Skip to main content
sharethis

17 พ.ย. 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยแพร่แถลงการณ์ “ขอให้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างเป็นอิสระ นำคนผิดมาลงโทษ กรณีนายอนัน เกิดแก้ว ผู้ต้องหาเสียชีวิตปริศนาหลังสอบสวน 3 วัน” โดยแถลงการณ์ระบุว่ากรณีการเสียชีวิตของนายอนัน เกิดแก้ว ตกเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ว่าเสียชีวิตหลังการจับกุมและสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนตำรวจภูธร จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2558 ต่อมาญาติได้รับโทรศัพท์แจ้งเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ว่านายอนัน เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยไม่แจ้งสาเหตุ เมื่อญาติเดินทางไปก็พบว่านายอนัน ถูกทำร้ายร่างกาย บาดเจ็บสาหัส ไม่สามารถสื่อสารได้ และต่อมาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลดังกล่าว เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 58

แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า พ.ต.ต. ศิริวัฒน์ เรียมศิริ พนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันว่าได้ร่วมกับพนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครอง แพทย์ตรวจชันสูตรพลิกศพ (Postmortem) นายอนัน แล้ว โดยระบุว่า “ตามร่างกายมีร่องรอยถูกทำร้าย” โดยพนักงานสอบสวนได้ระบุเป็นสำนวนชันสูตรพลิกศพที่ 818/2558 และญาติได้รับหนังสือรับรองการตายออกโดยโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ระบุว่า “สมองบาดเจ็บรุนแรงจากการเหวี่ยงตีกระแทกที่ศีรษะ”

ทางมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อป้องกันและต่อต้านการซ้อมทรมาน มีความเห็นว่า การเสียชีวิตของนายอนัน มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเกิดจากการซ้อมทรมานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายในประเทศ แล้ว ยังเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีและมีพันธะผูกพันต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 52  ดังนั้นจึงขอเรียกร้องต่อทางราชการให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ศพนายอนันจะต้องมีการผ่าพิสูตรศพ (Autopsy) โดยแพทย์นิติเวชที่มีหน้าที่ในทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อหาสาเหตุการตายอย่างละเอียด  เนื่องจากถือว่าเป็นกรณีที่การตายเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 การผ่าพิสูจน์ศพจะทำให้ทราบสาเหตุการตายที่ชัดเจนถูกต้องตามหลักการทางนิติเวช  และย่อมจะทำให้คดีชันสูตรศพ 818/2558 ในชั้นศาลซึ่งเป็นการแสวงหาสาเหตุการตายและผู้ที่ทำให้ตายครบถ้วนชัดเจนตามขั้นตอนของกฎหมายกำหนดเพื่อใครทราบว่าใครเป็นผู้ทำให้ตาย  โดยญาติสามารถแต่งตั้งทนายความเป็นผู้ซักถามได้ในขั้นตอนคดีไต่สวนการตายในชั้นศาล

2. ประเทศไทยในฐานะภาคีของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี จะต้องดำเนินคดีเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดโดยไม่ละเว้น  อย่างไรก็ดีญาติมีสิทธิที่จะร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาเพื่อนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย   นอกจากนั้นรัฐบาลไทยต้องเร่งออกกฎหมายอนุวัติการเพื่อนำพันธกรณีตามอนุสัญญามาปฏิบัติให้ได้ผลยิ่งขึ้นโดยเฉพาะการกำหนดให้การทรมานเป็นความผิดทางอาญา

3. การสืบสวนสอบสวนกรณีการเสียชีวิตในระหว่างการควบคุมตัว ต้องดำเนินการโดยอิสระปราศจากการแทรกแซงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อาจเกี่ยวข้อง หรือการใช้อิทธิพลใดๆในการบิดเบือนคดี ทั้งจะต้องย้ายหรือพักราชการเจ้าหน้าที่ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับการซ้อมทรมานดังกล่าว

4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจนว่าจะไม่ใช้วิธีการสืบสวนสอบสวนคดีโดยการซ้อมทรมานอีกต่อไป จัดการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่มีความเข้าใจและสำนึกว่าวิธีการดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่อาจยอมรับได้ ทั้งจะต้องมีการลงโทษทางวินัยและทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดรวมทั้งผู้บังคับบัญชาที่ละเลยปล่อยให้มีการซ้อมทรมานโดยไม่มีการละเว้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net