Skip to main content
sharethis

12 พ.ย. 2558 เพจ FTA Watch รายงานว่า ที่โรงแรมตรัง กรุงเทพมหานคร เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน และเครือข่ายภาคประชาชนรวม 9 องค์กรได้ร่วมกันจัดประชุมเพื่อวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) และการผลักดันร่างกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพเพื่อเปิดเสรีการปลูกพืชจีเอ็มโอ เพื่อเตรียมการเคลื่อนไหวคัดค้านในสองเรื่องสำคัญดังกล่าว โดยมีนักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและทรัพยากรชีวภาพจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอชี้ว่า การเข้าร่วมเป็นภาคีในทีพีพีจะทำให้ประเทศไทยต้องเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านทรัพย์สินทางปัญญานับสิบฉบับ โดยที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรชีวภาพ เช่น UPOV1991 และ Budapest Treaty เป็นต้น ทั้งนี้ โดยการเข้าเป็นภาคีในสนธิสัญญาทั้งสองฉบับจะส่งผลกระทบต่อการจัดการทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย เช่น แก้ไขกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช เพิ่มการคุ้มครองบริษัทเมล็ดพันธุ์มากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อเกษตรกรในระยะยาว นอกเหนือจากนี้ การขยายการคุ้มครองข้อมูลยา (Data Exclusivity) ออกไป 10 ปีสำหรับเคมีภัณฑ์เกษตรจะส่งผลกระทบต่อบริษัทสารเคมีเกษตรรายย่อยในประเทศไทยอย่างมาก

ด้าน ผศ.ดร.สมชาย รัตนชื่อสกุล คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ชี้ว่าน่าแปลกใจที่แนวโน้มการปฏิเสธจีเอ็มโอเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศไทยกลับกำลังผลักดัน พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยหากวิเคราะห์จะเห็นได้ชัดว่าผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีเจตนาในการเปิดเสรีพืชจีเอ็มโอ โดยยกเว้นให้มีการควบคุมเฉพาะพืชจีเอ็มโอที่ระบุไว้ในกฎหมายเท่านั้น หลักการสำคัญที่ปรากฎในความตกลงระหว่างประเทศ เช่น หลักการป้องกันไว้ก่อน (Precaution Principle) และการคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม (Socio-economic Approach) การสร้างหลักประกันทางการเงินสำหรับการเยียวยา ซึ่งปรากฏในพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพและพิธีสารย่อยนาโงย่า-กัวลาลัมเปอร์เกี่ยวกับการชดใช้และเยียวยาความเสียหายกลับไม่ปรากฏในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

สมชาย กล่าวว่า ปัญหาร้ายแรงของร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่เปิดช่องให้เจ้าของจีเอ็มโอที่ได้รับอนุญาตนั้นปล่อยกระจายสู่สิ่งแวดล้อมแล้วไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหาย ซึ่งหากเราดูจากประเทศสหรัฐอเมริกาในกรณีข้าวจีเอ็มโอลิเบอร์ตี้ลิงค์นั้น พบว่าเกิดความเสียหายที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 1,284 ล้านเหรียญเพื่อให้สำหรับการจัดการฟื้นฟูทำความสะอาดจากปัญหาการปนเปื้อนที่เกิดขึ้น ซึ่งหากเกิดกรณีปัญหาการปนเปื้อนขึ้นในประเทศไทย จะไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นองค์กรร่วมจัดกล่าวว่า บรรษัทยักษ์ใหญ่เมล็ดพันธุ์ข้ามชาติและอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่เกษตรเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันร่างกฎหมายเพื่อเปิดเสรีจีเอ็มโอ ประเด็นการเปิดเสรีจีเอ็มโอและการผลักดันให้มีการขยายการผูกขาดเรื่องพันธุ์พืชยังปรากฏอยู่ในความตกลงทีพีพีอีกด้วย ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นการจับมือกันระหว่างกลุ่มเกษตรยักษ์ใหญ่ของไทยและบรรษัทข้ามชาติ

“นี่คือเหตุผลที่ทำไมเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร ร่วมกับกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอว็อทช์) และองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆรวม 9 องค์กร จึงได้จับมือร่วมกันในการเคลื่อนไหว”

อนึ่ง เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมจะจัดให้มีการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อต่อต้าน พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพที่เอื้ออำนวยประโยชน์แก่บรรษัทเมล็ดพันธุ์ และคัดค้านการที่รัฐบาลไทยและกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่จะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 หน้าทำเนียบรัฐบาล เวลา 09.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net