งานวิจัย MIT และฮาร์วาร์ดย้ำสวัสดิการและเงินช่วยคนจน ไม่ได้ทำให้คนขี้เกียจ

มีการถกเถียงกันอยู่เสมอระหว่างฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านสวัสดิการซึ่งฝ่ายต่อต้านมักจะอ้างว่าการมีสวัสดิการหรือนโยบายช่วยเหลือคนจนจะทำให้พวกเขาขี้เกียจไม่ยอมทำงาน แต่จากการวิเคราะห์งานวิจัยของ MIT และฮาร์วาร์ด ที่ศึกษาโครงการในเม็กซิโก นิคารากัว ฮอนดูรัส ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อูกันดา โมร็อกโก และไนจีเรีย พบว่าข้ออ้างจากฝ่ายต่อต้านสวัสดิการไม่เป็นความจริง

ที่มาของภาพประกอบ: epSos.de/flickr.com

25 พ.ย. 2558 - เมื่อไม่นานมานี้เว็บไซต์ Vox เผยแพร่เนื้อหาการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) เรื่องการสำรวจเกี่ยวกับโครงการด้านสวัสดิการและความช่วยเหลือทางการเงิน โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้นในหลายประเทศพบว่าโครงการด้านสวัสดิการและความช่วยเหลือทางการเงินไม่ได้ทำให้ผู้คนขี้เกียจมากขึ้น

งานวิจัยที่ถูกนำมาวิเคราะห์ข้อมูลในครั้งนี้ส่วนใหญ่ทำการสำรวจ "โครงการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไข" (Conditional Cash Transfer หรือ CCT) ซึ่งแต่ละครอบครัวจะได้รับเงินช่วยเหลือในเงื่อนไขพิเศษ เช่น การให้ลูกของพวกเขาเข้าโรงเรียน หรือการให้ลูกของพวกเขารับวัคซีน พบว่าแนวคิดโครงการเช่นนี้สามารถช่วยเหลือคนจนได้ทั้งในแง่การได้รับสิ่งบรรเทาทุกข์และในแง่การส่งเสริมยกระดับพวกเขาจากการได้รับสวัสดิการด้านการศึกษาและการสาธารณสุขได้

เดิมทีนั้น โครงการเหล่านี้ถูกริเริ่มนำมาใช้ในละตินอเมริกาซึ่งการวิจัยในครั้งนีทำการวิเคราะห์ข้อมูลการศึกษาโครงการส่วนหนึ่งจตากประเทศละตินอเมริกาอย่างนิคารากัว เม็กซิโกและฮอนดูรัส รวมถึงโครงการเม็กซิกันโปรแกรมซึ่งให้เงินช่วยเหลือ 13 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 400-500 บาท) แก่ครอบครัวยากจนอย่างไม่มีเงื่อนไข นอกจากนี้ยังทำการศึกษาโครงการจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อูกันดา และโมร็อกโก

การศึกษาโครงการเหล่านี้พบว่าสวัสดิการและการให้เงินช่วยเหลือไม่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญทั้งเรื่องระดับการจ้างงานหรือชั่วโมงการทำงานแต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้ามข้อมูลการศึกษาบางชิ้นพบว่าการแจกเงินยิ่งช่วยส่งเสริมให้มีการทำงานมากขึ้นด้วยโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาบางแห่ง เช่นโครงการให้เงินทุนการศึกษาแก่ชาวอูกันดาที่ยากจนทำให้พวกเขาได้เรียนรู้พัฒนาทักษะฝีมือทำให้พวกเขามีชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และสร้างรายได้ให้ตัวเองมากขึ้นร้อยละ 38 ขณะที่ในงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งระบุถึงโครงการของไนจีเรียที่ให้เงินช่วยเหลือฝึกทักษะด้านธุรกิจแก่หญิงชาวอูกันดาพบว่าทำให้ชั่วโมงทำงานของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 61

