Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




ความตั้งใจทางการเมืองของชนชั้นนำในวันนี้ ก็คือ การหวนคืนกลับไปสู่ระบบการเมืองในช่วงทศวรรษ 2520

ด้วยความพยายามจะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และเกิดรัฐบาลผสมขึ้นมา โดยคิดไปว่าการหวนกลับไปสู่ระบอบการเมืองเช่นนี้ จะช่วยแก้ปัญหาผู้นำพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ยึดกุมอำนาจทั้งหมดไว้ในมือดังที่ผ่านมา

ก่อนการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 กลุ่มชนชั้นนำกลุ่มเดียวกันนี้ (ชนชั้นนำไทยได้สืบทอดความเป็นชนชั้นมาอย่างสืบเนื่องยาวนาน) ได้แสดงความคิดเห็นทำนองว่า รัฐบาลผสมในสมัยก่อนหน้านั้นอ่อนแอ และไม่สามารถนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้ จึงได้ร่วมกันสร้างรัฐธรรมนูญที่ทำให้รัฐบาลเข้มแข็งขึ้นมา ด้วยรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ภายหลังเมื่อได้เผชิญกับรัฐบาลพรรคเดียวที่เข้มแข็ง และไม่ฟังเสียงพวกเขา ก็ทำให้ต้องหวนกลับไปหยิบเอาสิ่งที่ตนเองเคยปฏิเสธมาใช้ใหม่ โดยพยายามที่จะสร้างกติกาการเมือง ที่ไม่ยอมให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็งอีกต่อไป

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และฉบับใหม่ที่กำลังจะร่างขึ้นมาเป็นหลักฐานของการหวนกลับไปหาระบบเดิมของทศวรรษ 2520

ชนชั้นนำมักจะมองว่าทศวรรษ 2520 จะเป็นช่วงเวลาที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากการเมืองมีเสถียรภาพ และการมีนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวในเวลาแปดปี ทำให้นโยบายต่างๆ ดำเนินอย่างไม่ขาดตอน

มิหนำซ้ำ ชนชั้นนำทางธุรกิจบางกลุ่ม ก็รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ช่วยให้ไม่ล้มละลาย ขณะเดียวกัน กลุ่มทุนหลายกลุ่มก็ได้อาศัยเสถียรภาพการเมือง และความเติบโตทางเศรษฐกิจ เสริมให้ธุรกิจของตนขยายตัวออกได้อย่างกว้างขวาง

แต่ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีด้านเดียว เพราะอีกด้านหนึ่งของระบอบที่สร้างเสถียรภาพนี้ (ในช่วงเวลาหนึ่ง) กลับก่อปัญหาหลักหนาสาหัสและมาปะทุเอาในภายหลัง

กล่าวได้ว่าปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นผลมาจากสิ่งที่ระบอบการเมืองในทศวรรษนั้น ได้สร้างเอาไว้

ดังนั้น ก่อนที่ประชาชนจะยอมให้ชนชั้นนำเลือกทางเดินกลับไปสู่ “วันเก่าที่งดงาม” อย่างที่เขาฝัน ก็ต้องทำความเข้าใจระบอบการเมืองในทศวรรษ 2520 ให้ชัดเจนมากขึ้น

การครองอำนาจของนายกรัฐมนตรีในทศวรรษ 2520 วางอยู่บนการสร้าง "ดุลยภาพ" ทางอำนาจระหว่างนักการเมือง กลุ่มนักธุรกิจ และระบบราชการ โดยพยายามทำให้ภายในแต่ละกลุ่มนั้นแตกแยกกัน จนไม่สามารถจะรวมเป็นหนึ่งเดียวได้

ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง กลุ่มธุรกิจ และระบบราชการ โดยนายกรัฐมนตรีจะสร้างแรงจูงใจให้แต่ละกลุ่มย่อย ที่ต้องการมีอำนาจจะต้องเข้ามาเข้าร่วมกับนายกรัฐมนตรีโดยไม่มีอำนาจต่อรอง

ในทศวรรษ 2520 พรรคการเมืองจึงแยกสายแตกกอกันตลอดเวลา กลุ่มนักธุรกิจก็แตกแยกกัน บางกลุ่มก็ถูกล้างถูกเช็ดจนสิ้นสภาพ (ลองถามกลุ่มตึกดำดูซิครับ) ผู้นำในระบบราชการก็กลายเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่หากต้องการมีอำนาจก็ต้องประจบนายกรัฐมนตรี อย่างไม่สนใจคำติฉินนินทา และไม่คำนึงถึงความเป็นองค์กรที่ควรจะซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพตนเอง (ลองนึกถึงการเกณฑ์คนมายกป้ายเชียร์นายกรัฐมนตรีดูซิครับ)

"ดุลยภาพ" ทางการเมืองที่เกิดขึ้น จึงเป็นกระบวนการสร้างแรงจูงใจกลุ่มย่อย (ในแต่ละกลุ่ม) ให้แตกออกจากกลุ่มใหญ่ เพื่อหาทางจะให้ตนเองได้มีโอกาสเข้าสู่อำนาจ กระบวนการทางการเมืองนี้เอง จึงทำให้ศูนย์กลางอำนาจมีอำนาจมากขึ้นโดยปริยาย

การที่ในช่วงนั้น รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดโดยธรรมชาติ หากแต่เป็นการ "อ่อยเหยื่อทางการเมือง" ให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อย เพื่อจะได้ไม่มีพลังในการต่อรองต่างหาก

ขณะเดียวกัน ระบบราชการก็สูญเสียความเป็นระบบไป อาจกล่าวได้ด้วยซ้ำว่า คำว่า “ค่าของคนอยู่ที่ว่าเป็นคนของใคร” เกิดขึ้นในบรรยากาศของการแยกสลายระบบราชการนี้แหละ

ความแตกแยก (จนเละเทะ) นี้ ทำงานได้ในระยะเวลายาวนานร่วมทศวรรษ ด้วยเงื่อนไขสองประการ ประการแรก นายกรัฐมนตรีเล่น “เกมเก้าอี้ดนตรี” เพื่อทำให้กลุ่มย่อยในแต่ละกลุ่มไม่กล้าแข็งข้อ และต้องพยายามทำงานเท่าที่จะทำได้ เพื่อตัวเองจะไม่ถูกเปลี่ยนออกกลางคัน ประการที่สอง การทำให้การเมืองของการรักษาอำนาจเข้าไปผูกพันกับสถาบันหลักมากขึ้น

หลังทางทศวรรษ 2520 ความแตกแยกนี้ ได้กลายเป็นชนวนปะทุทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองเป็นระยะ เพราะทุกอย่างไม่เป็นระบบอีกต่อไป การเลื่อนตำแหน่งสูงๆ ในระบบราชการก็ไม่ใช่เรื่องของคุณธรรม หรือระบบสายการบังคับบัญชาอีกต่อไป

ดังนั้น ความขัดแย้งระหว่างตัวบุคคล จึงส่งผลต่อการตัดสินใจรัฐประหาร ดังเช่นการรัฐประหารเมื่อปี 2534 ที่เกิดขึ้นเพราะทหาร รสช.ไม่พอใจกับการแต่งตั้งพลเอก อาทิตย์ กำลังเอก เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม

เพราะมรดกของความแตกแยก และไม่มีระบบอะไรเหลืออยู่เช่นนี้ จึงทำให้อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร สามารถที่จะเล่นการเมืองด้วยการตั้งใครก็ได้ที่ตนเองพอใจ ขึ้นมามีอำนาจโดยไม่ต้องแยแสกฎกติกามารยาท เช่น การตั้งผู้บัญชาการทหารบกที่ผิดมารยาทกองทัพ หรือการเลือกสนับสนุนนักธุรกิจฝ่ายตนเอง ให้ได้รับโอกาสในการทำธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น สายการบิน ฯลฯ โดยที่ไม่มีใครกล้าคัดค้าน (ในวันนั้นมีเพียงกลุ่มนักวิชาการสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์กลุ่มหนึ่งที่จัดการสัมมนาเรื่อง “ระบอบทักษิณ” เพื่อชี้ให้เห็นถึงการครองอำนาจเด็ดขาดนี้)

ความปรารถนาที่จะหวนคืนกลับไปสู่การสร้างรัฐบาลผสม จึงเป็นความปรารถนาของกลุ่มชนชั้นนำ ที่มองไม่เห็นอีกด้านหนึ่งของประวัติศาสตร์ และมัวแต่หลงฝันไปกับด้านงดงามที่ตนเองได้ประโยชน์

การผลักดันทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอภายใต้เงื่อนไขมรดกของความแตกแยกและไร้ระบบที่ดำเนินมากลับจะผลักดันให้สังคมไทยขัดแย้งกันมากขึ้นกว่าเดิม

น่าสงสารประเทศไทย ที่ชนชั้นนำไทยสายตาสั้นและแคบ จนมองไม่เห็นว่าทางที่พวกเขากำลังเลือกจะเดินนั้น เป็นทางไปสู่หุบเหวแห่งหายนะ

 

 

ที่มา: คอลัมน์ ใต้กระแส นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net