‘มารา ปาตานี’ ปฏิเสธยังไม่ได้ตกลงพื้นที่ปลอดภัยกับคณะพูดคุยฝ่ายไทย

หัวหน้าคณะพูดคุย ‘มารา ปาตานี’ ออกแถลงปฏิเสธยังไม่ได้ตกลงพื้นที่ปลอดภัยกับคณะพูดคุยฝ่ายไทยตามที่สื่อรายงาน ย้ำกระบวนการพูดคุยยังอยู่ในขั้นสร้างความไว้ใจยังไม่มีข้อตกลงใด ๆ

 

22 พ.ย. 2558 มารา ปาตานี หรือ MAJLIS SYURA PATANI (MARA PATANI) องค์กรร่มของขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชปาตานีได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธกรณีที่มีสื่อมวลชนไทยรายงานผลการผลของการพูดคุยสันติภาพครั้งล่าสุดระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยกับทีมมารา ปาตานีที่ได้ตกลงกันร่วมจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยขึ้นใน อ.บาเจาะและ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส

แถลงการณ์ระบุว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมระดับคณะทำงานด้านเทคนิคของทั้งสองฝ่ายพร้อมกับผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซียมีขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2558 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า สำนักข่าวอิศราได้นำเสนอประเด็นนี้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 และหนังสือพิมพ์คมชัดลึกลึกนำเสนอวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558

“มารา ปาตานี ขอขอย้ำว่ารายงานข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงและไม่มีมูลความจริง เพราะไม่ได้มีการหารือในเรื่องนี้ไม่ว่านอกหรือในที่ประชุมในช่วงการพูดคุยทั้งสองวันดังกล่าว”

“เราเชื่อว่าเรื่องนี้ความพยายามของบางฝ่ายที่มีวาระซ่อนเร้นที่จะทำลายกระบวนการพูดคุยที่เพิ่งจะเริ่มขึ้น”

แถลงการณ์ฉบับนี้ยังระบุอีกว่า กระบวนการพูดคุยขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกันและยังไม่เป็นทางการ ดังนั้นในช่วงเวลานี้จึงยังไม่มีการหารือประเด็นสำคัญๆ รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย จนกว่ากระบวนการนี้จะยกระดับขึ้นให้เป็นทางการ

แถลงการณ์นี้มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษามลายู ลงชื่อโดยอุสตาซมูฮัมหมัดชุกรี ฮารี (มะสุกรี ฮารี) หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพของ มารา ปาตานี

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวดังกล่าวไว้ว่า การพูดคุยของคณะทำงานชุดเล็กของทั้งสองฝ่ายเมื่อ 11-12 พฤศจิกายนที่ผ่านมาซึ่งนอกจากมีการหารือในเรื่องการจัดทำร่างเงื่อนไขหรือข้อกำหนด (Terms of references -TOR) และกรอบการพูดคุยแล้ว ยังกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ Safety Zone ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย โดยเบื้องต้นทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปตรงกันในเบื้องต้นแล้วว่า จะเสนอหมู่บ้านนำร่องใน 2 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส คือ บาเจาะ กับ เจาะไอร้อง เป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันลดเหตุรุนแรง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “พื้นที่หยุดยิง”

หลังจากนั้นจะจัดตั้งกลไกร่วมในการดูแลพื้นที่ปลอดภัยทั้ง 2 อำเภอดังกล่าว เช่น คณะทำงานตรวจสอบเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นว่าเป็นการกระทำของฝ่ายใด เป็นต้น จากนั้นจะนำข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะพูดคุยชุดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะมีการนัดพบปะกันในเดือนธันวาคม

รายงานจากฝั่งประเทศมาเลเซียระบุว่า การประชุมระดับคณะทำงานด้านเทคนิคของทั้งสองฝ่ายดังกล่าวเป็นการหารือในเรื่องร่างเงื่อนไขหรือข้อกำหนด(TOR)อย่างเดียวเท่านั้น เพราะเป็นคณะทำงานเฉพาะกาลในการร่าง TOR ส่วนเรื่องอื่นๆ ต้องคุยกันในคณะพูดคุยชุดใหญ่ คณะทำงานชุดนี้จึงไม่ได้คุยทั้งเรื่องการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย รวมทั้งข้อเสนอ 3 ข้อของมารา ปาตานีและข้อเสนอ3 ข้อของคณะพูดคุยฝ่ายไทยด้วย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

PENAFIAN/DISCLAIMER - MARA Patani

คณะทำงานชุดเล็ก "รัฐ-มาราฯ" ชงนำร่องหมู่บ้านหยุดยิง 2 อำเภอนราฯ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท