บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ : สิทธิอันพึงมี 'ทำไมต้องให้อั้นฉี่?' 'ล็อคส้วม' ความรุนแรงต่อแรงงานหญิง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทุกๆวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ถือว่าเป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีในระดับสากล ที่คนทั่วโลกยอมรับร่วมกันว่า “จะไม่ทำร้ายหรือนิ่งเฉยต่อการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ”

ที่มาของวันนี้จากเหตุการณ์สังหารผู้หญิงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวโดมินิกัน 3 คน คือ Patria, Maria และ Minerva Mirable ในคืนวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ.1961 (พ.ศ.2504) ด้วยเหตุผลทางการเมืองในช่วงนั้น คล้อยหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีการรณรงค์เรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงมาโดยตลอด

จนในที่สุดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ.1999 (พ.ศ.2542) องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงได้มีมติให้วันดังกล่าวของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล และในปีเดียวกันนั้นรัฐบาลไทยก็ได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

 29 กันยายน 2558 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 70 (UNGA70) ในหัวข้อ “The United Nations at 70 – the road ahead to peace, security and human rights” ตอนหนึ่งว่า 

“ไทยเป็น 1 ใน 48 ประเทศแรก ที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights) เมื่อปี ค.ศ. 1948 ซึ่งเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่วางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของโลก และยังได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ระหว่างปี ค.ศ. 2010-2013 โดยได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีดังกล่าวในช่วงปี ค.ศ. 2010-2011 ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยได้ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงประเทศและกลุ่มประเทศที่มีความเห็นที่แตกต่าง โดยเน้นการไม่เลือกปฏิบัติ การเป็นหุ้นส่วนที่สร้างสรรค์ รวมถึงการส่งเสริมขีดความสามารถในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”

“สิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากล” จึงเป็นคำสำคัญยิ่งที่บ่งบอกถึงสิทธิในการได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของบุคคลทุกผู้ทุกนามตั้งแต่เกิดมา ไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในชนชั้นใดก็ตาม ไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ เพศ ภาษา การเมือง หรือศาสนา และมีใครมาแย่งชิงเอาสิทธิมนุษยชนไปจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ และแม้ว่ากฎหมายของประเทศนั้นๆจะไม่ยอมรับรองสิทธิมนุษยชน หรือแม้ว่าจะละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ตาม ประชาชนของประเทศนั้นก็ยังมีสิทธิมนุษยชนอยู่ เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีเสรีภาพ มีความมั่นคง และมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่เหมาะสมกับความเป็นมนุษย์

แต่นั้นเอง ณ มุมเล็กๆมุมหนึ่งของประเทศไทย 1 ใน 48 ประเทศแรกที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กลับกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านการ “ล็อคส้วม” ไม่ให้แรงงานหญิงและแรงงานทุกคนในโรงงานแห่งนั้นได้เข้าใช้

23 พฤศจิกายน 2558 ได้มีการประกาศฉบับหนึ่งเลขที่ Memo HR.016/2015 เรื่องการทำความสะอาดห้องน้ำเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของพนักงาน ลงชื่อโดยนายชินอิชิ นากาโอะ ประธานบริษัทซันโคโกเซ เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น 100 % ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด
ต.ปลวกแดง อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นพลาสติก ได้แก่ กันชน สปอยล์เลอร์ และชิ้นส่วนตกแต่งภายในรถยนต์ ส่งให้ลูกค้าที่ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศไทย เช่น โตโยต้า, ฮอนด้า,
มิตซูบิชิ , เจเนรัลมอเตอร์, นิสสัน, ฮีโน่ , ซูซูกิ, อีซูซุ, ฟอร์ด, มาสด้า, มิโนะรุ, ทากาตะ, เดนโซ่, เอ็นเอชเค ฯลฯ ส่งถึงพนักงานทุกคนในบริษัท

โดยระบุว่าห้องน้ำของบริษัททั้งในส่วนสำนักงานและในส่วนโรงงานสกปรกและไม่น่าใช้ เป็นแหล่งรวมเชื้อโรคต่างๆ เนื่องจากมีผู้ใช้บริการบางส่วนใช้ห้องน้ำผิดวิธี เช่น เป็นสถานที่สูบบุหรี่ หรือใช้ห้องน้ำเป็นที่ทิ้งขยะ ดังนั้นบริษัทฯจึงแจ้งให้พนักงานทุกคนปฏิบัติตามหมายกำหนดการหรือตารางการทำความสะอาดของแต่ละแผนกที่จะแจ้งให้ทราบต่อไป สำหรับพนักงานที่ฝ่าฝืนประกาศฉบับนี้ บริษัทจะพิจารณาลงโทษตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานต่อไป โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558

อย่างไรก็ตามทางบริษัทฯได้มีมาตรการในเรื่องดังกล่าวนี้อย่างไม่เป็นทางการมาก่อนหน้านั้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็น

- วันที่ 20 ตุลาคม 2558 บริษัทฯได้ล็อคห้องน้ำไม่ไห้พนักงานได้ใช้ โดยอ้างว่าพนักงานที่จะใช้ได้ต้องเป็นคนทำความสะอาดห้องน้ำเท่านั้น ทั้งนี้พนักงานคนใดจะใช้ห้องน้ำต้องไปขออนุญาตจากผู้รับผิดชอบในการถือกุญแจไขห้องน้ำตามที่บริษัทฯมอบหมายก่อน

- วันที่ 27 ตุลาคม 2558 ได้มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงแรงงานมาปรึกษาหารือร่วมกับนายจ้างและสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงระหว่างการเจรจาข้อเรียกร้องที่ยังไม่เป็นที่ยุติระหว่างบริษัทฯกับสหภาพแรงงาน (พิพาทแรงงาน) ทางสหภาพแรงงานฯจึงได้แจ้งปัญหาเรื่องดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ทราบ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าได้หารือกับบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว และยืนยันว่าจะไม่มีการล็อคห้องน้ำแต่อย่างใด

- วันที่ 12 พฤศจิกายน 2558  สหภาพแรงงานฯได้ขออนุญาตประธานบริษัทฯเพื่อขอใช้ห้องน้ำที่แผนกจัดส่ง ระหว่างชี้แจงสถานการณ์พิพาทแรงงานที่เกิดขึ้นในช่วงเย็น โดยบริษัทฯได้อนุญาต แต่พอถึงเวลาดำเนินการจริง พนักงานไม่สามารถใช้ห้องน้ำได้ โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบริษัทฯแจ้งว่า ได้รับคำสั่งจากผู้จัดการฝ่ายบุคคลว่าให้ใช้ได้เฉพาะพนักงานหญิงที่ตั้งครรภ์เพียงเท่านั้น ทำให้สมาชิกสหภาพแรงงานฯต้องไปขออนุญาตบริษัทฯฝั่งตรงข้ามเข้าห้องน้ำแทน

- วันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ได้มีผู้บริหารบางแผนกได้มีการเรียกพนักงานไปพบเพื่อสอบถามกรณีไม่ล้างห้องน้ำตามคำสั่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 และได้แจ้งต่อว่า ถ้าพนักงานคนไหนไม่ล้างห้องน้ำ จะส่งชื่อให้ผู้จัดการฝ่ายบุคคลลงโทษด้วยใบเตือนที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวนี้

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาสหภาพแรงงานซันโคโกเซ ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรคุ้มครองลูกจ้างที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 จำนวนสมาชิกทั้งหมด 653 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 278 คน และยังตั้งครรภ์ร่วมด้วยอีก 16 คน

ปัจจุบันมีนายอมรเดช ศรีเมือง เป็นประธาน และนายคำพันธ์ จูมนอก เป็นเลขาธิการ เป็นองค์กรสมาชิกโดยตรงของกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก , สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW), สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) และสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) ตามลำดับ รวมถึงยังเป็นองค์กรสมาชิกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ทำเรื่องร้องเรียนไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองให้เข้ามาตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

เพียงแค่การ “ล็อคส้วม” ที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ที่ดูราวกับไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ในเชิงสุขภาพแล้ว นี้คือความรุนแรงที่กระทำต่อร่างกายและระบบอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงอย่างร้ายกาจ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเรือนร่างความเป็นมนุษย์คนหนึ่งๆ

ท่อปัสสาวะของผู้หญิงนั้นสั้นและอยู่ใกล้ทวารหนัก จึงเป็นแหล่งซ่องสุมของเชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าทางท่อปัสสาวะของผู้หญิงได้ง่ายกว่าผู้ชาย โดยปกติแล้วร่างกายมนุษย์มีกลไกธรรมชาติที่สำคัญในการที่จะขับเอาเชื้อโรคที่อาจจะหลุดเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะออกไป คือ การปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ ทุกๆครั้งที่มีการปัสสาวะก็คือ การล้างเอาเชื้อโรคที่พลัดหลงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะทิ้งสู่ภายนอกนั่นเอง

ดังนั้นเมื่อมีการ “ล็อคห้องน้ำ” หรือ “ต้องขออนุญาตให้เปิดห้องน้ำให้เข้าใช้” จึงคือ “การกลั้นปัสสาวะหรืออั้นฉี่ไว้นั้นเอง”

ไม่แตกต่างกับการที่ปล่อยให้เกิดน้ำขังนิ่ง ไม่เกิดการไหลเวียนไว้ในบ่อเป็นเวลานานๆ เชื้อโรคต่างๆก็จะเจริญเติบโต มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนน้ำในบ่อเน่าเสีย ดังนั้นเชื้อโรคก็จะวิ่งเข้าเล่นงานอวัยวะที่ใกล้ที่สุด นั่นก็คือ กระเพาะปัสสาวะ จนทำให้เกิดการอักเสบและทำให้เกิดอาการต่างๆตามมา บางคนติดเชื้อแทรกซ้อนกลายเป็นการอักเสบติดเชื้อในกระแสเลือด ส่งผลให้เสียชีวิตได้

ไม่เพียงในเชิงสุขภาพที่เป็นปัญหา อีกทั้งถ้าพิจารณาในเชิงกฎหมาย ประกาศฉบับนี้ยังเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นลูกจ้างที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ กฎหมายด้านแรงงานในประเทศไทย และมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่

(1)   ในระเบียบข้อบังคับการทำงานของพนักงานซันโคโกเซ เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด ไม่มีระเบียบข้อใดหรือในหมวดใดๆเลยที่ได้ระบุเรื่องการที่พนักงานต้องเป็นผู้ทำความสะอาดห้องน้ำจึงจะสามารถใช้ห้องน้ำในโรงงานได้ อีกทั้งเมื่อมาพิจารณาที่กฎหมายด้านแรงงาน รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ระบุชัดเจนเรื่อง “สวัสดิภาพในการทำงานของลูกจ้างที่จักต้องได้รับความคุ้มครองในระหว่างการจ้างงาน” ดังนี้

- กฎกระทรวงฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งออกโดยกระทรวงมหาดไทย , กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และ กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2548 ได้มีการกำหนดสวัสดิการเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยสำหรับลูกจ้างไว้ว่า “บังคับให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องมีการจัดสวัสดิการประเภทสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับลูกจ้าง เรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ ให้นายจ้างจัดให้มีน้ำสะอาดสำหรับดื่ม ห้องน้ำ และห้องส้วมอันถูกต้องตามสุขลักษณะและมีปริมาณเพียงพอแก่ลูกจ้าง”

- พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในมาตรา 14/1 ระบุว่า “สัญญาจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างที่ทำให้นายจ้างได้เปรียบลูกจ้างเกินสมควร ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้สัญญาจ้าง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งนั้นมีผลใช้บังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรม” และในหมวด 8 เรื่องความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ก็ได้ระบุชัดเจนอีกว่า “นายจ้างต้องดำเนินการด้านการบริหารและจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย  และสภาพแวดล้อมในการทำงาน”

- พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 มาตรา 4 ระบุว่า “ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หมายความว่า การกระทำหรือสภาพการทำงานซึ่งปลอดจากเหตุ อันจะทำให้เกิดการประสบอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัยอันเนื่องจากการทำงานหรือเกี่ยวกับการทำงาน”  และมาตรา 6 ระบุว่า “ให้นายจ้างมีหน้าที่จัดและดูแลสถานประกอบกิจการและลูกจ้างให้มีสภาพการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติงานของลูกจ้างมิให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ และสุขภาพอนามัย”

- รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ระบุไว้ในมาตรา 86 ว่า “รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานเด็กและแรงงานหญิง จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม”

- รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ระบุไว้ในมาตรา 44 ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน”  และมาตรา 84 วงเล็บ (7) ว่า “รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”

- รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ระบุไว้ในมาตรา 4 ว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้”

- มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 30 กันยายน 2558 ที่ ครม. เห็นชอบให้ประเทศไทยควรให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย พ.ศ.2549 โดยอนุสัญญาฉบับนี้ได้ระบุเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ “รัฐต้องส่งเสริมนายจ้างให้เกิดการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีต่อสุขภาพอนามัยและมีความปลอดภัย ซึ่ง กำหนดให้หลักการแห่งการป้องกันมีลำดับความสำคัญสูงสุดมากกว่าหลักการเยียวยาและแก้ไข”

 (2)      การที่บริษัทฯอ้างว่า “การกำหนดกิจกรรมการทำความสะอาดห้องน้ำเพื่อสุขอนามัยที่ดีของพนักงาน ถือเป็นการปลุกจิตสำนึกในการรักความสะอาดให้กับพนักงาน และเป็นการสร้างวินัยขั้นพื้นฐานให้กับพนักงานอันจะนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆต่อไปนั้น สำหรับพนักงานที่ฝ่าฝืน จะลงโทษตามระเบียบข้อบังคับในการทำงานต่อไป”

ถ้าพิจารณาที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) เรื่องจ้างแรงงาน ในมาตรา 583 ได้ระบุไว้ว่า “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือให้สินไหมทดแทนก็ได้”

และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2970/2548 ที่ได้วางแนวปฏิบัติไว้ว่า “ลูกจ้าง คือผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้างโดยอยู่ภายใต้อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง หมายความว่า ลูกจ้างต้องทำงานตามที่นายจ้างสั่งและต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย หากลูกจ้างฝ่าฝืนนายจ้างสามารถลงโทษได้”

ดังนั้นเมื่อมาพิจารณาที่ประกาศฉบับนี้ก็เห็นได้ชัดเจนว่ามีความขัดแย้งกับบทบัญญัติในกฎหมายและรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ตามที่ได้ระบุไว้แล้วในข้อ (1) ถือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นบริษัทฯจึงมิสามารถสั่งลงโทษพนักงานในเรื่องดังกล่าวนี้ได้

อีกทั้งถ้าบริษัทฯจะเปลี่ยนข้อบังคับในการทำงานที่บริษัทฯได้กำหนดขึ้นมาใหม่นี้ แน่นอนนี้ย่อมเป็นสิทธิที่นายจ้างจะกระทำได้ตามหลักการบริหารงานภายในบริษัทฯ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ได้ทำให้ลูกจ้างต้องรับภาระที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน กล่าวได้ว่าจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง การที่นายจ้างสั่งให้ลูกจ้างล้างห้องน้ำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง จึงถือเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9017/2550 วางบรรทัดฐานเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนแล้ว

(3)       เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงระหว่างการพิพาทแรงงานระหว่างบริษัทซันโคโกเซ เทคโนโลยี ประเทศไทย จำกัด กับสหภาพแรงงานซันโคโกเซประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า “ห้ามนายจ้างกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้ลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ เพราะเหตุที่ลูกจ้างนั้นเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน” ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทฯไม่เคยมีประกาศใดๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้ห้องน้ำ

 แต่เมื่อเกิดข้อพิพาทแรงงานระหว่าบริษัทฯกับสหภาพแรงงานมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 พบว่า บริษัทฯได้มีการกดดันพนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการล็อคห้องน้ำเป็นมาตรการหนึ่งที่เกิดขึ้นมาในช่วงนี้

 เช่น บริษัทฯได้ออกหนังสือให้สมาชิกสหภาพแรงงานฯสละสิทธิ์ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานฯ ถ้าสมาชิกสหภาพคนใดลงนามแล้วให้มาทำงานและสามารถทำ(OT) ได้ตามปกติ หรือการที่บริษัทฯประกาศเปิดโครงการสมัครใจลาออกโดยอ้างได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ แต่มีการเปิดสมัครพนักงานเหมาค่าแรงและแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองไม่ถูกกฎหมายเข้ามาทำงานในโรงงาน เพื่อกดค่าแรงให้ต่ำลงและไม่ต้องรับผิดชอบในการจ่ายสวัสดิการ เป็นต้น

เหล่านี้คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดในมุมเล็กๆแห่งหนึ่งในประเทศไทย ประเทศไทยที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้ประกาศต่อคนทั้งโลกว่า “ไทยเป็น 1 ใน 48 ประเทศแรก ที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” แต่เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ กระทรวงแรงงานในฐานะองค์กรใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีกลับมิสามารถจัดการใดๆได้เลย อีกทั้งยังปล่อยให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นดำเนินมาจนถึง ณ วันนี้ วันที่ “ส้วมยังคงถูกล็อคอยู่” และการ “อั้นฉี่” ก็กลายเป็นเรื่องปกติในโรงงานแห่งนี้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท