Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


การบริการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมีสถานภาพเพื่อการบำบัดผลข้างเคียง (effective therapy) ต่อร่างกายของผู้ป่วยที่อวัยวะเสื่อมถอยเท่านั้น นับว่าไม่ใช่การรักษา (cure) โรคอีกต่อไป การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเป็นประเด็นนโยบายด้านสุขภาพที่สะท้อนแนวคิดโรคยานุวัฒน์ที่มีความแตกต่างไปจากเดิม ขยายความว่า “การทำให้เป็นปัญหาทางการแพทย์” (Medicalization) การที่วิชาชีพการแพทย์เข้าไปสู่ปริมณฑลด้านต่างๆ ในชีวิตประจำวันของผู้คนเริ่มไร้พลังเพราะไม่ตอบคำถามการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางการแพทย์อย่างก้าวกระโดด ไม่ว่ากรณีเทคโนโลยีเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ การผ่าตัดแปลงเพศของคนข้ามเพศ โดยเฉพาะแง่มุมเชิงจริยศาสตร์และการเมืองของผู้คน คำถามที่ว่าปัจจุบันทำไมเราต้องจัดการกับร่างกายและนิยามตนเองผ่านคุณค่าบางแบบ มากกว่าคุณค่าแบบอื่นๆ เช่น เป็นยุคสมัยที่กังวลกับเด็กอ้วน การเกิดขึ้นของอำนาจของแพทย์ในการจ่ายยาซึ่งไม่ได้เป็นไปเพื่อการรักษาโรค หรือกระทั่งการมีชีวิตสู่ความตายที่การประดิษฐ์สร้างเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

การเปลี่ยนแปลงของโรคยานุวัฒน์สุขภาพรูปแบบใหม่ซึ่งอำนาจของการแพทย์มิได้เข้ามาสัมพันธ์แบบโดดๆ แต่ยังมีผลประโยชน์ทางการค้าและบริษัทยาเข้ามาเกี่ยวข้อง ในตอนที่ 2 เทคโนโลยีทางการแพทย์ ผู้เขียนมุ่งเน้นทำความเข้าใจภาพกว้างตลาดการค้าอวัยวะ ที่มีตัวละครเป็นประเทศผู้ส่งออกและนำเข้าอวัยวะ ปิดท้ายด้วยตัวอย่างการบริจาคและการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในมิติวัฒนธรรมเพื่อให้ผู้อ่านเห็นแง่มุมต่างๆ การแพทย์ ความสัมพันธ์ของตัวเรากับตัวตนของเราผ่านการทบทวนงานศึกษาสำคัญของมากาเร็ต ลอค นักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ ศึกษาเปรียบเทียบสังคมอเมริกาเหนือและญี่ปุ่นในผลงาน Twice Dead: Organ Transplants and the Reinvention of Death  (2002) เนื้อหาเกี่ยวกับผู้ป่วยสมองตาย (brain death) กับการบริจาคเพื่อเปลี่ยนถ่ายอวัยวะให้ผู้อื่นและปฏิบัติการทางสังคมที่ไม่ไว้วางใจเทคโนโลยีเปลี่ยนถ่ายอวัยวะต่อวงการการแพทย์ญี่ปุ่นพอสังเขป ซึ่งความโดดเด่นของงานศึกษาคือการสัมภาษณ์ศัลยแพทย์ด้านสมอง วิสัญญีแพทย์และพยาบาล


-1-

การส่งออกและนำเข้าอวัยวะสากลเป็นหัวข้อถกแถลงระดับนานาชาติในงานประชุมครั้งที่ 2 การประชุมไตรมาสกลางปีขององค์การอนามัยโลก ที่กรุงเจนีวา วันที่ 28-30 พฤษภาคม 28-30 พ.ศ. 2550 คณะทำงานของสภาการปรึกษาสากลว่าด้วยการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมนุษย์ต่างวิเคราะห์สถานการณ์การค้าอวัยวะในตลาดสากล จากรายงานและเอกสารข้อมูลกว่า 309 ชิ้น  สื่อสิ่งพิมพ์ 243 ชิ้น บทความที่เกี่ยวข้อง 51 บทความที่แสดงถึงทิศทางการค้าอวัยวะสากลและผลกระทบ  กระทั่งได้ข้อตกลงในมติการใช้สอยอวัยวะอย่างพอเพียงในประเทศตนเอง เสียงส่วนใหญ่เรียกร้องความรับผิดชอบที่รัฐบาลต้องมีธรรมมาภิบาลต่อการบริจาคอวัยวะและการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะของประชากรตนเอง ภายใต้หลักปฏิบัติการขององค์การอนามัยโลก (Francis L Delmonico , 2554) มากกว่านั้นการประชุมสมัชชาสุขภาพโลกรอบที่ 63 คณะที่ปรึกษาทำการเปรียบเทียบความคืบหน้าของแผนงานระดับชาติมีองค์ประกอบที่ว่าด้วยกรอบกฎหมายและนโยบายบังคับใช้ แผนงานบริจาคอวัยวะที่บูรณาการกับระบบสุขภาพระดับชาติ แหล่งข้อมูลในแผนงาน การปฏิบัติการทางจริยธรรมต่อผู้บริจาคที่มีชีวิตเพื่อความปลอดภัยทางสุขภาพ

ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศใช้กฎหมายการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะฉบับแรก พ.ศ. 2540 เพื่อการใช้สอยอวัยวะอย่างพอเพียง 18 ปีแล้ว พบว่าอัตราของการบริจาคอวัยวะของผู้ป่วยที่ตายแล้วและการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคที่มีชีวิตและตายไปแล้ว มีอัตราต่ำสุดเป็นอันดับ 4 ใน 98 ประเทศ มากกว่านั้นมีผู้รับอวัยวะได้รับการบริจาคอวัยวะจากผู้บริจาคที่รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็น “ผู้ป่วยสมองตาย”มีจำนวน 83 ราย ในรอบ10 ปีที่ผ่านมา (Jessica Ocheltree , 2011) อย่างไรก็ดีการเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุงกฎหมายการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในญี่ปุ่นก็ได้รับแรงผลักดันจากปัญหาทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีความเฉพาะตัวอย่างน่าสนใจซึ่งจะอธิบายในบทปิดท้าย

จากรายงานแสดงค่าเฉลี่ยของการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ปี ค.ศ. 2555  พบว่ามีผ่าตัดการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ 68 ครั้งต่อวันทั่วโลก   และจำนวน 10 ครั้งของการผ่าตัดเป็นค่าเฉลี่ยรายปีของญี่ปุ่นใน 20 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเกิดเครือข่ายการเปลี่ยนอวัยวะในญี่ปุ่นและกฎหมายควบคุมและการจัดการบริจาคอวัยวะในปี พ.ศ. 2538 และพระราชบัญญัติการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2540   การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยมากขึ้นในปี พ.ศ. 2543 ทำให้สาธารณชนเกิดความตระหนักเกี่ยวกับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะและหลีกเลี่ยงการค้าขายอวัยวะจากอาชญากรรมและคอรัปชั่น หากทว่า สถานการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เกิดกรณีการผิดกฎหมายการค้าอวัยวะและการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเชิงท่องเที่ยวในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (Akiko Sumida, 2011)


-2-

การท่องเที่ยวเพื่อการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ  (Transplant tourism) หมายถึง การซื้อขายอวัยวะที่ครอบคลุมหรือเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบหลายระดับของกระบวนการค้าเพื่อการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ในที่นี่คือกระบวนการการค้าขายอวัยวะข้ามแดน ที่ต้องมี “พ่อค้าคนกลาง” หรือสถานบริการที่รับบริจาคและจัดการเดินทางให้ “ลูกค้า” หรือผู้รับอวัยวะเดินทางมายังอีกประเทศเพื่อทำการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

แบบแผนการตลาดการค้าอวัยวะนานาชาติ

รายงานข่าวต่างประเทศเสนอการซื้อขายการอวัยวะจากผู้บริจาคที่มีชีวิตจากประเทศต้นทางจากสาธารณรัฐมอนโดวาไปสู่สหรัฐอเมริกา และจากเนปาลไปสู่อินเดีย  (Haviland,BBCNews2004,Sep21) ปลุกความสนใจใคร่รู้ของผู้คน เนื้อข่าวต่อมายังเสนอแบบแผนของการท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ในบางกรณีทั้งผู้ป่วยและผู้รับบริจาคเป็นพลเมืองคนละประเทศต่างเดินทางมายังประเทศโลกที่สามเพื่อผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ หลักฐานจากโรงพยาบาลออกัสทีนส์ในแอฟริกาใต้ในปี 2001-2002 พบว่ามีผู้ป่วยที่เดินทางมาผ่าตัดจำนวนมากกว่า 100 รายที่เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนไตที่ผิดกฎหมาย โดยผู้รับอวัยวะจำนวนมากมาจากอิสราเอล ขณะที่ผู้บริจาคมาจากยุโรปตอนกลางและบราซิล อีกกรณีที่ตำรวจทำการสอบสวนในบราซิลและแอฟริกาใต้ได้ขุดค้นขบวนการค้าอวัยวะสากลซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์มาสู่การค้าอวัยวะ (Malaughlin, A. 2004)


ประเทศส่งออกอวัยวะ

อินเดียเป็นประเทศขึ้นชื่อในด้านการส่งออกอวัยวะ โดยอวัยวะจากผู้บริจาคท้องถิ่นได้เปลี่ยนถ่ายให้แก่ชาวต่างประเทศด้วยการซื้อขาย ถึงแม้ว่าจำนวนของผู้รับอวัยวะชาวต่างประเทศจะลดลงภายหลังอินเดียมีกฎหมายห้ามค้าอวัยวะบังคับใช้ (Human Organ Transplantation Act 1994)  แต่ตลาดมืดการค้าอวัยวะท้องถิ่นก็ยังทำงานอย่างต่อเนื่อง สมาคมแพทยสภาของอินเดียได้ประเมินว่า ในทุกๆ ปีชาวอินเดียจำนวน 2,000 คนได้ขายไต  (Hogg C., BBC News2002Aug30) ซึ่งจำนวนผู้รับอวัยวะชาวต่างชาติที่ลดลงสอดคล้องประเทศส่งออกอวัยวะอื่นๆ เช่น ปากีสถานและฟิลิปปินส์ ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของปากีสถานมีสถาบัน Sindhi ที่มีหมอที่เชี่ยวชาญโรคไต (Urologist) รายงานผลการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในปี ค.ศ. 2005 มีจำนวน 2,000 ราย จำนวน  2 ใน 3 เป็นผู้รับอวัยวะชาวต่างประเทศ (Rizvi, 2007) ส่วนในประเทศฟิลิปปินส์ ข้อมูลที่ได้รับการบันทึกจากแผนงานควบคุมโรค ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข สถาบันเปลี่ยนถ่ายไตแห่งชาติแสดงตัวเลขการเปลี่ยนถ่ายไตจำนวน 468 ราย และผู้รับอวัยวะ 100 รายมาจากต่างประเทศ

ตัวอย่างของสถานบริการสุขภาพที่จัดหาอวัยวะในเวบไซต์ออนไลน์ “แพคเกจเปลี่ยนอวัยวะ” ดังตารางที่ 1 แสดงสายพานการค้าอวัยวะประกอบด้วย พ่อค้าคนกลางหรือผู้จัดหา ผู้รับอวัยวะในประเทศต้นกำเนิด จากรายงานข่าวไชน่า โพสต์เสนอว่าผู้ป่วยชาวไต้หวันจำนวน 118 รายคนที่เดินทางไปผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในประเทศจีน สอดคล้องกับรายงานต่อกระทรวงสาธารณสุขจีนว่า 69 รายของผู้รับอวัยวะได้รับจัดการจากนายแพทย์ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในไต้หวันและจีนร่วมกันทำงาน (China Post,2006Aug17) จากตารางดังกล่าวรายงานทางการที่สถานที่ทูตว่ากลุ่มประเทศอาหรับเอมิเรตมักเดินทางมาผ่าตัดเปลี่ยนไตที่ประเทศปากีสถานและฟิลิปปินส์ (Walsh D.,TheGuardian,2005Feb10) จาการรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายในการศัลยแพทย์พบว่าการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะประเมินว่า 5% ของผู้รับอวัยวะมาจากตลอดการค้าอวัยวะ

 
 ตารางที่ 1 เวบไซต์การท่องเที่ยวเพื่อเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ(21 มีนาคม 2550)   
 
ชื่อองค์กร/โรงพยาบาล/เว็บไซต์ สถานที่ผ่าตัด ราคาแพคเกจ    
BEK-transplant
(http://www.bek-transplant.com/joomla/index.php)
    จีน    ไต (US$ 70 000) ตับ (US$ 120 000) ตับอ่อน (US$ 110 000)      
China International Transplantation Network Assistance Center
(http://en.zoukiishoku.com/)
     จีน   ไต (US$ 65 000) ตับ (US$ 130 000) ปอด (US$ 150 000) หัวใจ (US$ 130 000)                        
Yeson Healthcare Service Network
(http://yeson.com/index.htm)
     จีน       ไต,ตับ,หัวใจ,ปอด  
Aadil Hospital
(http://www.aadilhospital.com/index.html)
       ปากีสถาน           ไต
Masood Hospital
(http://www.masoodhospital.com/services/surgery/ktp/kidney_transplant.htm)
 ปากีสถาน     ไต  (US$ 14 000)                      
Renal Transplant Associates
(http://www.renaltransplantsurgery.com/index.html)
 ปากีสถาน   ไต [Euro 16 000 (US$ 20 500)]                     
Kidney Transplant Associates
(http://www.kidney.com.pk)
 ปากีสถาน           –                  
Liver4You
(http://www.liver4you.org/)
 ฟิลิปปินส์    ไต (US$ 85 000)                      
 ที่มา: Public Health Review ,Bulletin of the World Health Organization 2007;85:955–962.
 

ในปี ค.ศ. 2005 ประเทศจีนมีการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไตและตับจำนวน 1,200 ราย โดยการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะจำนวนมากจัดหาอวัยวะมาจากนักโทษ ส่งผลให้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในนานาชาติ คำถามต่อการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคที่ตายแล้วและการจ่ายเงินให้กับผู้บริจาคอวัยวะที่แท้จริงก็คือการค้าขายอวัยวะนั่นเอง เนื่องจากหลายประเทศยังขาดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการรับบริจาคอวัยวะ ผนวกกับการที่ผู้รับอวัยวะต่างชาติที่มีกำลังทรัพย์จ่ายหนักให้กับพ่อค้าคนกลางเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะจากผู้บริจาคที่ตายแล้วให้กับชาวต่างชาติในประเทศจีนเป็นการทำงานของกลไกตลาดการค้าสากล อย่างไรก็ตามจำนวนผู้รับอวัยวะต่างชาติในจีนหาตัวเลขที่ชัดเจนได้ยาก รายงานจากสื่อมวลชนยืนยันตัวเลขจำนวนอวัยวะเป็นไตและตับ 900 รายได้รับการเปลี่ยนถ่ายในปี ค.ศ. 2004 ให้กับชาวต่างชาติมากกว่า 19 ประเทศ (Kim C. Tianjin, 2005)

จากกรณีข้างต้น ประเด็นสำคัญก็คือการขาดกระบวนการทางสังคมที่จะสร้างความตระหนักถึงความเกี่ยวพันระหว่างการบริจาคอวัยวะและการค้าอวัยวะ เพื่อหาข้อตกลงทางสังคมในประเด็นความพอพียงเพื่อยกร่างกรอบกฎหมายควบคุมการค้าอวัยวะ อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนและปากีสถานพยามหากลไกควบคุมการค้าอวัยวะสากลซึ่งทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป สำหรับประเทศที่ขายอวัยวะ ยกตังอย่าง โบลิเวีย บราซิล อิรัก อิสราเอล สาธารณรัฐมอนวา เปรู ตุรกี ในกรณีรัฐอิสลามได้ระบุข้อบังคับใช้ว่า การจ่ายเงินให้กับผู้บริจาคได้นับว่าถูกกฎหมาย แต่การบังคับใช้การจัดการอวัยวะไปสู่ผู้ป่วยที่ไม่ใช่พลเมืองของรัฐอย่างเข้มงวดก็ย่อมเป็นการควบคุมการเติบโตตลาดการค้าอวัยวะสากลด้วย (Associated Press of Pakistan.2007Feb24) ในทางตรงกันข้าม รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้จัดสรรเชิงสถาบันเพื่อเปิดเสรีการบริการการแพทย์ ครอบคลุมมาตรการการจ่ายเงินให้ผู้บริจาคไตและอนุญาตให้ผ่าตัดแก่ผู้ป่วยต่างชาติ (Xinhua General News Service,2007 May1)


-3-

ประเทศนำเข้าอวัยวะ

ประเทศต้นทางที่ผู้ป่วยทั่วโลกมาซื้อขายอวัยวะเพื่อการเปลี่ยนถ่าย จากรายงาน Organ Watch ที่มหาวิทยาลัยเบริ์กลีย์ ระบุประเทศนำเข้าอวัยวะเหล่านี้ได้แก่  ออสเตรเลีย แคนนาดา อิสราเอล ญี่ปุ่น โอมาน ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศหลักของการนำเข้าอวัยวะ (Scheper-Hughes N., 2005)

การท่องเที่ยวเพื่อการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการแพทย์หลายภูมิภาค จากตารางที่ 2  ได้เป็นข้อมูลจากการสำรวจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญในแต่ละภูมิภาค สำหรับมาเลเซียและโอมานแสดงให้เห็นการเปลี่ยนเป้าหมายเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ แม้ว่าการวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลไม่อาจทำได้ แต่ข้อมูลเหล่านี้ต้องได้รับการตรวจสอบว่าการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะทั่วโลกและการท่องเที่ยวเพื่อการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในเอเชียและในตะวันออกกลางมีมากกว่าภูมิภาคอื่น ยกตัวอย่างเช่นในแคนาดาและอังกฤษ (มีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ 1027 และ1915 ในปี 2005) ซึ่งประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญท้องถิ่นว่าผู้ป่วย 30-50 รายได้รับอวัยวะมาจากค้าขายในตลาด (Transplant UK,2007)


ตาราง 2.  ตัวเลขรายปีของผู้ป่วยที่เดินทางไปต่างประเทศเพื่อเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ   

 

ประเทศ (ปี) จำนวนการผ่าตัด  
มาเลเซีย (2547)  132 รายเปลี่ยนถ่ายไตภายนอกประเทศ (จีน, อินเดีย)   
โอมาน (2546)  83 รายไปผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะที่ไม่ใช่ไตนอกประเทศ (อิหร่าน, ปากีสถาน)
8 รายผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไตในประเทศ    
เกาหลีใต้ (2547) 73 รายที่อยู่ต่างประเทศเดินทางไปผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะที่จีน 2546 ; เพิ่มขึ้น124 รายเดือนสิงหาคม 2547  
ซาอุดิอาระเบีย (2549)  646  รายผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไตนอกประเทศ   
ไต้หวัน, จีน (2548)  450 รายผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะอื่น ๆในประเทศจีน; 300 รายเปลี่ยนถ่ายไต 

ที่มา: มาเลเซีย (National Transplant Registry,2547) โอมาน (Consultation on Cell, Tissue and Organ Transplantation,2546) เกาหลีใต้ ( Chusonilbo , 24 ตุลาคม 2547) ซาอุดิอาระเบีย ( Saudi Center of Transplantation,2549) ไต้หวัน, จีน  (China Post,2006Aug17)


ผลกระทบที่เกิดขึ้น บทความจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับรายงานการตายของผู้ป่วยที่ไปผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ บ้างถูกต้มตุ๋นให้จ่ายเงินให้กับผู้บริจาคไต และผลสืบเนื่องที่มีต่อผู้บริจาคและผู้รับอวัยวะในตลาดการค้าอวัยวะสากล ผู้ป่วยมีชีวิตรอดมากกว่ามาตรฐานสากลที่ตั้งไว้ ซึ่งการเปรียบเทียบผลที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศพบว่า มีอคติของการรอดชีวิต สถานที่ ระยะเวลา การจัดการข้อมูลและยากที่จะระบุชี้ชัด  มีรายงานว่าผู้ป่วยที่เปลี่ยนถ่ายอวัยวะได้รับเชื้อ HIV  ไวรัสตับ B และไวรัสตับอักเสบ C   (Akpolat T,1998;Al wakeetl eaat ,2000; Kennady SE,2005) ซึ่งมีข้อมูลจาการสืบสวนเชิงประจักษ์ประเด็นเหล่านี้น้อยมาก ผลกระทบการจ่ายเงินบริจาคอวัยวะแก่ผู้บริจาค ไม่มีข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับสถานภาพสุขภาพของผู้บริจาคไต

การค้าขายอวัยวะไม่เพียงแต่มีนัยสำคัญของนโยบายสุขภาพที่กลไกการค้าขับเคลื่อนอุปทาน-อุปสงค์ ที่หนทางการแก้ไขปัญหาทำได้ด้วยการออกกฎหมายควบคุมจริยธรรมทางการค้าอวัยวะจากผู้บริจาคที่มีชีวิตอยู่หรือผู้บริจาคที่ตายแล้ว  หากแต่ยังขาดการแก้ปัญหาความเข้าใจของสังคมและวัฒนธรรม การคำนึงถึงการบริบาลทางจิตใจระหว่างผู้บริจาค และ ผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยต้องการบำบัดทางจิตใจในระยะยาว และผู้ขายอวัยวะมักเป็นคนชายขอบของสังคมที่กลายเป็นแหล่งสำรองอวัยวะของผู้ป่วยที่ร่ำรวย


-4-

การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในมิติพรมแดนวัฒนธรรมและการมีชีวิตสู่ความตาย

มากาเร็ต ลอค นักมานุษยวิทยาการแพทย์ที่ได้กล่าวถึงในบทความตอนที่ 1 ได้เขียนหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการแพทย์และกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้ป่วยสมองตายกับการบริจาคและเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเปรียบเทียบระหว่างยุโรปและญี่ปุ่นการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเป็นเรื่องที่ถกเถียงมาอย่างยาวนานทั้งในเรื่องสิทธิของประชาชนที่จะ “อยู่” หรือ “ตาย” พรมแดนวัฒนธรรมการมีชีวิตสู่ความตาย อารมณ์ความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการหยุดรักษาผู้ป่วยสมองตายและการบริจาคอวัยวะให้กับผู้ป่วยคนอื่น

ลอค อธิบายว่าการมีชีวิตสู่ความตาย ความหมายของวัฒนธรรมความเชื่อและคุณค่าสังคมต่อความตายและร่างกายมนุษย์ต้องนิยามกันใหม่เมื่อมีการประดิษฐ์สร้างเทคโนโลยีสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น งานของลอคตั้งคำถามว่าทำไมผู้คนในอเมริกาเหนือและยุโรปสามารถยอมรับการตายรูปแบบใหม่ของผู้ป่วยสมองได้มากกว่าคนญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามพรมแดนระหว่างทางวัฒนธรรมกับธรรมชาติก็เลื่อนไหลไปมาตามการให้ความหมายและขอบเขตของความตาย

ในสังคมการแพทย์ของญี่ปุ่นมีการบริจาคอวัยวะเกิดขึ้นก่อน พ.ศ. 2533 โดยที่การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะหัวใจและตับจากผู้ป่วยสมองตายยังเป็นสิ่งต้องห้าม การผ่าตัดเปลี่ยนไตได้รับอนุญาตแต่ต้องได้รับการจัดการผ่านธนาคารอวัยวะเท่านั้น ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาหน่วยงานการแพทย์ในญี่ปุ่นมีกระบวนการทางสังคมเพื่อหาข้อสรุปกฎเกณฑ์สำหรับการตายซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การตัดสินเรื่องความตายและความคิดต่อการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะของสังคม เพราะเมื่อร่างกายมีชีวิตอยู่นานกว่าเจ้าของร่างเป็นเรื่องยากที่จะตัดสินให้หยุดการรักษาเรือนร่างที่ยังคงมีสภาวะที่ดูเหมือนปกติเพียงแต่ขาดการรับรู้กับสิ่งรอบตัว แพทย์ในอเมริกาเหนือและญี่ปุ่นยืนยันกับญาติผู้ป่วยสมองตายแตกต่างกัน แพทย์ในอเมริกาจะบอกกับญาติว่าผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วให้เวลากับญาติซักระยะหนึ่งแล้วจึงถามถึงเรื่องการบริจาคอวัยวะ ขณะที่แพทย์ที่ญี่ปุ่นจะบอกกับญาติผู้ป่วยว่าสมองของผู้ป่วยเกือบจะตายแล้ว ดูเหมือนจะหมดหวังในการรักษาและจะไม่มีการเสนอให้บริจาคอวัยวะจนกว่าญาติผู้ป่วยจะเสนอเอง

ในอเมริกาเหนือการบริจาคอวัยวะเป็นเรื่อง “ของขวัญแก่ชีวิต” ในขณะที่ญี่ปุ่นมีความแตกต่างออกไปญี่ปุ่นมีประสบการณ์อื้อฉาวเกี่ยวกับการคอรัปชั่นในวงการแพทย์กรณีการค้าอวัยวะที่โรงพยาบาลอูวะจิมา ( Uwajima) เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549 และกรณีผู้หญิงตั้งครรภ์ที่สมองตายสามารถให้กำเนิดบุตรยังคงฝังใจคนญี่ปุ่นมาตลอด

มานามิ มาโกโต๊ะ (万波誠)  เป็นหมอเชี่ยวชาญโรคไตที่โรงพยาบาลที่อุวาจิม่า เธอได้วินิจฉัยผู้ป่วยที่มีสิ่งผิดปกติกระจายในเนื้อเยื่อ เธอจึงกระตุ้นให้ผู้ป่วยต้องเปลี่ยนถ่ายอวัยวะเพราะชีวิตอยู่ในความเสี่ยง  โดยการผ่าตัดจัดการผ่านข้อตกลงระหว่างผู้ป่วยและผู้กระทำผิดคนหนึ่ง ซึ่งเธอมีหนี้สินอยู่ 200 บ้านเยน เธอได้ขายไตเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงิน 300 บ้านเยนและรถยนต์ราคา 150 ล้านเยน ซึ่งต่อมาพบข้อพิรุธสงสัยของโรงพยาบาลได้ทำการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะอย่างผิดกฎหมายมากกว่า 11 รายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมาที่น่าแปลกใจคือทั้งตัวผู้ป่วยและผู้กระทำผิดต่างไม่ทราบว่าการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะของตนในลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมาย (Yahoo Daily ,2549) กรณีโรงพยาบาลอูวะจิมาตำรวจได้จับผู้กระทำความผิดซึ่งสารภาพว่าเธอขายอวัยวะแก่ผู้ที่ต้องการซึ่งเป็นความผิดมาตราที่ 11 ที่ว่าด้วยการค้าอวัยวะเพื่อกำไร ภายใต้กฎหมายการค้าการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

ในบทความชิ้นนี้ต้องการเสนอประเด็นการศึกษามานุษยวิทยาการแพทย์ร่วมสมัยที่นักวิชาการต้องกลับมาพิจารณาในเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรมมากขึ้น  แม้ว่าภาวะสมองตายจะเป็นสภาวะกายภาพ แต่ดูเหมือนว่าการหยุดการรักษาและการตัดสินใจบริจาคอวัยวะเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ในขณะเดียวกันสิ่งที่เป็นความจริงก็คือ เทคนิคสมัยใหม่ของการตลาดเทคโนโลยีการแพทย์และบริษัทยาตั้งแต่ทศวรรษ 1950 ไม่ได้สร้างความต้องการเทียม (false needs) เท่านั้น ในทางตรงกันข้ามการตลาดของเทคโนโลยีการแพทย์ค้นหาความเข้าใจต่อแรงปรารถนาของผู้บริโภคที่ผูกผันตัวเขาเองกับสินค้า (ในที่นี่คือการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ) ที่พวกเขาบริโภค และเชื่อมโยงความผูกผันดังกล่าวนี้กับความต้องการใช้สินค้าในชีวิตประจำวัน มันเป็นกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันระหว่าง สินค้า ความคาดหวัง จริยศาสตร์ และรูปแบบคุณค่าชีวิต


เอกสารอ้างอิง

Annual Report: 2006. Saudi Center for Organ Transplantation: 2007.
Available at: http://www.scot.org.sa/annual-report.html

Akiko Sumida, “The Organ Transplant Law Drawing a Line of Death,” Ritsumeikan Evaluation of Law,(Tokyo: University of Ritsumeikan, 2011), 4.

Francis L Delmonico, “A Call for Government Accountability to Achieve National Self-Sufficiency in OrganDonation and Transplantation,” Lancet 2011 (October 2011), 1414.

Doctors banned from brokering transplants.  China Post. 2006 Aug 17.
Hogg C. Why not allow organ trading? BBC News.  2002 Aug 30. Available at:
http://news.bbc.co.uk/1/hi/health/2224554.stm

Kim C. Tianjin, a transplant “mecca” that attracts patients from 19 Asian countries [Japanese
text]. Chusonilbo. 2005 Jan 30. Available at: http:// www.chosunonline.com/article/20050130000046
Government open to suggestions on human organs ordinance. Associated
Press of Pakistan. 2007 Feb 24.

Growing number of Koreans getting organ transplants in China.
Chusonilbo. 2004 Oct 24. Available at: http://english.chosun.com/w21data/
html/news/200410/200410240016.html

Margaret Lock,Twice Dead: Organ Transplants and the Reinvention of Death (Berkeley: University of California Press),130-146.

Minhua J, Yingguang Z. Beijing mulls new law on transplants  of deathrow  inmates organs.
Caijing. 2005 Nov 28.10.  Transplantation of Human Organs Act, India; 1994, Act No. 42.

Mohsin N. Transplantation in Saudi Arabia and Oman. Consultation on Cell, Tissue and Organ
Transplantation; 2005 Nov 26-28; Karachi

McLaughlin A, Prusher  IR, Downie A. What  is a kidney worth? Christian
Science Monitor. 2004 Jun 9.

New regulations banning trade of human organs go into effect. Xinhua
General News Service. 2007 May 1; Sect. Domestic News.

National Transplant Registry M. First Report of the National Transplant Registry Malaysia
2004. Kuala Lumpur: National Transplant Registry; 2005. Available at: http://www.mst.org.my/ntrSite/publications_1stReport2004. htm

Rizvi, A. Pakistan: Legislative framework on transplantation. Second global consultation in human transplantation. Geneva: WHO; 28–30 Mar 2007.

Resolution on human organ and tissue transplantation. Geneva: WHO;
2004 (WHA 57.18). Available at: http://www.who.int/transplantation/en/  A57_R18-en.pdf

Scheper-Hughes N. Prime numbers: organs without borders. Foreign Policy 2005; Jan-Feb:29-
31.

Transplant activity report 2005-2006. Transplant UK: 2007. Available at: http://www.uktransplant.org.uk/ukt/statistics/transplant_activity_report/ transplant_activity_report.jsp

Walsh D. Transplant tourists flock to Pakistan, where poverty and lack of regulation fuels
trade in human organs. The Guardian. 2005 Feb 10.

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net