สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 12-18 พ.ย. 2558

สำนักงานแรงงานลำพูนเผยสถานการณ์แรงงานจังหวัดลำพูน เดือนกันยายน 2558
 
12 พ.ย. 2558 สำนักงานแรงงานจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า จากข้อมูลของที่ทำการปกครองจังหวัดลำพูน พบว่า จังหวัดลำพูนมีประชากรทั้งสิ้น 405,412 คน และจากการสำรวจภาวกาณ์มีงานทำในจังหวัด โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ จังหวัดลำพูน มีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 355,384 คน (ร้อยละ 87.65)
 
ภาวะตลาดแรงงานจังหวัดลำพูน ในเดือนกันยายน ภาพรวมความต้องการแรงงาน ผู้สมัครงาน บรรจุงาน เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม มีความต้องการด้านแรงงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 109.34 ผู้สมัครงานลดลง ร้อยละ 8.23 และการบรรจุงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 57.40 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 57 มีผู้สมัครเพิ่มขึ้น ร้อยละ 360.11 สำหรับความต้องการแรงงานและการบรรจุงาน ลดลงเช่นกัน โดยอุตสาหกรรมที่มีความต้องการมากที่สุด คือ อาชีพพื้นฐาน 3,271 อัตรา ซึ่งอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ต้องการแรงงานที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษามากที่สุด
 
ส่วนการทำงานของคนต่างด้าว นั้น คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานในจังหวัดลำพูน รวมทั้งสิ้น 11,490 คน การไปทำงานต่างประเทศ มีจำนวน 39 คน เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีจำนวนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 85.71 ส่วนใหญ่ไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด
 
การฝึกอาชีพของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน หลักสูตรเตรียมเข้าทำงานสาขาที่มีผู้ฝึกจบมากที่สุด คือช่างอุตสาหกรรมศิลป์ จำนวน 16 คน หลักสูตรยกระดับฝีมือแรงงาน สาขาที่มีผู้ฝึกจบมากที่สุด คือ ธุรกิจและบริการ จำนวน 551 คน หลักสูตรทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขาที่มีผู้ฝึกจบมากที่สุด คือ ช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ จำนวน 166 คน และหลักสูตรการฝึกเสริมทักษะฝีมือ สาขาที่มีผู้ฝึกจบมากที่สุด คือ ช่างอุตสาหกรรมศิลป์ จำนวน 154 คน
 
ภาวะการลงทุน จังหวัดลำพูนมีโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ (สะสม) ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 จำนวนทั้งสิ้น 929 โรงงาน มูลค่าลงทุนรวม 105,292.313 ล้านบาท จำนวนแรงงานรวม 71,992 คน จำแนกเป็น โรงงานนอกเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จำนวน 851 โรงงาน มีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 32,865.313 ล้านบาท จำนวนแรงงาน 26,330 คน และโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ที่เปิดดำเนินการ 78 โรงงาน มีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 72,427 ล้านบาท จำนวนแรงงาน 44,662 คน
 
 
พ.ร.บ.ใหม่ดูแลผู้ประกันตนทุพพลภาพตลอดชีวิต
 
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมสำนักงานประกันสังคม ซึ่งมีผู้ประกันตนมารับเงินทดแทนจากการขาดรายได้ จากการทุพพลภาพ ก่อนปี 2538 ตาม พ.ร.บ.ใหม่ประกันสังคม ที่้ให้ดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตนทุพพลภาพตลอดชีพ  
 
พลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจเยี่ยมการทำงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม พร้อมมอบกระเป๋าให้กับผู้ที่มาใช้บริการ และมอบเงินทดแทนให้ผู้ประกันตนทุพพลภาพ ที่ได้รับสิทธิ์ก่อนปี พ.ศ.2538 ตาม พ.ร.บ.เดิม ที่ได้รับเงินทดแทน15 ปี ซึ่งครบกำหนดรับเงินทดแทนเมื่อปี 2552 และ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ (ฉบับที่ 4 พ.ศ.2558) ซึ่งได้มีการปรับเพิ่มข้อกฏหมาย เพื่อดูแลผู้ประกันตนทุพพลภาพตลอดชีวิต และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา 
 
ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบเงินทดแทนการขาดรายได้ให้กับผู้ประกันตนทุพพลภาพ 2 รายด้วยกัน คือ นางวันดี กล่อมฤทธิ์ อายุ 79 ปี ได้รับเงินทดแทนเดือนละ 5,595 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 ถึง 1 ธันวาคม 2552 เป็นเวลา 15 ปี เป็นเงิน 1,007,100 บาท เช่นเดียวกับนายอร่าม ศรีอิฐ อายุ 60 ปี เป็นผู้ทุพพลภาพ ที่ได้รับเงินทดแทนเดือนละ 2,775 บาท เป็นเวลา 15 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 36 ถึง 6 มีนาคม 51 เป็นเงิน 499,500 บาท  
 
โดยผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพที่เข้าข่ายได้รับเงินทดแทนจาก พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ ให้นำเอกสาร ประกอบไปด้วย สำเนาบัตรประชาชน แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน 2-10 และสำเนาสมุดบัญชีธนาคาร มายื่นขอรับสิทธิ์ที่สำนักงานประกันสังคมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
 
 
ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้อง คนงานแม่โขงฟ้อง 'สุรามหาราษฎร' 7,500 ล้าน
 
วันที่ 13 พ.ย. ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีแดง ที่ 2649/2556 ที่ นางสาวกรกมล วรรณมาศ กับ นายมนต์ชัย ครุฑาพันธ์ อดีตพนักงานโรงงานสุราบางยี่ขัน ที่ผลิตสุราแม่โขงอันโด่งดังในอดีต กับพวกรวม 514 คน อายุระหว่าง 60 ถึง 80 ปี เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท โรงงานสุรามหาราษฎร จำกัด (มหาชน) กรมโรงงานกระทรวงอุตสาหกรรม ฐานละเมิด เรียกค่าสินไหมทดแทน 7,500 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
 
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ์ โจทก์ทั้งหมดยื่นอุทธรณ์ ปรากฏว่า คดีนี้โจทก์ถอนฟ้องไปหลายคนเหลือเพียง 417 คน และมาฟังคำพิพากษาเพียง 20 คน โดยแต่ละคนมีสภาพอิดโรย เพราะความชรา ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า คำฟ้องของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ให้รับผิดอย่างละเมิดและลูกหนี้ร่วมนัด รับฟังไม่ได้ และโจทก์ไม่ยื่นฟ้องภายในเวลา 1 ปี นับแต่รู้เหตุละเมิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนประเด็นว่าละเมิดต่อโจทก์ หรือไม่เห็นว่า เดิม เมื่อปี 2542 จำเลยที่ 1 ต้องเลิกจ้างพวกโจทก์เพราะหมดสัญญาเช่าที่ดิน ทำให้สัญญาจ้างยุติลง และไม่สามารถสร้างโรงงานแห่งใหม่ได้ เพราะมีการเวนคืนที่ดินไปสร้างสะพานพระราม 8 การเลิกจ้างโจทก์ทำไปตามกฎหมายและระเบียบ โดยสามารถเลิกจ้างลูกจ้างที่อายุงานไม่ถึง 60 ปี ในวันที่ 31 ธ.ค. 2542 ได้ เพราะเป็นเพียงลูกจ้างไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่อยู่ภายใต้ระเบียบข้าราชการพลเรือน จึงฟังไม่ได้ว่าเลิกจ้างโดยไม่ชอบ พิพากษายืน ให้ยกฟ้อง นายมนต์ชัย ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 113 เผยว่า คดีนี้พวกโจทก์ซึ่งมีสถานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้ยื่นฟ้องจำเลยสืบเนื่องจากเมื่อปี 2542 กรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้นสังกัดโรงงานสุราบางยี่ขัน ตั้งอยู่ที่เขตบางกอกน้อย กทม. ที่ผลิตสุรากลั่นชนิดเหล้าขาว เหล้าแดง(แม่โขง) เหล้าเซี่ยงชุน ได้มีนโยบายเลิกกิจการ และขายกิจการให้บริษัท สุรามหาราษฎร ซึ่งไม่เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ ข้อกำหนด และข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งโรงงานสุราของรัฐ ส่งผลให้ บริษัท สุรามหาราษฎร กับพนักงานเดิมทั้งหมด กลายเป็นนายจ้าง และลูกจ้างกันใหม่ และมีคำสั่งให้เลิกจ้างพนักงานที่มีอายุเกิน 40 ปี และมีอายุงานเหลือ 20 ปี (เกษียณอายุ 60 ปี) โดยไม่จ่ายค่าชดเชย และไม่รับกลับเข้าทำงาน ส่วนพนักงานที่มีอายุงานยังไม่ถึง 40 ปี และยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ย้ายไปปฏิบัติงานที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ไกลและไม่สะดวก หากใครไม่ประสงค์จะไป ก็จะจ่ายค่าชดเชยให้เท่ากับค่าจ้าง 10 เดือน ต่อมาศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องว่า บริษัท สุรามหาราษฎร ไม่มีความสัมพันธ์เป็นนายจ้างลูกจ้างกับโจทก์ จึงไม่มีเหตุโต้แย้งสิทธิ์ อันเป็นมูลเหตุให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
 
“คดีนี้โจทก์เคยยื่นฟ้องต่อศาลแรงงาน ขอให้จ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่ศาลแรงงานก็พิพากษายกฟ้อง ทั้งที่ศาลปกครอง ก็มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายโรงงานครั้งนี้ ว่าเป็นการขายที่ไม่ชอบ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษามาเช่นนี้ ตนเห็นว่า คลาดเคลื่อน และไม่เห็นด้วยในหลายประเด็นจึงจะรวมตัวกันยื่นฎีกาต่อไป" นายมนต์ชัย กล่าว
 
 
“คาสิโอ” ปักไทยฐานผลิตสินค้าเพิ่มจากเดิมมีแค่นาฬิกาที่โรงงานโคราช ย้ำมั่นใจไม่ทิ้งไทย
 
นายฮิโรชิ นากามูระ กรรมการบริหารอาวุโส กรรมการบอร์ด และผู้จัดการทั่วไปอาวุโส กลุ่มงานการตลาดโลก ฝ่ายกลยุทธ์การตลาดโลก ฝ่ายขายต่างประเทศ บริษัท คาสิโอ คอมพิวเตอร์ จำกัด จากประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า คาสิโอญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญต่อตลาดประเทศไทยและมีการลงทุนต่อเนื่องโดยไม่มีแผนย้ายฐานจากประเทศไทยไปที่อื่น ซึ่งที่ผ่านมาได้ใช้โรงงานในไทยที่ จ.นครราชสีมา เป็นฐานการผลิตเครื่องคิดเลขและดิกชันนารีไฟฟ้า ทั้งยังมีแผนที่จะลงทุนเพื่อผลิตไลน์สินค้าอื่นอีกด้วยเพื่อเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นในตลาดไทยจากเดิมโรงงานที่ผลิตเพียงนาฬิกาเท่านั้น
       
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ได้ก่อตั้งบริษัท คาสิโอ มาร์เก็ตติ้ง ไทยแลนด์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกลำดับที่สี่ของ “คาสิโอ คอมพิวเตอร์” ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งก่อนหน้านี้ “คาสิโอ คอมพิวเตอร์” ทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์และแบรนด์ในไทยผ่านเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายมาโดยตลอดตั้งแต่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี 2513 และวางแผนที่จะให้ “คาสิโอ มาร์เก็ตติ้ง ไทยแลนด์” เป็นฐานธุรกิจที่จะดูแลธุรกิจคาสิโอในประเทศพม่าและลาวในอนาคต โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียด
       
“ประเทศไทยคือตลาดที่ใหญ่ที่สุดของคาสิโอในภูมิภาคอาเซียน ด้วยจำนวนประชากรมากกว่า 67 ล้านคน และเป็นตลาดที่ทำรายได้สูงอันดับที่สองรองจากสิงคโปร์ มีรายได้ประมาณ 5 พันล้านเยนเมื่อปี 2557 และตั้งเป้าหมายรายได้เพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านเยนในปี 2560 โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้ในไทยมาจากนาฬิกาคาสิโอเป็นหลัก 50% และจะเพิ่มบทบาทและสัดส่วนรายได้ในกลุ่มอื่นด้วย เช่น โปรเจกเตอร์ดิจิตอล และดิกชันนารีไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่รายได้ทั่วโลกของคาสิโอมีประมาณ 300 ล้านเยน สัดส่วนรายได้เรียงลำดับ คือ ญี่ปุ่น ยุโรป จีน และอเมริกาเหนือ ส่วนอาเซียนสัดส่วนรายได้ประมาณ 10%” นายฮิโรชิกล่าวในตอนท้าย
       
ด้าน นายโคจิ ชินโจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาสิโอ มาร์เก็ตติ้ง ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ จะดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือกับตัวแทนจำหน่ายต่างๆ ในประเทศไทย คือ กลุ่มเซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้ง หรือ “ซีเอ็มจี” และบริษัท อิสท์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้ดูแลผลิตภัณฑ์ต่างๆ คือ นาฬิกาแบรนด์จีช็อก, เบบี้จี, อีดิเฟียส, ชีน, โอเชียนัส, โปร เทร็ค และคาสิโอ
       
นอกจากนี้ ยังดูแลกล้องดิจิตอลคอมแพกต์สำหรับเซลฟี, แกรนด์เปียโนและคียบอร์ดแบบไฮบริดดิจิตอล เซลเวียโน และพรีเวีย, เครื่องคิดเลขทั่วไป, เครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์แบบกราฟิก, เครื่องพิมพ์ฉลาก, เครื่องโปรเจกเตอร์แอลอีดี แบบเลเซอร์ไฮบริด และเครื่องบันทึกเงินสดระบบพีโอเอส
 
 
สธ.ออกประกาศให้สิทธิ พกส.เบิกค่าห้อง-ค่าอาหารห้องพิเศษครึ่งราคา
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ได้ลงนาในประกาศ พกส.เรื่อง สิทธิประโยชน์ของ พกส. (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 โดยระบุสิทธิประโยชน์ของ พกส.เพื่อให้สวัสดิการแก่ พกส.และบุคคลในครอบครัวให้ได้รับความช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล โดยเป็นไปตามราชกิจจานุเบกษาวันที่ 22 กันยายน 2558 ที่ได้ลงประกาศระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 7 กันยายน 2558 ที่มี นพ.ปิยะสกล  สกลสัตยาทร รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ลงนาม โดยใจความสำคัญในประกาศคือ ให้ยกเลิกข้อความในข้อ 8 แห่งระเบียบกระทรวงสาธาณณสุขว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการช่วยเหลือในการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2550 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
 
“ข้อ 8 ประเภท ค. ให้หน่วยบริการช่วยเหลือเฉพาะค่าห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษโดยให้เรียกเก็บตามอัตราที่กำหนดไว้ แต่ต้องไม่เกินสิทธิอันพึงเบิกได้จากหน่วยงานต้นสังกัดก่อน ส่วนที่เกินให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 สำหรับผู้ไม่มีสิทธิดังกล่าวให้หน่วยบริการเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของอัตราที่กำหนดไว้” ทั้งนี้ผู้มีสิทธิตามประเภท ค. ซึ่งได้รับความช่วยเหลือรวมไปถึงบุคคลในครอบครัวด้วยนั้น ในระเบียบใหม่ รวมถึง อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ส่วนผู้มีสิทธิประเภท ค. ซึ่งได้รับการช่วยเหลือเฉพาะตัว มี 2 กลุ่ม คือ สมาชิกผู้บริจาคโลหิตของสภากาชาดไทย ซึ่งมีหนังสือรับรองจากสภากาชาดไทย และสมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติ ซึ่งจัดตั้งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยไทยอาสาป้องกันชาติ 
 
นายโอสถ สุวรรณเศวต รองประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) กล่าวว่า จากประกาศดังกล่าวทำให้ได้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม และความไม่ใส่ใจในลูกน้องของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพราะแม้แต่ในเรื่องของสิทธิในการรักษาพยาบาล ลูกจ้าง พกส. ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีโรงพยาบาลในสังกัดจำนวนมากกลับไม่ได้รับการดูแลอย่างน้อยก็ขอสิทธิในการใช้ห้องพิเศษและค่าอาหารพิเศษแบบไม่ต้องจ่ายส่วนต่างอะไรเลย เพราะเราทำงานให้บริการประชาชน ให้กับกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ต้องถือว่าเป็นลูกหม้อ แต่กลับได้สิทธิค่าห้องพิเศษและค่าอาหารเทียบเท่า กับอีก 24 กลุ่มในประกาศ
 
“ลูกจ้าง และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของการรักษาพยาบาลก็จะใช้สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือสิทธิบัตรทองแล้วแต่ว่าใครมีสิทธิอะไรอยู่ ส่วนครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ก็ได้ใช้สิทธิบัตรทองในการรักษา ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขควรจะเห็นค่าเราให้เราได้มีโอกาสใช้ห้องพิเศษได้ค่าอาหารพิเศษโดยไม่ต้องจ่าย หรือเทียบเท่ากับ อสม.ดีเด่นทุกระดับ ตอนนี้เรารันทดหดหู่พอสมควร แต่คิดว่า นพ.โสภณ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข คงไม่ได้ทราบรายละเอียด ของระเบียบฉบับนี้ เพราะถ้าเป็นข้าราชการก็จะเบิกค่ารักษาตามระเบียบได้หมด แต่ พกส. ต้องใช้สิทธิประกันสังคม สิทธิบัตรทองในการรักษา เราขอแค่ ลูกเมีย พ่อแม่ ภรรยา ซึ่งมีสิทธิบัตรทอง ไม่ต้องเก็บค่าอาหาร ค่าห้องพิเศษ ได้หรือไม่” นายโอสถกล่าว
 
นายโอสถ กล่าวว่า ในช่วงต้นปี 2559 ตนจะรวบรวมปัญหาและนำเรื่องการทบทวนสิทธิในการรักษาพยาบาลเสนอต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ทบทวนระเบียบฉบับนี้ เนื่องจากประกาศของคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุข นั้นไม่ควรครอบคลุมไปถึงบุคลากรของหน่วยงานอื่น เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกเทศบาลเมืองพัทยา ฯลฯ แต่ระเบียบที่ออกมาควรใช้กับบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ส่วนบุคลากรหน่วยงานอื่นๆ นั้นไม่ได้อยู่ในอำนาจกระทรวงสาธารณสุข การออกระเบียบใดๆ จึงควรเป็นมติคณะรัฐมนตรีมากกว่า
 
 
มติบอร์ดค่าจ้างกำหนดค่าแรงขั้นต่ำตามสภาพเศรษฐกิจ-สังคม รายพื้นที่
 
16 พ.ย. 2558 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างแถลงข่าว ภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ครั้งที่ 8/2558 ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและ สังคมรายพื้นที่ แต่เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจปัจจุบัน จึงให้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ตาม 3 หลักเกณฑ์ คือ 1. หลักเกณฑ์ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง 2. หลักเกณฑ์ด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และ 3. สภาพเศรษฐกิจและสังคมรายพื้นที่ และในภาพรวมของประเทศ โดยใช้ข้อมูลของคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดและข้อมูลคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเป็นฐานในการพิจารณา
 
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ประกอบด้วยฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 2 ท่าน มีผู้ช่วยปลัดกระทรวงเป็นประธาน ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ มาศึกษาวิเคราะห์ร่วมกัน และสรุปผลโดยเร็ว ไม่เกิน 6 เดือน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปฏิรูประบบอัตราค่าจ้างให้มีความเป็นธรรม และเป็นสากล
 
“การพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหลังจากนี้ จะเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ และมีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ พิจารณาภายใน 6 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2559 ” ม.ล.ปุณฑริก กล่าว
 
ทั้งนี้ นายอรรถยุทธ ลียะวณิช ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และนายสมบัติ น้อยหว้าผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งร่วมแถลงข่าวกับปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจนี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย เป็นไปตามข้อเท็จจริงในแต่ละพื้นที่ 
 
 
อียูส่งสัญญาณคุมแรงงานไก่ส่งออก ลุยลูกเล้า 2 หมื่นคนเข้าระบบ-ยอดปีนี้ 9.7 หมื่นล้าน
 
นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสัญญาณจากประเทศคู่ค้าต่าง ๆโดยเฉพาะสหภาพยุโรป เริ่มให้ความสำคัญเรื่องแรงงาน แม้จะยังไม่ออกกฎระเบียบที่ชัดเจนเหมือนกับอุตสาหกรรมประมง แต่ทางเครือเบทาโกรได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และมีการเตรียมตัวโดยจัดทำมาตรฐานขึ้นมาเฉพาะเรียกว่า "Betagro Labor Standard" จะเป็นมาตรฐานที่ให้ความสำคัญด้านแรงงาน โดยยึดมาตรฐานสากลเป็นหลัก และถือเป็นมาตรฐานแรงงานที่สูงกว่ากระทรวงแรงงานของไทย และมีความพยายามจะทำให้ดีกว่ามาตรฐานที่สากลกำหนด แต่ต้องทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปตลอดห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจประมาณ 25,000 คนที่เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงผู้เลี้ยงไก่ในคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งกับเครือเบทาโกรทั้งหมด ซึ่งได้มีการจัดอบรมไปแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา 
 
"เราต้องมาช่วยกันพัฒนา และต้องหาทางยกระดับมาตรฐานแรงงาน อย่าไปคิดว่าเป็นต้นทุน เพราะแรงงานถือเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นอาวุธลับทางธุรกิจ ถ้าเราไม่เตรียมตัวหรือโปร่งใสถือว่าอันตรายมาก เรามีหน่วยงาน HR ต้องศึกษาเชิงลึกทางกฎหมายแรงงาน เราทำได้ดีขนาดไหน เรามีจุดล่อแหลมอะไรที่ต้องทบทวนพัฒนาให้ดีขึ้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาเครือเบทาโกรคิดถึงเรื่องของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยยึดนิยามความยั่งยืนของเบทาโกร หรือ Sustainable Way 4 ประการ ได้แก่ 1.จริยธรรม 2.สังคม การมีส่วนร่วม 3.สิ่งแวดล้อม และ 4.คุณภาพ การทำธุรกิจของเครือเบทาโกรคำนึงถึง 4 ด้านหลักนี้ และพยายามผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและคุณภาพที่ดี ในราคาที่ไม่แพง" 
 
นายวสิษฐกล่าวต่อไปว่า สำหรับคาดการณ์ยอดขายปี 2558 มีมูลค่าประมาณ 96,000-97,000 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 13-14% ถือว่าต่ำกว่าเป้าเดิมที่ตั้งไว้ที่ 15% เทียบปี 2557 ที่มีรายได้ประมาณ 86,000 ล้านบาท โดยปัจจัยใหญ่ที่ทำให้พลาดเป้าหมายมาจากราคาปศุสัตว์ทั้งไก่ ไข่ หมู ทั้งปีอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำมาตลอด แต่บริษัทยังรักษาระดับการผลิตตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ 
 
ส่วนคาดการณ์ปี 2559 ถือว่าเครือเบทาโกรยังดำเนินธุรกิจได้ตามกรอบแผนงาน 10 ปี (พ.ศ. 2010-2020) ที่วางไว้มาตลอด วันนี้มาครึ่งทางได้ยอดประมาณ 90,000 ล้านบาทแล้ว ถือว่าเป็นไปตามแผน และปี 2020 จะทำให้ได้เป้าหมาย 140,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้ปัจจุบันแบ่งภายในประเทศ 80% จากการส่งออก 20% และในปี 2020 คาดว่ารายได้ภายในประเทศจะเพิ่มเป็น 81-82% และส่งออกจะเหลือประมาณ 18-19% 
 
"ปีนี้คิดว่าทิศทางราคาปศุสัตว์น่าจะลงมาในจุดต่ำสุดของราคาปศุสัตว์บางตัว ปีหน้าราคาน่าอยู่ในเกณฑ์กลาง ๆ ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ดีเท่าไร จีน รัสเซีย ยังมีปัญหามาก ส่งผลให้ราคาปศุสัตว์ในตลาดโลกยังมีแนวโน้มอ่อนตัวลงอยู่ 
 
ปัจจุบันกำลังการผลิตปศุสัตว์ในเครือเบทาโกร แบ่งเป็นไก่เนื้อ 4 ล้านตัวต่อสัปดาห์ หมูขุน 4,000-5,000 ตัวต่อสัปดาห์ ไข่ไก่ 4 ล้านฟองต่อวัน ขณะที่การแปรรูปมีกำลังการผลิตไส้กรอก 4,000-5,000 ตันต่อวัน มียอดขายยาและเคมีภัณฑ์ประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทต่อปี และไตรมาส 1 ปี 2559 จะมีการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่ม 
 
สำหรับแผนการลงทุนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการก่อสร้างศูนย์คอมเพล็กซ์ที่ปทุมธานี บนเนื้อที่ 56 ไร่ในนิคมนวนคร ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1.โรงงานแปรรูป 2.โรงบรรจุและคัดแยกไข่ และ 3.ศูนย์กระจายสินค้า รวมมูลค่า1,500 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบ ตามแผนจะเสร็จปี 2560 โดยจะให้บริการครอบคลุมพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลักนอกจากนี้ มีแผนขยายโรงงานในระดับภูมิภาค
 
สำหรับแผนการลงทุนในต่างประเทศใน 1-2 ปีนี้มีแผนลงทุนโรงงานอาหารสัตว์ในประเทศลาวและเมียนมา ขนาดกำลังการผลิตเฟสแรก 6,000 ตัน และขยายกำลังการผลิตได้เต็มที่ประมาณ 12,000 ตัน ขณะที่ในกัมพูชา เพิ่งเปิดโรงงานอาหารสัตว์ เฟส 1 กำลังการผลิตประมาณ 8,000 ตัน และพร้อมขยายเฟส 2 ได้ นอกจากนี้ มีฟาร์มสุกรที่เสียมเรียบ 2,500 แม่ ขณะที่ในลาวจะมีฟาร์มพ่อแม่พันธุ์ขยายจาก 1,500 แม่ เป็น 5,000 แม่ ในเมียนมามีการเลี้ยงไก่พันธุ์ และมีแผนสร้างโรงงานอาหารสัตว์แห่งใหม่เช่นกัน 
 
นายวสิษฐกล่าวถึงกรณีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกรายงานผลวิจัยเรื่องอันตรายจากการรับประทานไส้กรอกและเบคอนว่า ในรายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ไม่ควรรับประทานเกิน 500 กรัมต่อสัปดาห์ จากข้อมูลดังกล่าวหากนำมาเปรียบเทียบเป็นปีเท่ากับ 1 คนต้องบริโภคถึง 26 กรัมต่อคนต่อปี ซึ่งหากย้อนมาดูปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ของคนไทยเฉลี่ยประมาณ 16-17 กรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น
 
 
แรงงานชาวกัมพูชาบริษัท คอบบร้า รวมตัวประท้วงเรียกร้องเพิ่มค่าเช่าห้อง เบี้ยขยัน สิทธิเท่าแรงงานไทย
       
(16 พ.ย.) ที่บริเวณลานหน้าอาคารหอพักคนงานของบริษัท คอบบร้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เลขที่ 111 หมู่ 2 ต.บ้านเก่า อ.พานทอง จ.ชลบุรี คนงานชาวกัมพูชาประมาณกว่า 500 คน ได้รวมตัวประท้วงเรียกร้อง
       
โดยมี นายกึมเสม อายุ 34 ปี (ชาวกัมพูชา) เป็นแกนนำ ได้ยื่นข้อเสนอ 10 ข้อ คือ ค่าห้องพัก เบี้ยขยัน เพิ่มค่าอาหาร ลดค่าไฟ ให้มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ เข้าทำงานให้เวลาเหมือนกันคนไทย สิทธิเจ็บป่วย มีวันลาพักร้อน มีโอที เวลาพูดกับคนงานให้สุภาพ ให้ทางบริษัท
 
ต่อมา พ.ต.อ.ปรีชา สมสถาน ผกก.สภ.พานทอง และ นายวุฒิกร สุขีนัย นอภ.พานทอง และกำลังทหาร ได้เข้าควบคุมสถานการณ์ และทำการพูดคุยเบื้องต้น มีตัวแทนบริษัท คอบบร้า จำกัด และนายบุญทรง ตั้งจิตเพิ่มความดี ผจก.บริษัท ซีเอสเอสจี จำกัด ที่เป็นบริษัทประสานงานแรงงานกัมพูชาจากประเทศกัมพูชา เข้าร่วมรับฟังแก้ไข
       
หลังเจรจาได้ข้อสรุป คือ เรื่องห้องพักนั้นทางบริษัทได้ทำการตกลงตามข้อสัญญา แต่ข้อเรียกร้องอื่นๆ นั้นตัวแทนไม่มีสิทธิตกลง และทางคนงานชาวกัมพูชาก็ไม่มีสิทธิเรียกร้อง
       
ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนมาทำงานทางบริษัทได้ทำข้อตกลงเอ็มโอยูระหว่างบริษัท และทางคนงานก็ได้เซ็นสัญญาก่อนมาทำงานทุกคน หากเรียกร้องเพิ่มเติมถือว่าผิดสัญญาว่าจ้าง บริษัทมีสิทธิส่งกลับประเทศได้เลย และทางบริษัท คอบบร้า นั้นก็ไม่อาจให้เพิ่มตามข้อเรียกร้องได้ ซึ่งต่อมาทางแกนนำก็ได้ไปพูดคุยกับทางคนงาน และได้แยกย้ายไปในที่สุด
 
 
ผลตรวจการคุ้มครองความปลอดภัยการทำงานสถานประกอบการกว่า 500 แห่ง ยังปฏิบัติไม่ถูกต้อง 5 เรื่อง
 
นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือ กสร. กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 - 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กสร. ได้ตรวจสถานประกอบการ 588 แห่ง ลูกจ้างรวม 52,295 คน ตามนโยบายการดูแลความปลอดภัยในการทำงาน พบว่า มีสถานประกอบการปฏิบัติไม่ถูกต้อง หรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 โดยฝ่าฝืนมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน การแต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยฯ พบ 255 แห่ง 2.การจัดทำแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการ การจัดทำระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย การอบรมดับเพลิงขั้นต้นและการฝึกซ้อมดับเพลิงและหนีไฟประจำปี พบ 130 แห่ง 3.การฝึกอบรมด้านความปลอดภัยแก่ผู้บริหารและลูกจ้าง การติดสัญลักษณ์เตือนอันตราย รวมถึงการจัดอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้ลูกจ้างสวมใส่ พบ 113 แห่ง 4.การทดสอบส่วนประกอบกับอุปกรณ์ของปั้นจั่น การทดสอบและรับรองความปลอดภัยของการใช้หม้อน้ำ พบ 54 แห่ง และ 5. การกำหนดเขตก่อสร้างโดยแสดงให้เห็นชัดเจน รวมทั้งการสร้างรั้วตลอดแนวเขตก่อสร้าง พบ 48 แห่ง
 
อธิบดี กสร.กล่าวว่า จากตัวเลขการปฏิบัติไม่ถูกต้องข้างต้นถือว่าค่อนข้างสูง ซึ่ง กสร.จะเร่งทำความเข้าใจให้สถานประการดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป โดยตั้งเป้าลดตัวเลขสถานประกอบการที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือฝ่าฝืนระเบียบกฎหมายด้านความปลอดภัยในการทำงานให้เป็นศูนย์ในที่สุด
 
 
กรอ.ผนึก กยศ. แก้กฎหมายรวบรวม เล็งดึงกรมสรรพากรเข้าร่วม ให้รับภาระแทนนักศึกษาที่ค้างชำระ จ่อออกมาตรการจูงใจล่อเด็กเบี้ยวหนี้ให้กลับมาชำระ
 
นายเปรมประชา ศุภสมุทร กรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการร่วมกรอ. และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อกฏหมายการควบรวมกองทุนกรอ.และกยศ.เข้าด้วย กัน หลังจากที่ผ่านมาได้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวให้ที่ประชุมครม.แล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการรอบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม ซึ่งสาระสำคัญของการแก้ไขข้อกฎหมายฉบับนี้ จะให้กรมสรรพากรเข้ามารับชำระหนี้แทนผู้กู้ที่ค้างชำระ โดยในรายละเอียดของการดำเนินการดังกล่าว คณะกรรมการร่วมจะพิจารณารูปแบบที่แน่ชัดอีกครั้ง และประสานกรมสรรพากร ก่อนเสนอให้ครม.เห็นชอบต่อไป "ล่าสุดครม.ก็ได้เห็นชอบให้ควบรวมทั้งสองกองทุนเข้าด้วย กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนข้อกฎหมายที่จะรองรับการดำเนินการดังกล่าวที่ผ่านมาคณะกรรมการร่วม ได้เสนอข้อกฎหมายไปรอที่ครม.แล้วคาดว่า ในเร็วๆ นี้ จะผ่านการเห็นชอบ จากนั้นจึงส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา โดยในช่วงที่กฤษฎีกากำลังตรวจ จะเสนอให้แก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติม ด้วยการเสนอให้กรรมสรรพากรจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นไปตามนโยบายของทางกระทรวงการคลัง"
 
ายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมสรรพากรเข้าไปศึกษาข้อกฎหมายและวิธี การดำเนินงานเกี่ยวกับการตรวจสอบการยื่นแสดงเสียภาษีบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะผู้ที่กู้ยืมเงินของกยศ. ว่ามีรายได้และเข้าข่ายเสียภาษีหรือไม่ เพื่อประกอบในการพิจารณาเกี่ยวกับวงเงินที่ค้างชำระในกองทุนดังกล่าว ซึ่งตามหลักแล้ว หากประชาชนทั่วไปหรือผุ้ที่กู้ยืมเงินจากกองทุนเข้าข่ายเกณฑ์เสียภาษีบุคคล ธรรมดารที่กำหนดไว้ ก็ต้องยื่นแสดงรายการเสียภาษีในแต่ละปีหาช่องแก้กฎหมายดึงสรรพากรแก้เด็ก เบี้ยวหนี้กยศ. คณะกรรมการร่วมฯ รอครม.ผ่านร่างกฎหมายควบรวมกองทุนกรอ.-กยศ. ก่อนเสนอเข้าสนช.จะขอแก้รายละเอียดเพิ่มเติม พร้อมกันนี้ เชื่อว่า การศึกษาข้อกฎหมายและวิธีการดำเนินงานเกี่ยวกับการตรวจสอบการยื่นแสดงเสีย ภาษีบุคคลธรรมดา จะช่วยให้ทราบถึงข้อมูลของผู้ที่ค้างชำระในเงินกองทุนดังกล่าวได้ชัดเจนมาก ขึ้น หากมีรายได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่ยอมเข้ามาชำระเงินกู้ที่กู้จากกองทุนไปก็ต้องตรวจสอบว่าเพราะเหตุใด ถึงไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว
 
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กยศ.ได้เชิญชวนองค์กรนายจ้างร่วมทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อสร้างความรับผิดชอบให้บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมชำระหนี้คืนในโครงการ กยศ. กรอ. เพื่อชาติโดยเสนอมาตรการจูงใจบุคลากรในสังกัดองค์กรนายจ้างที่เข้าร่วม โครงการ ตั้งแต่บัดนี้ - 30 ก.ย.59 เนื่องจากหน่วยงานองค์กรนายจ้างจะช่วยป้องกันความเสี่ยงของ บุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมเงินกองทุนไม่ให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหรือถูกบังคับ คดี รวมทั้ง ยังมีส่วนร่วมเพื่อช่วยเหลือสังคมในการส่งเสริมบุคลากรในหน่วยงานให้มี วินัยทางการเงินและจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม สำหรับหรับมาตรการจูงใจ ประกอบด้วย หากกรณีผู้กู้ยืมยินยอมให้นายจ้างหักเงินเดือน สำหรับผู้กู้ที่ไม่ค้างชำระ เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้วจะได้เงินคืน 1%ของเงินต้นคงเหลือ สำหรับผู้กู้ที่ค้างชำระ หากยินยอมชำระหนี้เป็นปกติ จะได้ลดเบี้ยปรับ 100% หรือหากไม่สามารถชำระหนี้ให้เป็นปกติได้ กองทุนจะปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้กับผู้กู้ยืมพร้อมลดเบี้ยปรับ 50% และมีระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามสัญญาส่วนกรณีผู้กู้ ยืมปิดบัญชี สำหรับผู้กู้ที่ไม่ค้างชำระจะได้เงินคืน 3%ของเงินต้นคงเหลือ แต่สำหรับผู้กู้ที่ค้างชำระจะได้ลดเบี้ยปรับ 100%
 
 
เผยคนเร่ร่อนเมืองกรุงพุ่งสูงกว่า 3,360 คน เขตพระนครมากสุด เหตุเศรษฐกิจย่ำแย่ ทรุดตัว ทำคนว่างงานกลายเป็นคนเร่ร่อน
 
มูลนิธิอิสรชนมูลนิธิผู้ช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือคนเร่ร่อนเปิดเผยว่าผลการสำรวจคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่า ตัวเลขของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้นโดยในปี 2557 มีอยู่ทั้งหมด 3,249 คน เพิ่มจากปี 2556 ที่มีอยู่ 3,140 คนโดยอัตราการเพิ่มขึ้นของคนเร่ร่อนจะเพิ่มขึ้นมากกว่าอัตราการเพิ่มของประชากรที่ประมาณ 0.3 เปอร์เซ็นต์อย่างไรก็ตามในขณะนี้จำนวนคนเร่ร่อนในกรุงเทพฯมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปัจจุบันมีจำนวนคนเร่รอนอยู่ตามพื้นที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯประมาณ 3,360 คน เป็นเพศชายประมาณ 2,214 คน และเป็นเพศหญิง 1,246 คนซึ่งคนเร่ร่อนเพศหญิงกลุ่มใหญ่ที่สุดจะเป็นผู้ให้บริการทางเพศอยู่ในพื้นที่เขตพระนครเป็นส่วนใหญ่สำหรับพื้นที่เขตที่พบคนเร่ร่อนมากที่สุดก็คือ 1.เขตพระนคร 17 เปอร์เซ็นต์ 2.เขตบางซื่อ 9 เปอร์เซ็นต์และ 3.เขตจตุจักร 7 เปอร์เซ็นต์นอกกลุ่มคนเร่ร่อนที่เป็นประชากรสัญชาติไทยแล้วการสำรวจยังพบคนเร่ร่อนที่เป็นพลเมืองของประเทศเพื่อนบ้านเช่นชาวกัมพูชาและเมียนมาร์อีกด้วย
 
อย่างไรก็ตามในพื้นที่กรุงเทพฯจำนวนคนเร่ร่อนยังมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรโดยนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาจะพบคนเร่ร่อนถึง 60,352 คน จากประชากรราว 8 ล้านคนหรือประมาณ  0.7 เปอร์เซ็นต์ของประชากร  แต่สำหรับกรุงเทพฯยังพบคนเร่ร่อนเพียง 3,360 คนจากประชากรราว6ล้านคน หรือเพียง 0.05 เปอร์เซ็นต์ทั้งนี้มูลนิธิอิสรชนคาดว่าจำนวนคนเร่ร่อนจะเพิ่มมากขึ้นอีกประมาณ 5-10% ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าโดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัวทำให้คนเกิดปัญหาว่างงานจนต้องกลายมาเป็นครเร่ร่อนมากยิ่งขึ้นมีการปล่อยตัวนักโทษสู่สังคมมากยิ่งขึ้นแต่ยังไม่มีการวางแผนการรองรับบุคคลดังกล่าวในการประกอบอาชีพทำมาหากินต่างๆทำให้บุคคลบางส่วนต้องกลายมาเป็นคนเร่ร่อน
 
ด้านนายอรรถพรสุวัธนเดชา รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่าการดูแลแก้ปัญหาคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น กทม.ได้วางแนวทางดูแลมาอย่างต่อเนื่องโดยเปิดบ้านอิ่มใจ ให้เป็นที่พักพิงของคนเร่ร่อนปัจจุบันมีคนเร่ร่อนเข้าใช้บริการเฉลี่ยวันละ 100 คนซึ่ง กทม.ได้จัดการส่งเสริมการฝึกอาชีพแก่ผู้ที่ต้องการเรียนรู้และประสานผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงานเข้ามาคัดกรองเพื่อจ้างงานต่อไปด้วยนอกจากนี้ยังได้จัดทีมแพทย์ตรวจคัดกรองโรคหากพบว่ามีอาการป่วยก็ได้ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาถือว่าตลอดระยะเวลาดำเนินการก็ได้ให้ความช่วยเหลือคนเร่ร่อนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งนี้ได้จัดเจ้าหน้าที่ร่วมกับเอ็นจีโอในการเชิญชวนคนเร่ร่อนในพื้นที่ต่างๆเข้ามาพักอาศัยที่บ้านอิ่มใจอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในคืนวันจันทร์ที่คนเร่ร่อนมักมารวมตัวกันที่ลานคนเมืองเนื่องจากจะมีประชาชนบางกลุ่มมอบเงินช่วยเหลือและสิ่งของทั้งของกินและของใช้ให้ ซึ่งการเชิญชวนมาเข้าพักกับกทม.นั้นถือว่าได้รับการตอบรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
 
เปิดผลสำรวจขึ้นเงินเดือน-โบนัส ปี"58 พลังงานครองแชมป์ โทรคมนาคม-บริษัทน้ำมัน-เคมีภัณฑ์ ตามติด
 
ผลการสำรวจอัตราค่าตอบแทนทั้งเงินเดือน โบนัสประจำปี 2558 รวมถึงแนวโน้มการจ่ายค่าตอบแทนในปี 2559 ของบริษัท เฮย์กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กรระดับโลก ชี้ว่าตลาดแรงงานทุกวันนี้มีการแข่งขันกันรุนแรงขึ้น และอาจส่งผลให้ประสบปัญหาการคลานแรงงานที่มีความสามารถ ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจำนวนมากปรับขึ้นเงินเดือน โบนัส รวมทั้งนำอัตราการจ่ายค่าตอบแทนในการทำงานมาจูงใจบุคลากรในตลาดแรงงานให้ เข้าร่วมงาน
 
นายธันวา จุลชาติ Country Manager บริษัท เฮย์กรุ๊ป เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลสำรวจการจ่ายเงินค่าตอบแทนทั้งการขึ้นเงินเดือน และการจ่ายเงินโบนัสของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ในปี 2558 และแนวโน้มการจ่ายค่าตอบแทนในปี 2559 พบว่า ปี 2558 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการขึ้นเงินเดือนสูงสุด 3 อันดับแรก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมพลังงาน ขึ้นเงินเดือน 6.59% รองลงมาเป็นโทรคมนาคม และธุรกิจน้ำมันและก๊าซ อยู่ที่ 6.07% สำหรับแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนในปี 2559 ปรากฏว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการขึ้นเงินเดือนสูงสุด คือ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน 6.66% ตามด้วยกลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม 6.43% และกลุ่มน้ำมันและก๊าซ 6.09% เมื่อเทียบปีการขึ้นเงินเดือนใน 2558 กับปี 2559 พบว่าการขึ้นเงินเดือนโดยเฉลี่ยของกลุ่มอุตฯ เหล่านี้ลดลงเล็กน้อย โดยปี 2558 ขึ้นเงินเดือนโดยเฉลี่ยที่ 5.94% เหลือ 5.85% ในปี 2559
 
สำหรับการจ่ายโบนัสรวมประจำปีพบว่าปี 2558 นี้ ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมจ่ายโบนัสเฉลี่ย 2.86 เดือน โดยกลุ่มอุตฯ ที่มีการจ่ายโบนัสสูงสด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน มีอัตราการจ่ายโบนัสที่ 4.12 เดือน รองลงมาเป็นกลุ่มเคมีภัณฑ์ 4.01 เดือน และกลุ่มน้ำมันและก๊าซ 3.50 เดือน ขณะที่กลุ่มอุตฯที่มีการจ่ายโบนัสต่ำสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมวิศวกรรม 2.27 เดือน ตามด้วยกลุ่มโทรคมนาคม 2.30 เดือน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 2.56 เดือน ส่วนแนวโน้มการจ่ายโบนัสในปี 2559 โดยเฉลี่ยทุกกลุ่มอุตฯ อยู่ในระดับ 2.95 เดือน 
 
นายธันวากล่าวว่าจาก การสำรวจพบว่าองค์กรส่วนใหญ่มีการจ่ายค่าจ้างค่าตอบแทนที่ค่ากลางเมื่อ เปรียบเทียบกับตลาด อย่างไรก็ตามหลายองค์กรมีนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานสูงกว่าค่ากลาง เนื่องจากปัจจุบันตลาดมีการแข่งขันด้านอัตราค่าตอบแทนสูงขึ้น องค์กรเหล่านี้จึงต้องการเป็นผู้นำตลาดเพื่อจะดึงดูดใจ เพื่อรักษาพนักงานที่มีความมารถไว้ เนื่องจากบุคลากรถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญขององค์กรในการมุ่งสู่ความ สำเร็จในอนาคต
 
ส่วนผลสำรวจอัตราการลาออกของพนักงานในกลุ่มอุตฯ ในแต่ละกลุ่มโดยเฉลี่ยในปี 2558 ปรากฏว่ากลุ่มวิศวกรรม มีการลาออกของพนักงานสูงสุด 18.9% รองลงมาคือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 18.5% และกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค 18.1% ตามลำดับ
 
แหล่งข่าวในวง การอุตสาหกรรมยานยนต์เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการจ่ายเงินพิเศษ หรือโบนัสประจำปีให้กับพนักงานของบรรดาค่ายรถยนต์ว่า แม้ตลาดในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจะหดตัวลงอย่างรุนแรง แต่สำหรับอุตฯรถยนต์ถือว่ามีอัตราการจ่ายสูงกว่าอุตฯอื่น ๆ โดยปี 2558 ยังคงยืนยันจะจ่ายโบนัสให้กับพนักงานไม่ได้น้อยไปกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ อย่างบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ระบุชัดเจนว่า จะจ่ายโบนัสให้กับพนักงานลดลงแค่ครึ่งเดือนเท่านั้นจากปี 2557 ที่จ่ายในอัตรา 8 เดือน
 
"โตโยต้าจะใช้วิธีจ่ายโบนัสให้กับ พนักงานในอัตรา 7.5 เดือน โดยแบ่งจ่ายในช่วงครึ่งปีแรกไปแล้ว 4 เดือน และช่วงครึ่งปีหลังอีก 3.5 เดือน นอกจากนี้ยังมีเงินพิเศษมอบให้กับพนักงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาอีก คนละ 20,000 บาท" 
 
เช่นเดียวกับค่ายนิสสัน และมิตซูบิชิ ที่เตรียมจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานเป็นจำนวน 6 เดือน โดย มิตซูบิชิ จะมีเงินพิเศษบวกเพิ่มให้อีกคนละ 15,000 บาท 
 
สำหรับผลตอบแทนพนักงาน ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท กล่าวว่า ยังไม่ระบุชัดไม่ได้ว่าจะจ่ายโบนัสให้พนักงานเท่าไหร่ ต้องรอผลประกอบการ ยอดขายและกำไรปีนี้ก่อน 9 เดือนที่ผ่านมา พฤกษาฯ มีรายได้ 33,211 ล้านบาท จากเป้า 47,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,697 ล้านบาท ลดลงจากเดิม 4,774 ล้านบาท หรือ 1.6% แต่แนวโน้มคงจ่ายใกล้เคียงเท่าปีที่แล้วคือ 6.5 เดือน 
 
นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค กล่าวในทำนองเดียวกันว่า แม้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่บริษัทยังคงจ่ายโบนัสเท่าเดิมคือ 2-3 เดือน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจพนักงาน พร้อมปรับขึ้นเงินเดือนให้อีก 4% โดยจะจ่ายในไตรมาส 1 ปีหน้า 
 
ส่วนนายสมนึก ตัณฑเทอดธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง กล่าวในทำนองเดียวกันว่า แม้ต้องรอสรุปยอดสิ้นปีนี้ก่อน หากทำได้ตามเป้า จะจ่ายโบนัสเฉลี่ยอยู่ที่ 2-4 เดือน ใกล้เคียงปีก่อนคือ 3 เดือน และปรับเงินเดือนขึ้น 6-8% 
 
รายงานข่าวแจ้งว่า ส่วนบริษัทใหญ่ ๆ อาทิ ควอลิตี้เฮ้าส์ ก็ยังไม่ได้สรุป ขณะที่ บมจ.ศุภาลัย อาจให้ 5-10 เดือนและปรับเพิ่มเงินเดือน 5-10% เท่าปีที่แล้ว บมจ.แอล.พี.เอ็น.ฯ เฉลี่ย 7 เดือนอาจลดหรือเท่าเดิม บมจ.โฮมโปรฯ จ่ายเฉลี่ย 2-4 เดือนลดจากปีที่แล้วที่ให้ 3-5 เดือน เพราะเศรษฐกิจไม่ดี กลุ่มบริษัท เอสบี เฟอร์นิเจอร์ ให้ 1 เดือนเท่ากับปีที่แล้ว บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มีแนวโน้มให้โบนัส 1 เดือนเท่าปีที่แล้ว 
 
ส่วนรัฐวิสาหกิจ บมจ.ท่าอากาศยานไทย อนุมัติโบนัสปีนี้ 7.5 เดือน การเคหะแห่งชาติ 1 เดือนเท่ากับปีที่แล้ว การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้ 6 เดือนเพิ่มจากปีที่แล้วจ่ายอยู่ที่ 5 เดือน เนื่องจากปีนี้มีกำไร 8,332 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 700-800 ล้านบาท
 
 
ครม.ไฟเขียวออกกม.ลูก 5 ฉบับ ตาม พรบ.ประกันสังคม
 
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวง รวม 5 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้  ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน(รง.) เสนอครม.ว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือในวันที่ 20 ตุลาคม 2558 จึงมีความจำเป็นจะต้องออกกฎหมายลำดับรองเป็นระดับพระราชกฤษฎีกาและกฎกระทรวงให้ทันภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงจำนวน 5 ฉบับ มาเพื่อดำเนินการ  
  
ส่วนสาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาและร่างกฎกระทรวงทั้ง 5 ฉบับ 1. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดกิจการหรือลูกจ้างที่ไม่อยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม พ.ศ. .... กำหนดให้ลูกจ้างของเนติบัณฑิตยสภา ลูกจ้างของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ลูกจ้างของสภากาชาดไทย ลูกจ้างของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ลูกจ้างของกิจการเพาะปลูก ประมง ป่าไม้ และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปี และไม่มีลักษณะงานที่เป็นกิจการนอกเหนือกิจการดังกล่าวรวมอยู่ด้วย ลูกจ้างของนายจ้างที่จ้างไว้เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราว เป็นการจร หรือเป็นไปตามฤดูกาล ลูกจ้างของนายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย และลูกจ้างของนายจ้างซึ่งประกอบการค้าเร่หรือการค้าแผงลอย เป็นกิจการหรือลูกจ้างที่ไม่อยู่ในบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม  
     
2. ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน พ.ศ. .... เป็นการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลซึ่งอาจสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน  
 
3. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพแก่ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ. ....  กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งมีสัญชาติของประเทศที่ได้ทำความตกลงด้านการประกันสังคมกรณีชราภาพกับประเทศไทย ไม่ว่าจะมีอายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์หรือไม่ก็ตาม ให้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพและให้การจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้คือ กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบต่ำกว่าสิบสองเดือนให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ  ส่วนกรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่สิบสองเดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพพร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สำนักงานประกาศกำหนด  
 
4. ร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย พ.ศ. ....  กำหนดให้ลูกจ้างผู้ประกันตนในกรณีว่างงานมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวันโดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่มีเหตุสุดวิสัย อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย หรือธรณีพิบัติภัย ตลอดจนภัยอื่น ๆ อันเกิดจากธรรมชาติ ซึ่งมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติหรือผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติแต่ทั้งนี้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน โดยให้จ่ายเป็นรายเดือน และให้สำนักงานงดการจ่ายประโยชน์ทดแทนเมื่อผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนลาออกจากงาน สิ้นสุดสัญญาจ้าง หรือถูกเลิกจ้าง  
                           
5. ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. .... กำหนดให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย เดือนละสามสิบบาทให้แก่ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในแต่ละเดือน และรัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเดือนละยี่สิบบาทให้แก่ผู้ประกันตนแต่ละรายที่จ่ายเงินสมทบในแต่ละเดือน 
 
 
เผยผลครูที่ผ่านการทดสอบภาษาอังกฤษทั้งประเทศ ได้ระดับ C2 ของ CEFR หรือสามารถใช้ภาษาได้ดีเยี่ยมใกล้เคียงเจ้าของภาษาเพียง 6 คน 
 
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า จากที่มีกระแสข่าวเรื่องที่ตนให้นโยบายเลิกจ้างครูภาษาอังกฤษนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด เพราะตนให้ความสำคัญกับเรื่องภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก และไม่มีอำนาจไปการสั่งโรงเรียนให้จ้างหรือไม่จ้างครูต่างชาติได้ อีกทั้งทุกวันนี้ประเทศเราจำเป็นที่จะต้องยกระดับภาษาอังกฤษให้ดีขึ้นกว่าทุกวันนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารของโลกในปัจจุบันนี้ ซึ่งสิ่งแรกที่จะต้องดำเนินการคือ การสร้างความสนใจให้แก่ผู้เรียน ให้รู้สึกว่าภาษาอังกฤษมีความสำคัญกับชีวิตประจำวันของพวกเขา หากเทียบในโรงเรียนที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ไม่ใช่ชุมชนเมือง เด็กจะรู้สึกว่าภาษาอังกฤษไม่มีความสำคัญสำหรับพวกเขาเท่ากับเด็กในเมือง ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ทำให้เด็กมีความสนใจเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ เป็นต้น
 
"สิ่งที่สำคัญที่สุด ผมว่าเป็นเรื่องของครู ถ้าครูไม่สนภาษาอังกฤษ สื่อสารกับเด็กไม่ได้ แล้วจะสอนให้เด็กสนใจได้อย่างไร แต่ก็มีครูภาษาอังกฤษจำนวนมากที่ไม่เป็นอย่างนั้น ดังนั้นผมจึงให้นายไมเคิล เดวิด เซลบีย์ ที่ปรึกษา รมช.ศธ. เข้ามาช่วยวางระดับให้การอบรมครู เพื่อเพิ่มให้ครูมีประ สิทธิภาพมากขึ้น" รมช.ศธ.กล่าว
 
นายไมเคิลกล่าวว่า ศธ.กำลังจัดทำโปรแกรมอบรมภาษาอังกฤษครูแบบเข้ม ในช่วงเดือนมีนาคมเมษายน โดยคัดเลือกครูที่มีทักษะภาษาอังกฤษระดับดีจากทั่วประเทศ จำนวน 500 คน มาเข้าค่ายกับผู้อบรมจากบริติช เคานซิล ที่เคยมีประสบการณ์สอนในประเทศต่างๆ จำนวน 50 คน มาอยู่ร่วมกับครู โดยใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งจะทำให้ครูได้รับประสบการณ์สอนแนวใหม่ จากนั้นจะคัดเลือกครูไทยที่ผ่านการอบรมในระดับดี จำนวน 50 คนแรกมาเป็นผู้ฝึกอบรมให้ครูรุ่นต่อๆ ไป จากนั้นเมื่อครูกลับสู่สถานศึกษาจะมีการวิจัยติดตามผลในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ว่าครูสามารถจัดการเรียนการสอนและยกระดับภาษาอังกฤษเด็กได้ดีขึ้นหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับครูที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ถ้าหากประสบความสำเร็จก็จะประกาศเป็นนโยบายในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 แต่ถ้าไม่สำเร็จก็จะปรับโปรแกรมการอบรมเพื่อแก้ไขจุดบกพร่อง
 
นายไมเคิลกล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการคัดเลือกครูที่จะเข้ารับการอบรมนั้น ได้ขอข้อมูลผลการทดสอบทักษะภาษาอังกฤษของครูตามกรอบมาตรฐานด้านภาษาของยุโรป หรือ CEFR มาจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งพบว่ามีครูที่ผ่านการทดสอบระดับ C2 คือสามารถใช้ภาษาได้ดีเยี่ยมใกล้เคียงเจ้าของภาษา เพียง 6 คน และระดับ B2 สามารถใช้ภาษาในระดับดี พูดและเขียนได้แทบทุกเรื่องอย่างถูกต้อง คล่องแคล่วขึ้น รวมทั้งอ่านและทำความเข้าใจกับบทความที่มีเนื้อหายากขึ้นได้ ระดับ C1 สามารถพูดแสดงความรู้สึกได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องหยุดคิดหาคำศัพท์ เขียนข้อความที่ซับซ้อนได้ชัดเจน ถูกต้องตามโครงสร้างไวยากรณ์ จำนวน 900 คน อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกครูเข้าอบรมจะมาพิจารณาวิธีการอีกครั้ง ขณะเดียวกัน ศธ. กำลังทำคลังภาษาอังกฤษเฉพาะวิชาชีพเพื่อใช้สำหรับเด็กอาชีวศึกษาในกลุ่มอาชีพต่างๆ ด้วย
 
 
ทีดีอาร์ไอ ชี้ ไทยพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดในโลก สวนทางภาคบริการ แนะติดตามรับมือความผันผวนเศรษฐกิจปีหน้า
 
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ กล่าวในการเสวนา ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย สู่ความมั่งคั่งระยะยาว ว่า นโยบายของภาครัฐที่ดำเนินการมา ถือว่ามาถูกทาง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกำลังซื้อภาคต่างจังหวัดที่ซบเซา แต่ทั้งนี้ปัญหาที่สำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขให้เห็นผลคือ ทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากไทยประสบปัญหาความไม่สมดุลด้านโครงสร้าง ที่พึ่งพิงภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดในโลก โดยตลอด 18 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ไทยครองอันดับ 1-5 ของโลกในสัดส่วน GDP จากภาคอุตสาหกรรม นำหน้าประเทศจีน เกาหลีใต้ ที่เป็นประเทศพึ่งพิงอุตสาหกรรมสูง โดยในช่วง 3 ปีหลังที่ผ่านมา ไทยครองอันดับ 1 ของการพึ่งพิงภาคอุตสาหกรรม สวนทางกับสัดส่วนภาคการบริการที่ประเทศอื่นมีการพัฒนา แต่ไทยยังคงอยู่อันดับเดิมและลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ไทยกีดกันการลงทุนจากต่างประเทศในภาคบริการมากเกินไป จากกฎระเบียบต่างๆ ที่ห้ามคนต่างชาติเข้ามาแข่งขันในภาคบริการ แม้ในระยะหลังมีการผ่อนปรนมาก
 
ทั้งนี้ นายสมชัย กล่าวว่า ปัจจัยเศรษฐกิจในปีหน้ายังมีความผันผวนหลายด้าน โดยจะต้องเตรียมรับมือจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์และค่าบาท รวมถึงต้องติดตามเศรษฐกิจจีนที่น่ามีความกังวล
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท