาสันติสนทนาจากแง่มุมของวิชาการด้านการสื่อสารโดยเฉพาะในแง่สื่อสันติภาพ ภาพที่เห็นได้ชัดที่สุดน่าจะเป็นงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ สันติวารสารศาสตร์ (peace journalism)  ซึ่งมักมุ่งทำงาน 5 ด้านคือ ตั้งข้อสงสัยกับภาพและสีสันของ “ศัตรู” ที่ถูกสร้างขึ้น อีกทั้งยังต้องหาวิธีการต่างๆ
 
คืนสภาพความเป็นมนุษย์ให้กับศัตรูในสงครามหรือความขัดแย้งที่ถึงตาย ปลดปล่อยเหยื่อความรุนแรงจากการ “ถูกใช้” ด้วยการคืนความเป็นมนุษย์ที่มีอัตตาณัติ (autonomy) ให้กับเขา คืน “ความจริง” ทางสังคมให้กับความขัดแย้งที่ถึงตาย “ความจริง” ที่เป็นสามัญสำนึกที่ว่า ไม่มีความขัดแย้งใดถือกำเนิดขึ้นในสุญญากาศนอกบริบททางสังคม และบ่อยครั้งความขัดแย้งที่ปรากฏเป็นอาการ (symptom) ของปัญหาที่ลึกซึ้งกว่า ซึ่งมักฝังรากซ่อนร่างอยู่ในโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม
 
การตั้งข้อสงสัยกับข้อมูลข่าวสาร “ทางการ” (official) ไม่ว่าจะเป็นข่าวสาร “ทางการ” ของคู่ขัดแย้งฝ่ายไหน และชี้ให้เห็นช่องทางสร้างสรรค์ และความริเริ่มเพื่อสันติภาพที่บ่อยครั้งถูกบดบังด้วยเสียงกัมปนาทและภาพจัดจ้าของความรุนแรง
 
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ตั้งตำถามว่า การสนทนากลายเป็นสันติสนทนาได้อย่างไร? เพียงเพราะการสนทนาบังเกิดขึ้นในบริบทความขัดแย้งที่ถึงตายระหว่างคู่ขัดแย้งนั้นเองก็จะถือว่าเป็น “สันติสนทนา” ได้แล้วหรือ? หรือทั้งคู่สนทนา (conflict parties), บริบท (contexts) และหน้าที่ (functions) ของการสนทนานั้นๆ เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น แต่ยังไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอ ที่จะทำให้การสนทนาธรรมดากลายเป็นสันติสนทนาได้? บางทีวิธีหนึ่งจะตอบปัญหานี้คือ พยายามคิดว่าสันติสนทนาเหมือนอะไร?
 
จากกระดาษเป็นเงินตรา จากการสนทนาเป็น “สันติสนทนา”
 
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กล่าวถึงเงื่อนไขที่จะทำให้การสนทนาธรรมดากลายเป็นสันติสนทนาได้ โดยใช้แนวคิดของนักปรัชญาอังกฤษเรืองนามชื่อ John Searle ที่เขาระบุว่า มนุษย์มีความสามารถกำหนดหน้าที่ให้วัตถุและผู้คนทำการบางอยางได้ (Recognized status function) เช่นสามารถกำหนดให้กระดาษกลายเป็นเงิน หรือเป็นประกาศนียบัตรหรือปริญญาบัตรหรือบัตรโดยสารเครื่องบินทำให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องบินได้ที่ทำเช่นนี้ได้เพราะมีการยอมรับสถานะหน้าที่ในการทำงานร่วมกันและที่สิ่งนั้นทำหน้าที่ดังกล่าวได้เพราะมี collective intentionality หรือการตระหนักรับรู้ร่วมกัน กระดาษใบหนึ่งทำหน้าที่เป็นปริญญาบัตรหรือเงินตราได้เพราะมีการตระหนักรับรู้ร่วมกันว่าสิ่งที่อยู่ในมือคนที่ถือกระดาษใบนี้เป็นปริญญาบัตรหรือธนบัตร ไม่ใช่กระดาษธรรมดา
 
มี Deontic power ที่เป็นอำนาจตามสถานะ มีอำนาจชนิดหนึ่งอยู่ซึ่งหมายถึง สิทธิ หน้าที่ พันธะ สิทธิอำนาจนี้อาจให้ธนบัตรกลายเป็นกระดาษที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย กระดาษใบนั้นกลายเป็นกระดาษที่มีอำนาจกำหนดสิทธิบางอยางให้แก่เจ้าของกระดาษใบนั้น และมี Desire independent reasons for action ที่เป็นเสมือนกาวที่ผูกโยงอารยธรรมของมนุษย์เข้าไว้ด้วยกันได้เมื่อยอมรับ deontic power ที่จะนำไปสู่การกระทำของมนุษย์ที่ไม่ขึ้นต่อความปรารถนาและความต้องการของตนเอง
 
อาจกล่าวได้ว่า สันติสนทนามักครอบคลุมประเด็นต่างๆ เช่น สนทนาถูกฝ่ายหรือไม่? ผู้มีส่วนได้ เสียมาครบบนโต๊ะสนทนาแล้วหรือยัง? ประเด็นต่างๆ ที่จะพูดคุยนั้นมีเรื่องใดบ้าง? ต้องหยุดยิงก่อนจึงจะพูดคุยหรือการหยุดยิงเป็นเงื่อนไขข้อหนึ่งของการพูดคุยกันแน่? ใครควรเป็น “ตัวกลาง”ในการจัดสันติสนทนา? จะดำเนินขั้นตอนสันติ
 
สนทนาอย่างไร? ฝ่ายต่างๆ ในสังคมจะหนุนช่วยกระบวนการสันติภาพที่มีสันติสนทนาเป็นส่วนหนึ่งอย่างไร? จะเผชิญกับฝ่ายที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพอ่อนแอเสียหาย (spoilers) ได้อย่างไร ปัญหาอยูที่ว่า ทั้งหมดนี้พิจารณาว่า สันติสนทนา ทำอะไร? และทำอย่างไร? โดยอาจยังมิได้ตริตรองอย่างระมัดระวังเลยว่า สันติสนทนานั้น เป็นอะไร?
 
การจะเปลี่ยนการสนทนาธรรมดาให้ กลายเป็นสันติสนทนา หมายความว่าการที่การสนทนา(กระดาษ) จะกลายเป็นสันติสนทนา (ธนบัตร)ได้หมายความว่า คงต้องเริ่มต้นจากการกำหนดว่ามีการพูดคุยบางอย่างเป็นสันติสนทนา
 
แต่การกำหนดเช่นนั้นจะเป็นไปได้ก็ต้องมีการตระหนักรับรู้ร่วมว่าการพูดคุยนี้เป็นสันติสนทนาไม่ใช่การสนทนาทั่วไป ซึ่งจะส่งผลให้การสนทนานั้นมีอำนาจบางอย่างในฐานะสันติสนทนา เช่น ทำให้คนที่อยู่ในสันติสนทนานั้นทำหน้าที่ของตนได้โดยชอบ เหมือนกรณีที่กระดาษซึ่งกลายเป็นธนบัตรใช้ชำระหนี้ในสังคมได้ตามกฎหมาย
 
เมื่อการสนทนานั้นมีอำนาจ (deontic power) แล้วก็จะสร้างพันธะผูกพันทางสังคมให้การกระทำของผู้เกี่ยวข้องเป็นไปด้วยเหตุผลที่อำนาจภาวะปริพัทธนั้นตราขึ้น เช่นเพราะฝ่ายผู้ก่อการเข้ามาอยู่ในกระบวนสันติภาพเพื่อทำหน้าที่เป็นคู่สนทนาในสันติสนทนา จึงไม่ต้องถูกจับกุมคุมขังทั้งที่ฝ่ายบ้านเมืองอาจมีความปรารถนาจะใช้กฎหมายจับกุมพวกเขาก็ตาม
 
ถ้าเงื่อนไขนี้ปรากฏ การสนทนา “ธรรมดา” ก็จะแปรสภาพเป็น “สันติสนทนา” ได้เหมือนมีมนตรา
 
วิทยาการสื่อสาร ผู้ร่ายมนตราเสกสรรค์  “สันติสนทนา”
 
กระดาษกลายเป็นเงินตราได้ด้วยมนตราทางสังคม เพื่อเปลี่ยนการสนทนาให้กลายเป็นสันติสนทนาวิทยาการสื่อสารอาจต้องทำหน้าที่นี้ แต่มนตราของวิทยาการสื่อสารประกอบด้วยสิ่งสำคัญ 3 ส่วนคือ ความมั่นใจว่าวิชาการของตนมีฤทธิ์สามารถเปลี่ยนการสนทนาให้กลายเป็นสันติสนทนาได้ความสามารถในการสร้างความตระหนักรับรู้ให้ผู้คนรอบด้านเห็นว่าสันติสนทนาเป็นเรื่องจำเป็นต่อกระบวนการสันติภาพ เพราะการใช้ความรุนแรงรังแต่จะก่อความเสียหายให้กับผู้คน สังคม และรัฐไม่มีที่สิ้นสุด และการสถาปนาความชอบธรรมให้กับสันติสนทนาเพื่อให้ตัวสันติสนทนานั้นเองทรงอำนาจไม่ใช่เพียงเป็นการสนทนาธรรมดา
 
วิทยาการสื่อสารเพื่อสันติภาพจะมีมนตราเปลี่ยนการสนทนาให้กลายเป็นสันติสนทนาได้ก็ด้วยตระหนักในภารกิจของตนว่าเป็นงานทางวิชาการที่ก้าวข้ามปัจจัยเฉพาะหน้าชนิดที่เห็นผลปฏิบัติแต่เพียงอนาคตระยะสั้น ไปสู่ความเข้าใจว่านอกจากเรื่องเฉพาะหน้าแล้วเช่นนี้เป็นงานความรู้เพื่อขับเคลื่อนสังคมในเชิงสถาบันและปฏิบัติการ ซึ่งเป็นไปไม่ได้หากขาดความรู้และความเข้าใจในอัศจรรย์แห่งสันติสนทนา ไม่ต่างจากการเดินทางจากภาพฝันของศาสดา ผ่านความคิดของนักปรัชญา ข้อเสนอของรัฐบุรุษ จนกลายมาเป็นสถาบันและปฏิบัติการของโลกเพื่อสถาปนาสันติภาพให้เกิดขึ้น และทำหน้าที่ป้องกันมิให้ความขัดแย้งลุกลามกลายเป็นความรุนแรงที่ทำร้ายผู้คนและโลกมากไปกว่า
 
“เรื่องที่สำคัญก็คือ คนที่ทำงานด้านการสื่อสารอาจจะต้องมองตัวเองว่า ในที่สุดงานที่ตนเองทำอยู่นั้นคืออะไร ในแง่หนึ่งคือการประมาณตัวเอง ในแง่หนึ่งคือการทำความเข้าใจความจริงของความรุนแรง และในอีกแง่หนึ่งคือมั่นใจในพลังอำนาจของการสื่อสาร”
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net