Skip to main content
sharethis

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล จ่างกมล คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร (วสส.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เปิดเผยว่า ในปีการศึกษา 2559 นี้ วสส.ได้กำหนดให้วิชา “การสื่อข่าวเพื่อสันติภาพและคลี่คลายความขัดแย้ง (Peace and Conflict Resolution Journalism)” เป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ ของ วสส. ซึ่งวิชานี้ได้เปิดสอนมาตั้งแต่ปี 2550 โดยเป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์เท่านั้น

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล เปิดเผยต่อไปว่า วิชานี้มีเนื้อเกี่ยวกับวารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ (Peace Journalism) คือเรียนรู้ถึงความหมายที่เกี่ยวกับสันติภาพและความรุนแรง เครื่องมือสำหรับวิเคราะห์ความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง รวมถึงศึกษาเรื่องการรายงานข่าวในพื้นที่ขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

“ส่วนภาคปฏิบัติมีการนำเนื้อหาข่าวที่เกี่ยวกับความขัดแย้งมาให้นักศึกษาได้วิเคราะห์ วิจารณ์และเชื่อมโยงกับหลักการวารสารศาสตร์สันติภาพและหลักการสื่อสารสันติภาพ(Peace Communication)ได้อย่างไรบ้าง” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

การสื่อสารสันติภาพไม่จำกัดแค่สื่อมวลชน

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า เพราะ วสส.อยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ดังนั้นนักศึกษา วสส.ควรพบปะผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสันติภาพในพื้นที่ด้วย เพราะคำว่าวารสารศาสตร์สันติภาพกับการสื่อสารสันติภาพ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่สื่อมวลชนเท่านั้น แต่รวมถึงนักสื่อสารในภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) หรือประชาชนระดับรากหญ้าที่ทำงานสื่อสารเพื่อสันติภาพด้วย ดังนั้นจึงนำนักศึกษามาพบปะกับบุคคลเหล่านี้เพื่อให้นักศึกษาได้สัมผัสกับคนทำงานจริง

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล เปิดเผยด้วยว่า ในวิชายังให้นักศึกษาได้ชมภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับความรุนแรง สันติภาพและบทบาทสื่อในสถานการณ์ความรุนแรง เมื่อชมเสร็จนักศึกษาต้องคิดว่าจะรายงานข่าวอย่างไร โดยยึดหลักวารสารสันติภาพในการรายงานข่าว

“นอกจากนี้ มีการเชิญวิทยากรที่มีความรู้ที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ความขัดแย้ง ความรู้เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งของโลก มาบรรยายให้นักศึกษาและสะท้อนว่านักข่าวต้องรายงานข่าวอย่างไร ต้องมีบทบาทอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวว่า อยากให้นักศึกษาลงพื้นที่ไปรายงานข่าวในเหตุการณ์ความรุนแรงจริง แต่ยังมีปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะวุฒิภาวะของนักศึกษาเองที่จะต้องดูแลตัวเองเพื่อให้ปลอดภัย จึงยังไม่ให้ลงไปในเหตุการณ์จริง แต่ให้นักศึกษาลงไปในชุมชนที่มีความขัดแย้งเพื่อพูดคุยกับชาวบ้านมากกว่า

สร้างนักนิเทศศาสตร์ที่มีความรู้สันติภาพ

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล เปิดเผยด้วยว่า สาเหตุที่เปิดสอนวิชานี้เนื่องจากสังคมในปัจจุบันมีแนวโน้มเกิดความขัดแย้งมากขึ้น ขณะเดียวกันมีการเรียกร้องให้สื่อมวลชนรายงานข่าวเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อีกทั้ง วสส.เองก็อยู่ในพื้นที่ที่เกิดความขัดแย้ง จึงพยายามที่จะทำให้เป็นจุดเด่นหรือสร้างจุดแข็งให้นักศึกษาได้เรียนรู้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่

“ส่วนเป้าหมายของ วสส.คือเพื่อเสริมบทบาทหรือความรู้ให้นักนิเทศศาสตร์มีความรู้เฉพาะทางมากขึ้น เพราะเชื่อว่าความรู้เฉพาะทางเรื่องบทบาทการสื่อสารในความขัดแย้งและการสื่อสารสร้างสันติภาพมีความจำเป็นสำหรับผู้สื่อข่าวในอนาคต เพราะเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง เราจึงไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีความรู้สิ่งเหล่านี้” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายให้นักศึกษา วสส.สามารถเอานำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการประกอบอาชีพสื่อมวลชนต่อไปได้ โดยใช้ตัวอย่างจากสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นบทเรียนในการรายงานข่าวความขัดแย้งในพื้นที่อื่นๆได้

“ความคาดหวังของ วสส.คือ ต้องการสร้างความรู้เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพให้เด่นชัดมากยิ่งขึ้น สามารถนำไปปฏิบัติในสถานการณ์ความขัดแย้งได้จริง เพราะเชื่อว่าสื่อมวลชนที่สามารถทำงานในสถานการณ์แบบนี้ได้ดีต้องมีองค์ความรู้เฉพาะทาง ไม่สามารถใช้ทักษะเหมือนการรายงานทั่วไปได้” ผศ.ดร.วลักษณ์กมล กล่าว

ความรู้ที่มีสนามจริงให้ปฏิบัติการ

นางสาวนรินทร์ ปากบารา นักศึกษาเอกนิเทศศาสตร์ ชั้นปี 4 วสส. กล่าวว่า วิชานี้มีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะกับนักศึกษาในพื้นที่ เพราะทำให้เข้าใจพื้นที่ที่มีความขัดแย้งได้มากกว่าการมองเห็นด้วยสายตา วิชานี้ทำให้มีเครื่องมือที่สามารถนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างรอบด้าน ยิ่งไปกว่านั่น ยังช่วยให้เข้าใจการสื่อสารเรื่องความขัดแย้งเพื่อให้คลี่คลายความขัดแย้งได้

“วิชานี้นอกจากจะสอนทฤษฎีในห้องเรียนแล้ว ยังต้องลงสนามจริงด้วย ซึ่งโชคดีที่มีสนามให้ลงเล่นจริง เพราะเรามีนักสื่อสารรุ่นพี่ในพื้นที่จำนวนไม่น้อยที่จะร่วมกันปฏิบัติการจริง เรามีเครือข่ายสื่อมวลชนที่หลากหลายและเรามีแหล่งข่าวจำนวนมากที่รู้จัก” นางสาวนรินทร์ กล่าว

“เมื่อเรียนแล้วไม่ได้ลงมือปฏิบัติทันทีในสนามจริง การเรียนก็คงสูญเปล่า เมื่อต้องลงสนามเราก็จะรู้ว่าจะปฏิบัติการสื่อสารอย่างไร วิธีไหนดีที่สุด มันเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก” นางสาวนรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net