Skip to main content
sharethis

20 พ.ย. 2558 รายงานของยูนิเซฟเปิดเผยออกมาในวันนี้ว่า โลกยังไร้ความยุติธรรมสำหรับกลุ่มเด็กยากจนและด้อยโอกาสที่สุด แม้จะมีความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญมากมาย นับตั้งแต่การจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อปี พ.ศ. 2532

“ภายในชั่วอายุคนเดียว โลกของเราได้ลดอัตราการตายของเด็กไปได้ครึ่งหนึ่ง ทำให้เด็ก ๆ กว่าร้อยละ 90 ได้เข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา และเพิ่มจำนวนคนที่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดและปลอดภัยได้ถึง 2.6 พันล้านคน” นายแอนโทนี เลค ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูนิเซฟกล่าว

“กระนั้นเกือบครึ่งของเด็กในโลกนี้ยังเติบโตขึ้นมาอย่างยากจนข้นแค้น เด็กเกือบ 250 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่มีการสู้รบ และในปีนี้มีเด็กกว่า 200,000 คนต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อขอลี้ภัยในทวีปยุโรป”

ภาพจากเพจ UNICEF Thailand

รายงานที่ชื่อว่า ขอโอกาสอันเท่าเทียมสำหรับเด็กทุกคน: คำมั่นสัญญาต่อความเท่าเทียม แสดงให้เห็นสถิติที่ว่าเด็กที่ถูกทอดทิ้งไร้คนเหลียวแลมากที่สุดในโลกต้องเติบโตขึ้นโดยปราศจากปัจจัยพื้นฐานสำหรับพัฒนาการของมนุษย์มากเพียงไร รายงานแสดงให้เห็นว่า:

-          เด็กจากครอบครัวที่ยากจนที่สุดมีอัตราการเสียชีวิตก่อนอายุครบห้าปีมากกว่าเด็กจากครอบครัวฐานะดีกว่าถึงสองเท่า และมีโอกาสที่จะไม่ได้เข้าโรงเรียนมากกว่าถึงห้าเท่า

-          เด็กหญิงจากครอบครัวยากจนที่สุดมีโอกาสจะแต่งงานก่อนอายุครบ 18 ปี มากกว่าเด็กหญิงจากครอบครัวฐานะดีถึงสี่เท่า

-          ประชาชนกว่า 2.4 พันล้านคนยังไม่มีสุขาที่ถูกสุขอนามัยใช้ โดยร้อยละ 40 อยู่ในทวีปเอเชียใต้ นอกจากนี้ ประชาชนกว่า 660 ล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดและปลอดภัย โดยเกือบครึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกาแถบใต้ทะเลทรายซาฮารา

-          เด็กประมาณครึ่งหนึ่งจากจำนวนทั้งหมด 159 ล้านคนที่ประสบภาวะแคระแกร็นอาศัยอยู่ในทวีปเอเชียใต้ และจำนวนหนึ่งในสามอยู่ในทวีปแอฟริกา

-          เกือบครึ่งของเด็กที่เสียชีวิตก่อนอายุครบห้าขวบ และร้อยละ 43 ของเด็กที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนอาศัยอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

“ความเหลื่อมล้ำอย่างมากเช่นนี้ทำให้เกิดวัฏจักรของความยากจนและด้อยโอกาสไปอีกหลายชั่วอายุคน” นายเลคกล่าว “แต่เราแก้ไขได้ เรารู้วิธีที่จะหยุดและเปลี่ยนมันให้เป็นวัฏจักรของความก้าวหน้าอย่างยั่งยืนไปได้หลายชั่วอายุคน ขึ้นอยู่กับพวกเราเองว่าจะตัดสินใจทำอย่างไร ด้วยความมุ่งมั่นและการทุ่มเททรัพยากรให้มากขึ้น เราต้องตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่ถูกต้องตามศีลธรรม นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง มีกลยุทธ์ที่ดีและมีความยุติธรรม”

ขอโอกาสอันเท่าเทียมสำหรับเด็กทุกคน นำเสนอการทำให้เกิดความเท่าเทียมอย่างไม่หยุดยั้ง โดยให้เหตุผลว่าการลงทุนกับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กผู้เปราะบางที่สุดนั้นถูกต้องทั้งในเชิงหลักการและเชิงปฏิบัติ – และการลงทุนนั้นจะนำมาซึ่งประโยชน์มากมาย มิใช่เฉพาะต่อเด็ก แต่ยังมีผลดีต่อครอบครัว ชุมชน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจอีกด้วย

คณะทูตสันถวไมตรียูนิเซฟกำลังร่วมมือกันพูดหรือโพสต์ข้อความผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อช่วยก่อให้เlกิดความช่วยเหลือไปถึงเด็ก ๆ ผู้เปราะบาง ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์ "ต่อสู้กับความอยุติธรรม" ของยูนิเซฟ

“เป็นเรื่องที่น่าตกใจมากเมื่อคิดว่า เด็กหนึ่งในเก้าคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ ต้องเผชิญความรุนแรงโหดร้าย และขาดสิทธิที่จะมีชีวิตรอดและมีสุขภาพอนามัยที่ดี และไม่ได้รับการศึกษา” ออร์แลนโด บลูม นักแสดงชาวอังกฤษและทูตสันถวไมตรียูนิเซฟกล่าว “ผมได้เดินทางไปยังอดีตสาธารณรัฐยูโกสลาฟมาเซโดเนียและเซอร์เบีย ได้เห็นว่าสงครามทำให้เด็ก ๆ และครอบครัวต้องพรากจากบ้าน โลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ทุกประเทศที่สามารถช่วยได้ควรยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็ก ๆ กับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบนี้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net