Vox ระบุว่าโครงการช่วยเหลือทางการเงินในประเทศแอฟริกา 2 โครงการนี้มีการเน้นย้ำในเรื่องการส่งเสริมธุรกิจโดยให้ผู้ที่ต้องการรับทุนเข้าร่วมอบรมต้องระบุว่าพวกเขาจะใช้เงินพัฒนาทักษะด้านนี้ไปปรับปรุงธุรกิจของตัวเองอย่างไร และนอกจากนี้ยังมีการให้เงินทุนตั้งต้นธุรกิจแบบให้ครั้งเดียวด้วย อย่างไรก็ตามฝ่ายต่อต้านสวัสดิการยังสงสัยว่าการให้เงินก้อนใหญ่แก่คนจนเพื่อเอาไปตั้งตัวทางธุรกิจอาจจะทำให้คนจนเหล่านั้นเอาเงินไปใช้เสียเองแทนที่จะตั้งตัวทางธุรกิจได้

ไม่เพียงแค่โครงการในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น Vox ยังระบุถึงโครงการของสหรัฐฯ คือการเครดิตภาษีเงินได้เนื่องจากการทำงาน (Earned Income Tax Credit หรือ EITC) ซึ่งเป็นการคืนเงินภาษีให้กับบุคคลหรือครอบครัวผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางขึ้นอยู่กับจำนวนลูกที่พวกเขาต้องเลี้ยงดูด้วย แต่หลักฐานต่างๆ ก็ชี้ให้เห็นว่า EITC ซึ่งเป็นนโยบายแก้ไขความยากจนยิ่งส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานมากขึ้น

และสิ่งที่จะเป็นข้อถกเถียงต่อฝ่ายต่อต้านสวัสดิการที่กลัวการเอาเงินไปใช้ส่วนตัวได้คืองานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาโครงการภาษีเงินได้แบบติดลบ (Negative income tax หรือ NIT) ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นโครงการให้เงินกับครอบครัวผู้มีรายได้ต่ำ ส่งผลให้เกิดการสร้างงานลดลงน้อยมากซึ่งมาจากปัจจัยที่ผู้คนใช้เวลาพิจารณาหางานนานขึ้นเพราะต้องการเลือกงานที่ดีทำ และในบางงานวิจัยที่มาจากการวิเคราะข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยิ่งพบว่ามันแทบจะไม่มีผลกระทบต่อเรื่องปริมาณงานเลย

ทั้งนี้ยังมีกรณีการวิจัยโครงการของแคนาดาที่มีลักษณะแบบเดียวกับ NIT ของสหรัฐฯ พบว่าโครงการช่วยเหลือด้านการเงินกระทบเรื่องปริมาณงานน้อยยิ่งกว่ากรณีสหรัฐฯ เสียอีก โดยส่งผลลดปริมาณงานของแม่มือใหม่ที่ต้องดูแลลูกกับประชากรวัยรุ่นเท่านั้น

Vox ระบุอีกว่าการส่งผลกระทบต่อปริมาณการทำงานจะเกิดกับนโยบายสวัสดิการที่ออกแบบมาไม่ดีเท่านั้นเช่นกรณีโครงการให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่ภาระบุตรพึ่งพิง (Aid to Family with Dependent Children - AFDC) ส่งผลให้เกิดชั่วโมงทำงานลดลงร้อยละ 10-50 แต่นั่นเป็นเพราะ AFDC ให้ความช่วยเหลือมากเท่ากับเงินรายได้จากการทำงานทำให้กลายเป็นการลดแรงจูงใจ อย่างไรก็ตามโครงการสวัสดิการส่วนใหญ่ก็ออกแบบมาได้ดีกว่า AFDC ทำให้ไม่เกิดการลดปริมาณการทำงานลง

เรียบเรียงจาก

Economists tested 7 welfare programs to see if they made people lazy. They didn't., Vox, 20-11-2015 http://www.vox.com/policy-and-politics/2015/11/20/9764324/welfare-cash-transfer-work

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Earned_income_tax_credit

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท