Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 7 จังหวัด มูลนิธิบูรณะนิเวศ ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หลังออกคำสั่งยกเว้นการทำ EIA โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาด<--break- />

ภาพจาก มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม - EnLAW

3 ธ.ค. 2558 เวลา 10.30 น. ที่ ศาลปกครอง แจ้งวัฒนะ ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ซึ่งรับมอบอำนาจจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ และเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 7 จังหวัด (ปทุมธานี ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สระบุรี) ได้ทำการยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2558 ซึ่งมีคำสั่งยกเว้นให้โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงทุกขนาด ไม่ต้องทำ EIA

โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ และเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 7 จังหวัด ให้เหตุผลว่าในการยื่นฟ้องครั้งนี้ว่าสืบเนื่องจากการ ออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าว ถือเป็นการลดทอนหลักประกันตามกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิของผู้ฟ้องคดี และประชาชนที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐ และชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้ เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน

จึงได้มีการดำเนินการยื่นฟ้องคดีปกครองหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ 1 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ 2 ในฐานะหน่วยงานรัฐผู้ออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และเป็นการยกเลิกมาตรการหรือกลไกที่สำคัญในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็น เชื้อเพลิงไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ให้ทำตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice ; CoP) แทน ทั้งนี้ แม้การจัดการปัญหาขยะจะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่การรีบเร่งผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าขยะซึ่งเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูง ด้านผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนโดยการออกกฎหมายยกเว้นการจัด ทำรายงาน EIA โดยไม่มีหลักประกันหรือมาตรการการประเมินและควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ที่ดีกว่ารองรับ ถือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะที่ผิดพลาด และภาครัฐต้องยกเลิกการประกาศใช้ประกาศกระทรวงฯ ฉบับดังกล่าว

โดยมีคำขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาและมีคำพิพากษา
1.) เพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องกำหนดประเภทและ ขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวด ล้อมและหลักเกณฑ์วิธีการระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2558 ฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2558

2.) เพิกถอนมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2558 ลงวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ในระเบียบวาระที่ 3.5 เรื่องการกำหนดประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice ; CoP) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ที่มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ ขึ้นไป

ทั้งนี้ ประชาไทได้สัมภาษณ์ ทิวา แตงอ่อน หนึ่งในเครือข่ายศึกษาและติดตามปัญหาขยะ เขาระบุว่า การยกเว้นให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง ไม่ต้องทำ EIA เป็นการตัดขาดการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ เป็นการที่ภาครัฐไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชน โดยปกติแล้วการที่รัฐจะทำโครงการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจะต้องมีการขอความคิดเห็นจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ การตัดเรื่อง EIA จึงเป็นการปลดล๊อคเพื่อให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะได้ง่ายขึ้น ซึ่งกรมควบคุมมลพิษมีนโยบายที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะทั้ง 53 แห่งทั่วประเทศ

สำหรับการยื่นฟ้องครั้งนี้ ทิวามองว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหว เป้าหมายต่อไปของทางกลุ่มฯ ไม่ได้เป็นเพียงการคัดค้านอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่มีทิศทางในการแก้ปัญหาขยะอยู่ด้วย เขาเห็นว่า มีวิธีการที่หลากหลายต่อการจัดการปัญหาขยะ แต่ภาครัฐกลับไม่ได้ให้ความสนใจ ตัวอย่างที่ทางกลุ่มได้ดำเนินการศึกษามาก่อนหน้าคือ การคัดแยกขยะ เพื่อที่จะทำให้ขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีจำนวนน้อยลง เขาเคยทดลองเก็บขยะจากชุมชนมาทั้งหมด 100 กิโลกรัม เมื่อมาคัดแยกแล้วพบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำมากลับใช้ประโยชน์ ด้วยวิธีการนี่จะช่วยทำให้ขยะที่ต้องกำจัดลดน้อยลง เขาเห็นว่ารัฐควรให้น้ำหนักกับทางเลือกที่ส่งผลเสียกับประชาชนน้อย มากกว่าเร่งดำเนินการตามทางเลือกที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net