Skip to main content
sharethis

18 พ.ย. 2558 รายงานข่าวจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แจ้งว่า นายสุรพันธ์ บุรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เป็นประธานการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 “ผลการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล ซึ่งจัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาจากงานวิจัย รวมถึงอภิปรายแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยใช้เครื่องมือทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องและบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.อนันต์ คงเครือพันธุ์

ดร.อนันต์ คงเครือพันธุ์ นักวิชาการสำนักงานศาลปกครอง ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. กล่าวว่า การวิจัยนี้ได้ศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ 4 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ และอินโดนีเซีย เปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศไทย อาทิ ลักษณะและรูปแบบของกฎหมาย ทั้งกฎหมายหลักและกฎหมายเฉพาะ ยุทธศาสตร์แห่งชาติ มาตรการต่างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการจัดตั้งกองทุน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชน การควบคุม เฝ้าระวัง บทลงโทษ เป็นต้น ทั้งนี้หลังการบังคับใช้กฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศต่างๆ พบว่าอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ในส่วนของการศึกษากฎหมายของไทยที่เกี่ยวข้อง พบว่ามาตรการทางกฎหมายที่สำคัญ คือ คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ภายใต้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และการจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาตลาดการซื้อขายก๊าซเรือนกระจกและให้คำแนะนำพัฒนาโครงการต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามกลไกการจัดการปัญหาซึ่งกำหนดนโยบายและกำกับการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบายโดยภาครัฐสามารถจัดการได้เพียงเฉพาะภาคส่วนเท่านั้น ทำให้ขาดความต่อเนื่องของนโยบายการจัดการปัญหาอย่างบูรณาการ ดังนั้นการแก้ปัญหาให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด ควรจะสร้างกลไกการแก้ปัญหาแบบข้ามภาคส่วนในการจัดการปัญหาใหม่ โดยบูรณาการนโยบายกฎหมายและเครื่องมือในระดับกระทรวง และเห็นว่าควรจะมีกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษ จะเป็นทางออกที่สุดที่สุดที่สามารถตอบสนองการแก้ปัญหาในภาพรวม แต่ปัญหาคือรูปแบบองค์กรที่จะเข้ามารับผิดชอบดำเนินการขับเคลื่อนควรมีลักษณะอย่างไร ซึ่ง สกว.จะพยายามผลักดันผลงานวิจัยนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในภาคนโยบายและสาธารณะต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net