ข่าวสารการประท้วงทั่วไทย 23-29 พ.ย. 2558

กำนัน-ผญบ.พร้อมลูกบ้านรวมตัวขับเจ้าอาวาส “วัดคลองบางไผ่” บริหารเงินไม่โปร่งใส
 
(22 พ.ย.) ชาวบ้านคลองบางไผ่ ต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง กว่า 50 คน นั่งชูป้าย “ไม่เอาเจ้าอาวาส” “ออกไป” “ทำไมวัดไม่มีกรรมการวัด” บริเวณภายในวัด โดยมีนายชวลิต ร่มรื่น กำนันตำบลสำนักท้อน นายธวัชชัย ทองอิ่ม ที่ปรึกษากำนัน นายมนตรี คุ้มครอง สารวัตรกำนัน นายวุฒิชัย ทรงศิริ และนายวินัย นิลไพร ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 ต.สำนักท้อน เข้าร่วมกับชาวบ้าน โดยมี นายนรินทร์ แซ่จู ปลัดอำเภอบ้านฉาง พ.จ.ท.เจริญศักดิ์ แสงสว่าง เจ้าหน้าที่ชุด รปภ.ทร.ที่ 4 ฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านฉาง นำกำลังมาดูแลความสงบเรียบร้อย
       
นายชวลิต ร่มรื่น กำนันตำบลสำนักท้อน เปิดเผยว่า ชาวบ้านต้องการขอเปลี่ยนเจ้าอาวาสวัดคลองบางไผ่คนปัจจุบัน เนื่องชาวบ้านไม่พอใจเจ้าอาวาสหลายเรื่อง โดยเก็บความรู้สึกที่สะสมมานาน สาเหตุแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ชาวบ้านหมู่ 4 ต.สำนักท้อน รวมทั้งสิ้น 184 ครัวเรือน ถูกน้ำท่วมบ้านมิดหลังคาเป็นวันมหาวิปโยค หนักที่สุดประสบความเดือดร้อนแสนสาหัสไม่มีที่พักอาศัยต้องอพยพมาอยู่กันบริเวณริมถนน
       
ตนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ได้พาชาวบ้านซึ่งเป็นคนสูงอายุ เด็ก และสตรี จำนวน 70 คน มาขอพักอาศัยที่วัดเป็นการชั่วคราว โดยให้ผู้ชายคอยเฝ้าสิ่งของที่บ้าน แต่เจ้าอาวาสไม่ให้เข้าพักอาศัยที่ศาลาวัดติดกับโรงครัว โดยให้มานอนที่บริเวณด้านนอกหน้าศาลาเมรุฌาปนกิจศพ ทั้งที่ฝนกำลังตกหนัก จึงต้องย้ายมานอนศาลาบริเวณหน้าโรงเรียน สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง
       
นายชวลิต ร่มรื่น กำนันตำบลสำนักท้อน กล่าวต่อว่า ชาวบ้านไปยืมของเครื่องใช้เพื่อจะนำไปใช้ในการทำบุญก็ไม่ให้ยืม รวมทั้งบริหารวัดโดยไม่เอาคณะกรรมการวัด ทำให้ชาวบ้านสงสัยเรื่องรายรับรายจ่ายการเงินของวัด แต่จะตั้งกรรมการวัดเฉพาะกรณีที่มีงานทอดกฐิน หรืองานพิธีต่างๆเท่านั้น ปัจจุบันเบิกจ่ายเงินบริหารการเงินของวัดเพียงผู้เดียว และยังมีอีกหลายเรื่องซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่พอใจมารวมตัวต้องการให้เปลี่ยนเจ้าอาวาสโดยเร็ว
       
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านที่มารวมตัวกันจะเข้าไปพบเจ้าอาวาสบนวัด แต่ถูกชาวบ้านส่วนหนึ่งกีดกันไม่ให้เข้าไปบนวัด จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารต้องเข้าไปเจรจา และขอให้ส่งตัวแทนเข้าไปคุย จำนวน 20 คน
       
ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านยื่นคำถามให้เจ้าอาวาสตอบว่าทำไมบริหารการเงินรายรับรายจ่ายไม่แต่งตั้งคณะกรรมการวัดเข้ามาร่วมตรวจสอบ ทำไม่ยืมสิ่งของเพื่อจะนำไปใช้งานบุญก็ไม่ให้ และอยากทราบว่า ปัจจุบันเงินของวัดมีเหลืออยู่เท่าไหร่ ทำให้เกิดมีปากเสียงกับชาวบ้านส่วนหนึ่งที่อยู่กับเจ้าอาวาส เมื่อการเจรจากันไม่รู้เรื่อง เจ้าหน้าที่จึงต้องให้ชาวบ้านลงจากวัดมารวมตัวกันด้านล่าง สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวบ้าน และบอกว่าไม่ต้องการให้เจ้าอาวาสอยู่ต่อไปขอให้เปลี่ยนเจ้าอาวาสใหม่ 
 
 
คนไทยพลัดถิ่นหัวหิน ประท้วงตร.หนองพลับจับกุมตั้งข้อหามั่ว
 
(23 พ.ย.58) นายศึกฤทธิ์ เต็มฟอม นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นตัวแทนนำคนไทยพลัดถิ่นกว่า 300 คน จากหมู่บ้านแพรกตะคร้อ และบ้านท่าไม้ลาย ต.บึงนคร เดินทางไปรวมตัวประท้วง ที่บริเวณด้านหน้า สภ.บ้านหนองพลับ อ.หัวหิน เนื่องจากไม่พอใจกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมคนไทยพลัดถิ่น 3 ราย ประกอบด้วย นายน้อย ปลอดโปร่ง นางมูนะ เวนะ และนางดาว ปลอดโปร่ง  พร้อมตั้งข้อหาเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต 
 
ต่อมานายสุทธิพงษ์ คล้ายอุดม นายอำเภอหัวหิน พ.ต.อ.บุญธรรม วรรณรัตน์ รองผบก.ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์ พ.ต.อ.ฤทธิ์รงค์ กันยาประสิทธิ์ ผกก.สภ.บ้านหนองพลับ ร.อ.ธีระพงษ์ นามสละ ตัวแทนจากมณฑลทหารบกที่ 15 (มทบ.15) นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายปกครองดูแลความสงบเรียบร้อย เดินทางมารับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม พร้อมรับฟังข้อเท็จจริงจากตัวแทนชาวบ้าน พอสรุปได้ว่าเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมคนไทยพลัดถิ่น 3 ราย ขณะรับจ้างทำไร่สับปะรดในพื้นที่ ต.บึงนคร พร้อมตั้งข้อหาเป็นคนต่างด้าว หลบหนีเข้าเมือง ทั้งที่มีบัตรประจำตัวแสดงเป็นคนไทยพลัดถิ่น รอการพิสูจน์สัญชาติ จากกระทรวงมหาดไทยและมีสิทธิทำงานรับจ้างได้ หลังจับกุมเจ้าหน้าที่ได้นำตัวคุมขัง 3 วัน เพื่อรอให้พนักงานสอบสวนทำสำนวนส่งฟ้องศาลจังหวัดหัวหิน 
 
ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาบานปลาย นายอำเภอหัวหินได้ใช้ตำแหน่งยื่นประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย พร้อมประสานพนักงานสอบสวนทำสำนวนสั่งไม่ฟ้องและหาทางเยียวยาผู้เสียหายหลังโดนคุมขัง จากนั้นจะขอให้พิจารณาย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมออกนอกพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านพอใจและสลายการชุมนุมอย่างสงบ
 
 
ชาวบ้าน 4 จังหวัดบุก ป.ป.ช.ยื่นหลักฐานเพิ่ม-ยกเลิกอาชญาบัตรเหมืองทองคำ
 
วันที่ 23 พ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ ตัวแทนประชาชน นำโดยนางวันเพ็ญ พรมรังสรรค์, นางอารมณ์ คำจริง ชาวบ้านจากจังหวัดพิจิตร, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, ลพบุรี พร้อมตัวแทนชาวบ้านประมาณ 40 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เพื่อเป็นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ในคดีเหมืองทองคำ หลังจากที่ ป.ป.ช.ได้ตั้งกรรมการไต่สวนแล้ว
 
ทั้งนี้ เพื่อขอให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบกรณีมีการยกเลิกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินของประชาชน ในพื้นที่เดียวกับมีการขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ของกลุ่มบริษัทคิงส์เกท ที่เข้าสู่ลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว ในหลายจังหวัดนั้นว่าอาจเกี่ยวข้องกันหรือไม่ โดยมีนายสุทธิ บุญมี ผู้อำนวยการสำนักการข่าวและกิจการพิเศษ เป็นผู้รับหนังสือแทน
 
 
กลุ่ม"คนไทยไร้ที่ทำกิน"เดินเท้าไปทำเนียบ ร้องถูกอาญาเถื่อนกลั่นแกล้ง "ลอบยิง-เผาบ้าน"
 
วันที่ 24 พ.ย. กลุ่มชาวบ้านสมาชิกสมาคมคนไทยไร้ที่ดินทำกิน กว่า 10 คน รวมกันที่บริเวณศาลากลางจังหวัดกระบี่ ก่อนออกเดินเท้าไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอความเป็นธรรมกับนายกรัฐมนตรี หลังจากเกิดเหตุ กลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่าย บุกเผา ทำลายที่พัก ทรัพย์สิน ของชาวบ้านกลุ่มผู้เรียกร้องที่ทำกิน ในนามสมาคมคนไทยไร้ที่ดินทำกิน เสียหาย จำนวน 20 หลัง  ทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก ภายในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด เหตุเกิดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
นายปรีดิ์ปราโมทย์ เลิศวรภัทร  ตัวแทนชาวบ้าน เปิดเผยว่า หลังจากเกิดเหตุ ผ่านมากว่า 1 สัปดาห์ ขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบแต่อย่างใด ยังมีกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่าย ลอบยิงใส่กลุ่มชาวบ้านต่อเนื่อง จึงต้องเดินเท้าไปกรุงเทพมหานครเพื่อให้นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เข้าช่วยเหลือชาวบ้าน
 
สำหรับกลุ่มชาวบ้านในนามสมาคมคนไทยไร้ที่ดินทำกินได้เข้ายึดพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของบริษัท สหอุตสาหกรรม จำกัด  ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ มากว่า 1 ปี เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ เอกสารสิทธิครอบครอง เป็น สปก 4-01 หลังพบว่า บริษัทให้คนงาน ลูกจ้าง ถือครองแทน ลักษณะเป็นนอมินี  ที่ผ่านมาสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดกระบี่ ตรวจสอบพบว่า เป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงได้เพิกถอน สปก 4-01 แล้ว  รวม 109 แปลง พื้นที่ 4,998 ไร่  แต่กลุ่มผู้เรียกร้องยังคงอาศัยในพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดสรรที่ดินทำกินให้  ทำให้เกิดความขัดแย้ง กับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่  ซึ่งที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุความรุนแรงขึ้นหลายครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 คน บาดเจ็บจำนวนมาก
 
 
มุ่งหน้าเข้ากรุง! ม็อบสวนปาล์มกระบี่เดินเท้าเข้าพบนายกฯ ขอความเป็นธรรมถุูกเผาที่พัก
 
(25 พ.ย.) ที่วัดควนสบาย ต.กระบี่ใหญ่ อ.เมือง จ.กระบี่ กลุ่มสมาคมคนไทยไร้ที่ทำกินกว่า 20 คน นำโดย นายปรีดีปราโมทย์ เลิศวรภัทร์ ตัวแทนสมาคมฯ ได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดก่อนที่จะเคลื่อนขบวนออกเดินเท้าไปยังถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าไปยังอำเภออ่าวลึก โดยมีจุดหมายที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากนายกรัฐมนตรี
       
จากกรณีกลุ่มบุคคลไม่ทราบฝ่ายบุกเผาทำลายที่พัก และยิงปืนข่มขู่สมาชิกของกลุ่มสมาคมคนไทยไร้ที่ดินทำกิน ที่ปักหลักในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของบริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มฯ ที่ถูกเพิกถอน ส.ป.ก.4-01 ได้รับความเสียหาย จำนวนกว่า 20 หลัง ทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา 
 
นายปรีดีปราโมทย์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องเดินเท้าไปยังทำเนียบเนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มสมาชิกฯ ไม่ได้รับความปลอดภัย ไม่มีการดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งที่มาเรียกร้องให้มีการตรวจสอบที่ดินของนายทุนที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับถูกรังแก กลั่นแกล้ง ข่มขู่จากกลุ่มอิทธิพลต่อเนื่อง ทำให้ไม่ได้รับความปลอดภัย จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือชาวบ้านที่เรียกร้องด้วยความสงบ และดำเนินการเอาผิดต่อกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว
       
สำหรับกลุ่มสมาคมคนไทยไร้ที่ดินทำกิน ได้เข้ายึดพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของบริษัท สหอุตสาหกรรม น้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) ม.4 ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ มานานกว่า 2 ปี 8 เดือน เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ ส.ป.ก 4-01 ที่บริษัทดังกล่าวทำประโยชน์โดยใช้ชื่อคนงาน ลูกจ้างเป็นเจ้าของ ส.ป.ก.จำนวน 109 แปลง เนื้อที่กว่า 4,998 ไร่
       
จนกระทั่งสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดกระบี่ (ส.ป.ก.) ตรวจสอบพบว่า เป็นการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.โดยมิชอบ จึงได้มีคำสั่งเพิกถอน ส.ป.ก.ทั้ง 109 แปลง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ของผู้เสียสิทธิก่อนที่จะมีกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายบุกเข้าเผาทำลายที่พักจนได้รับความเสียหาย และใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่จนสมาชิกต้องอยู่อย่างหวาดผวา เพราะมีเสียงปืนดังต่อเนื่อง 
 
 
ชี้ออก น.ส.3 ป่าชายเลนไม่ได้-ชาวบ้านตั้งกลุ่มอนุรักษ์
 
จากกรณีกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านบ้านบางใหญ่ ต.ทุ่งคา อ.เมืองชุมพร เข้าร้องขอความเป็นธรรมกับศูนย์ดำรงธรรม จ.ชุมพร เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนถูกนายทุนอ้างเอกสารสิทธิที่ดิน (น.ส.3) ในป่าชายเลนอ่าวทุ่งคา-สวี ฟ้องขับไล่รื้อบ้าน พร้อมกับตั้งข้อสงสัยมี น.ส.3 โผล่กลางป่าชายเลน ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ทั้งที่กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านรวมทั้งผู้ใหญ่บ้านที่อาศัยทำกินมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังไม่มีใครมีเอกสารสิทธิใดๆ
 
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 26 พ.ย.นายรักพงษ์ บุญย่อย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเฉพาะภูมิภาค “ไทยรัฐ” ว่า ทางอุทยานฯ เคยเข้าไปตรวจสอบที่ดินแปลงดังกล่าวแล้วทราบเจ้าของที่ดินชื่อนางชลธิชา เชิดชู อายุ 42 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99/1 หมู่ 4 ต.ทุ่งคา อ.เมืองชุมพร และเป็นเจ้าของร้านอาหาร “ยิ้มโภชนา” ซึ่งได้นำเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มาแสดง มีเนื้อที่ 17 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา เมื่อทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรลงไปตรวจสอบพื้นที่ว่าที่ดินแปลงนี้ได้มาอย่างไร ได้มาโดยชอบตามกฎหมายหรือไม่ก็ได้ทำเรื่องเสนอไปยังต้นสังกัดคือสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ น.ส.3 ฉบับดังกล่าวว่าตรงกับภาพถ่ายทางอากาศหรือไม่
 
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร กล่าวอีกว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 4 สุราษฎร์ธานี ได้ส่งเรื่องการตรวจสอบมาที่ จ.ชุมพร แล้ว และยังไม่ทราบว่าผลการตรวจสอบจะออกมาเป็นอย่างไร เนื่องจากยังไม่ได้เห็นหนังสือฉบับนั้น แต่สภาพพื้นที่หมู่ 4 ต.ทุ่งคา โดยทั่วไปเท่าที่ทราบไม่มีใครมีเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร การออกสารสิทธิจะกระทำไม่ได้ และจะต้องตรวจสอบการได้มาของ น.ส.3 ฉบับนี้โดยละเอียดต่อไป
 
ทางด้านนายวิษณุ เซียงเจ็น อายุ 37 ปี หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน และบ้านพักที่อยู่อาศัยถูกทุบทิ้ง เปิดเผยว่า พวกตนมีอาชีพทำประมงพื้นบ้านหาเช้ากินค่ำ ขณะนี้ได้รวบรวมชาวบ้านในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านบางใหญ่ ต.ทุ่งคา ประมาณ 60 คน จัดตั้งเป็นกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนขึ้นมา โดยตั้งชื่อ “กลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลน บางใหญ่ อ่าวทุ่งคา” เพื่ออนุรักษ์และรักษาทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลน ไม่ให้กลุ่มนายทุนผู้มีอิทธิพล หรือใครก็ตามเข้าไปบุกรุกทำลายระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะป่าโกงกาง ป่าแสม แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำที่สำคัญ
 
“พวกตนถูกรังแกมานานแล้ว นับจากนี้จะไม่ยอมอีกต่อไปจะร่วมกันต่อสู้ และตรวจสอบเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด อยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับป่าชายเลนและลงมาตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย ถึงแม้ว่าเอกสารสิทธิที่ได้มาจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องก็ตาม แต่ก็ได้ประกาศให้คนทั้งประเทศได้รู้ว่ามีผู้ได้เอกสารสิทธิครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร โดยเฉพาะผู้ครอบครองป่าชายเลนในท้องที่หมู่ 4 ต.ทุ่งคา เพียงคนเดียวเท่านั้น” ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อสอบถามเจ้าของที่ดินที่มีปัญหาแล้วแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งข่าวคืบหน้าจะนำเสนอต่อไป
 
 
แม่ค้าสามง่ามบุกร้องศูนย์ดำรงธรรมถูกแขวงการทางไล่ที่ทำกิน
 
นายอาวุธ เดชอุปการ และ นางวดีคูณ ลิ่มสกุล อายุ 54 ปี อยู่บ้านเลขที่ 191 หมู่ 4 ต.สามง่าม อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งเป็นแกนนำพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่ริมทางหลวงบริเวณหน้าตลาดสามง่ามพร้อมด้วย พ่อค้า-แม่ค้า ประมาณ 20 คน ได้ร่วมกันเดินทางมายื่นหนังสือร้องทุกข์ให้กับ พ.ต.ท.ถนอม จินาวา รองหัวหน้าชุดเฉพาะกิจศูนย์ดำรงธรรม จ.พิจิตร เพื่อขอความเห็นใจว่า พวกของตนค้าขายริมถนนหน้าตลาดสามง่าม ซึ่งเป็นทางเบี่ยงไม่ได้กีดขวางการจราจรบนถนนเส้นหลักแต่อย่างใด ค้าขายเช่นนี้กันมานานนับสิบปี
       
เดิมทีเดียวก็เป็นตลาดกลางร่ม ตลาดปูเสื่อ แต่ต่อมาเทศบาลสามง่ามก็ได้ใช้งบประมาณของทางราชการมาตั้งเป็นเต็นท์เป็นเพิงให้ขายของ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เป็นชาวไร่ ชาวนา เก็บผักหาปลาได้ก็นำมานั่งขายริมถนน พอมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง
       
แต่มาวันนี้แขวงการทางพิจิตรได้ทำหนังสือมาไล่ที่และจะรื้อถอนเต็นท์และเพิงขายของ จึงมาร้องทุกข์ขอให้ศูนย์ดำรงธรรมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำด้วย 
 
 
ชาวบ้านร้องศูนย์ดำรงธรรม-ปปช. โวยอบจ.สุดชุ่ย ใช้งบ 1.4 ล้านทำถนน แค่ 2 เดือนพังแล้ว
 
ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช วันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 นายวิสูตร คีรีพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8 ต.พรหมโลก อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยตัวแทนชาวบ้านกว่า 10 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม กรณีถนนคอนกรีตความกว้าง 4 เมตร ยาว 676 เมตร ภายในหมู่บ้านมีสภาพชำรุด หักและแตกร้าว สร้างเสร็จประมาณ 2 เดือน โดยขอให้ทางศูนย์ดำรงธรรมช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างดังกล่าว มีนายวีระพรรณ สุขขะวัลลิ หน.ศูนย์ดำรงธรรม เป็นผู้รับเรื่อง
 
นายวิสูตร กล่าวว่า ถนนคอนกรีต สายบ้านยางปากสระ-บ้านทุ่งนาชง ขนาดความกว้าง 4 เมตร ยาว 676 เมตร สร้างโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากสร้างเสร็จแล้ว พบว่า บางจุดยังมีเหล็กโผล่ขึ้นมาบนผิวจราจร มีรอยแตกหักและรอยร้าวเกิดขึ้นหลายจุด ซึ่งสันนิษฐานว่าการก่อสร้างใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน มีอัตราส่วนการผสมของปูนน้อยเกินไป และความหนาไม่ตรงตามแบบแปลน สร้างแล้วเสร็จเพียง 2 เดือน หาผู้รับผิดชอบไม่ได้
 
ที่สำคัญความแปลกประหลาดของป้ายโครงการ ที่ระบุแต่เพียงจำนวนเงินงบ ประมาณ 1,438,000 บาท และชื่อโครงการเท่านั้น แต่ไม่ได้บอกถึงระยะทาง ระยะเวลาของการก่อสร้าง ใครเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ชาวบ้านจึงไม่มั่นใจในความโปร่งใส การตรวจรับงานผ่านไปได้อย่างไร ซึ่งอาจมีการทุจริตเกิดขึ้น  และเกรงว่าหากปล่อยไว้อย่างนี้ ความเสียหายจะต้องเกิดขึ้น
 
นายวิสูตร กล่าวว่า ถนนสายนี้เป็นถนนสายหลักที่ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางขนส่งลำเลียงผลิตผลทางการเกษตรออกสู่ภายนอกมาเป็นเวลานานหลายสิบปี ชาวบ้านดีใจเมื่อได้มีการสร้างถนนคอนกรีตให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้นแต่เมื่อพบว่าการก่อสร้างดังกล่าวมีปัญหา เกิดความเสียหายขึ้นหลายจุด จึงวอนร้องผ่านศูนย์ดำรงธรรมให้ช่วยตรวจสอบการก่อสร้างดังกล่าวด้วย
 
 
ประท้วงหน้าสถานทูตสหรัฐ จี้ ถอด "กลิน เดวีส์"
 
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานการประท้วงที่นำโดย "พระพุทธอิสระ" ที่นำกลุ่มประชาชนราว 200 คนประท้วงหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย เมื่อช่วงวันศุกร์ (27 พ.ย.) ที่ผ่านมา หลังไม่พอใจความคิดเห็นที่เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย "กลิน เดวีส์" ที่วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ในประเทศไทย และเรียกร้องให้สหรัฐถอดถอนเอกอัครราชทูต
 
รายงานจากสำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า พระพุทธอิสระได้ประณามเอกอัครราชทูตสหรัฐว่า ดำเนินพฤติกรรมไม่เหมาะสม และสหรัฐไม่มีสิทธิในการพยายามกดดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับราชวงศ์ ซึ่งสำหรับประเทศไทยแล้วสถาบันกษัตริย์ถือเป็นเรื่องสูงส่งและต้องปกป้องด้วยชีวิต
 
การประณามของพระพุทธอิสระ สืบเนื่องจากการกล่าวสุนทรพจน์ของนายเดวีส์ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำประเทศไทย เมื่อวันพุธที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเอกอัครราชทูตสหรัฐแสดงความกังวลว่า ศาลทหารของประเทศไทยมีการสั่งจำคุกประชาชนในกรณีหมิ่นเบื้องสูง ว่าเป็นโทษที่ยาวนาน และแสดงความเห็นว่าไม่ควรมีผู้ใดถูกจำคุก เนื่องจากต้องการแสดงความคิดเห็น นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย และยกเลิกการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก
 
ทั้งนี้ ตามกฎหมาย โทษจำคุกในคดีหมิ่นสถาบันมีโทษจำคุกเป็นระยะเวลา 15 ปี อย่างไรก็ตาม ภายใต้รัฐบาลทหารในช่วงที่ผ่านมา มีการตัดสินจำคุกนักโทษที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันในเฟซบุ๊ก 2 ราย เป็นระยะเวลาถึง 28 ปี และ 30 ปี ด้านนักวิเคราะห์ต่างประเทศหลายฝ่ายระบุว่า กฎหมายหมิ่นสถาบัน หลายครั้ง อาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมือง แม้ว่ารัฐบาลทหารของไทยจะอ้างว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องกำจัดผู้ที่ดูหมิ่นสถาบัน
 
 
บุกสภาฯ ร้องโรงงานโฉ่ทิ้งน้ำเสียลงน้ำลำโดมใหญ่
 
นายปรเมษฐ์ ศรีหล้า สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่าตนพร้อมด้วยสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และชาวบ้านที่อาศัยบริเวณรอบลุ่มแม่น้ำลำโดมใหญ่ ได้เข้ายื่นหนังสื่อต่อ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่รัฐสภา เพื่อขอให้ช่วยเหลือชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณแม่น้ำลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง จากการดำเนินการของกลุ่มบริษัทเอกชนที่เข้ามาตั้งโรงงานไบโอก๊าซและโรงงานเอทานอล โดยอาจทำผิดกฎหมายหลายฉบับ เพราะถมดินและก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียทับแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ ส่งผลให้แม่น้ำเน่าเสียและมีสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งลำน้ำดังกล่าวเป็นลำห้วยสาขาของแม่น้ำลำโดมใหญ่ อันเป็นแหล่งเพาะพันธ์และอนุบาลสัตว์น้ำจืดที่สำคัญ 4 แห่ง ลำห้วยคำนางอ้วน ร่องคำงูเหลือม ห้วยคำค่า ห้วยคำผักย้า ส่งผลทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป
 
นอกจากนี้กลุ่มบริษัทดังกล่าวได้มีการก่อสร้างวัตถุปิดกั้นทางสาธารณะประโยชน์หลายเส้นทางที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินของบริษัท โดยการล้อมรั้วและการห้ามประชาชนเข้าใช้ประโยชน์เหมือนที่เคยใช้สัญจรไปมาในอดีต ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจรและดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บผักหาของป่า การหาสัตว์น้ำเลี้ยงชีพ
 
นายปรเมษฐ์ กล่าวด้วยว่า กลุ่มโรงงานดังกล่าวอาจดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ มีการทำลายสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติสาธารณสมบัติของแผ่นดินอย่างร้ายแรง ทำผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ ไม่ว่าประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายที่ดิน พระราชบัญญัติโรงงาน พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกฎกระทรวงอุตสาหกรรม จึงอยากให้หน่วยงานราชการเข้าไปตรวจสอบ
 
ทั้งนี้แม่น้ำลำโดมใหญ่ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของชาวบ้าน เนื่องจากเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำจืดและสัตว์อื่นๆ นานาชนิด เป็นแม่น้ำต้นน้ำที่ไหลผ่านหลายอำเภอก่อนลงสู่แม่น้ำมูล ชาวบ้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำลำโดมใหญ่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหลายหมู่บ้าน คือ บ้านสะพานโดม บ้านห้วยขาม บ้านใหม่ศรีเจริญ บ้านแก่งโดม บ้านคำหมากอ่อน บ้านพึ่งโดม บ้านดอนผึ้ง อยู่ในตำบลแก่งโดม อำเภอสว่างวีระวงศ์
 
อย่างไรก็ตาม แม้ได้มีการร้องทุกข์ไปยังหน่วยงานราชการหลายแห่งที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็ไม่มีความคืบหน้า และเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมายื่นร้องต่อรัฐสภาเพื่อขอให้ช่วยแก้ปัญหา โดยให้ดำเนินการตรวจสอบและมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการหรือเพิกถอนใบอนุญาต เนื่องจากทำผิดต่อกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งขอให้สอบการอนุญาตให้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
 
นอกจากนี้ อยากให้ สปช.ประสานไปยัง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ใช้นโยบายการปราบปรามอิทธิพลและผู้ที่บุกรุกที่ดินสาธารณะสมบัติของแผ่นดินมาดำเนินการอย่างเด็ดขาด เนื่องจากกลุ่มบริษัทดังกล่าวเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่และมีอิทธิพลมากในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าฟ้องร้อง และถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศกำลังมีการปฏิรูปอย่างรอบด้านที่จะได้ดำเนินการปฏิรูปด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย เพื่อไม่ให้มีการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบความเดือดร้อนต่อชาวบ้านในพื้นที่
 
 
ชาวบ้านโวยแนวเขต น.ส.3 สลับไปมาไม่ตรงกับพื้นที่จริง
 
จาก​กรณี​กลุ่ม​ชาว​ประมง​พื้นบ้าน​บ้าน​บาง​ใหญ่ หมู่​ที่ 4 ต.​ทุ่ง​คา อ.​เมือง​ชุมพร เข้า​ร้องขอ​ความ​เป็น​ธรรม​กับ​ศูนย์​ดำรง​ธรรม จ.​ชุมพร เนื่องจาก​ได้​รับ​ความ​เดือดร้อน​ถูก​นายทุน​อ้าง​เอกสาร​สิทธิที่ดิน​ (น.ส.3) ใน​ป่าชายเลน​อ่าว​ทุ่ง​คา-สวี ซึ่ง​อยู่​ใน​เขต​อุทยาน​แห่งชาติ​หมู่​เกาะ​ชุมพร ฟ้อง​ขับ​ไล่​ที่​และ​เข้าไป​รื้อ​ทุบ​ทำลาย​บ้านเรือน​ชาว​ประมง ท่ามกลาง​ความ​เคลือบแคลง​สงสัย​ของ​สาธารณชน​ทั่วไป​ว่าที่​ดิน  น.ส.3 ดัง​กล่าว​ไป​โผล่​อยู่​กลาง​ป่าชายเลน​ได้​อย่างไร ทั้งๆที่​ผืน​ป่าชายเลน​แห่ง​นี้ ไม่​มี​ใคร​เคย​ได้​เอกสาร​สิทธิครอบครอง​เลย​แม้แต่​ราย​เดียว​นั้น
 
ความ​คืบ​หน้า​เกี่ยว​กับ​เรื่อง​นี้ เมื่อ​เวลา 13.00 น.​วัน​ที่ 28 พ.ย. ​นาย​จรัส กำเนิด​โทน อายุ 62 ปี อยู่​บ้าน​เลข​ที่ 95/2 หมู่ 4 บ้าน​บาง​ใหญ่ ต.​ทุ่ง​คา อ.​เมืองชุมพร ประธาน​กลุ่ม​อนุรักษ์​ป่าชายเลน​บาง​ใหญ่ อ่าว​ทุ่ง​คา เปิดเผย​กับ​ผู้สื่อข่าว​เฉพาะกิจ​ภูมิภาค “ไทยรัฐ” ว่า หลังจาก​กลุ่ม​ชาว​ประมง​พื้นบ้าน​ที่​ถูก​นายทุน​อ้าง​เอกสิทธิ น.ส.3 ใน​ที่ดิน​ป่าชายเลน​ฟ้อง​ขับ​ไล่​รื้อ​ทุบ​ทำลาย​บ้านเรือน​ที่​อยู่​อาศัย อ้าง​ว่า​รุก​ล้ำ​เข้าไป​ใน​เขต​ที่ดิน​พิพาท​ของ​นายทุน​คน​ดัง​กล่าว​ออก​ไป​นั้น กลุ่ม​ชาว​ประมง​พื้นบ้าน​ที่​ได้​รับ​ความ​เดือดร้อน รวม​ทั้ง​ชาว​บ้าน​ที่​อาศัย​ใน​พื้นที่​หมู่​ที่ 4 บาง​ใหญ่ ต.​ทุ่ง​คา เกิด​ความ​เห็นใจ​และ​สงสาร​ชาว​บ้าน​ที่​ถูก​รังแก จึง​รวม​ตัว​กัน​จัดตั้ง​เป็น “กลุ่ม​อนุรักษ์​ป่าชายเลน​บาง​ใหญ่ อ่าว​ทุ่ง​คา” และ​มอบหมาย​ให้​ตน​เป็น​ประธาน​กลุ่มฯ เพื่อ​ต่อสู้​กับ​กลุ่ม​นายทุน​อิทธิพล​และ​ร่วม​กัน​ปกป้อง​ผืน​ป่าชายเลน แหล่ง​เพาะ​พัน​ธุ์สัตว์​น้ำ​ที่​สำคัญ
 
