Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



การก่อการร้ายเป็นวิธีการต่อสู้กับอำนาจวิธีใหม่ มนุษย์คงใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจมาตั้งแต่สมัยหิน แต่ก่อการร้ายเป็นการใช้ความรุนแรงอีกลักษณะหนึ่ง เพราะการใช้ความรุนแรงไม่ได้เป็นจุดหมายในตัวของมันเอง การทำให้เกิดความสยดสยองน่าสะพรึงกลัวต่างหาก ที่เป็นจุดหมายอันแท้จริงของการก่อการร้าย ความสยดสยองน่าสะพรึงกลัวนี้กระทำแก่ทุกคนโดยไม่เลือกหน้า ไม่เฉพาะแต่ผู้ถืออำนาจที่เป็นศัตรูเพียงกลุ่มเดียว

การก่อการร้ายจะเป็นการต่อสู้กับอำนาจที่ได้ผล ก็ต่อเมื่อผู้คนเกิดสำนึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประชาชาติแล้วเท่านั้น รัฐประชาชาติทำให้เกิดสำนึกว่าคนอื่นที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาหรือรู้จักมักจี่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ ล้วนเป็นญาติหรือมีความสัมพันธ์พิเศษกับตนเอง เมื่อพวกนั้นโดนระเบิดหรือกราดยิง จึงรู้สึกน่าสะพรึงกลัวมากกว่าปกติ

เมื่อตอนที่เขาล้อมจับขุนวรวงศาธิราชไปบั่นเศียร คนไทยส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้เป็นพรรคพวกของขุนวรวงศาธิราช ย่อมไม่รู้สึกสยดสยองน่าสะพรึงกลัวแต่อย่างไร เพราะเป็นเรื่องของเจ้านาย ไม่เกี่ยวอะไรกับตัว เช่นเดียวกับการระเบิดตามสถานีรถไฟในรัสเซียสมัยพระเจ้าซาร์ แม้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก แต่พระเจ้าซาร์และขุนนางคงไม่รู้สึกสยดสยองน่าสะพรึงกลัวสักเท่าไร เพราะมั่นใจว่าได้วางกำลังไว้ป้องกันตัวอย่างดีแล้ว มีคนเล็กคนน้อยจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่โชคร้ายบาดเจ็บล้มตายลง

การก่อการร้ายจึงเป็นวิธีการใช้ความรุนแรงแบบใหม่ ไม่ใช่เพราะมีอาวุธแบบใหม่ให้ทำได้ แต่เพราะมี "เหยื่อ" แบบใหม่ให้ทำแล้วได้ผลต่างหาก นั่นคือความเป็นพลเมืองของรัฐประชาชาติ

ทำไมคนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตเมือง ไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือนกับการก่อการร้ายโดยรัฐใน พ.ศ.2553 คำตอบที่ตรงที่สุดก็คือ เพราะไทยยังไม่ได้พัฒนาความเป็นชาติอย่างสมบูรณ์นั่นเอง "คนไม่เท่ากัน" ไม่ได้เป็นหลักการสำคัญของ  กปปส.เท่านั้น ที่จริงแล้วแฝงอยู่ในสำนึกทางสังคมของ "ผู้ดี" ไทยมาตั้งแต่สมัยที่เริ่มโฆษณาลัทธิชาตินิยมใน ร.6 แล้ว

แต่ไม่อย่างนั้นในอีกหลายประเทศซึ่งได้พัฒนาสำนึกความเป็นชาติอย่างเต็มที่แล้ว การก่อการร้าย จึงเป็นรูปแบบที่ได้เห็นอยู่บ่อยๆ ในการต่อสู้กับอำนาจของโลกปัจจุบัน

สาระสำคัญของการก่อการร้ายอีกอย่างหนึ่งคือความไม่ประชาธิปไตย ขบวนการก่อการร้ายปฏิเสธความเท่าเทียมของคนอื่น โดยเฉพาะเหยื่อ ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของเขา เหยื่อจึงเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง ขบวนการ เผด็จอำนาจตุลาการไว้ในมือ คือกล่าวหาและลงโทษเอง ใช้ความสยดสยองน่าสะพรึงกลัวให้รัฐต้องยอมจำนน เพราะถูกประชาชนกดดัน

ในสมัยหนึ่ง ขบวนการก่อการร้ายซึ่งไม่ประชาธิปไตย ต่อสู้กับอำนาจของระบอบที่ไม่ประชาธิปไตยเหมือนกัน เช่น เวียดกงต่อต้านการ "ยึดครอง" ของสหรัฐ ที่ใช้รัฐบาลเผด็จการเป็นเครื่องมือ ขบวนการกู้เอกราชแอลจีเรียใช้การก่อการร้ายต่อสู้กับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ขบวนการฮามาสต่อสู้กับมหาอำนาจที่สนับสนุนการยึดครองปาเลสไตน์ของอิสราเอล ฯลฯ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่อำนาจของระบอบที่ไม่ประชาธิปไตยจะใช้การก่อการร้ายตอบโต้

แต่ที่น่าแปลกก็คือ เมื่อการก่อการร้ายขยายตัวไปสู่ประเทศในระบอบประชาธิปไตย เช่น สหรัฐและยุโรปตะวันตก ประเทศเหล่านั้นก็มักเลือกวิธีการที่ไม่ประชาธิปไตยในการตอบโต้เหมือนกัน

ไม่กี่วันมานี้ คุณอรุณ วัชระสวัสดิ์ วาดการ์ตูนรูปหอไอเฟลกลางกรุงปารีส กำลังแปรรูปจากยอดเป็นเครื่องบินรบทะยานออกไป ทีละปล้องทีละลำ สะท้อนการตอบโต้การก่อการร้ายที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของฝรั่งเศส คือการถล่มเมืองที่พวกไอเอสยึดครองได้ในซีเรีย นอกจากเป็นผลให้นักรบไอเอสเสียชีวิตจำนวนหนึ่งแล้ว ยังเป็นผลให้พลเรือนมากกว่ามากต้องบาดเจ็บล้มตายหรือสูญเสียทรัพย์สินอันเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิต เช่น บ้านเรือนและอาหาร อย่าลืมด้วยว่าสิ่งเหล่านั้นกำลังขาดแคลนอย่างหนักในเมืองเหล่านั้น

หอไอเฟลอาจเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของปารีส แต่ในภาพการ์ตูน ก็อาจเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยแบบฝรั่งเศส ซึ่งเป็นแม่แบบให้แก่ประชาธิปไตยทั่วโลกเสียยิ่งกว่าอังกฤษ ประชาธิปไตยแบบนั้นกำลังกลายเป็นกำลังรบที่สร้างความสยดสยองน่าสะพรึงกลัวให้แก่ผู้คนไม่น้อยไปกว่าการก่อการร้าย เพียงแต่ผู้คนที่ต้องเผชิญ อยู่นอกประเทศห่างไกลจนคนฝรั่งเศสอาจไม่ทันได้รู้สึก

การละเมิดสิทธิมนุษยชนดูเหมือนกลายเป็นมาตรการปกติในการเผชิญกับการก่อการร้าย เกือบจะทันทีที่เกิดวินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐ รัฐสภาอเมริกันก็ผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหลายอย่างอันขัดต่อประเพณีประชาธิปไตยอายุ 200 ปีของสหรัฐออกมา เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจที่ได้มาในการล้วงข้อมูลส่วนตัวของประชาชน หรือแม้แต่ผู้นำประเทศพันธมิตร จับกุมคุมขังคนไว้ในคุกต่างประเทศโดยไม่ตั้งข้อหา และใช้การซ้อมทรมานเป็นเครื่องมือรีดข้อมูล ไม่กี่วันมานี้เอง เบลเยียมซึ่งพลเมืองของตนมีส่วนเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่งกับเหตุก่อการร้ายในปารีส พยายามเข้าไปควบคุมข้อมูลบางเรื่องในโซเชียลมีเดียที่ประชาชนใช้ในการสื่อสารกันอยู่ การกระทำเช่นนี้ ยิ่งทำให้ประเทศกึ่งประชาธิปไตยเช่นไทย ไม่รู้สึกเดือดร้อนกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาคใต้ตอนล่างซึ่งดำเนินมากว่า 10 ปีแล้ว

ทฤษฎีที่ว่าสิทธิมนุษยชนเป็นประตูที่เปิดกว้างให้แก่ผู้ก่อการร้ายสามารถปฏิบัติการได้สะดวก เป็นทฤษฎีที่น่าสงสัยอย่างยิ่ง เพราะเมื่อปิดประตูนี้ในหลายสังคม ผู้ก่อการร้ายก็ยังปฏิบัติการได้อยู่นั่นเอง

มาตรการป้องกันต่างๆ อาจมีความจำเป็น แต่การทำจนเลยเถิดจากความจำเป็น ทำให้วิถีชีวิตปกติของผู้คนเป็นไปไม่ได้ และอาจเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี เช่น ประกาศเคอร์ฟิวด้วยเวลายาวนานเกินไป ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสารบนเครื่องบินทั้งๆ ที่วิทยุการบินและเครื่องมือสื่อสารใช้ย่านความถี่คนละย่านกัน การตรวจค้นด้วยวิธีที่ละเมิดศักดิ์ศรีของผู้ถูกตรวจ ฯลฯ

แท้จริงแล้ว ความปกติในวิถีชีวิตเป็นปราการสำคัญของการต่อสู้ ระหว่าง The Battle of Britain ในสงครามโลกครั้งที่สอง นายกรัฐมนตรีเชอร์ชิล ยืนยันที่จะไม่ปิดโรงเรียน เพราะการที่เด็กต้องไปโรงเรียน ได้สร้างวิถีชีวิตปกติให้แก่คนอังกฤษโดยทั่วไปอยู่แล้ว เช่น แม่อาจต้องตื่นเช้าทำอาหารให้ลูก พ่อต้องพาลูกไปห้องสมุดเพื่อค้นหาข้อมูลบางอย่าง ฯลฯ การหยุดเรียนทำให้ทุกคนเสียขวัญ ไปโรงเรียนหรืออยู่บ้านก็เสี่ยงเท่าๆ กัน คืออาจโดนนาซีทิ้งระเบิดใส่ได้ไม่ต่างกัน รัฐบาลฝรั่งเศสในปัจจุบันก็ขอร้องให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ มากกว่าขอให้เก็บตัวอยู่บ้านอย่างเดียว

ชีวิตปกติก็เป็นสิทธิมนุษยชนอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมักถูกทำลายลงเมื่อ "ประกาศสงคราม" กับผู้ก่อการร้าย

กระบวนการยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่มักจะถูกทำให้ย่อหย่อนลง เมื่อรัฐประชาธิปไตยต้องเผชิญกับผู้ก่อการร้าย การจับกุมคุมขังผู้ต้องหาไว้ในคุกนอกประเทศของสหรัฐ ก็เพื่อหลีกเลี่ยงหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหา ในประเทศไทยศาลมักปฏิเสธสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องหาคดีเผาศาลากลาง เพราะไปมองว่าเป็นคดีก่อการร้าย เช่นเดียวกับ "ชายชุดดำ" ที่ถูกจับตัวได้หลังรัฐประหาร เรื่องราวของเขากลับเงียบหายไปเบื้องหลังการคุมตัวของทางการโดยยังไม่สิ้นสุดกระบวนการยุติธรรม

กลไกประชาธิปไตยอีกหลายอย่างมักถูกระงับไป ในรัฐที่เผชิญกับการก่อการร้าย

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน 30 พ.ย.2558

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net