รัฐ ประชาชาติ และปัญหาปาตานี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาของรัฐ(เกือบทั่วโลก)#ต่อการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการ ความอยุติธรรม ความชั่วร้าย การกดขี่ ความเหลื่อมล่ำ ฯลฯ ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของรัฐนั้นๆ ก็คือ การสร้างอำนาจหรือให้การสนับสนุนแก่ประชาชนอีกกลุ่มที่เห็นด้วยกับรัฐขึ้นมา (อาจด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ อาทิ รัฐให้เงินแก่พวกเขา หรือเหตุผลด้านทัศนคติ อาทิ ถูกเป่าหูว่าอีกฝ่ายนิยมความรุนแรง ชั่วช้า มีผลประโยชน์แอบแฝง ฯลฯ) #เพื่อให้ประชาชนต่อสู้กับประชาชนด้วยกันเอง เมื่อการต่อสู้มาถึงจุดนี้ ตัวปัญหาจริงๆซึ่งเป็นรัฐก็จะลอยตัวและกลายมาเป็นผู้ที่อยู่ในสถานะเหนือปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นเอง และจากการสังเกตการณ์ในหลายๆกรณี รัฐก็จะแปรตัวเองมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหา แม้ในความเป็นจริงแล้ว #รัฐคือคู่ขัดแย้งกับประชาชนของตัวเอง

ขอยกตัวอย่างเช่น กรณีเสื้อเหลืองเสื้อแดงในประเทศไทย การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายเกือบทุกครั้ง จะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลขุนศึก(ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในประเทศนี้จริงๆและมีสถานะความเป็นรัฐเผด็จการมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของประเทศนี้)ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากประชาชนและร่วมกันขึ้นมาเสวยสุขแบ่งผลประโยชน์ของแผ่นดินอย่างหน้าด้านและไม่สามารถตรวจสอบได้ ในขณะที่ประชาชนทั้งสองฝ่าย ก็ยังคงต้องทนทุกข์ทรมานจากการกดขี่ทางการเมือง/เศรษฐกิจ ความอยุติธรรม ความเหลื่อมล่ำ ถูกข่มขู่คุกคามต่างๆนาๆ เป็นต้น

อีกกรณีตัวอย่างคือ ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี จากการศึกษาประวัติศาสตร์พบว่า หนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดการต่อต้านอำนาจรัฐจากประชาชนในพื้นที่ก็คือ การกดขี่ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความเหลื่อมล่ำและการกลืนกลายทางชาติพันธ์ ความอยุติธรรมต่างๆ ความไม่เท่าเทียมกัน การถูกละเลยจากการพัฒนาและการยกระดับการศึกษา เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้ถูกหมักหมมจนพัฒนามาเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อต่อต้านอำนาจของรัฐ(และมีการยกระดับข้อเสนอของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากรัฐไทย) แต่กระนั้น ก็ยังคงมีบางส่วนของประชาชนในพื้นที่ที่ยังคงเรียกร้องและต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี อาทิ กลุ่มนักศึกษาปัญญาชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มผู้หญิง นักสิทธิ นักกฎหมาย ฯลฯ

แต่เมื่อหันมาดูแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐต่อประเด็นปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เราจะพบว่า รัฐพยายามเบี่ยงประเด็นการเรียกร้องของประชาชนที่ประสบปัญหาเหล่านั้นให้กลายเป็นความต้องการของคนแค่ไม่กี่กลุ่ม/คนเท่านั้นเอง มีการโฆษณาชวนเชื่อให้สถานการณ์และกลุ่มบุคคลดูโหดร้ายต่างๆนาๆ มีการประโคมใช้วาทกรรมที่มุ่งสร้างความเกลียดชั่งระหว่างศาสนาและชาติพันธ์ มีการปลุกปั่นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการให้รู้สึกเกลียดชังต่อคนในพื้นที่ก่อนและระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐยังเข้ามาจัดตั้งและแทรกแซงกลุ่มภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักศึกษา ฯลฯ เพื่อต่อกรและต่อสู้กันเองกับกลุ่มภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักศึกษา ฯลฯ ที่กำเนิดมาจากความเป็นประชาชนในพื้นที่จริงๆ

อนึ่ง ปรากฏการณ์ความรุนแรง(การยิง วางระเบิด วางเพลิง ฯลฯ)ที่ยังคงมีอยู่อย่างคุกรุ่นในพื้นที่นั้น ก็อันเนื่องมาจากการคงอยู่ของกองกำลังติดอาวุธฝ่ายปฏิวัติประชาชนปาตานี ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหานั้น รัฐควรหาทางพูดคุยกับฝ่ายตรงข้ามเพื่อหาแนวทางลดปฏิบัติการทางอาวุธและพยายามเปิดพื้นที่ทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างจริงๆจังๆ(ไม่กลับกลอก ไม่คุกคาม ไม่ตีสองหน้า ไม่ใส่ร้าย ต้องจริงใจ บริสุทธิ์ใจ มีความน่าเชื่อใจ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล มิใช่แบบไทยๆ) เพื่อให้อีกฝ่ายสามารถมีพื้นที่ต่อสู้ เสนอความต้องการที่แท้จริง และมีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ด้วยแนวทางสันติวิธีได้

แต่ในทางกลับกัน รัฐยังคงมีการเพิ่มจำนวนอาวุธและบุคคลติดอาวุธในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง มีการจัดตั้งและฝึกซ้อมกองกำลังติดอาวุธในระดับชุมชน (อาทิ ชรบ., อรบ., ทหารพราน, อส.,ตำรวจคอร์สระยะสั้น 6 เดือน เป็นต้น) มีการคุกคามกลุ่มคนเห็นต่าง(หรือแค่สงสัยว่าเห็นต่าง) ทั้งทางตรงและทางอ้อม มีการตรวจเก็บดีเอ็นเอของประชาชนอย่างเสรี โดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายรองรับและหลักสิทธิมนุษยชน

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ รัฐก็แค่ต้องการเพื่อสยบกองกำลังติดอาวุธฝ่ายปฏิวัติประชาชนปาตานีเท่านั้น หาใช่เพื่อแก้ปัญหาที่คาราคาซังมาเป็นเวลานับร้อยปีไม่ และยังเป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่ๆเพิ่มขึ้นมาอย่างไม่รู้จบ

การสร้างสังคมที่เสมอภาค เท่าเทียม และยุติธรรม รัฐมีส่วนสำคัญในการอำนวยเพื่อให้มันเกิดขึ้นมา และเช่นเดียวกัน ประชาชนเองก็มีส่วนสำคัญเฉกเช่นเดียวกับรัฐ รัฐไม่ควรดูแคลนประชาชนของตัวเอง รัฐไม่ควรสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนเพื่อสถาปนาอำนาจนิยมและแนวคิดทุนนิยมของตัวเอง รัฐไม่ควรส่งเสริมและเป็นแบบอย่างในการใช่ความรุนแรงต่อประชาชน รัฐต้องอำนวยและจัดสรรความสะดวกสบายให้กับประชาชน รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ฯลฯ สุดท้ายนี้ รัฐต้องฟังเสียงของประชาชน เคารพและให้เกียรติ เพราะรัฐเป็นของประชาชน มิใช่ประชาชนเป็นเครื่องมือของรัฐ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท