Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ทำงานในเมือง ดีกว่าทำสวนที่บ้าน?

ถ้าคุณเบื่อชีวิตมนุษย์เงินเดือน คลิปนี้มีคำตอบข้อมูลเพิ่มเติม คลิก www.facebook.com/konglakuentin/photos/a.441285489355996.1073741828.441230242694854/541760302641847/?type=3&permPage=1

Posted by คนกล้าคืนถิ่น on Thursday, September 24, 2015


เพื่อนส่งวิดีโอ ‘คนกล้าคืนถิ่น’ ซึ่งกระหน่ำแชร์ร่วม 70,000 ครั้งบนหน้าเฟซบุ๊ก ด้วยเป็นธรรมดาของชนชั้นกลางผู้ขี้ขลาดตาขาวเกินกว่าจะแบกรับผลกระทบในภายหลัง ส่วนตัวจึงพยายามหลบเลี่ยงจะพาดพิง วิพากษ์ วิจารณ์ อะไรก็ตามแต่ที่บั่นทอนน้ำใจมิตรสหาย ซึ่งรายล้อมด้วยคนดี แต่ถึงกระนั้นแล้ว 70,000 แชร์ ย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่ควรค่าแก่การหลบเลี่ยงจะพูดถึงในต่างแง่มุมไม่

คนกล้าคืนถิ่น เป็นโครงการความร่วมมือขององค์กรเกษตรพอเพียงทั้งหลาย ตั้งแต่สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิปิดทองหลังพระ หนึ่งไร่หนึ่งแสน สภาหอการค้าไทย สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มธ. ม.ลาดกระบัง เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิธนาคารต้นไม้ โครงการ 100 โครงการเปลี่ยนประเทศ (โครงการหนึ่งในโครงการปลุกพลังเปลี่ยนไทย) ม.หอการค้าไทย โครงการผูกปิ่นโตข้าว มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มูลนิธิพิทักษ์ประชาชาติ ม.เกษตรศาสตร์ มูลนิธิข้าวขวัญสันติอโศก เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย และกองทัพบก ด้วยหวังจะเพิ่มปริมาณแรงงานเกษตรมีความสามารถให้ชุมชน

นอกเหนือจากการเติมเต็มมายาคติชุมชนให้อุดมสมบูรณ์ ในหมู่คนชั้นกลาง และประสบความสำเร็จในการสานต่อวาทกรรม ‘มิตรสหายชาวทุ่ง’ ซึ่งมีมาตั้งแต่เริ่มเกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ กทม. หรือในอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อ กทม. กลายเป็นศูนย์กลางกระจุกความเจริญแล้ว กระบวนการสื่อสารก็ไม่มีมากไปกว่าความพยายามหาแพะรับบาป เพื่อง่ายต่อการโยนความโง่ จน เครียด ให้ใครก็ตาม ซึ่งอยู่ในฐานะต่ำกว่าผู้เล่าเรื่อง การใช้ fear approach ดังกล่าวจึงเป็นวิธีการสื่อสารเดียวที่องค์กรคนดีใช้อย่างต่อเนื่อง และประสบความสำเร็จยิ่งในจินตนาการของหมู่ชนชั้นกลาง หากแต่ไม่สามารถทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาจริง ๆ ได้ เช่น การถาโถมงบประมาณมหาศาลไปกับการทำสื่อ เพื่อจะบอกว่า คนสูบบุหรี่คือความอัปยศของครอบครัว คือความน่ารังเกียจของสังคม คือฆาตกร ฆ่าลูก ฆ่าเมีย โดยดูจะชัดเจนกว่า ความพยายามจะเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม หรือ จน เครียด กินเหล้า ที่มีผู้วิจารณ์จนช้ำเลือดช้ำหนองแล้ว แต่ ‘ภาคีเครือข่าย’ ก็ยังคงนำไปพูดถึงอย่างภาคภูมิ โดยตั้งใจลืมไปว่า ถ้า รวย มีความสุข ก็กินเหล้าได้ ไม่เป็นไร การหยิบยกตัวละครชาวบ้าน คนจน เกษตรกร แรงงาน มาอยู่ในสื่อดังกล่าว จึงไม่ได้อยู่ในสถานะของการสื่อสารบนความเข้าใจ หรือในบทบาทตัวละครที่สะท้อนภาพลักษณ์ของตัวคนต่างจังหวัดเองในทางปัจเจก หากแต่เป็นสัญญะแสดงถึงต้นแบบที่ไม่น่าเอาเยี่ยงอย่าง เป็นตัวแทนแห่งความโง่ ความไม่รู้ ไม่ประสีประสา สร้างความมักง่ายต่อการกล่าวโทษคนต่างจังหวัดอย่างเฉยชาว่า ประเทศไทยมีทุกอย่าง แต่ที่คนยังจนเพราะคนบ้านนอกมันโง่ เป็นต้น

วิดีโอ ‘คนกล้าคืนถิ่น’ ฉบับ ดร.เกริก ก็เช่นกัน คลิปเริ่มด้วยการโยนความผิดบาปให้กลุ่มพนักงาน แรงงาน ในเมืองกรุง ที่ทนรถติด ทนเสียงบ่นด่าจากเจ้านาย ทนรับเงินเดือนอันน้อยนิด ที่เมื่อเทียบกับผู้พูดแล้วช่างต่างราวนรกสวรรค์ วิดีโอจึงสร้าง ‘โลกจำลอง’ ให้ผู้พูดและผู้ถูกพูดถึงเกี่ยวดองกันด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ลักษณะเดียวกับครู-นักเรียน พ่อแม่-ลูก คนรวย-คนจน ด้วยยกให้ผู้พูดเหนือกว่าในทุกกรณี และเมื่อสร้างให้ผู้พูดฉลาดกว่า ย่อมหมายถึง ผู้ถูกพูดถึงโง่กว่าโดยปริยาย นอกจากนี้ยัง กระหน่ำซ้ำเติมกลุ่มคนผู้หนีความอาภัพ มาใช้ชีวิตรอดในกรุงเทพอย่างยากลำบาก ด้วยการบอกต่อว่า การได้มาซึ่ง รถไม่ติด เงินเดือนมหาศาล ไม่ต้องถูกเจ้านายด่านั้น ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ทำ ‘ชิล ๆ’ เป็นเกษตรสายชิล ทำไปบันเทิงเริงรมย์ไป

จากนั้น ก็ตามจารีตนิยมของวิธีการสื่อสารที่ออกผ่านองค์กรลักษณะนี้ คือการสรุปทุกสิ่งที่รับชมว่า หากจะถึงพร้อมด้วยอะไรเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องยาก แค่เริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองมี หนทางแห่งความร่ำรวย ไม่มีหนี้สิน ช่างง่ายดายเสียยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น กระบวนการสรุปจบสำเร็จรูป ไม่ต้องการความซับซ้อน ขายได้ดีเสมอในหมู่ผู้ต้องการความง่าย พอ ๆ กับการขายคอร์สกำลังใจ ดูแล้วแทบจะโยนแมคบุ๊คทิ้ง ไปจับจอบถางหญ้า พรวนดิน แหม วิถีเกษตรสายชิล  ช่างง่ายดายอะไรเสียจริง แต่อย่าพูดถึงปัญหาราคาสินค้าเกษตร ภัยแล้ง แมลงศัตรูพืชนะ ไม่เอา ไม่ยากได้ยิน รับไม่ได้

ไม่มีใครอยากทำงานแทบตายแล้วได้เงินน้อย อยากเสียเวลากับรถติด หรือมีความสุขกับเสียงเจ้านายบ่นด่าหรอกครับ เพียงแค่คนส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ ไม่ได้มี ‘privilege’ (อภิสิทธิ) พอที่จะเลือกชีวิตเยี่ยง ดร.เกริก ได้เท่านั้นเอง มีคนอีกมากที่ทำงานเท่าไรก็ไม่เคยพอ เพราะต้องส่งเงินช่วยพ่อแม่ ต้องแก้ปัญหาลูกติดยา เพราะ(กว่าจะ)ได้ค่าแรงแค่ 300 บาท จะออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมที่ไม่เคยได้รับ ก็โดนด่าในฐานะผู้ทำรถติดเสียแล้ว

ในทางการสื่อสาร เสียงของคนเหล่านี้จึงไม่เคยถูกพูดด้วยเสียงและท่าทีของเขาเอง หากแต่ถูกพากษ์ด้วยเสียงคนดี เสียงผู้รู้ เสียงองค์กรทำงานเพื่อสังคม (ทว่า สังคมที่ว่านั้น พาสเจอร์ไรซ์คนที่ไม่เข้าพวกออกไปแล้ว) เสียงประชาชน ในความหมายของผู้มีเลือด มีเนื้อ มีสุข มีทุกข์ มีความขัดแย้ง มีผลประโยชน์ มีน้ำตา มีความต้องการจะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศพอ ๆ กับคนที่เข้าถึงโอกาสมากกว่า มีความต้องการใช้อินเตอร์เน็ต และรถไฟฟ้าเช่นเดียวกัน จึงไม่เคยถูกสื่อสารผ่านช่องทางเหล่านี้แม้แต่น้อย

กระนั้นแล้ว อย่าได้ตกใจไป “ในเมื่อตีวัวกระทบคราดขนาดนี้ ยังมีทั้งวัว ทั้งคราด กดแชร์ กันมากมาย” นับตั้งแต่ไทยทำสนธิสัญญาเปิดประเทศในสมัย ร.4 ก็เริ่มรับแรงงานข้ามชาติมาทำงานจำนวนมาก ชาวจีนเข้ามามีบทบาทในภาคแรงงานนานนับศตวรรษ ด้วยคนไทยส่วนใหญ่ยังพอใจกับรายได้และชีวิตไร่นา จนปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ ดำเนินเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรีนิยม ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม และจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ แรงงานไทยก็เริ่มเคลื่อนย้ายออกจากชนบทเข้ามามีชีวิตในเขตอุตสาหกรรมอย่างแข็งขัน

ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับวิธีคิดของหมู่คนกรุงเดิมที่เริ่มรับไม่ได้กับการเจริญเติบโตของกลุ่มคนต่างจังหวัด ที่เข้ามาตัดส่วนแบ่งเค้ก ซึ่งแต่เดิมตนเคยสวาปามอย่างสุขหนำสำราญ วาทกรรมกลับไปใช้ชีวิตชนบท จึงเริ่มกล่อมประสาทสังคมไทยนับแต่นั้นมา ดังจะเห็นได้จากเพลงชาวทุ่ง ซึ่งขับร้องโดยเลิศ ประสมทรัพย์ “พวกเราทั้งหลายมิตรสหายชาวทุ่ง  คร้านเคยพบเคยเห็นกรุง  รู้เพียงกรุงนั้นยุงคลุ้งไป ฝุ่นกรุงฟุ้งเฟ้อ สังคมเพ้อเป็นไข้  แสงและสีมีพิษภัย  หาลมจะหายใจไม่มี ...อยู่นาประสาเขาเรา ไร้ของมอมเมาเคล้าคลุกกคลี  อยู่เมืองสวรรค์นั่นซี มีแต่ที่พิกลพิการ อย่ามัวสงสัย คิดไปไหนไกลบ้าน รักดินฟ้านาสำราญ เพราะมันเป็นวิมานสุขจริง” เพลงพร่ำสอนคนต่างจังหวัด ซึ่งขับร้องโดยคนกรุงเทพ ให้ชวนจินตนาการว่า กรุงเทพมันน่ากลัว ยุงก็เยอะ ฝุ่นก็ฟุ้ง หายใจยังลำบาก พวกเราอย่าสงสัยอยากเข้าไปทำงาน อย่าเข้าไปให้คนกรุงเทพ (ที่เขาฉลาดกว่า) หลอกเลย อยู่ป่า อยู่นา อยู่เขา นี่แหละดีแล้ว พอแล้ว เหมาะกับตัวเราดี หนำซ้ำยังตามมาด้วยเพลงอย่าง ข้างขึ้นเดือนหงาย พล็อตหนังละครที่ชีช้ำไปด้วยคนบ้านนอกมาหลงแสงสีในเมืองกรุงจนใจแตก หรือการสร้างตัวละครให้คนต่างจังหวัด ดูตลก เด๋อด๋า ก็ย่อมทำลายความจริงที่เป็นอยู่ เพื่อสร้างความเสียเปรียบทางการต่อรองของคนต่างจังหวัดในทุกกรณี วาทกรรมไล่คนกลับถิ่นที่ไม่มีอะไรกิน จึงเคียงข้างสังคมไทยมาช้านาน

แม้ว่าเสียงของกลุ่มคนผู้ถูกพูดถึงโดยคนกรุง จะถูกสื่อสารผ่านตัวเขาเองมากขึ้น ในยุคสมัยแห่งสังคมออนไลน์ เสียงของคนเหล่านี้เริ่มย่างกรายเข้ามาหลอกหลอน และท้าทายมายาคติอันผิดพลาดของคนกรุง ดังนั้นจึงไม่ผิดแปลกที่จะเห็นโครงการสร้างความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ในนามของความห่วงใย อย่างการสร้างภาพให้อินเทอร์เน็ตเป็นศัตรูบ่อนทำลายวัฒนธรรมไทยอันดีงาม แม้จะยอมรับการใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้นในระยะหลัง เพราะทุกฝ่ายหยั่งรู้ถึงประโยชน์ในการเผยแพร่วิธีคิดฝั่งฝ่ายของตนเองได้เช่นกัน แต่ด้วยอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางเดียวในการเข้าถึงและถ่ายทอดความจริงของกลุ่มคนที่ไม่ได้มี privilege หรือเข้าไม่ถึงทรัพยากร เมื่อคนต่างจังหวัด คนรุ่นใหม่ เด็กเยาวชน เริ่มคล่องแคล่วกับการใช้เครื่องมือเหล่านี้ ย่อมเป็นภัยคุกคามครั้งสำคัญของกลุ่มอำนาจเก่าที่หมดอายุแล้วในทางวิธีคิด ทว่ายังดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ในประเทศอย่างอายุวัฒนะ

ทั้งนี้ ก็มิได้สรุปว่า การถึงพร้อมด้วยองค์ความรู้ ความสามารถประสบการณ์ และกลับไปทำงานสบาย เงินดีที่บ้าน จะเป็นเรื่องผิดแต่ประการใด หากแต่ต้องไม่ละเลยปัญหาความไม่ธรรม ความเหลื่อมล้ำ การจัดสรรที่ดินอันแปลกประหลาด ปัญหาค่าครองชีพ และสรุปเอาเองอย่างมักง่ายว่า ที่ประเทศไทยยากจน เพราะคนต่างจังหวัดโง่ คอยถ่วงความเจริญ

สื่อสารมวลชน จะต้องไม่ตอกย้ำมายาคติชนบทไทย ไล่คนต่างจังหวัดกลับบ้าน โดยไม่สนใจมิติอื่นใด หากแต่ต้องใช้ความจริง พูดคุย สื่อสาร ถ่ายทอด ด้วยความเข้าใจ เป็นมิตร และเป็นธรรม

 

 

อ้างอิง

คลิปวิดีโอจาก แฟนเพจเฟซบุ๊ก คนกล้าคืนถิ่น : ทำงานในเมือง ดีกว่าทำสวนที่บ้าน ? 
คุณวริศ ลิขิตอนุสรณ์ และคุณภัทธา สังขาระ ที่ช่วยตรวจทานบทความ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net