นาย​จรัสเปิดเผย​อีก​ว่า จาก​การ​เข้าไป​ตรวจสอบ​พื้นที่​จริง​ที่​นายทุน​ราย​นี้​อ้าง​ว่า​มี​เอกสาร​สิทธิ น.ส.3 ครอบครอง​ป่าชายเลน​นั้น​ใน​เบื้องต้น​พบ​ว่า​มี​ข้อ​พิรุธ​หลาย​อย่าง​ซึ่ง​ไม่​ตรง​กับ​ข้อเท็จจริง​ที่​ปรากฏ​ใน​เอกสาร​สิทธิ น.ส.3 อาทิ แนว​เขต​ที่ดิน น.ส.3 ที่​ระบุ​ว่า​ด้าน​ทิศ​เหนือ​จด​คลอง​บาง​มูล หรือ​ที่​ชาว​บ้าน​เรียก​ว่า​คลอง​บาง​กะ​บูน​นั้น​ปัจจุบัน​พบ​ว่า​เป็น​คู หรือ​ร่องน้ำ​เล็กๆที่​ถูก​ขุด​ขึ้น​มา​ใหม่ มี​ขนาด​ความ​กว้าง​ประมาณ​ 4 เมตร ส่วน​คลอง​บาง​มูล​หรือ​คลอง​บางกะ​บูน ลำ​คลอง ธรรมชาติ​เดิม มี​ขนาด​ความ​กว้าง​ประมาณ 2 เมตร ปัจจุบัน​อยู่​บริเวณ​กลาง​ที่ดิน​ของ​นายทุน​ราย​นี้​นั้น​ก็​หมายความ​ว่า​พื้นที่​ของ​นายทุน​คน​นี้​ได้​ขยาย​เพิ่ม​ขึ้น​จาก​เดิม​และ​มี​การ​นำ​เสา​คอนกรีต​ไป​ปัก​กั้น​เป็น​แนว​เขต​รอบๆพื้นที่​ หาก​ประมาณ​ด้วย​สายตา​คาด​ว่า​บุกรุก​ครอ​บ​คลุม​พื้นที่​มาก​กว่า20 ไร่ ซึ่ง​เกิน​กว่า​เนื้อที่ น.ส.3 ที่​อ้าง​ไว้
 
“ตั้งแต่​ตน และ​ชาว​บ้าน​เข้า​มา​อาศัย​อยู่​ใน​พื้นที่ ยัง​ไม่​เคย​พบ​เห็น​ใคร​เข้า​มา​ครอบครอง​ที่ดิน​ป่าชายเลน และ​เข้า​มา​ทำ​ประโยชน์​ใน​ที่ดิน​แต่​อย่าง​ใด การ​ที่​นายทุน​คน​นี้​จะ​นำ​ไป​ใช้​อ้าง​กับ​ทาง​ที่ดิน​จังหวัด​ชุมพร​เพื่อ​เตรียม​ออก​โฉนด​นั้น​กลุ่ม​ชาว​บ้าน​จะ​ออก​มา​คัดค้าน​และ​ไม่​ยอม​อย่าง​แน่นอน” ประธาน​กลุ่ม​อนุรักษ์​ป่าชายเลน​บาง​ใหญ่​อ่าว​ทุ่ง​คา กล่าว​ใน​ที่สุด ขณะ​ที่​ผู้สื่อข่าว​ไม่​สามารถ​ติดต่อ​เจ้าของ​ที่ น.ส.3 ได้ ซึ่ง​ข่าว​คืบ​หน้า​จะ​นำ​เสนอ​ต่อ​ไป
 
 
ไร้ข้อยุติ! ผู้ว่าฯเชียงรายถอดใจยกเลิกลงพื้นที่ หลังชาวบ้านค้านไม่ให้ใช้ทำเขตเศรษฐกิจฯ
 
ที่ศาลาวัดบ้านบุญเรือง ม.2 ต.บุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ปัญญา คอนซัลแทนต์ จำกัด เอกชนที่ปรึกษาของจังหวัด ไปพบปะกับชาวบ้าน เพื่อชี้แจงโครงการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภายหลังมีการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการใช้พื้นที่ ต.บุญเรือง จำนวน 3,021 ไร่ 1 งาน 75 ตารางวา ซึ่งจังหวัดได้ศึกษาแล้วเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เลือกดำเนินการ
       
โดยมีชาวบ้านร่วมประมาณ 200 คน และมี นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชน นายระวี ถาวร ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์แม่น้ำอิง เข้าร่วมด้วย ซึ่งนายบุญส่งให้เจ้าหน้าที่และบริษัทที่ปรึกษาให้ข้อมูลความเป็นมาของโครงการ และคณะกรรมการระดับจังหวัดมีการคัดเลือกพื้นที่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ เพื่อจัดตั้งเพราะมีความเหมาะสม คือ อ.แม่สาย โดดเด่นด้านการค้าและการเงิน เชียงแสนโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวพักผ่อนและการศึกษา และเชียงของโดดเด่นด้านโลจิสติกส์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และแปรรูปการเกษตร 
       
 ขณะที่ชาวบ้านจัดเป็นนิทรรศการด้านหน้าห้องประชุมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ของป่าชุมชนบุญเรืองซึ่งเรียกชื่อพื้นที่แตกต่างจากจังหวัด ที่ระบุว่า เป็นที่เลี้ยงสัตว์สาธารณประโยชน์บุญเรือง ทางโครงการให้ข้อมูลการวิจัยพื้นที่ประกอบภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวทางอากาศว่า พื้นที่นี้มีความสมบูรณ์
       
โดยเฉลี่ยมีไม้หนาแน่นเฉลี่ย 124 ต้นต่อไร่ ซึ่งมากกว่าป่าเสื่อมโทรม 8 เท่า แบ่งเป็นไม้หนุ่มสูงไม่เกิน 2 เมตร 63 ต้นต่อไร่สูงกว่าป่าเสื่อมโทรม 3 เท่า วัดรอบระดับอกได้ 50 - 100 ซม. มี 44 ต้นต่อไร่มากกว่าป่าเสื่อมโทรม 5.5 เท่า และไม้ที่วัดรอบอกได้มากกว่า 100 ซม. มี 17 ต้นต่อไร่ หรือมากกว่าป่าเสื่อมโทรม 8 เท่า กักเก็บคาร์บนเหนือดิน 17,247 ตัน มีลูกไม้ทดแทนและไม้หนุนที่ขึ้นแทนในอัตราสูง เป็นป่าชุ่มน้ำและสมบูรณ์ด้วยสัตว์ไม่รวมแมลงกว่า 211 ชนิด ที่สำคัญคือ มีเสือปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ นาก ชะมด แมวดาว ฯลฯ ที่เป็นสัตว์หายาก
       
นายบุญส่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับความสมบูรณ์ของพื้นที่ แต่สิ่งที่จะนำไปใส่ในพื้นที่ไม่ใช่ยาพิษ แต่เป็นสิ่งที่ดีและแม้จะมีอุตสาหกรรม แต่เป็นเชิงนิเวศ เพราะไม่มีมลภาวะ หากจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็จะให้กระทบน้อยที่สุด และเชื่อว่า สาเหตุที่ไม่เห็นด้วยเกิดจากไม่เคยมีเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ข้อมูลที่ถูกต้องและมีผู้ที่ได้หรือเสียผลประโยชน์เข้าไปให้ข้อมูลกับชาวบ้านแทน
       
กรณีที่เลือกที่ ต.บุญเรือง เพราะที่ดินอื่นราคาพุ่งสูงมาก จนนักธุรกิจไม่สามารถซื้อแล้วเข้าไปประกอบการจนได้ผลตอบแทนในอัตราที่รวดเร็วได้ ดังนั้น ที่ ต.บุญเรือง จึงเหมาะสมและตนก็เห็นถึงความสมบูรณ์เรื่องสัตว์ป่าและพันธุ์พืชตามที่นำเสนอแต่ก็สามารถปรับให้เหมาะสมได้โดยจะขอพื้นที่เพียง 1 ใน 3 ของเนื้อที่ทั้งหมดหรือราว 1,000 ไร่ โดยที่สมควรสงวนเอาไว้ เราก็จะสงวนเอาไว้ส่วนที่จำเป็นน้อยลงก็นำไปดำเนินการดังกล่าว ส่วนการซื้อขายที่ดินที่เป็นปัญหาก็คงไม่เกิดขึ้น เพราะรัฐจัดหาที่ดินให้เองและการให้ข้อมูลไปต่าง ๆ นานา ก็จะยุติ กระนั้นยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเอกชนรายใดแน่นอน
       
นายบุญส่ง กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีข่าวการสร้างศูนย์ขนส่งสินค้าเชื่อมสะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย - สปป.ลาว ที่ อ.เชียงของ และหากมีการสร้างศูนย์นี้ที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ก็จะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อยู่ฝั่งเดียว แต่หากมีการจัดตั้งในฝั่งไทยในนามเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ก็มีงบประมาณให้แล้วอำเภอละ 50 ล้านบาท เพื่อเข้าไปสร้างสาธารณูปโภค เช่น ถนน ไฟฟ้า ฯลฯ ให้ต่อไป
       
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นชาวบ้านได้แสดงความเห็น ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านการจัดตั้งเขตฯ แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ที่ ต.บุญเรือง เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบโดยเฉพาะน้ำเสีย โดยไม่ไว้ใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบขึ้นจริง เพราะเอกชนที่เคยจะลงทุนในทุ่งสามหมอน ต.สถาน และ ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) เคยศึกษาให้เป็นเขตจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะย้ายจากทุ่งสามหมอนไปลงทุนในป่าชุมชนบุญเรืองแทนด้วยสาเหตุของราคาที่ดินพุ่งสูงดังกล่าว
       
ขณะที่บางส่วนเห็นว่ารัฐบาลในปัจจุบันมีนโยบายให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พื้นที่แก้มลิง ฯลฯ จึงควรปฏิบัติตาม และป่าชุมชนบุญเรืองอยู่ที่ลุ่มชุ่มน้ำติดแม่น้ำอิงหากว่าต้องสร้างแม้จะเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมด และใช้เพื่ออุตสาหกรรมเบาก็ต้องถมดินอยู่ดี ซึ่งจะทำให้พื้นที่หลายตำบลโดยรอบได้รับผลกระทบกันหมด เพราะน้ำอิงโดยเฉพาะฤดูน้ำหลากจะทะลักเข้าท่วม บางคนถึงขนาดระบุว่าหากแสดงการคัดค้านตามกฎหมายไม่ได้ผลก็จะทำทุกวิถีทางเพื่อคัดค้านต่อไป
       
นางเตือนใจ กล่าวว่า พื้นที่ป่าชุมชนบุญเรืองเป็นป่าชุ่มน้ำที่มีพืชมากมายและมีสัตว์ป่าหลากหลายพันธุ์โดยบางชนิดเป็นสัตว์ป่าหายาก จึงเป็นป่าชุมชนที่สมบูรณ์กว้างใหญ่มากที่สุดของลุ่มแม่น้ำอิง ดังนั้น การที่รัฐบาลมียุทธศาสตร์ฟื้นฟูระบบนิเวศ ป่าไม้ ดังนั้น เมื่อมีพื้นที่เช่นนี้ควรอนุรักษ์เอาไว้ส่วนจะจัดตั้งเขตฯ ควรไปหาพื้นที่อื่นที่ยังมีอีกหลายแห่งแทน
       
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า จากการรับฟังความเห็นที่ ต.บุญเรือง ครั้งนี้ไม่ได้ข้อยุติ จนทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายต้องเดินทางกลับโดยยกเลิกกำหนดไปดูพื้นที่ด้วย
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท