ทูตสหรัฐแถลงเปิดรับไทย พร้อมตอบคำถาม TPP–เอ็นจีโอค้านดันในรัฐบาลทหาร

30 พ.ย.2558 นายกลิน ที เดวีส์ (Glyn T. Devies) เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเรื่องความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) โดยนายเดวีส์เริ่มต้นการพูดคุยว่าเขาขอพูดและตอบคำถามเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับทีพีพีและเรื่องการประชุมโลกร้อนเท่านั้น ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เพียง 3 วัน พุทธอิสระได้นำประชาชนออกมาประท้วงการให้สัมภาษณ์ของทูตสหรัฐที่ให้ความเห็นว่าไม่ควรมีใครติดคุกจากการแสดงความคิดเห็นโดยสันติ โดยผู้ประท้วงไม่พอใจต่อการวิพาษ์การใช้มาตรา 112 ของไทย

สำหรับเนื้อหาการแถลข่าวนั้น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาและ Kristina Kvein ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจระบุว่า  การประชุม รัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 หรือ COP21 ที่ปารีสนั้นสหรัฐได้เป็นผู้นำในข้อตกลงความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์ การใช้พลังงานสะอาด โดยสิ่งที่สหรัฐจะทำคือการผลักดัน 1.การลดมลพิษ 2.วางรอบการทำงานระยะยาวในการสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศต่างๆ 3. ให้การสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ทั้งในทางการเงินและวิชาการ

ส่วนเรื่องทีพีพีนั้นก็เกี่ยวพันกับการยกระดับมาตรฐานต่างๆ ที่ว่ามาเช่นกัน โดยเดวีส์กล่าวว่า ทีพีพีเป็นความตกลงทางการค้าที่มีมาตรฐานสูงในทุกเรื่อง ไม่ว่ามาตราฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ความโปร่งใสในกฎระเบียบ การส่งเสริมอินเตอร์เน็ตเสรี การลดความยากจน โดยเป็นการค้าระหว่างประเทศที่มีมูลค่าสูงถึง 40% ของจีดีพีโลก และสหรัฐยินดีต้อนรับประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและเคยแสดงความสนใจเข้าร่วม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากการผูกขาดสิทธิบัตรโดยเฉพาะกับการผลิตยาและนโยบายเปิดเสรีภจีเอ็มโอที่บรรจุอยู่ในทีพีพี เดวีส์กล่าวว่า ข้อตกลงนี้ไม่ใช่การหาสมดุลระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ แต่เป็นมันเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตยารายใหม่ด้วย ประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างสูงในการผลิตยาชื่อสามัญหลายตัวและนับเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องนี้ ส่วนจีเอ็มโอนั้นอาจจะยังไม่มีคำตอบที่ดีให้กับไทยนัก

ด้าน Kvein ระบุว่า ขณะนี้มี 12 ประเทศที่กำลังเจรจาทีพีพีร่วมกัน โดยยังอยู่ระหว่างการต่อรองผลประโยชน์กันในทุกประเด็น ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกมาก ส่วนไทยนั้นยควรดูในรายละเอียดข้อตกลงที่ตอนนี้มีออกมาแล้วเป็นพันหน้าให้ละเอียดและให้ประชาชนไทยตัดสินใจร่วมกันด้วยว่าจะเข้าร่วมกับข้อตกลงนี้หรือไม่ ส่วนที่จะเป็นอุปสรรคในการเข้าร่วมทีพีพีของไทยอย่างสำคัญก็คือมาตรฐานแรงงานของไทยเองที่ยังไม่ถึงเกณฑ์

เดวีส์ ยืนยันว่า การแถลงครั้งนี้ไม่ได้ต้องการเร่งรัดให้ไทยเข้าร่วมแต่เป็นเพียงการมาตอบคำถามหากประเทศไทยสงสัยเกี่ยวกับทีพีพี เพราะแม้สหรัฐเองก็ยังต้องศึกษาเรื่องต่างๆ ที่มีรายละเอียดซับซ้อนและอยู่ระหว่างการเจรจาของ 12 ประเทศรวมถึงข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่มต่างๆ ภายในของสหรัฐ
ทูตสหรัฐกล่าวว่า หวังว่านี่จะเป็นเพียงโรดแม็พอันหนึ่งในการเดินทางต่อป แต่ยังไม่จำเป็นต้องต้องเจาะจงหรือเร่งรัด เพราะเป็นเพียงระยะเริ่มต้น เราเพียงแต่พูดถึงหลักโดยกว้างๆ ทั่วไป ส่วนการตัดสินใจเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีออกมาตอบโต้การแสดงความเห็นของเดวีส์เรื่อง 112 ว่าอาจกระทบกับเรื่องเศรษฐกิจ โดยคำถามแรกถามว่าคิดว่าจะกระทบการค้าหรือไม่ และคำถามที่สอง คิดว่าจะมีโอกาสที่จะสังคมไทยจะถกเถียงเรื่องนี้อย่างมีเหตุผลหรือไม่ เดวีส์กล่าวว่า ในคำถามที่สองนั้นเขาไม่มีคุณสมบัติที่จะตอบได้ เขาแค่หวังเกี่ยวกับการเปิดการสนทนาในหัวข้อต่างๆ ที่กระทบต่ออนาคตคนไทยทั้งหมดเพราะมันสำคัญในการลงหลักปักฐานของประชาธิปไตย และขออภัยที่ต้องขออนุญาตไม่ตอบคำถามนี้ ส่วนเรื่องการค้านั้นเขาเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์และอนาคตของประเทศ

นอกจากนี้ยังมีผู้ถามว่าทูตจะร่วมงาน Bike for Dad หรือไม่ เดวีส์กล่าวว่า คิดว่าจะร่วมงานนี้อย่างแน่นอน เพราะมีความเคารพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในบ้านก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระองค์ฉายพระรูปร่วมกับ เอลวิส เพรสลีย์ แต่คงไม่ได้ร่วมในระยะทางหมด แต่อยู่ในส่วนเส้นทางของทูตซึ่งมีระยะทางสั้นกว่า

ด้านกรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากกลุ่มจับตาข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ วอทช์ ให้ความเห็นต่อการแถลงข่าวของทูตสหรัฐในครั้งนี้ว่า ทีพีพีเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯมากกว่าฝ่ายไทย สหรัฐจึงยอมวางหลักการส่งเสริมประชาธิปไตยที่พร่ำเทศนานานาชาติ เปิดอ้อมแขนรับรัฐบาลทหารของไทยที่มีข้อกล่าวหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเข้มข้น ซึ่งก็ตรงกับการทำข้อมูลของ อย.ของไทยที่เคยประเมินผลกระทบจากแค่ทริปส์พลัสเรื่องยาประเด็นเดียว ผลประโยชน์จะตกอยู่กับบริษัทข้ามชาติทั้งหมด บนรายจ่ายของระบบสุขภาพของไทยและชีวิตคนไทย

กรรณิการ์แสดงความกังวลว่า ค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มไม่ต่ำกว่าปีละแสนล้าน ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์อีกไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนล้าน ขณะที่ผลประโยชน์ที่สหรัฐฯมาล่อ เป็นแค่สิทธิพิเศษทางการค้าด้านภาษี ระยะสั้นๆ เท่านั้น

“การเข้า TPP มีผลผูกพันระยะยาวต่อประชาชนคนไทย เหตุใดจึงไม่รอรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยซึ่งน่าจะสะท้อนความต้องการของประชาชนได้มากกว่า ถ้าสหรัฐอ้างว่ากระบวนการกว่าจะเข้าได้ มันใช้เวลายาวนาน อีก 2 ปี TPP จึงจะเปิดรับสมาชิกใหม่ได้ ถึงตอนนั้นอาจจะมีการเลือกตั้งแล้ว ก็แสดงว่า รัฐบาลสหรัฐยอมรับการตัดสินใจของรัฐบาลรัฐประหาร ยอมรับการปกครองของรัฐบาลทหารที่จะผูกมัดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคตด้วยใช่หรือไม่”

กรรณิการณ์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัฐบาล คสช. เล่นบทในเรื่องนี้ไปกันคนละทิศคนละทาง นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทุกหน่วยราชการไปศึกษาข้อมูล text แล้วทำความเห็น ขณะที่สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประกาศว่าจะเข้า TPP ให้ได้ และไปขอร้องญี่ปุ่นให้ช่วย ทั้งที่ยังไม่มีการประชุมรวบรวมความเห็นหรือถกข้อมูลระหว่างหน่วยงานเลย

“มีข่าวลือหึ่งว่า ในการประชุม ครม.นัดพิเศษวันที่ 4 ธ.ค.นี้ จะดันเรื่อง TPP เต็มแรง ถ้าข่าวนี้จริง ก็ต้องถือว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ มีความสามารถในการเลียนแบบนักการเมืองที่ตัวเองเคยกร่นด่า เพราะเมื่อ 3 ปีที่แล้ว วันที่ 4 ธ.ค. ครม.ยิ่งลักษณ์ ก็เคยนำกรอบการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป เข้าอนุมัติทั้งที่ไม่เคยผ่านการรับฟังความคิดเห็น โดยอาศัยช่วงเวลาวันสำคัญในการดึงความสนใจของสาธารณชนออกไป” กรรณิการ์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท