เสวนาหลังพม่าเลือกตั้ง-3 ความท้าทายภายหน้า: สิทธิเสรีภาพ-บทบาทกองทัพ-ปัญหาเศรษฐกิจ

เสวนาเรื่องการเลือกตั้งพม่า โดยมูลนิธิคอนราด อาเดนาว - ลลิตา หาญวงศ์ เล่าภูมิหลังพม่าจากประเทศดาวรุ่งหลังยุคเอกราชสู่ประเทศยากจน เมื่อประสบปัญหาภายใน-ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ-นำไปสู่การรัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศยาวนานและบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว - อดีตนักศึกษารุ่น'88 'ขิ่น โอมา' ชี้การปฏิรูปที่ถดถอยทำให้คนไม่พอใจรัฐบาลเต็ง เส่ง คะแนนจึงเทไปที่พรรคเอ็นแอลดี -โดยความท้าทายที่รออยู่คือการปฏิรูปประชาธิปไตย-นโยบายเศรษฐกิจ

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีการเสวนาหัวข้อ "What Myanmar’s election means for ASEAN" จัดโดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (IDS) และ มูลนิธิคอนราด อาเดนาว (KAS) ประเทศเยอรมนี ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล ถนนศรีอยุธยา เป็นการอภิปรายถึงการเลือกตั้งพม่าที่ผ่านมาว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อประชาคมอาเซียน โดย ขิ่น โอมา ประธานเครือข่ายเพื่อประชาธิปไตยและการพัฒนา และผู้ประสานงาน Burma partnership ลลิตา หาญวงศ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวภูมิภาค หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และคืนใส ใจเย็น ผู้อำนวยการสถาบัน Pyidaungsu Institute และผู้ก่อตั้งสำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) ดำเนินรายการโดย นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ภูมิหลังพม่ายุคเอกราช: จากดาวรุ่งสู่ชาติยากจน หลังปิดประเทศ-นโยบายเศรษฐกิจล้มเหลว

เสวนาหัวข้อ "What Myanmar’s election means for ASEAN" จัดโดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (IDS) และ มูลนิธิคอนราด อาเดนาว (KAS) เมื่อ 1 ธันวาคม 2558 วิทยากร (จากซ้ายไปขวา) คืนใส ใจเย็น, ศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, นฤมล ทับจุมพล ผู้ดำเนินรายการ, ลลิตา หาญวงศ์ และขิ่น โอมา

 

ลติตา หาญวงศ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้เขียนหนังสือ Policing in Colonial Burmaเริ่มต้นการอภิปรายโดยกล่าวว่า พม่าเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย และเป็นประเทศขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับบรรดาประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นทวีป และมีจำนวนประชากรน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณพื้นที่ ทำให้มีผู้สนใจทรัพยากรธรรมชาติ เมื่ออังกฤษเข้ามาก็เข้ามาใช้ทรัพยากรในพม่า และแต่ในปัจจุบันพม่าก็ยังมีทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ และปิโตรเลียม

พม่ามีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ กลุ่มคนที่ประกอบกันเป็น “สหภาพแห่งสาธารณรัฐเมียนมา” มีกว่า 135 กลุ่ม โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ใหญ่ 8 กลุ่ม ได้แก่ พม่า กะฉิ่น ชิน ฉาน กะยาห์ กะเหรี่ยง มอญ ยะไข่

คนไทยรู้จักพม่าน้อยมากโดยเฉพาะพม่ายุคอาณานิคม คนไทยยังรู้จักพม่าแต่ช่วงศึกสงครามในยุครัฐจารีต ซึ่งพม่าในยุคอาณานิคมจนถึงยุคที่ได้รับเอกราชนั้น เป็นช่วงที่มีความสำคัญสำหรับการทำความเข้าใจพม่าสมัยใหม่

ในศตวรรษที่ 19 พม่ากับอังกฤษทำสงคราม 3 ครั้ง และพม่าพ่ายแพ้ในที่สุดในปี ค.ศ. 1885 กลายจังหวัดหนึ่งของบริติชอินเดีย อังกฤษถือว่าพม่าเป็นเพชรประดับมงกุฎ เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติ และปริมาณผู้คนที่มีน้อย โดยยังมีพื้นที่ว่างจำนวนมากตรงพม่าตอนล่าง (Lower Burma) โดยการบุกเบิกที่นาบริเวณปากแม่น้ำอิระวดีในช่วงอาณานิคมทำให้พม่ากลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเอเชีย

พม่าถูกพัฒนาจนกลายเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เจริญไม่แพ้ปีนัง หรือสิงคโปร์ ในต้นศตวรรษที่ 20 John L Christian เคยเขียนถึงย่างกุ้งว่า เป็นเมืองที่แทบจะไม่ต่างจากนิวยอร์ก

นอกจากนี้ ในด้านความยิ่งใหญ่จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องการเกษตร หากคิดว่าที่ราบเจ้าพระยากว้างใหญ่แล้ว ให้ไปดูที่ราบลุ่มแม่น้ำของพม่าตอนล่าง โดยช่วงเวลาที่อังกฤษปกครอง ยังมีคนอินเดียจากทุกสารทิศเข้ามาในพม่า เพื่อเข้ามาทำนา หรือเข้ามาทำมาหากินในพม่า และยังมีคนจากอินเดีย ที่เป็นชาวซิกข์ ชาวกุรข่า เข้ามาเป็นตำรวจ ทั้งนี้ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในพม่า เป็นปัจจัยหลักอีกอย่างทำให้พม่ากลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงเมื่อได้รับเอกราช หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม เมื่อพม่าได้รับเอกราชในปี ค.ศ. 1948 นายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าคือ อูนุ ส่วนบิดาของประเทศอย่าง นายพล ออง ซาน ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเขาและคณะรัฐมนตรีอีก 6 ราย ถูกลอบสังหารเสียชีวิตเมื่อ 19 กรกฎาคม ก่อนพม่าได้รับเอกราช 5 เดือน

อูนุ ไม่ใช่นักรบเหมือนนายพลออง ซาน เขายึดมั่นในศาสนา ชอบทำสมาธิ แต่เติบโตมากับ ออง ซาน ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่นในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เมื่อได้รับเอกราช พม่าเป็นประเทศที่มีอนาคตสดใสที่สุดในเอเชีย แต่พม่าก้าวพ้นจากความประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้ เพราะมีปัญหาภายใน มีความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติ

นอกจากนี้ กลุ่มก้อนของนักชาตินิยมที่ร่วมสู้กันมา อย่างพรรค AFPFL ที่ปลดปล่อยพม่าจากอังกฤษก็มาแตกแยกกันเอง ทั้งนี้สิ่งที่จะทำให้พม่าสมัยใหม่เข้มแข็ง หรือพูดอีกอย่างว่า ทำให้พม่าไม่เข้มแข็ง ก็คือ พม่าจะทำอย่างไรถึงจะยุติปัญหาภายในนี้ได้ โดยที่นับตั้งแต่ ค.ศ.1948 จนถึงปัจจุบันพม่าไม่สามารถกำจัดปัญหานี้ได้เลย และความไม่มั่นคงของรัฐบาลพลเรือน จึงนำมาสู่การรัฐประหาร 2 ครั้ง เริ่มต้นที่นายพลเนวิน ถูกเชิญมาเป็นรัฐบาลรักษาการระหว่าง ค.ศ.1958-1960 ทำให้กองทัพพม่า เริ่มมีบทบาทเหนือรัฐบาลพลเรือน และทำรัฐประหารอีกครั้งเมื่อ ค.ศ. 1962 โดยในเวลานั้นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อยู่ภายใต้รัฐบาลอำนาจนิยม ทั้งประเทศไทยช่วงจอมพลสฤษดิ์ อินโดนีเซียช่วงประธานาธิบดีซูการ์โน และฟิลิปปินส์ในยุคเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส

หลังพม่าได้รับเอกราช ประเทศไม่มีความเป็นเอกภาพ ชนกลุ่มน้อยในพม่าแทบทุกคนไม่ได้พูดภาษาพม่า ในช่วงอาณานิคม อังกฤษไม่ได้ปกครองชนกลุ่มน้อยให้เป็นพม่าเต็มตัว ถือว่าเขตชนกลุ่มน้อยเป็นพื้นที่บริหารตนเองหรือพื้นที่ชายแดน (self administrated area / frontier area) เมื่อหลังได้รับเอกราช ก็ไม่ถูกแตะต้องโดยรัฐบาลกลางของพม่า แต่เมื่อกองทัพพม่าขึ้นมาปกครอง ก็อ้างความจำเป็นในการผนวกรัฐเล็กรัฐน้อย จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลกลางมาจนปัจจุบัน

ทั้งนี้ในพม่ามีการก่อตัวของกระแส ultra-nationalism (ชาตินิยมจัด) และ xenophobia (กลัวต่างชาติ) ซึ่งขึ้นไปถึงประเด็นศาสนา มีการทำให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ เรียกร้องให้นำวัฒนธรรมพม่าแท้กลับเข้ามา จำกัดและลดบทบาทชาวต่างชาติ ทั้งชาวอินเดีย ชาวจีน และชาวตะวันตก

อุปสรรคหนึ่งคือก่อนหน้านี้ยุคอาณานิคม อังกฤษไม่ได้ปกครองให้คนในพม่ามีทักษะการปกครองประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ก็นำมาจากอินเดีย เช่น ตำรวจจะนำคนกุรข่า (Gurkha) ซิกข์ (Sikhs) มาราธาส (Mahrattas) ราชปุตร (Rajput) ฯลฯ แต่คนพม่าจะถูกจำกัดมากๆ ผู้บัญชาการตำรวจคนแรกที่เป็นคนพม่าจริงๆ เพิ่งมีก่อนพม่าได้รับเอกราชไม่กี่ปี ก่อนหน้านี้ถ้าไม่ใช่คนตะวันตก ก็เป็นคนจากอินเดีย

หลังพม่าได้รับเอกราช คำถามใหญ่คือใครจะเป็นผู้นำ หรือคนที่มีทักษะเพียงพอในการพัฒนาประเทศ คำตอบคือมีน้อยมาก คนที่มีทักษะด้านนี้มักถูกปฏิเสธโดยรัฐบาล อูนุไม่ได้ต้องการคนฉลาดที่สุด ไม่ได้ต้องการคนพม่าที่จบต่างประเทศ แต่อูนุต้องการนำพาประเทศไปสู่ socialist democracy หรือสังคมนิยมประชาธิปไตย เป็นระบอบสังคมนิยมที่รัฐเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และนำศีลธรรมทางพุทธศาสนามาเป็นบัญญัติหลักของประเทศ

รัฐพม่าไม่ได้เน้นเศรษฐกิจเสรี แบบรัฐเผด็จการของไทยสมัยจอมพลสฤษดิ์-ถนอม แต่พม่ามีแผนการควบรวมกิจการชาวต่างชาติให้เป็นของรัฐ ให้คนพม่ากลับมาเป็นคนพุทธเคร่งครัด มากกว่าเป็นพม่าหัวนอก และจ้างผู้เชี่ยวชาญใหม่มาแทนผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศคนเก่าที่อยู่มานาน

เมื่อเนวินทำรัฐประหาร ได้ปฏิวัติประเทศอย่างจริงจัง ไม่ได้ขึ้นมาปีสองปีแล้วปล่อยให้อูนุจัดการเลือกตั้ง ในยุคของนายพลเนวินมีการตั้ง Revolutionary Council (สภาปฏิวัติ) ใช้พรรคโครงการสังคมนิยมพม่า หรือ BSPP ปกครองประเทศ ซึ่งต่อมารัฐบาลทหารนี้จะเปลี่ยนแปรสภาพมาเป็น SLORC และ SPDC ตามลำดับ นักเศรษฐศาสตร์มักกล่าวว่า การปฏิวัติของนายพลเนวินเป็นต้นกำเนิดของปัญหาปัจจุบันคือปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ

ในการเลือกตั้งพม่า สิ่งที่เราแทบจะไม่เคยเห็นเลยจากพรรคการเมืองพม่า ก็คือนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล มีคนถามว่า ทั้งพรรคเอ็นแอลดี (พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย) หรือพรรคยูเอสดีพี (พรรคสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลปัจจุบัน) มีนโยบายเศรษฐกิจอะไร คำตอบคือไม่มีเลย และเพิ่งจะมีการพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจไม่นานนี้ แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องมองดูพม่าแบบยาวๆ คือเรื่องเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาหลังยุคอาณานิคมการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของพม่าล้มเหลว เพราะขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้ามาดำเนินการ โดยในปลายทศวรรษ 1980 พม่าจึงถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศยากจนที่สุดในโลก

ในตอนท้าย ลลิตา กล่าวถึงบทบาทของกองทัพพม่าว่า มีคำถามว่า กองทัพพม่าซึ่งอยู่ในอำนาจมายาวนานไม่มีทีท่าจะลงนั้น เมื่อจัดการเลือกตั้งไปแล้ว กองทัพพม่าจะลงจากการเมืองไหม “ตอบได้เลยว่าไม่ จะอยู่คู่ฟ้าพม่าไปอีกนานแสนนาน” ลลิตาอภิปรายต่อไปว่า สิ่งที่กองทัพพม่ายึดมั่นคือ ทำอย่างไรให้พม่ามั่นคงปึกแผ่นมากที่สุด และรักษาความเป็นสหภาพให้มากที่สุด

ในกรณีของนายพลเนวิน อยู่ในอำนาจมาหลายทศวรรษ โดยครั้งหลังสุดที่มีประชาชนเดินขบวนประท้วงคือในปี ค.ศ.1988 หรือ 8888 หรือยึดเอาเหตุการณ์เดินขบวนใหญ่ในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 ที่คนในสังคมพม่าไม่พอใจการบริหารงานของนายพลเนวิน จึงออกมาประท้วงตามท้องถนน มีคนเสียชีวิตจากการถูกกองทัพพม่าปราบปราม

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือเหตุการณ์ 8888 ไม่ได้มีฐานะเป็น 14 ตุลาคมของพม่า แต่เป็นเวทีแจ้งเกิดให้ ออง ซาน ซูจี ซึ่งในเวลานั้นเรียนอยู่ที่อังกฤษ แต่แม่ป่วยจึงกลับมาเยี่ยมแม่ มีโอกาสปราศรัยต่อประชาชนที่หน้าเจดีย์ชเวดากองในปีนั้น และหลังจากนั้นก็ไม่ได้กลับอังกฤษเลย แม้แต่ในช่วงที่สามีป่วยก็ไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมได้

ทั้งนี้สภาพการณ์ในปี ค.ศ.1988 พม่าตอนนั้นตึงเครียดมาก ประชาชนโกรธแค้น ต้องการทำให้รัฐบาลทหารล้มไปให้ได้ ในเวลานั้นทำให้ออง ซาน ซูจี และพรรคเอ็นแอลดีซึ่งเพิ่งตั้งเข้ามามีบทบาท ได้ลงสมัครในการเลือกตั้งปี ค.ศ.1990 มีพรรคการเมืองจำนวนมากลงสมัครรวมทั้งพรรคของรัฐบาลทหารคือพรรค NUP (พรรคเอกภาพแห่งชาติ) โดยผลการเลือกตั้ง ก็ไม่ต่างจากการเลือกตั้งในปีนี้ คือพรรคเอ็นแอลดีก็ชนะแบบถล่มทลาย แต่รัฐบาลทหารก็ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และมีรัฐบาลทหารปกครองมาอีกยาวนาน มีรัฐบาลSLORC และ SPDC ปกครองประเทศมาอีกหลายปี และนำสิ่งที่เรียกว่าพิมพ์เขียว 7 ขั้นตอนไปสู่ประชาธิปไตย แต่ไม่ได้แปลว่าพม่าจะเปลี่ยนทันทีทันใด ขั้นตอนสุดท้ายของพิมพ์เขียวก็คือจัดการเลือกตั้งที่ “เสรีและยุติธรรม” ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไปนี้เอง และสิ่งแรกๆ ที่คนพม่าต้องการเห็นก็คือการเลือกตั้งนี้จะเสรีและยุติธรรมจริงหรือไม่

 

000

ชัยชนะของพรรคเอ็นแอลดี เพราะความไม่พอใจรัฐบาลเต็ง เส่งที่ไม่ปฏิรูปตามสัญญา

ผู้สนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ระหว่างร่วมฟังการปราศรัยหาเสียงย่อยที่ลานตรงข้ามสถานีรถไฟย่างกุ้ง เมื่อคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 (แฟ้มภาพ/ประชาไท] (รับชมภาพ)

ขิ่น โอมา ผู้ประสานงาน Burma Partnership อดีตนักศึกษาพม่าในยุคปี 1988 กล่าวว่า ช่วงรัฐบาลพรรค ยูเอสดีพี ที่ผ่านมานั้นคนพม่ารู้สึกว่าการปฏิรูปไม่ได้เกิดขึ้นแท้จริง แม้จะมีการเปิดประเทศด้านเศรษฐกิจ แต่ไม่เกิดผลประโยชน์ให้กับประชาชนธรรมดาแท้จริง ชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ที่นำโดย ออง ซาน ซูจี เป็นผลมาจากความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาลปัจจุบัน

ทั้งนี้เมื่อพม่ามีการเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2010 และมีการเลือกตั้งซ่อมที่พรรคเอ็นแอลดีลงสมัครในปี ค.ศ. 2012 ประชาชนมีความหวังว่า รัฐบาลเต็ง เส่ง จะดำเนินการปฏิรูปตามสัญญาที่ให้ไว้ แต่การบริหารราชการระหว่าง ค.ศ. 2012-2015 ไม่มีการปฏิรูปเกิดขึ้นจริง ประชาชนมีความคับข้องใจ แม้แต่ชาวนาก็ต้องประท้วงเพราะถูกยึดที่ดิน และการถูกยึดที่ดิน ไม่ได้ถูกยึดเพราะรัฐบาล แต่ถูกยึดที่ดินเพราะกลุ่มทุนในประเทศ

“สิ่งที่เราเห็นในการเลือกตั้งที่ออง ซาน ซูจี และพรรคเอ็นแอลดี ชนะถล่มทลาย เมื่อ8 พฤศจิกายนก็คือประชาชนพูดว่าไม่ต้องการเห็นรัฐบาลทหารอีกต่อไป”

ขิ่น โอมา กล่าวถึงผลการเลือกตั้งว่า ในการเลือกตั้งระดับสมาชิกสภาประชาชน หรือ ส.ส. พรรค เอ็นแอลดี ชนะ 57.73% ของที่นั่งในสภา ที่เหลือเป็นของพรรค ยูเอสดีพี และพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ และอีก 25% เป็นที่นั่งที่มาจากการแต่งตั้งโดยกองทัพ ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกสภาชนชาติ หรือ ส.ว. พรรค เอ็นแอลดี ชนะ 60.26% ที่เหลือเป็นของพรรคยูเอสดีพี ส่วนในระดับท้องถิ่นซึ่งพม่าแบ่งเขตปกครองออกเป็น 14 พื้นที่ ประกอบด้วย 7 ภาค และ 7 รัฐ โดยพรรคเอ็นแอลดี ชนะเลือกตั้งสภาประจำภาค รวมทั้งสภาประจำรัฐในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์เช่นกัน ยกเว้นรัฐยะไข่ และรัฐฉานตอนบน ทั้งนี้ในการเลือกตั้งของพม่ายังมีเรื่องที่พรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์มีขนาดเล็กทำให้เสียเปรียบพรรคใหญ่อย่างพรรคเอ็นแอลดี และพรรครัฐบาลด้วย นอกจากนี้ช่วงก่อนการเลือกตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์เองก็ไม่ต้องการให้พรรคเอ็นแอลดีลงแข่งในพื้นที่เดียวกันด้วย

ขิ่น โอมา ยังประเมินการเลือกตั้ง 8 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาว่าเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรมหรือไม่ด้วย โดยเธอย้ำเตือนว่า ต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นถูกวางกรอบไว้อย่างไร โดยขิ่น โอมา ได้ให้ข้อนิยามไว้ 3 ข้อได้แก่ (1) ไม่ได้ยุติธรรมทั้งหมด (Not fair at all) (2) ค่อนข้างเสรี (Relatively free) และ (3) ไม่ใส่สะอาด (Not clean)

ขิ่น โอมา อธิบายว่า (1) การเลือกตั้ง “ไม่ได้ยุติธรรมเสียทั้งหมด” โดยต้องคำนึงด้วยว่าตามรัฐธรรมนูญ กองทัพสามารถแต่งตั้งคนเข้าไปในสภาได้ร้อยละ 25 อยู่แล้ว แต่กำลังพลก็ยังมีสิทธิเลือกตั้งอีกร้อยละ 75 ถือเป็นการได้ลงคะแนนซ้ำซ้อนหรือไม่

นอกจากนี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ก็มีการโหมเรื่องชาตินิยม โดยกลุ่มพุทธชาตินิยมที่นำโดยพระวีระตุ๊ โจมตีพรรคเอ็นแอลดีว่าพรรคนี้เป็นพรรคที่เป็นมิตรกับมุสลิม ถ้าพรรคนี้ชนะพม่าจะกลายเป็นประเทศมุสลิม อย่างไรก็ตามการโหมประโคมนี้ก็ไม่สำเร็จ

ขิ่น โอมา กล่าวด้วยว่า หลายพื้นที่ในพม่า ชาวบ้านไม่มีสิทธิไปเลือกตั้ง โดย กกต.พม่า ประกาศยกเลิกการเลือกตั้งโดยเฉพาะพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์หลายพื้นที่ โดยในรัฐฉานไม่มีการจัดเลือกตั้ง ส.ส. ใน 7 เขต ซึ่ง กกต.อ้างว่าว่ากังวลเรื่องความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีชาวโรฮิงญากว่า 600,000 คน ซึ่งเคยมีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2010 และบางคนก็เคยลงสมัครเลือกตั้ง ก็ในการเลือกตั้ง 8 พฤศจิกายนนี้ พวกเขาถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

(2) การเลือกตั้ง “ค่อนข้างเสรี” ที่บรรยากาศเป็นเช่นนี้ เป็นเพราะ (1) พรรครัฐบาล ยูเอสดีพี มีความมั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้ง (2) เพราะมีการจับตาของสื่อท้องถิ่นและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้เป็นไปอย่างเสรีจริงๆ เพราะยังมีรายงานว่าการเลือกตั้งในเขตกองทัพ กำลังพลต่างเลือกพรรคยูเอสดีพี

(3) การเลือกตั้ง “ไม่ใส่สะอาด” ทั้งนี้มีรายงานของคะแนนผี การที่ชาวบ้านไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีการปลอมคะแนนในพื้นที่เลือกตั้งที่อยู่ห่างไกล และมีความไม่ชอบมาพากลของคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า นอกจากนี้ กกต.พม่า ก็มีอคติ โดยหลายคนมาจากอดีตนายพลในกองทัพ

ขิ่น โอมา ประเมินสาเหตุด้วยว่าเหตุใดพรรคเอ็นแอลดีจึงชนะอย่างถล่มทลาย โดยเสนอว่าเพราะประชาชนรู้สึกว่าเหลือทนแล้วกับความยากลำบาก การถูกกดขี่ และคอร์รัปชั่นโดยรัฐบาลภายใต้ระบอบรัฐบาลทหาร และในช่วงหาเสียง ออง ซาน ซูจี ได้ปราศรัยย้ำให้ประชาชนลงคะแนน โดยอย่าเพิ่งคำนึงผู้สมัคร แต่ให้เลือกพรรคเอ็นแอลดีไว้ก่อน และให้เลือกอย่างถล่มทลาย และมักย้ำในการปราศรัยว่า “เป็นเวลาเพื่อการเปลี่ยนแปลงแล้ว"

นอกจากนี้ในส่วนของพรรคการเมืองชาติพันธุ์ หลายพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นคู่แข่งกันเองในพื้นที่ของรัฐชาติพันธุ์ ทำให้พรรคเอ็นแอลดีได้เปรียบ นอกจากนี้ประชาชนในพม่ารวมทั้งในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ตัดสินใจที่จะเลือกผู้นำเข้มแข็งเพื่อให้มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจ นั่นคือเลือกออง ซาน ซูจี

ทั้งนี้ขิ่น โอมา เห็นด้วยกับข้อเสนอของลลิตา ที่ว่าพรรคการเมืองในพม่ายังมีข้ออ่อนเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจ โดยขิ่น โอมากล่าวว่า แม้ในการหาเสียงพรรคเอ็นแอลดีจะเริ่มพูดถึงนโยบายเศรษฐกิจ แต่ก็ยังไม่พอที่จะแก้ไขปัญหาที่ดำเนินมายาวนานในประเทศ นอกจากนี้ในประเทศพม่าเองก็มีกลุ่มทุนที่เป็นเครือข่ายใกล้ชิดกับรัฐบาลและผู้มีอำนาจ (Crony) ด้วย

โดยความท้าทายของพม่ายังอยู่ที่เรื่องของการปรับปรุงสถานการณ์สิทธิเสรีภาพ ปัจจุบันในคุกยังมีนักโทษการเมือง มีนักศึกษาที่ถูกรัฐบาลฟ้องดำเนินคดี โดยที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะได้รับการปล่อยตัว ในขณะที่กองทัพพม่าเองก็อยู่เป็นสุขดี กับการไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายต่อปฏิบัติการละเมิดต่างๆ กับประชาชน

ขิ่น โอมา ยังเชื่อว่า ถ้าประเทศพม่ามีการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาคมอาเซียนด้วย และยังเชื่อมั่น การพัฒนาที่มีประชาชนศูนย์กลาง มีการปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน จะเป็นสิ่งท้าทายสำหรับประชาคมอาเซียนในอนาคต หากยังหวังจะเดินหน้าและเจริญก้าวหน้าร่วมกันยิ่งขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท